รีเซต

ในวันที่กระแสนิยมหนังซูเปอร์ฮีโรเริ่มแผ่ว แล้ว "เจมส์ กันน์" จะพา DCU ไปรอดไหม ?

ในวันที่กระแสนิยมหนังซูเปอร์ฮีโรเริ่มแผ่ว แล้ว "เจมส์ กันน์" จะพา DCU ไปรอดไหม ?
แบไต๋
22 ธันวาคม 2566 ( 11:00 )
88

แล้วก็มาถึงวันที่มาร์เวลเริ่มไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งรายได้จากการฉายในโรงภาพยนตร์และเสียงตอบรับจากแพลตฟอร์มสตรีมมิง ถ้าอย่างนั้น DCU ของ เจมส์ กันน์ (James Gunn) จะแป้กก่อนออกสตาร์ทเลยหรือไม่ ?

ที่จริงแล้ว ทางฝั่งดีซีเป็นฝ่ายเริ่มต้นสร้างหนังซูเปอร์ฮีโรตั้งแต่ 45 ปีที่แล้ว สืบเนื่องมาจนถึงวันนี้ ที่จักรวาลหนังของทางฝั่งดีซีกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากผู้บริหารชุดเก่ามาสู่ผู้บริหารชุดใหม่ ที่ยกเครื่องใหม่หมด พร้อม ๆ กับในวันที่ภาพรวมของตลาดหนังซูเปอร์ฮีโรกำลังเข้าสู่ยุคของการเปลี่ยนแปลง เห็นได้ชัดจากทางฝั่งมาร์เวล ที่ครองตลาดหนังซูเปอร์ฮีโรมาเป็นเวลา 15 ปี และกำลังประสบปัญหาอยู่ในขณะนี้ ส่วนทางฝั่งดีซี ที่อยู่ภายใต้การนำของ เจมส์ กันน์ ก็กำลังจะเปิดตัวจักรวาลใหม่ในชื่อ DCU ในปี 2025 นี้ ซึ่งจะแตกต่างจากจักรวาลเดิม DCEU ทั้งหมด แต่ก่อนที่จะถึงวันเริ่มต้นจักรวาล DCU จริง ๆ นั้น กันน์จะต้องเผชิญกับ ความยากลำบากในการทำเงินบนบ็อกซ์ออฟฟิศ, ความเบื่อหน่ายของผู้ชมต่อหนังซูเปอร์ฮีโร บวกกับไทม์ไลน์ที่ผ่านมาของ DCEU ที่ค่อนข้างสะเปะสะปะ ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ที่เขาต้องสะสางก่อนจจะได้เริ่มต้นจริง ๆ

ดีซียังต้องมีลุ้นครั้งใหญ่ ที่กำลังจะเกิดขึ้นภายในสุดสัปดาห์นี้ กับ ‘Aquaman and the Lost Kingdom’ หนังเรื่องสุดท้ายจากจักรวาลเก่า DCEU ที่ใช้ทุนสร้างไปสูงถึง 215 ล้านเหรียญ ก็ยังต้องลุ้นกันว่า หนังจะประสบความสำเร็จทางด้านรายได้ตามรอยความสำเร็จของภาคแรกได้หรือไม่ กลายเป็นที่จับตามองกันอยู่ว่าหนังจะประสบชะตากรรมเดียวกับ ‘The Marvel’ ของทางฝั่งมาร์เวลหรือไม่ ที่กลายเป็นภาพยนตร์ทำรายได้ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ของมาร์เวล

นับตั้งแต่วันที่ วอร์เนอร์ ตัดสินใจเปิดตัวจักรวาล DCEU ซึ่งประเดิมด้วยหนัง ‘Man of Steel’ เมื่อปี 2013 ก็กลายเป็นการแข่งขันกันระหว่าง 2 ยักษ์ใหญ่แห่งวงการหนังซูเปอร์ฮีโร แต่ก็เห็นได้ชัดอีกเช่นกันว่า ดีซีจะเป็นฝ่ายไล่หลังมาร์เวลอยู่ตลอด โดยเฉพาะการพยายามเดินตามรูปแบบของ เควิน ไฟกี (Kevin Feige) ที่สร้างจักรวาลมาร์เวลขึ้นมาโดยให้ซูเปอร์ฮีโรทุกรายได้แชร์เรื่องราวร่วมกัน และประสบความสำเร็จในระดับหลายพันล้านเหรียญ และนี่ก็อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ดีซีตัดสินใจเลือก เจมส์ กันน์ ซึ่งเป็นศิษย์เก่าของทางฝั่งมาร์เวล มาเป็นผู้บริหารคนปัจจุบัน แต่ในวันนี้เราต่างก็เห็นแล้วว่า เส้นทางของมาร์เวลไม่ได้สวยหรูตลอดไป และรากฐานที่มาร์เวลมายาวนานก็เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าเริ่มเข้าสู่สภาวะถดถอย แล้ว เจมส์ กันน์ จะพา DCU ผ่านพ้นปัญหาและสภาวะต่าง ๆ นี้ไปได้รอดพ้นหรือไม่ ?


ความตื่นเต้นของผู้ชมที่มีต่อหนังซูเปอร์ฮีโรจบสิ้นลงแล้วหรือยัง ?

ย้อนไปในยุคก่อนที่จะจักรวาลภาพยนตร์มาร์เวลจะถือกำเนิดขึ้นมา หนังซูเปอร์ฮีโรหลาย ๆ เรื่องก็ล้มเหลวมาแล้ว อย่างเช่น ‘X-Men: The Last Stand’ เมื่อปี 2006 ของฟ็อกซ์ และ ‘The Fantastic Four: Rise of the Silver Surfer’ ปี 2007 ของฟ็อกซ์อีกเช่นกันก็ทำกำไรได้น้อยมาก มาจนถึง ‘Spider-Man 3’ ปี 2007 ของทางฝั่งโซนี่ เรื่องนี้ทำกำไรได้ดี แต่ก็เป็นภาคที่ผู้ชมและนักวิจารณ์ชอบน้อยที่สุดในไตรภาค และ ‘Superman Returns’ ในปี 2006 ก็เจ๊งไม่เป็นท่า ทำให้หยุดอยู่แค่ภาคแรก มาวันนี้เค้าลางเดิม ๆ เหมือนจะกลับมาอีกครั้ง แต่ถ้าถามว่าปัญหาใหญ่เป็นเพราะผู้ชมเบื่อหนังซูเปอร์ฮีโรกันแล้วหรือ ก็น่าจะใช่แต่ก็มีประเด็นใหญ่ ๆ อื่น ๆ ร่วมด้วย เช่นปัญหาเศรษฐกิจ ผู้ชมเริ่มประหยัดเงินในกระเป๋า

นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ล็อกดาวน์ในช่วง โควิด-19 แพร่ระบาดเป็นต้นมา มาร์เวลก็ปล่อยผลงานทั้งภาพยนตร์และทีวีซีรีส์ออกมาไม่ต่ำกว่า 6 เรื่อง ถ้านับถึงปี 2021 ก็เป็นสิบเรื่องได้ แล้วแต่ละเรื่องที่ออกมาใหม่นั้น ก็ล้วนมีความเกี่ยวโยงกับหนังเรื่องก่อนหน้าใน MCU รวมไปถึงทีวีซีรีส์ที่สตรีมมิงทาง Disney+ ด้วย ซึ่งผู้ชมจำเป็นต้องดูเรื่องเหล่านี้มาก่อนเพื่อที่จะเข้าใจเนื้อหาและเรื่องราวในกรอบที่กว้างขึ้น และนี่ก็อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ ‘The Marvels’ ล้มเหลว เหตุเพราะว่าผู้ชมกลุ่มใหญ่ยังไม่ได้ดูซีรีส์ ‘Ms. Marvel’ หรือ ‘WandaVision’ ซึ่งเป็นเรื่องราวก่อนหน้าที่แนะนำตัวละครหลัก 2 รายใน ‘The Marvels’ และคิดว่าไม่จำเป็นต้องรีบดูก็ได้

ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวนี้ ก็ใช้กันทั้งมาร์เวลและดีซี ที่หมายมั่นว่าแพลตฟอร์มสตรีมมิงของพวกเขานั้นจะต้องเป็นศูนย์กลางของจักรวาลซูเปอร์ฮีโร ซึ่งจะว่าไปมันก็ได้ผล เพราะในที่สุดผู้ชมส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะสมัครบริการสตรีมมิงมากว่าที่จะออกจ่ายเงินค่าตั๋วหนัง (ค่าตั๋วหนังในสหรัฐฯ ที่นั่งละ 600 บาท+ ยังไม่รวมค่าเครื่องดื่มและของว่าง) เพราะผู้ชมต่างก็คิดไปในทางเดียวกันว่า รออีกแค่ไม่กี่สัปดาห์ก็ได้ดูทางสตรีมมิงแล้ว


ปัญหาใหญ่ของ เจมส์ กันน์ คืองบประมาณในการสร้างหนัง ไม่ใช่รายได้หนัง

ดีซีเพิ่งเจ็บหนักมาจาก ‘The Flash’ ที่งบบานปลายไปถึง 220 ล้านเหรียญ แต่ทำรายได้มาแค่ 270 ล้านเหรียญ เป็นอีกหลักฐานที่เห็นได้ชัดว่า หนังที่ใช้ทุนสร้างสูงไม่ใช่ข้อยืนยันว่าหนังจะประสบความสำเร็จเสมอไป ในยุครุ่งเรืองของมาร์เวลอาจจะเคยเป็นอย่างนั้น แต่ในวันนี้หนังระดับ 200 ล้านเหรียญอย่าง ‘The Marvels’ ก็เพิ่งคว่ำให้เห็นมาหมาด ๆ งบสร้างของ ‘The Marvels’ ก็บานปลายเช่นกัน เพราะถ่ายทำกันในช่วงที่โควิด-19 ยังคงแพร่ระบาด หนังใช้ทุนสร้างไป 250 ล้านเหรียญ ยังไม่รวมงบในการประชาสัมพันธ์ นั่นหมายความว่า หนังจะต้องทำเงินให้ได้เกิน 600 ล้านเหรียญถึงจะถึงจุดคุ้มทุน

มาร์เวลเคยมีหนังที่ทำรายได้ระดับพันล้านเหรียญมาแล้วหลายเรื่อง แต่จากนี้ไป มาร์เวลอาจจะไปไม่ถึงความสำเร็จในจุดนั้นอีกเลย สาเหตุเพราะในวันนี้ผู้ชมสามารถรอดูหนังแต่ละเรื่องผ่านทางแพลตฟอร์มสตรีมมิงได้ภายในเวลาประมาณ 2 เดือน นับตั้งแต่วันที่หนังเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ ด้วยราคาที่ถูกกว่าค่าตั๋วมากนัก แต่ถึงอย่างนั้น ภาพรวมของบ็อกซ์ออฟฟิศก็ยังดูดีอยู่ หลังผ่านพ้นการแพร่ระบาดของโควิด-19 มานี่ ก็ยังมีหนังหลายเรื่องที่ผ่านหลักพันล้านอย่างเช่น ‘Avatar: The Way of Water’, ‘Top Gun: Maverick Jurassic World Dominion’ และล่าสุดก็คือ ‘Barbie’ ส่วนหนังซูเปอร์ฮีโรเรื่องสุดท้ายที่ผ่านหลักพ้นล้านก็คือ ‘Spider-Man: No Way Home’ เมื่อปี 2021

จากนี้ไป ก็ต้องเป็น เจมส์ กันน์ หรือไม่ก็ ปีเตอร์ ซาฟราน นี่ล่ะ ที่จะต้องเข้ามาควบคุม จัดสรรปันส่วนงบประมาณในการสร้างภาพยนตร์และทีวีซีรีส์แต่ละเรื่องให้เหมาะสมที่สุด หนังเปิดตัวจักรวาล DCU อย่าง ‘Superman: Legacy’ น่าจะยังต้องใช้งบประมาณมหาศาล ส่วน ‘The Brave and the Bold’ หนังแบทแมนเรื่องใหม่ก็น่าจะใช้ทุนสร้างที่ต่ำลงมาอยู่ที่ราว ๆ 50 ล้านเหรียญ เพราะไม่ว่าอย่างไรก็ตามหนังที่เกี่ยวกับแบทแมนก็ยังสามารถดึงดูดผู้ชมได้ดี อย่างน้อยก็ต้องทำกำไรได้ แต่อาจจะไม่เทียบเท่าหนัง Superman หรือหนังรวมเหล่าซูเปอร์ฮีโรดีซี


กันน์อาจจะหยิบยืมสูตรของจักรวาล Star Trek มาใช้

3 ตัวละครหลักใน ‘Star Trek: The Original Series’

ในขณะที่นายใหญ่อย่าง Warner Bros. Discovery อยากจะให้กันน์ลอกสูตรของ MCU มาใช้ แต่กันน์กลับมีแรงบันดาลใจจากจักรวาล ‘Star Trek’ เสียมากกว่า แม้ว่าโดยส่วนใหญ่แล้วจักรวาล ‘Star Trek’ จะเน้นหนักอยู่บนจอทีวีเสียมากกว่า แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า ‘Star Trek’นั้นคือแฟรนไชส์แรก ๆ ที่ประสบความสำเร็จในการสร้างจักรวาลร่วมกันระหว่างภาพยนตร์และทีวีซีรีส์ และซีรีส์ในแต่ละชุดก็สามารถเชื่อมโยงกันได้อย่างสมบูรณ์ กัปตันเบ็นจามิน ซิสโค จาก ‘Star Trek: Legacy’ รู้จักกับ กัปตันฌอง ลุค พิคาร์ด จากซีรีส์ชุด ‘Star Trek: The Next Generation’ และกัปตันทุกคนต่างก็รู้จักกับ กัปตันเจมส์ ที. เคิร์ก จากซีรีส์ชุดแรก ‘Star Trek: The Original Series’ ทำให้จักรวาล ‘Star Trek’ เชื่อมต่อกันได้อย่างสมบูรณ์

แล้วในซีรีส์แต่ละชุดก็จะมีตัวละครข้ามไปเป็นแขกรับเชิญระหว่างกัน ซึ่งในแต่ละซีซันก็อาจจะมีตัวละครรับเชิญจากซีรีส์ชุดอื่นมา 1 หรือ 2 ราย แล้วเนื้อหาก็จะจบในตอนนั้น ๆ ได้โดยที่คนดูไม่ต้องทำการบ้านมาก่อน เควิน ไฟกี (Kevin Feige) แห่งมาร์เวลสตูดิโอเองก็เป็นแฟนของ ‘Star Trek’ เช่นกัน เขาเคยบอกว่าประทับใจหนัง ‘Star Trek V: The Final Frontier’ เมื่อปี 1989 เป็นภาคที่ได้รับเสียงตอบรับไม่ดีเลยจากนักวิจารณ์และทำเงินไปได้น้อยมากด้วย แต่จุดที่ไฟกีประทับใจในเรื่องนี้ก็คือ หนังเน้นหนักไปที่ 3 ตัวละครหลักของยานเอ็นเตอร์ไพรซ์ ซึ่งประกอบไปด้วย กัปตันเคิร์ก, สป็อก และ ดร.แม็กคอย ทั้งสามเดินทางไปแคมปิงด้วยกัน ไฟกีอยากจะให้ตัวละครในจักรวาลภาพยนตร์มาร์เวลมีโมเมนต์ร่วมกันแบบนี้ มีความสัมพันธ์กันในฐานะมนุษย์ และสำคัญที่สุดก็คือความเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน

ไม่แน่ว่าในอนาคตเราอาจจะได้เห็นฉากอารมณ์แบบ “ฉากแคมป์ไฟ” ในหนัง DCU ก็เป็นได้ ที่มีการรวมกลุ่มนักแสดงหรืออาจจะมีนักแสดงรับเชิญ ซึ่งการมีฉากแบบนี้ก็สามารถสร้างความรู้สึกอบอุ่นขึ้นในองค์รวมของจักรวาล ผู้ชมได้เข้าใจว่าซูเปอร์ฮีโรเหล่านี้ต่างก็เป็นเพื่อนกัน โดยที่ไม่จำเป็นต้องย้อนไปดูภาพยนตร์ของแต่ละราย สามารถเพลิดเพลินไปกับเรื่องราวที่จะดำเนินไปใน MCU ได้ แต่กันน์ต้องไม่ลืมที่จะปูทางต้อนรับผู้ชมกลุ่มใหม่ ๆ ที่จะพาให้พวกเขาเกาะติดไปกับการเดินทางครั้งใหม่ของดีซี ซึ่งถ้าสำเร็จก็น่าจะพาจักรวาลไปยังจุดที่เคยประสบความสำเร็จในบ็อกซ์ออฟฟิศได้อีกครั้ง


ตัวแปรสำคัญของ DCU คือรสนิยมของผู้ชม

จะทำอย่างไรให้ผู้ชมเกิดความหวังสูง เหมือนอย่างตอนที่จับ Superman กับ Batman มาเผชิญหน้ากัน เพราะว่าในวันนี้รสนิยมผู้ชมก็ต่างไปจากเมื่อ 4 ปีที่แล้ว แทนที่จะเล่าเรื่องราวในโครงสร้างใหญ่ ก็เลือกเล่าเรื่องที่แคบลงของตัวละครที่คนดูชอบและอยากรับรู้เรื่องราวของพวกเขาเพิ่มมากขึ้น อย่างเช่น ‘ Superman: Legacy’ แทนที่จะเล่าเหตุการณ์ที่โลกโดนมนุษย์ต่างดาวคุกคาม ก็มาเล่าเรื่องเพื่อนคนหนึ่งของซูเปอร์แมนที่กำลังตกอยูในอันตราย หรือแทนที่จะเล่าเรื่องราวของทั้งเมืองกอแทม ก็อาจจะให้แบทแมนช่วยเหลือคนแค่ไม่กี่คนก็พอ ถ้าเลือกมาทิศทางนี้ งบประมาณในการสร้างก็จะลดลงอย่างมาก เพราะไม่ต้องใช้ CGI มากมาย เน้นไปที่ตัวละครและเรื่องราวที่เหมาะสม ลำพังแค่พะยี่ห้อว่านี่คือหนังซูเปอร์ฮีโรจากดีซีก็ให้ความรู้สึกยิ่งใหญ่เพียงพอแล้ว ต่อให้เป็นเรื่องขัดแย้งกันในระดับส่วนตัวก็ตาม ไม่ต้องเล่นใหญ่ถึงขนาดจุดสิ้นโลก อันนั้นปล่อยให้เป็นหน้าที่ของทีม Justice League ในเวอร์ชันหน้งสือการ์ตูนก็พอ

การเล่าเรื่องราวต่อจากนี้ โดยให้มีเรื่องราวทับซ้อนกันของแต่ละซูเปอร์ฮีโรแค่เพียงเล็กน้อยใน DCU ของกันน์ก็น่าจะเป็นที่น่าพอใจสำหรับแฟน ๆ ที่อยากจะสนุกไปกับภาพยนตร์เดี่ยว ๆ ของแต่ละซูเปอร์ฮีโร โดยไม่ต้องสนใจภาคต่อที่จะตามมาว่าจะยิ่งใหญ่เพียงใด และไม่ต้องหลงงงงวยไปกับเนื้อหาที่ต้องเชื่อมโยงกับซูเปอร์ฮีโรรายอื่น ๆ อีก ด้วยทิศทางเช่นนี้จะทำให้หนังซูเปอร์ฮีโรแต่ละเรื่องสามารถเดินไปในทิศทางเดียวกันได้ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งเนื้อหากันให้ซับซ้อน และสามารถสร้างได้ในงบประมาณที่สมเหตุสมผล แต่ก็อาจจะไม่สามารถทำกำไรในจุดที่ Warner Bros. คาดหวังไว้

ที่มา : cbr