สัมภาษณ์ "อุ๋ย นนทรีย์" ผู้กำกับนักปฏิวัติหนังไทยและการเนรมิตสู่ มนต์รักนักพากย์
ชื่อของ ‘อุ๋ย-นนทรีย์ นิมิบุตร’ผุดขึ้นมาจากความทรงจำของใครหลายคน ในฐานะผู้กำกับที่กล้าปฏิวัติอุตสาหกรรมหนังไทยยุค 2540 ที่เหมือนกำลังว่ายวนอยู่ในอ่างน้ำเล็ก ๆ กระโดดข้ามมาสู่เวทีโลกที่เปรียบดังมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ สองผลงานแรกของเขาอย่าง ‘2499 อันธพาลครองเมือง’ และ ‘นางนาก’ คือตัวแทนของ ‘ยุคทองวงการหนังไทย’ ที่ล้วนเคยสะกดสายตา และสร้างความตราตรึงใจให้กับแฟนหนังทั่วโลกมาแล้ว
หลังว่างเว้นจากการกำกับหนังไปร่วม 6 ปี เจ้าพ่อหนังพรีเรียดคนนี้ ได้นั่งคุยกับ beartai BUZZ ในหลากหลายประเด็นรอบตัวเขา นับตั้งแต่จุดเริ่มต้นของความหลงใหลในหนังไทย สู่การปฏิวัติวงการด้วย ‘2499 อันธพาลครองเมือง’ และ ‘นางนาก’ มุมมองที่เขามีต่อวงการหนังไทยในปัจจุบัน จนถึงเบื้องหลังของ ‘มนต์รักนักพากย์’ ผลงานมาสเตอร์พีชเรื่องล่าสุด ที่ถูกเก็บซ่อนไว้ในลิ้นชักความทรงจำของเขามาแสนนาน
จุดเริ่มต้นจากเด็กที่หลงใหลในม้วนฟิล์ม หนังกลางแปลง และหนังไทย
นนทรีย์: เอาจริง ๆ เพิ่งมารู้ตัวตอนเริ่มทำหนัง ว่าตัวเองเป็นคนชอบดูหนัง ตั้งแต่เด็กไม่เคยรู้เลย แต่ว่าไปดูหนังทุกอาทิตย์ บ้านเราอยู่ติดวัดอยู่ติดวัดเขมาภิรตาราม เพราะฉะนั้นที่วัดจะมีฉายหนังกลางแปลงตลอด ในซอยบ้านก็มีโรงถ่ายหนังด้วย ตอนเด็ก ๆ ก็ไปยืนดูเขาถ่ายหนังกัน โดยที่เราไม่รู้ตัวหรอก ว่าชอบหรือไม่ชอบ มารู้ตัวอีกทีตอนที่เราทำหนัง มีป้าคนหนี่งมาบอกว่า “เฮ้ย ตอนเด็ก ๆ แกดูหนังบ่อยจะตาย” เราก็คิดเออจริงเนอะ เราเคยทำเครื่องฉายหนังเล็ก ๆ ในมุ้งด้วย มันคงเป็นความชอบโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ
ชอบทำหนังจนถึงขนาด มหา’ลัย เปิดวิชาภาพยนตร์ให้เรียน
นนทรีย์: ต้องเล่าต้องเล่าย้อนความนิดหนึ่ง ตอนอยู่ปีหนึ่งช่วงปิดเทอม เพื่อนผมที่อยู่ปีสี่ที่จุฬาฯ คือจริง ๆ รุ่นเดียวกันเพียงแต่ว่าเราซิ่ว เขามาชวนเราไปทำสารคดีที่อุบลฯ เราก็ตามเขาไป แล้วไปอยู่เป็นอาทิตย์ ทุกวันเราจะเห็นกล้อง มีการจัดไฟ มีเขียนบท สิ่งพวกนี้ทำผมนอนไม่หลับเลยสักวัน ตั้งแต่วันนั้นมาก็แทบจะไม่ไปเรียนหนังสือ ก็ไปบอกคณบดีว่า “ผมเจอแล้ว ว่าผมอยากเป็นใคร ผมเจอแล้ว ผมอยากทำอะไร เปิดให้ผมเรียนหน่อย”
คือไปบอกอาจารย์ว่าช่วยเปิดวิชาภาพยนตร์ให้เรียนได้ไหม เขาก็บอกว่า “จะบ้าเหรอ มันจะเรียนยังไง” จนกระทั่งปีถัดไป เขาก็เปิดจริง ๆ จัง ๆ เป็นวิชาภาพยนตร์ในมหาวิทยาลัยศิลปากร พอเรียนจบผมก็เปิดบริษัทโฆษณาของตัวเอง รับกำกับหนังโฆษณามา 10 กว่าปี ก่อนมาทำหนัง
เริ่มทำ ‘2499 อันธพาลครองเมือง’ เพราะตลาดไม่มีหนังที่ตัวเองอยากดู
นนทรีย์: เราอยากดูหนัง แต่มันไม่มีหนังให้ดู มันมีหนังอยู่ประเภทเดียวจริง ๆ นะ มันมีนิยามอันหนึ่งที่เขาพูดกันในช่วงนั้น บอกว่าคนดูหนังไทยคือวัยรุ่น เพราะฉะนั้นเราทุกคนก็จะทำหนังวัยรุ่นหมดเลย ประเภทใสใสมัธยม แล้วก็มีพระเอกที่เป็นนักร้องอะไรแบบนี้ เรารู้สึกว่าอยากดูหนังที่มันไม่ใช่แบบนี้ มันเหมือนเดินย่ำรอยเท้าตัวเองอยู่ตลอดเวลา มันไม่ไปไหน 16 ปีแล้ว มันเหมือนกับเราเดินอยู่บนทราย เลยตัดสินใจหันมาทำหนังดีกว่า
คือจริง ๆ เรื่องทำหนังเราพูดมาตั้งแต่สมัยเรียนแล้ว สมัยนั้นเรามีชมรมวันศุกร์ ที่ทุกคนวันศุกร์จะต้องเอาพล็อตมาขายกัน ตอนนั้นมีสมาชิก 10 กว่าคน ตอนหลังก็เหลือ 3 คนที่ยังทำหนังกันอยู่ เช่น วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง หรือ เป็นเอก รัตนเรือง ใครมีพล็อตใหม่ก็มาขายกัน ‘2499 อันธพาลครองเมือง’ ก็เป็นหนึ่งในนั้น ‘นางนาก’ ด้วย
ตอนแรกเราจะทำ ‘นางนาก’ ก่อน เราอยากทำหนังรักที่เป็นหนังผี เพราะเรารู้สึกว่านางนากเป็นคนน่าสงสาร แล้วความรักของเขาน่าสนใจมาก เราอยากทำหนังรักแต่อยู่บนบรรยากาศของความน่ากลัวแบบนางนาก แล้วเพื่อนวิศิษฐ์ก็ยกมือบอกว่า “เฮ้ยทำไม่ได้หรอก” เพราะมุมมองของเราจะเปลี่ยนแปลงแม่นากพระโขนงของทุกคนในโลกนี้ ตั้งแต่มีแม่นากมา 21 เวอร์ชัน “แล้วมึงเป็นใครวะ ไม่มีใครเชื่อเอ็งหรอก มันจะเจ๊งเอา!” เราก็บอกว่าเห็นด้วย งั้นเอาหมัดสอง ออกมาเป็น ‘2499 อันธพาลครองเมือง’ แล้วพอมันสำเร็จคนรู้จักเราแล้ว ก็เลยหยิบ ‘นางนาก’ มาทำต่อ เพราะคนน่าจะเชื่อเราแล้ว
กลายเป็นว่าพอ ‘2499 อันธพาลครองเมือง’ กับ ‘นางนาก’ ประสบความสำเร็จ คนในอุตสาหกรรมหนังไทย ก็แห่กันทำหนังผี หนังอันธพาลเต็มไปหมด
นนทรีย์: อันนี้คือจุดบกพร่องของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย คือการที่ทำหนังตามความสำเร็จของคนอื่นเป็นสิ่งที่เขาทำกันมาตลอด ทำให้อุตสากรรมมันไม่มีความหลากหลาย มันน่าเบื่อ จริง ๆ แล้วในยุคของปี 2540 ยุค ‘นางนาก’,‘2499 อันธพาลครองเมือง’, ‘จันดารา’ หรือ ‘เรื่องตลก 69’, ‘ฝันบ้าคาราโอเกะ’ ของเป็นเอก แม้กระทั่ง ‘สตรีเหล็ก’ ของ สิน (ยงยุทธ ทองกองทุน) เป็นยุคที่ทุกคนทำหนังแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ทุกคนมีลายเซ็นชัดเจน ไม่เหมือนกันเลย ดูแล้วรู้เลยนี่หนังใคร มันเป็นยุคที่หนังไทยเติบโต มันเฟื่องฟูจนต่างประเทศก็ยอมรับ หนังถูกเอาไปฉายที่คานส์ เดินเจอคนไทยกันเป็นว่าเล่นเลย มันเป็นยุคทองจริง ๆ
ทำไมเราถึงยังไม่ได้เห็น ‘ยุคทองของหนังไทย’ อีกครั้ง
นนทรีย์: ผมว่าเราควรจะมีบริษัทผู้สร้างเยอะกว่านี้ เพื่อจะให้เกิดรสนิยม ทัศนคติการมองภาพยนตร์ ศิลปะภาพยนตร์ที่มันหลากหลายมากขึ้น คนชอบยกตัวเองเกาหลี ที่เกาหลีใต้มีเป็นพันบริษัท มันก็เลยมีความหลากหลาย มีความคิดที่แตกต่างกัน มีความกล้าเสี่ยงลงทุน ตัดภาพกลับมาที่ไทย แม้กระทั่งคนไทยด้วยกันเองยังไม่ร่วมมือกันเลย “ไม่! จะทำคนเดียว รวยคนเดียว” จะทำหนัง 20 ล้านด้วยเงิน 15 ล้านอะไรแบบนี้
ผมไม่แน่ใจว่ามีใครทราบหรือเปล่าเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เกาหลียังไม่มีหนังดังเลยนะ เกาหลีใต้นี่ชื่นชมพวกเรามากนะครับ บองจุนโฮ เขาบ้าหนังไทยยุคนั้นมาก เพราะเกาหลียังไม่มีอะไรเลย เทศกาลภาพยนตร์ปูซานยังนั่งกินข้าวกันอยู่ในร้านสวนอาหารเล็ก ๆ อยู่เลย
แต่ว่าด้วยการสนับสนุนของผู้คน ของรัฐบาลอย่างจริงจัง ดูวันนี้นะครับ 20 ปีเท่านั้น 20 ปีเห็น ๆ เลย ผมเป็นครูคนแรกที่ไปสอน เอเชียนฟิล์มอะคาเดมีที่เกาหลี เป็นอาจารย์คนแรกแล้วเป็นคนไทยด้วย นึกดูสิว่าเราดังขนาดไหน จริง ๆ ประเทศไทยเรามีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เรามีนะ ไม่ได้ไม่มี แต่ไม่รู้อยู่ไหน ถ้าเรามีตรงนี้จริง ๆ ป่านนี้เราไปไหนต่อไหนแล้ว ถ้าถามว่าเราศักยภาพเราพอไหม ไม่ต้องพูดเลยเราพร้อมมานานแล้วด้วย
จุดเริ่มต้นของการทำ ‘มนต์รักนักพากย์’
นนทรีย์: คำว่านักพากย์มันหายไปนานแล้ว มันเป็นสิ่งที่เรานึกถึงอยู่ตลอด วันหนึ่งผมกับเพื่อนก็ไปหานักพากย์จริง ๆ ผู้หญิงบ้าง ผู้ชายบ้างที่เป็นนักพากย์ในยุคนั้นจริง ๆ ก็ไปนอนคุยกับแกอยู่สามคืน ปรากฏว่าเขามีเรื่องราวที่น่าสนใจเต็มไปหมดเลย เราก็ถามไปถึงยันเรื่องวิญญาณ ผี ปีศาจ คือเขาก็จะเล่าให้ฟังทั้งหมดว่า มันเกิดอะไรขึ้นกับในช่วงที่เขาเป็นนักพากย์ แล้วพอเราสัมภาษณ์มาสักประมาณสี่คน เราก็ตัดสินใจว่า เออเราเขียนเรื่องนี้กัน เราทำเรื่องนี้กันเถอะ
พอดีมันเป็นปีที่ผมยังเกิดทัน ยังได้เห็นบรรยากาศการพากย์สด เรายังเป็นเด็กที่ไปตัดฟิล์มทิ้งเลย เป็นเด็กที่ไปนั่งเก็บฟิล์มเก่ามาเอาไฟฉายใช้ใส่มุ้งดูภาพ แอบทำเครื่องฉายเล็ก ๆ ของเราขึ้นมาจากกล่องกระดาษ เรายังจำบรรยากาศแบบนั้นได้ จำบรรยากาศที่คนมาดูหนังการแปลง แล้วมีของขายรอบ ๆ ยิ่งฟังเขาเล่าเท่าไหร่ ภาพเดิมของเรายิ่งกลับมาเท่านั้น งั้นสิ่งที่เราคิดก็คือว่า เราจะทำยังไง ที่เราจะจำลองบรรยากาศเหล่านั้นให้กลับมาสู่คนในยุคปัจจุบัน
แรงบันดาลใจจาก ‘มิตร ชัยบัญชา’
นนทรีย์: ผมมีความผูกพันกับคุณมิตร ชัยบัญชา ในหลาย ๆ เรื่อง เราเคยฝันถึง เราเคยได้ยินเสียงผ่านโทรศัพท์มือถือ เราเป็นคนหนึ่งที่ได้ไปไหว้ศาลของคุณมิตรที่พัทยาทุกครั้ง แล้วเหมือนชีวิตเราครอสกันอยู่เรื่อย ๆ เราก็ไปขออนุญาตท่านในพิพิธภัณฑ์ที่มีรูปปั้นท่านอยู่ เราก็ไปคุยกับคุณมิตรแล้วก็บอกท่านว่า “เราอยากจะทำหนังเรื่องนี้ ที่เกี่ยวกับคุณมิตร ขออนุญาตให้คุณมิตรเป็นนักแสดงในหนังของเราด้วย”
ในเครดิตก็จะเห็นว่ามีชื่อคุณมิตร ชัยบัญชา เล่นเป็น ‘มิตร ชัยบัญชา’ เขาเป็นตัวละครตัวหนึ่งในหนัง เราไม่ใช่แค่พูดถึงเขา เขามีบทบาทที่เกี่ยวข้องกับตัวละครทั้งสี่คนที่อยู่บนรถคันนั้น เขาเป็นคนที่ห้าที่อยู่บนรถคันนั้นด้วย ซึ่งเขาเป็นแรงบันดาลใจสำหรับทุกคน ทุกคนรักและชื่นชมเขา มันก็เลยทำให้การพากย์หนังของมานิตย์ (เวียร์-ศุกลวัฒน์ คณารศ) ส่วนใหญ่ก็จะพากย์เป็นเสียงของเขาทุกเรื่อง มันก็เลยมีความผูกพัน ทั้งในแง่ของตัวตน ทั้งในแง่ของการเล่าความผูกพันผ่านภาพยนตร์ที่เขาต้องให้เสียงทุกวัน ผมมองว่านี่ถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับเรา ที่จะได้ทำงานกับคุณมิตรสักที
เลือกนักแสดงนำโดยที่ไม่ได้แคสต์
นนทรีย์: เราเลือกเองเลย ไม่ได้แคสติงด้วยซ้ำ สี่คนเนี่ยเราเลือกเอง เรายังไม่รู้เลยว่าจะทำได้หรือเปล่านะ แต่ว่าเราเชื่อว่าเขาทำได้ เราก็ใช้วิธีเวิร์กชอปด้วยการให้นักพากย์จริง พากย์เสียงแล้วก็อัดเทป อัดวิดีโอ อัดทุกอย่างแล้วก็ส่งให้พวกเขาฟังทุกวันแล้ว ต้องยอมรับว่าทั้งหมดทั้งสิ้น เกิดจากการทำการบ้านของพวกเขา เราก็เป็นแค่คนฟัง คนดู แล้วก็ตัดสินว่ามันใช่หรือเปล่า แต่เรื่องบุคลิกเนี่ยเราสร้างขึ้นมา อย่างบทของหนูนา (หนึ่งธิดา โสภณ) ตัวเขาเองติดพูดเร็วไป เราก็ต้องบอกว่าคนเมื่อก่อนเนี่ย เขาคิดก่อนพูด จะตอบอะไรสักอย่าง คิดก่อนแล้วค่อยตอบ อย่างเวียร์หัวหน้าเขาควรจะต้องเป็นคนเดินหลังค่อมนิด ๆ หรือเปล่า
การทำงานกับ Netflix มีเรื่องที่ดีมาก ๆ อยู่เรื่องหนึ่ง ก็คือการที่เราทำงาน 12 ชั่วโมงต่อวัน มันทำให้เรามีเวลาเรามีเวลาเบรกอีก 12 ชั่วโมง ก่อนที่จะเริ่มทำงานอีก 12 ชั่วโมงข้างหน้า เพราะฉะนั้นใน 12 ชั่วโมงที่เราพักกัน เราคุยกันได้ตลอดเวลา แล้วนักแสดงก็อยู่กับเราตลอดเวลาทั้งสี่คน เพราะฉะนั้นเรามีโอกาสพูดคุย มีโอกาสฝึกซ้อม มีโอกาสทำความเข้าใจทบทวนบุคลิกของแต่ละคน ถ้ามีโอกาสก็ขอบคุณนักแสดงทุกท่านไว้ที่นี่นะครับ ทั้งเวียร์, เก้า (จิรายุ ละอองมณี), หนูนา แล้วก็สามารถ (สามารถ พยัคฆ์อรุณ) ทั้งสี่คนให้ผมเกินร้อยจริง ๆ โดยเฉพาะสามารถเนี่ย คนอื่นทึ้งมาก เขาเล่นน้อยมากนะแต่เขาเท่มากเลย คือเวียร์นี่บ่นทุกครั้งเลย มันไปดูมอนิเตอร์แล้วก็บอก “พี่มาดแย่งซีนอีกแล้ว” คือความที่เขาเล่นไม่เยอะ แต่ว่าเขาเข้าใจโลกเยอะ มันเลยทำให้ตัวละครนี้สมบูรณ์แบบขึ้นมา ด้วยความเป็นผู้ใหญ่ที่สุดในรถคันนั้น
สิ่งที่ยากที่สุด
นนทรีย์: ความยากที่สุดคือ ความอยากได้ของเรา เราคิดว่าจะทำยังไงนะ ที่เราจะย้อนกลับไปในปี 2513 ได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด แล้วก็อุปกรณ์ต่าง ๆ เครื่องมือต่าง ๆ รถ ลา ม้า ช้าง ผู้คน เสื้อผ้า หน้าผม คือทุกอย่างจะต้องใช่หมด ถนนเขาดี ๆ สวย ๆ งาม ๆ เราก็เอาดินไปลง ทำให้มันเป็นถนนกำลังเพิ่งสร้าง ฝุ่นไม่มีก็สร้างฝุ่นขึ้นมา ขยะไม่มีเราก็สร้างขยะ คือโปรดักส์ทุกอย่างถูกสร้างขึ้นมาใหม่ทั้งหมด
ทุกคนในทีมงานบอกว่านี่เป็นงานแบบที่สมบูรณ์แบบมากนะ คือเรามีระบบ เรามีมาตรฐานที่ที่ดีมาก ๆ เราก็มีงบประมาณมากเพียงพอที่จะทำอะไรได้ดั่งใจ คือพูดง่าย ๆ มันคือฝันของเรา ผมลืมไปแล้วล่ะว่าเราจะได้ทำหนังเรื่องนี้ เพราะเราเชื่อว่าด้วยงบประมาณมันสูงคงไม่มีใครให้เราทำ จนกระทั่งนี่คือโอกาส Netflix ได้ให้โอกาสที่งดงามมากกับพวกเรา
รับมือกับเสียงวิจารณ์อย่างไร
นนทรีย์: หนังผมเสร็จไปแล้ว คือความสำเร็จเราเสร็จไปแล้ว ที่เหลือมันเป็นมันเป็นเรื่องของหนัง เราจะคิดกับหนังทุกเรื่องแบบนี้ เราก็เหมือนหยอดตู้เพลง บางเกมโอเวอร์แล้ว เราก็หยอดตู้เพลงกดเพลงใหม่ขึ้นเล่นเท่านั้นเอง
ความสุขอย่างหนึ่งในการทำหนังเรื่องนี้ ต้องบอกตรง ๆ ว่า เราไม่กดดันเลยว่าเราจะต้องไปวัดรายได้จากในโรงหนัง มันเป็นความสุขที่สุด มันไม่เกร็งเลย มีคนถามเราบ่อย ๆ เหมือนกันว่า เวลามีคนวิจารณ์เรา รู้สึกอย่างไร ท้อใจไหม เราก็จะบอกเสมอว่าในชีวิตเรามีกระจกอยู่ 10 บาน เราเลือกกระจก 10 บานนี้ด้วยตัวของเราเอง ไม่ว่าจะด่าเรา ไม่ว่าจะชมเรา เราจะเลือกฟังเท่านี้ บานอื่น ๆ ที่มันขุ่นมัวเราจะขออนุญาตไม่สนใจ เพราะฉะนั้นเราเลือกคนที่เราจะให้เขาสะท้อนภาพเราไปเรียบร้อยแล้ว
ฝันในวันนี้ของชายที่ชื่อ ‘นนทรีย์ นิมิบุตร’
นนทรีย์: คือยังมีหลายเรื่องที่อยากทำ คือความฝันที่อยากจะให้ค่อย ๆ สานให้มันเป็นจริง ก่อนที่จะหมดลมหายใจไป ก็บอกตัวเองไว้ว่าอยากตายในกองถ่าย อยากหมดลมหายใจไปในกองถ่าย คืออยากทำหน้าที่จนโอกาสสุดท้ายของเรา ก็ไม่รู้ว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่ว่ายังมีฝัน ยังมีสิ่งที่อยากทำอยู่ คือหนังนี่แหละ มันอยู่ในอณูของชีวิตไปแล้ว มันอยู่ในลมหายใจไปแล้ว มันก็เลยไม่ได้มีฝันอื่น ๆ ที่อยากทำ ขนาดตอนบวชอยู่นะ บวชเป็นพระเนี่ยยังคิดเรื่อง ‘โอเคเบตง’ ไปด้วย แถมบาปมาก เพราะตอนนั้นเขียนบท ‘จันดารา’ อยู่ด้วยนะ ตอนบวชเลย
ฝากผลงาน
นนทรีย์: ฝากติดตาม ‘มนต์รักนักพากย์’ ด้วยนะครับฉายทาง Netflix วันที่ 11 ตุลาคมนี้ รับรองว่าสนุกซึ้งและประทับใจแน่นอนครับ