รีวิวหนังไทย "ใจฟูสตอรี่" : ชวนไปดู... 5 คู่ฟูใจ ในเรื่องเดียว บทความรีวิวนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน หากไม่ตรงใจผู้อ่านท่านใด ผู้เขียนต้องขออภัยไว้ล่วงหน้าด้วยนะคะชวนไปดู... 5 คู่ฟูใจในเรื่องเดียวใจฟูสตอรี่ เป็นหนังไทยแนวโรแมนติกคอมเมดี้ (Romantic Comedy) หรือหนังรักตลกของ TAI MAJOR x M39 Studio ใครที่ดูตัวอย่างหนังของใจฟูสตอรี่ หรือว่าเห็นโปสเตอร์หนังแล้วก็คงพอจะรู้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องรักใสๆของคน 5 คู่ ลองมาทำความรู้จักกันซักนิดก่อนไปชมภาพยนตร์นะคะว่าใครเป็นใครใน 5 คู่นี้ค่ะคู่คนเขียนบทหนังเริ่มเรื่องด้วยคู่นี้และจบด้วยคู่นี้เช่นกัน เดี่ยว (พชร จิราธิวัฒน์) นักเขียนบทภาพยนตร์ที่ได้รับภารกิจเขียนบทหนังรักโรแมนติกคอมเมดี้ในสภาพแวดล้อมของโรงพยาบาลที่เต็มไปด้วยคนป่วย ส่วนบัว (ภัณฑิรา พิพิธยากร) ก็มาเฝ้าคนป่วยที่โรงพยาบาลเดียวกันกับเดี่ยว ความรักของทั้งคู่นี้จะเกิดขึ้นที่หน้าห้อง I.C.U. ได้อย่างไร ลองไปลุ้นกันดูนะคะ ซึ่งบทภาพยนตร์ของหนังรักตลกที่เดี่ยวกำลังแต่งขึ้นนี้เอง ที่ทำให้เกิดเป็นเรื่องราวความรักใสๆของคนอีก 4 คู่ค่ะ คือ คนตรงข้าม, คนข้างบ้าน, คนที่เกลียด, และ คนแอบชอบเรื่องที่ 1 (คู่ที่ 1) คนตรงข้ามโขมหรือก้องเกียรติ (ณัฏฐ์ กิจจริต) ผู้ชายที่ต้องติดแหงกอยู่ในคอนโดเพราะเหตุผลเรื่องงาน โดยนิสัยแล้วชอบพนันกับเพื่อนซี้ไปซะทุกเรื่อง ส่วนจิงจิง (เอสเธอร์ สุปรีย์ลีลา) เป็นแอร์โฮสเตสที่ถูกกักตัว 14 วันในช่วงโควิด ทั้งคู่อยู่ในคอนโดเดียวกัน ห้องตรงข้ามกัน แต่ทั้งสองคนนี้จะรู้จักกันได้อย่างไร?สำหรับตอน 'คนตรงข้าม' นี้ ผู้เขียนชอบเป็นพิเศษ สมกับที่เป็นคู่เปิดตัว ฝีมือการแสดงของ ณัฏฐ์ กิจจริต และ เอสเธอร์ สุปรีย์ลีลา ดีงามและมีเสน่ห์ ดูแล้วเพลิน ผู้เขียนอยากให้ลองไปดูในหนังนะคะว่าคู่นี้เขามีวิธีซื้อของฝาก, เดินเล่น, ดินเนอร์, และ Say Hello กันอย่างไรในเมื่อทั้งคู่อยู่คนละตึกกันเลยค่ะเรื่องที่ 2 (คู่ที่ 2) คนข้างบ้านตอน 'คนข้างบ้าน' เป็น Poppy Love ของสาวเด็กเรียนที่ดูเย็นชา ล้อกับชื่อชาเย็น (เพียววรินทร์ กอศิริวลานนท์) กับ เต๋อ (อชิระ เทริโอ) หนุ่มใสๆที่ได้เกรด 0 รวดเดียว 6 วิชา คนสองขั้วนี้จะมารักกันได้อย่างไร ลองเดาดูสิคะว่าใครชอบใครก่อนนอกจากนักแสดงหลักแล้ว ตัวละครสมทบที่ช่วยเพิ่มสีสันและช่วยส่งบทให้กับเต๋อและชาเย็นได้อย่างน่ารักน่าชังค่ะก็คือ คุณแม่ของเต๋อ และอาม่าของชาเย็น ทั้งสองท่านเป็นนักแสดงมากฝีมือที่คนดูหนังไทยต้องคุ้นหน้าและเคยติดตามฝีมือการแสดงของเขาทั้งสองมาแล้วหลายเรื่องค่ะเรื่องที่ 3 (คู่ที่ 3) คนที่เกลียดอ๊อด (วชิรวิชญ์ เรืองวิวรรธน์) อดีตเด็กแว๊นที่ผันตัวมาเป็นไรเดอร์ส่งของด้วยความจำเป็นบางอย่าง อ๊อดมักท้าซิ่งแข่งมอเตอร์ไซค์กันกับสาวลึกลับ (ดริสา การพจน์) ทุกแยกไฟแดง สำหรับผู้เขียนแล้ว บทเรื่องนี้น่าสนใจ เพราะถึงจะเป็นเรื่องสั้นๆ แต่ก็แปลกแตกต่างจากคู่อื่นๆใน 5 คู่นี้ค่ะ อยากให้ลองไปดูว่า 'จรวด' เป็นสัญลักษณ์ที่ไขปริศนาอะไรและเกี่ยวข้องอย่างไรกับอ๊อดนะคะนอกจากอ๊อดและสาวลึกลับแล้ว เด็กหญิงตัวเล็กๆที่รับบทเป็น อิ๊งค์ (น้องสาวของอ๊อด) เป็นดาราเด็กที่น่ารักน่าเอ็นดู ผู้เขียนยังทึ่งในความสามารถด้านการแสดง ทั้งแอ็คติ้ง (Acting), การแสดงออกทางแววตา, และการพูดบทที่ดูเป็นธรรมชาติของ 'เด็กผู้หญิงพิเศษ (Extraordinary Girl)' อย่างที่หนูน้อยพูดไว้ในหนังเลยจริงๆค่ะเรื่องที่ 4 (คู่ที่ 4) คนแอบชอบคู่สุดท้าย คือ เสือ (ฐานัฐพ์ โล่ห์คุณสมบัติ) เป็นพนักงานร้านสะดวกซื้อ Easy Day และ จ๋า (ศนันธฉัตร ธนพัฒน์พิศาล) เป็นพยาบาลผู้ช่วยของหมอฟัน (พงศธร จงวิลาส) ซึ่งเป็นลูกค้าประจำของร้านนี้ เสือแอบชอบใคร จ๋าแอบชอบใคร หมอฟันมาเกี่ยวข้องอย่างไร และเรื่องของทั้งคู่จะจบแบบ Happy Ending หรือไม่ หรือว่าจะมี Surprise ตอนท้ายหรือเปล่า อยากให้ไปชมค่ะใจฟูสตอรี่ ดูแล้วฟูใจ จนไม่อยากลุกออกจากโรงหนังผู้เขียนอยากจะขอชื่นชมผู้กำกับการแสดง (Director) พฤกษ์ เอมะรุจิ, ผู้เขียนบท (Screenwriter), รวมถึงผู้คัดเลือกนักแสดง (Casting Designer), ผู้กำกับภาพ (Art Director/Cinematographer), ทีมโปรดักชั่นทั้งด้านภาพและเสียง และทีมงานอีกหลายๆฝ่ายที่ช่วยกันสร้างสรรค์หนังเรื่องนี้ออกมาได้อย่างหาที่ติได้ยากจริงๆค่ะการดำเนินเรื่องและการแสดงการดำเนินเรื่อง ผู้เขียนคิดว่าทำได้ดีทั้ง 5 ตอนของทั้ง 5 คู่ เป็นการเล่าเรื่องจบไปทีละตอน ไม่ตัดสลับไปมาให้คนดูต้องงง หนังดูง่ายไม่ต้องคิดเยอะ โดยก่อนที่จะเริ่มตอนใหม่ จะมีการเชื่อมต่อแต่ละตอนเข้าด้วยกันด้วยคู่ของนักเขียนบท (เดี่ยว-บัว) นอกจากนี้ Gimmick ที่ผู้เขียนชอบอีกอย่างหนึ่งก็คือ ตอนเริ่มต้นของแต่ละตอนจะมีตัวอักษรชื่อตอน ได้แก่ 'คนตรงข้าม', 'คนข้างบ้าน', 'คนที่เกลียด', และ 'คนแอบชอบ' โดยชื่อตอนที่ปรากฎขึ้นในลักษณะของการพิมพ์ทีละตัวอักษรในคอมพิวเตอร์ สื่อได้ดีว่าเรื่องเหล่านี้เป็นบทที่กำลังถูกพิมพ์ขึ้นโดยผู้เขียนบท (เดี่ยว)สำหรับการแสดง ในฐานะของผู้ชมภาพยนตร์ ผู้เขียนคิดว่านักแสดงนำทั้ง 5 คู่และนักแสดงประกอบเกือบทั้งหมดสวมบทบาทได้อย่างเป็นธรรมชาติ คือแสดงเหมือนไม่ได้กำลังทำการแสดง จนบางครั้งก็ลืมไปเลยว่ากำลังนั่งดูหนังค่ะงานภาพฉากและพร็อบ (Props): เน้นความเรียล (Real) คือสมจริง อย่างเช่นฉากโรงพยาบาล ซึ่งเป็นสถานที่หลักตลอดทั้งเรื่อง เลือกโรงพยาบาลได้ดี มีความเป็นโรงพยาบาลของรัฐที่มีบรรยากาศที่เรียลจริงๆ มีแม้กระทั่งช่างกำลังซ่อมแอร์และพระสงฆ์ที่เดินอยู่ในโรงพยาบาล หรืออย่างฉากห้องนอนของอ๊อด-หนุ่มไรเดอร์ ก็เป็นห้องที่ใช้พร็อบแบบห้องที่มีคนอยู่จริงๆ ฟูกเก่า ผ้าปูที่นอนแบบธรรมดาๆ ประมาณนั้น ทุกอย่างจึงดูจริง ไม่เฟค (Fake) ดีค่ะสีสันและการใช้แสงในหนัง: ผู้เขียนชอบการใช้แสงแดดยามเช้าในฉาก Outdoor ซึ่งช่วยเสริมความสดใสและพลังบวก (Positive Power) ใหักับหนัง ส่วนสีสันก็ทำได้ดี คือทุกฉากเน้นความสดใสของความเป็นหนังวัยรุ่น แม้แต่ฉากในห้องตอนกลางคืนก็มีการให้แสงสีส้มเหลืองจากโคมไฟ ทำให้บรรยากาศดูอบอุ่น รวมถึงแสงที่ออกมาจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่เปิดไว้ในห้องมืดก็ยังเป็นแสงสีฟ้าสดใสค่ะเสื้อผ้าหน้าผมของนักแสดง: มีส่วนทำให้นักแสดงหลักและนักแสดงประกอบทุกคนยิ่งดูเป็นธรรมชาติตามบทบาทของตัวเอง อย่างเช่นเดี่ยว-หนุ่มนักเขียนบทที่ต้องมาเฝ้าไข้คุณแม่ที่หน้าห้อง I.C.U. มีสภาพที่ดูเยินทั้งเสื้อผ้าหน้าผม สมบทบาทของญาติผู้ป่วยที่ต้องมาเฝ้าไข้หลายวันหลายคืนและต้องใช้ชีวิตอยู่ในโรงพยาบาล แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกตัวแสดงจะต้องแต่งตัวแบบบ้านๆไปเสียหมด อย่างชุดไรเดอร์ของอ๊อดและสาวลึกลับก็ดูเท่ห์ดีเหมือนกันค่ะงานเสียงผู้เขียนชื่นชอบงานเสียงของหนังเรื่องนี้เป็นพิเศษFoley (เช่น เสียงเท้าเดิน เป็นต้น) และ Ambience (ซึ่งก็คือเสียงบรรยากาศรอบๆของสถานที่ต่างๆ เช่นเสียงจิ้งหรีดเรไรในป่าตอนกลางคืน หรือเสียงรถมอเตอร์ไซค์ในสภาพการจราจรในเมือง เป็นต้น) ทำได้ดีและใส่ใจรายละเอียดมาก แม้แต่ฉากธรรมดาๆที่เดี่ยวออกมาคุยโทรศัพท์ที่หน้าโรงพยาบาลตอนเช้า ก็ยังมีทั้งเสียงนกร้องและมอเตอร์ไซค์วิ่งผ่าน หรืออย่างเสียงฟ้าร้องและเสียงฝนตกหนัก ถึงจะเป็นแค่เสียงของบรรยากาศในฉากนั้น แต่ก็ช่วยเสริมอารมณ์ของความผิดหวังของตัวละครในตอนนั้นได้เป็นอย่างดี Music (หรือดนตรีประกอบที่ใช้สร้างอารมณ์ของหนังให้สมบูรณ์ขึ้น) ในหนังเรื่องนี้ ผู้เขียนมักจะได้ยินเสียงกระหึ่มจากวงออร์เคสตรา (Orchestra) ซึ่งในหลายฉากหลายตอน ความหนักเบาของเสียงและท่วงทำนองของเพลงบรรเลงถูกคัดเลือกมาใช้อย่างพิถีพิถัน ช่วยสื่อถึงอารมณ์และความรู้สึกของตัวละครได้ดีเยี่ยม Songs (คือเพลงที่มีเนื้อร้อง) เพลงประกอบในเรื่องนี้ใช้เพลงที่มีเนื้อร้องเป็นภาษาไทยเท่านั้น เพลงเพราะและมีเนื้อร้อง (Lyrics) ที่ช่วยเล่าความรู้สึกของตัวละครในฉากนั้นๆได้ดีโดยไม่ต้องมีบทพูด (Dialog) แม้กระทั่งตอนที่หนังจบแล้วก็ยังมีเพลง 'ใจฟู' (ร้องโดย สิงโต นำโชค) กระหึ่มขึ้นมาเหมือนเป็นการสรุปเรื่อง ชอบค่ะ เพลงในหนังใจฟูสตอรี่ยังมีเพลงประกอบภาพยนตร์อีก 4 เพลงนะคะ 'เล่าสู่กันฟัง', 'ผ่านตา', '3 มิติ', และ 'ผันแปลไม่แน่นอน' อยากให้ลองไปฟังกันตอนชมภาพยนตร์นะคะเสียงคิดดังๆของตัวละคร: เสียงที่ผู้เขียนชื่นชอบเป็นพิเศษในหนังเรื่องนี้ คือการใช้ 'เสียงพูดในใจ' ของตัวละครในเกือบทุกตอน เป็นวิธีที่แนบเนียนที่จะช่วยให้คนดูเข้าใจความคิดและความรู้สึกของตัวละครในขณะนั้นโดยไม่ต้องมีบทสนทนา แถมการที่ตัวละครในเรื่องนี้ 'คิดดังๆ' ยังช่วยเรียกเสียงฮาและรอยยิ้มให้กับผู้ชมได้ดีค่ะใจฟูสตอรี่... หาได้ยากที่หนังเต็มเรื่องจะสนุกกว่าหนังตัวอย่างสรุปด้วยความเห็นส่วนตัว ผู้เขียนรู้สึกชอบหนังเรื่องนี้มาก เป็นหนังวัยรุ่นที่ไม่ไร้สาระ ดูเพลิน พล็อตเรื่องและการเล่าเรื่องน่าสนใจ นักแสดงหลักและนักแสดงสมทบเล่นได้ดี หาได้ยากค่ะที่หนังเต็มเรื่องจะสนุกกว่าหนังตัวอย่าง ขอบอกว่าสนุกและน่ารักตลอดทั้งเรื่อง พอหนังจบรู้สึกว่าหนังจบเร็วจัง (แสดงว่าสนุกนะ) และตอนท้ายสุดๆอย่าเพิ่งเดินออกจากโรงหนังนะคะ เพราะว่าเพลงสุดท้ายก็เพราะมากเช่นกันค่ะ สรุปของสรุปคือขอเชียร์ให้ไปชมค่ะขอบคุณทุกคนที่แวะมาอ่านบทความนี้ แล้วพบกันใหม่ในรีวิวต่อไปค่ะ ฝากติดตาม TrueID Creator เสือส่องแสง ด้วยนะคะภาพหน้าปก : JaifuStory, ใจฟูสตอรี่ภาพประกอบบทความ :FB ใจฟูสตอรี่ : ภาพที่ 1, 2, 3, 4, 5, 6, 7, 8, 9, 10, 11, 12, 13, 14, 15, 16, 17, 18 จะฟังเพลงหรือดูหนัง ซีรีส์ใหม่สุดปัง โหลดเลยที่ App TrueID โหลดฟรี !