รีวิวหนัง “Godzilla Minus One” สมคำร่ำลือที่สุดแห่งปีจากญี่ปุ่น สดุดีออริจินัลแบบน้ำตาปริ่ม
คงจะต้องบอกว่าแทบจะมีโอกาสค่อนข้างน้อยลงเรื่อย ๆ ที่บ้านเราจะได้ดู “Godzilla Minus One” ในโรงหนัง เพราะว่าเจ้าของหนังอย่าง โทโฮ ก็ยังไม่มีแนวคิดที่จะทำตลาดฉายหนังเรื่องนี้ในเอเชียเลย เน้นตีตลาดฝั่งอเมริกากับยุโรปรัว ๆ ดังนั้นบทความรีวิวนี้จึงถือโอกาสตีแผ่ประสบการณ์ที่ผู้เขียนได้ไปชมหนังเรื่องนี้ด้วยตัวเองจากประเทศญี่ปุ่น และอยากจะถ่ายทอดร้อยเรียงคำบอกเล่าที่น่าสนใจให้แฟน ๆ หนังได้เชยชมกัน
อัปเดต: สามารถรับชมได้แล้ววันนี้ทางเน็ตฟลิกซ์
Godzilla Minus One เล่าย้อนไปถึงเหตุกาณ์ในช่วงปี 1945 ปีที่ญี่ปุ่นต้องยอมพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สภาพบ้านเมืองในช่วงเวลาหลังสงครามเหลือแค่เพียงเศษซาก เปรียบเทียบกับการเซ็ตค่าประเทศเป็นศูนย์ใหม่อีกครั้ง แต่ปรากฏว่าญี่ปุ่นยังต้องเผชิญหน้ากับภัยคุกคามจากสัตว์ประหลาดน่าเกรงข้าม ก็อดซิลลา ปรากฏตัวขึ้น และเป็นภัยต่อผู้คนที่กำลังหาทางลุกขึ้นยืนอีกครั้ง ทำให้พวกเขาต้องหาแนวทางจัดการมาเผชิญหน้ากับสัตว์ยักษ์ตัวนี้
นี่คือผลงานล่าสุดของผู้กำกับ “ทาคาชิ ยามาซะกิ” ที่เคยฝากฝั่งในหนังงานสร้างปัง ๆ อย่าง Parasyte ทั้งสองภาค และล่าสุดกับ Ghost Book โดยเรื่องนี้เขารับหน้าที่ทั้งกำกับและเขียนบทหนังเองทั้งหมด ถือว่าเป็นงานสร้างที่ค่อนข้างจัดจ้านและให้ความเคารพต้นฉบับอย่างตรงไปตรงมา ถึงแม้ว่าโครงสร้างเรื่องราวในนั้นจะค่อนข้างเป็นสูตรสำเร็จและอยู่ในเซฟโซนทั่วไปของหนังญี่ปุ่น แต่ก็สามารถบิวท์ขึ้นให้กลายเป็นความยิ่งใหญ่ได้
สารภาพอย่างตรงไปตรงมากับผู้อ่านทุกคนก่อนว่า Godzilla Minus One ที่ผู้เขียนได้ชมนั้น เป็นเวอร์ชั่น Monochrome ที่มีการย้อมสีภาพเป็นหนังขาวดำ และหนังเรื่องนี้เข้าฉายที่ญี่ปุ่นก็ไม่ได้มีซับไตเติ้ลภาษาอังกฤษให้ด้วย ดังนั้นประสบการณ์การดูหนังครั้งนี้ต้องยอมรับว่าเข้าใจสิ่งที่ตัวละครพูดในหนังได้ไม่ถึง 10% ด้วยซ้ำ แต่น่าแปลกใจที่กลายเป็นว่าโครงเรื่องของหนังมีความสากลมาก ๆ ถึงจะฟังภาษาไม่เข้าใจ แต่กลับซึมซับเข้าถึงแก่นของเรื่องได้ไม่ยากเย็นนัก
ดังนั้นบทความรีวิว Godzilla Minus One ในครั้งนี้ อาจจะไม่ขอกล่าวถึงประเด็นเกี่ยวกับบทหนัง เนื่องจากความแตกต่างทางภาษาในหนังนั่นเอง จึงยกประโยชน์ให้กับองค์ประกอบอื่น ๆ ของหนังที่ต้องยอมรับว่าทำออกมาได้ถึงใจถึงอารมณ์ ตลอดระยะเวลา 2 ชั่วโมงเต็ม ที่อัดแน่นไปด้วยฉากชวนตื่นตาตื่นใจและการวางแผนกลยุทธ์เชิงรบที่ทรงพลัง
สิ่งหนึ่งที่แว่บเข้ามาระหว่างที่กำลังดูหนังเรื่องนี้ เพราะมันชวนทำให้นึกถึงหนังตัวเต็งรางวัลออสการ์ปีนี้ อย่าง Oppenheimer ของ คริสโตเฟอร์ โนแลน เพราะจังหวะในการร้อยเรียงของ Godzilla Minus One ค่อนข้างขีงขังได้ดีเทียบกับหนังฮอลลิวูดเรื่องดังกล่าว ทางหากว่าฝั่งนู้นมี Oppenheimer เป็นดาวเด่น ฝั่งญี่ปุ่นก็ต้องยกให้ Godzilla Minus One เรื่องนี้นี่แหละที่เทียบชั้นกันได้แบบสบาย ๆ
แม้ว่าจะเป็นการดูหนังแบบย้อมสีเป็นขาวดำ แต่กลายเป็นสิ่งที่น่าหลงใหล ๆ มาในหนังเรื่องนี้ก็คือการถ่ายภาพของช่างภาพชื่อดัง “โคโซะ ชิบาซะกิ” (จากหนังชุด Always) ที่ยังคงจัดการและลำเรียงภาพออกมาได้อย่างทรงพลัง โดยเฉพาะการถ่ายทอดผ่านช่วงยุคสมัยแบบพีเรียด ที่น่าจะเป็นหนึ่งในงานถนัดของช่างภาพผู้นี้ ถึงจะถูกย้อมเอาสีออกไป แต่กลับเติมมนต์ขลังความเป็นหนังญี่ปุ่นยุคภาพขาวดำได้อย่างบรรจงสร้าง
ทางด้านการแสดงก็เป็นอีกจุดที่ชวนให้คิดถึง Oppenheimer เช่นกัน เพราะ Godzilla Minus One เป็นหนังที่พกพาตัวละครต่าง ๆ เข้ามาเพียบ แม้ว่าจะมี “เรียวโนะซึเกะ คามิกิ” มารับบทนำหลัก ๆ แต่ก็ยังเต็มไปด้วยความนักแสดงสมทบคนอื่น ๆ ที่มีความสำคัญไม่น้อยหน้า โดยการแสดงของเรียวโนะซึเกะถือว่ารับมือกับพาร์ทดรามาได้อย่างจัดจ้าน แม้ว่าพลังทางการแสดงของเขาจะยังไม่ถึงขั้นจัดจ้าน แต่นับว่าดีที่มีทีมคอยช่วย ไม่ว่าจะเป็น “มินามิ ฮามาเบะ”, “ยูกิ ยามาดะ” หรือ “มุเนะตะเกะ โอโอะกิ” มาเป็นทีมแสดงที่ช่วยเสริมกำลังได้ดี
โดยนักแสดงที่อยากปรบมือให้จริง ๆ ในเรื่องนี้ก็คือดาราตัวน้อย “ซาเอะ นางะตะนิ” ที่รับบทเป็นลูกสาวของนักแสดงนำ เรียกได้ว่าเป็นนักแสดงเด็กที่จังหวะการแสดงช่างไร้เดียงสา แต่กลับมาออกได้ตรงจังหวะและทรงพลังอย่างน่าทึ่ง โดยที่เราก็ไม่รู้ว่าน้องแสดงออกไปด้วยอินเนอร์จริง ๆ หรือไม่ แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาในหนังนั้น กลายเป็นจุดเล่น ๆ ที่ส่งพลังได้อย่างน่าทึ่งจริง
ทางด้านงานสร้างเทคนิคพิเศษก็ต้องยอมรับว่า..สมคำร่ำลือ และเหมาะเจาะกับที่ได้มีโอกาสได้เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขานี้ในปีนี้ด้วย โดยเฉพาะงานออกแบบตัวก็อดซิลลาที่ใช้เทคนิคดั้งเดิม ผนวกเข้ากับเทคนิคปัจจุบันได้อย่างลงตัว รายละเอียดของก็อดซิลลาออกมาด้วยอารมณ์ใกล้เคียงกับตัวต้นฉบับ เมื่อ 70 ปีก่อน ที่มีการเก็บดีเทลเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้ดูน่าเกรงขามและขึงขังชวนตรึงอารมณ์ผู้ชมได้ดี เป็นงานที่ออกมาดีกับการบรรจงสร้างเฉพาะส่วนนี้มาแรมปี
และอีกสิ่งที่ไม่พูดถึงก็คงไม่ได้ งานเพลงประกอบของ Godzilla Minus One ก็เป็นอีกสิ่งที่ทำการสดุดีต้นฉบับได้อย่างชวนขนลุก โดยได้นักประพันธ์ชื่อดัง “นาโอกิ ซาโตะ” มาช่วยสร้าง ที่เป็นการปลุกงานดนตรีที่หยิบเอากลิ่นอายต้นฉบับงานเพลงอันเป็นเอกลักษณ์ของ อากิระ อิฟุคูเบะ จากธีมไคจูในตำนาน มาผสมผสานเข้ากับดนตรีใหม่ได้อย่างทรงพลัง
โดยเฉพาะซีนไฮไลต์เด่นกลางเรื่อง ที่มีการหยอดท่วงทำนองของเพลงเข้าไปช่วยปลุกเร้าอารมณ์ นับว่าเป็นหนึ่งในซีนที่น่าจะจดจำมาก ๆ ในช่วงทศวรรษนี้เลย และทำนองเพลงประกอบของนาโอกิ ก็ยังสาธยายอารมณ์ของหนังไปได้ดีตลอดทั้งเรื่อง แม้กระทั่งฉากรายชื่อเครดิตขึ้นในตอนท้าย เพลงประกอบของหนังก็ยังเร้าอารมณ์ได้ถึงแก่นไปจนจะปิดฉากหนังแบบหมดม้วนฟิล์มจริง ๆ
ดังนั้นโดยสรุปแล้ว Godzilla Minus One ถือว่าเป็นอีกหนึ่งหนังก็อดซิลลา จากฝีมือของต้นฉบับแท้ ๆ ของญี่ปุ่น ที่สร้างมาตรฐานมาสเตอร์พีชขึ้นมาได้อีกครั้ง หลาย ๆ องค์ประกอบเป็นความสมบูรณ์แบบที่ชวนลงตัวดี เนื้อหาของหนังสอดแทรกเกร็ดประวัติศาสตร์เข้าไปอย่างมีชั้นเชิง ซ้ำยังใส่ความเป็นสากลได้อย่างน่าทึ่ง นี่คือหนังที่เข้ามาเติมเต็มความหวังในห้วงอารมณ์แห่งความสิ้นหวังอย่างน่าเหลือเชิง และยังเป็นการสดุดีตำนานสัตว์ประหลาดที่ให้ความเคารพได้อย่างประทับใจจริง ๆ
(หมายเหตุ: บทความนี้ได้เผยแพร่ครั้งแรก เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567)
ข้อมูลเกี่ยวกับหนัง: Godzilla Minus One
- ประเภท: แอคชัน / ผจญภัย / ดรามา
- ผู้กำกับ: ทาคาชิ ยามาซะกิ
- นำแสดงโดย: เรียวโนะซึเกะ คามิกิ, มินามิ ฮามาเบะ, ยูกิ ยามาดะ, มุเนะตะเกะ โอโอะกิ
- ความยาว: 124 นาที
- กำหนดฉายในไทย: 3 พฤศจิกายน 2023 (กำหนดฉายในญี่ปุ่น) | 1 มิถุนายน 2024 (ไทย - เน็ตฟลิกซ์)
Movie.TrueID METRIC: Godzilla Minus One
- ภาพรวม
⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐✰ (9/10) - การเล่าเรื่อง
⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐✰ (9/10) - การแสดง
⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐✰✰ (8/10) - เทคนิคงานสร้าง
⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐✰ (9/10) - บทภาพยนตร์
⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐✰ (9/10)
-------------------------------------
>> ดูหนังออนไลน์ได้ที่ Movie.TrueID <<
หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับทรูไอดีสามารถเข้าไปได้ที่ TrueID Help Center เป็นช่องทางใหม่ที่ให้ข้อมูลและการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นเกี่ยวกับทรูไอดี คลิกเลย >> https://bit.ly/3xEgdAa