“พันไหนมัง ซือบายโย้หมี” เป็นภาษาที่ไม่ค่อยคุ้นหู หากให้ทายหลายท่านคงเดาว่า น่าจะเป็นภาษาลูตระกูลหนึ่ง ที่วัยรุ่นผสมประดิษฐ์ขึ้นมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ แต่… แต่ภาษาที่ผมยกมา อายุอย่างน้อย 500 ปี ล่วงมาแล้ว คำแปลของวลีข้างต้น ความหมายเดียวกับคำใต้ที่แหลง “พรือมัง บายดีม้าย” หรือคำอีสานอันเว้าว่า “เป็นจั่งได๋ ซำบายดีบ่” คือ “เป็นอย่างไร สบายดีไหม” ในภาษากลาง“พันไหนมัง ซือบายโย้หมี” เป็นประโยคขึ้นต้นบทเพลง “คนบ้านเรา” โดยวงคนบ้านเรา มี ‘ชาย ชนบท’ ร้องนำ หลังจากทักทายกันด้วยถ้อยความ เป็นอย่างไรบ้าง สบายดีไหม คำร้องก็จะเฉลยเลยว่า วงดนตรีนี้มีพื้นเพจากแห่งใด “พันไหนมัง ซือบายโย้หมี เราคนเจ๊ะเห เด้ จังหวัดนราฯ เวลามาพบกัดทักกันมังแหละหนา ถ้าว่าโย้นราฯ แหลงภาษาพรรค์เรา”ที่ผมยกมา คือ ภาษาถิ่นจังหวัดนราธิวาส (และมีใช้ในบางอำเภอของจังหวัดปัตตานี เช่น อ.ปะนาเระ เป็นต้น) เรียกว่า ‘ภาษาเจ๊ะเห’ เพราะใช้กันมากที่ ต.เจ๊ะเห อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เป็นภาษาที่พูดได้เต็มปาก และเขียนชนิดเน้นตัวหนา ขยายขนาดใหญ่ ๆ ได้เลยว่า เป็นภาษาแห่งพหุวัฒนธรรมขนานแท้ เพราะผสมทั้งภาษาไทยโบราณ (สุโขทัย), ภาษาใต้, ภาษามลายู เข้าไว้ด้วยกัน มาเยือนแดนนราฯ เผลอได้ยินคนท้องถิ่นเรียก พ่อแม่ ว่า บิดามารดา, ร่ม เรียก กลด, กางเกง เรียก สนับเพลา อย่าได้ตกใจ เพราะนี่เป็นภาษาโบราณที่ยังหลงเหลืออยู่ตัวอย่างคำอื่น ๆ ขอยกพอสังเขปดุ เจ๊ะเหว่า “แบ่แก๋ง” คำมลายูก็พูด แบ่แก๋งข้าวโพด เจ๊ะเหเรียก “กือคง” ส่วนมลายูเรียก ยาฆงโคลน ภาษาเจ๊ะเห คือ “กือหลุด” พ้องกับคำมลายูที่ว่า สือหลุดเห็นได้ว่า หลาย ๆ คำของภาษาเจ๊ะเหจะยืมภาษามลายูมาด้วยทั้งนี้หากหนุ่ม ๆ ท่านใด ไปหว่านคารมสาวเจ๊ะเห แล้วหล่อนบอกให้ไป ‘ดอย’ อย่าเพิ่งดีใจว่าเธอชวนไปหนุงหนิงชมวิวบนยอดเขาสวยนะครับ เพราะดอย แปลว่า “ตาย”อีกกรณีหนึ่ง หากคุณถามสาวเจ้าว่า ทำอะไรอยู่ แล้วเธอแถลงไข “อยู่ดอก ๆ” ก็อย่าด่วนตกใจเนื่องจาก “ดอก ๆ” หมายถึง ว่าง ๆ เปล่า ๆอ้อ! แถลง เป็นอีกคำที่ได้ยินในภาษาเจ๊ะเห แต่เสียงออกเป็น ‘กือแหลง’ประวัติภาษาเจ๊ะเหไม่ชัดเจน แต่เชื่อกันว่า น่าจะมาจากเหล่าทหาร ขุนนาง ตลอดจนข้าราชบริพาร เมื่อครั้งติดตามทัพอยุธยามาทำศึกกับเมืองปัตตานี แล้วไม่ตามทัพกลับ ปักหลักใช้ชีวิต และแต่งงานกับชาวพื้นเมือง วัฒนธรรมที่ติดตัวจึงผสานกลมกลืนกับวัฒนธรรมดั้งเดิม และที่โดดเด่นที่สุด คือ ภาษาที่เรียกว่า เจ๊ะเหภาษาเจ๊ะเห ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ จากกระทรวงวัฒนธรรม เมื่อ พ.ศ. 2556 มีความสำคัญระดับชาติ แต่สวนทางกับความสำคัญของชุมชน เพราะพ่อแม่ยุค 2000 ชอบให้ลูก ๆ พูดกลาง โรงเรียนหลายแห่งไม่ชอบให้เด็ก ๆ พูดภาษาถิ่นในพื้นที่รอบรั้ว (ส่วนตัวผู้เขียนเอง ก็เป็นลูกหลานภาษาเจ๊ะเห สมัยเรียนโรงเรียนประถมในหมู่บ้าน ใครพูดภาษาถิ่นมีโดนดีดปาก ทางการชอบให้พูดกลางชัด ๆ) อีกทั้งภาษาเจ๊ะเห มีสำเนียงที่เนิบยาน คล้ายภาษาเหนือ คล้ายภาษาอีสาน ทดสอบได้โดยให้ชาวเจ๊ะเหพูดคำว่า “ไก่อยู่ในกอไม้ไผ่” ผลลัพธ์ที่ได้ คือ “ก่าย โย้ ใน กอ ม้าย ผ้าย” ฉะนั้นคนนราฯ จึงมักถูกคนใต้ตอนบนล้อเสมอว่า “เป็นคนอีสาน” หลายคนจึงดัดลิ้นแหลงใต้ บ้างก็พูดกลางไปเลย ข้อนี้ไม่เข้าใจเช่นกัน ในขณะที่เพื่อนบ้านภาคอีสานเขาภูมิใจในภาษาตัวเองนัก คนนราฯ กลับคิดตรงข้าม แต่เวลาเปิดเพลงลำเซิ้ง ลำม่วน เต้นฝุ่นตลบเชียวจากเหตุผลนี้ ชาย ชนบท และวงคนบ้านเรา จึงมีแนวคิดปลุกจิตสำนึกรักวัฒนธรรมภาษาเจ๊ะเห ด้วยเสียงเพลง โดยใช้เนื้อร้องเป็นภาษาเจ๊ะเหทั้งหมด ปัจจุบันออกมาแล้ว 3 ชุด เพลงที่ได้รับการตอบรับ และกระตุ้นให้ชาวนราฯ ตระหนักถึงภาษาอันเป็นเอกลักษณ์มากขึ้น ก็เพลง ‘คนบ้านเรา’ นี่เอง เนื้อร้องตอนหนึ่งว่า... “ภาษาพรรค์เรานี่เก่าแก่ ต้องช่วยกันดูแล เพราะสำเนียงมันญังซือเน่ห์ ว่านี่คืออัตลักษณ์ของเรา ถ้าแหลงกันกับเค้า จะโร้ว่าเราโย้นรา”...แม้กล่าวว่าเพลงคนบ้านเรา เป็นเพลงอนุรักษ์ แต่อย่าด่วนสรุปว่าจะออกมาน่าเบื่อ ดูอย่างเพลง ‘ทับหลัง’ ของคาราบาวนั่นเป็นไร เต้นกันกระจาย หรือ โอ้ละน้อ ของ ก้อง ห้วยไร่ ก็สนุกสนานมีปู่จ๋าน ลองไมค์ มาร่วมด้วย เพลงของชาย ชนบท ก็เช่นกัน เป็นจังหวะสนุก ๆ มีเรื่องเล่าของท้องถิ่นคลอไปด้วย ไม่ใช่แค่เพลงคนบ้านเรา แต่รวมถึงเพลงเหล่านี้ผักแม่แก่ปลูกกับลูกไม้ข้างเริน (ผักที่ย่าปลูกกับผลไม้ข้างบ้าน) เป็นการเล่าเรื่องชื่อผักผลไม้ต่าง ๆ ที่ภาษาเจ๊ะเหเรียกอีกอย่าง ภาษากลางเรียกอีกแบบ เช่น สับปะรด เรียก ลูกหนัด, มะละกอ เรียก กล้วยหลา เป็นต้น ในชื่อเรียกเหล่านี้ ชาย ชนบท แทรกเรื่องเล่าบรรยากาศของท้องถิ่น และวิถีพอเพียง ลงไปได้อย่างลงตัววันละจอกสองจอก (วันละแก้วสองแก้ว) เห็นชื่อเพลงก็พอนึกออกว่าเป็นแนวไหน ก็แซวขาเมานั่นแหละ เป็นเพลงจังหวะสนุกสนาน เล่าวิถีเลิกงานของพ่อบ้านใจกล้าท้องถิ่นเจ๊ะเหโถกหลอกแม่แก่เอ้ย (ถูกหลอกแล้วย่าเอ๋ย) อกหักเศร้า ๆ ก็มีให้ฟัง เพลงนี้อกหักไม่รู้จะปรึกษาใคร ก็หันหน้าเข้าหาย่ายาย (แม่แก่ใช้เรียกทั้งย่าและยาย) เพลงนี้เป็นการตัดพ้อ แต่ในบริบทแล้วจะเห็นว่า วิถีชนบทนราธิวาสแต่เดิมนั้นให้ความสำคัญกับคนเฒ่าคนแก่เพียงไร เป็นเพลงซึ้ง ทั้งเรื่องอกหัก และความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัว“ทำเพื่อให้คงอยู่” ชาย ชนบท กล่าว พร้อมขยายความ สิ่งที่เขาทำไม่ได้หวังความยิ่งใหญ่ เพียงทำเพื่อให้ภาษาเจ๊ะเหยังคงอยู่ อย่างน้อยก็อยู่ในรูปแบบของเพลง แต่เมื่อทำด้วยความตั้งใจผลที่ได้รับ กลับเกิดแรงกระเพื่อมในวงกว้าง หลายคนที่ไม่กล้าพูดเจ๊ะเหในพื้นที่สาธารณะกลับมั่นใจขึ้น โรงเรียนรณรงค์ให้นักเรียนพูดอย่างเต็มที่“เคยไปเล่นเพลงที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง เป็นมุสลิมล้วน เด็ก ๆ ตั้งใจฟัง แถมยังร้องตามด้วย” เป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจที่ชาย ชนบท ถ่ายทอดให้ผู้เขียนฟัง แสดงว่าเพลงเข้าถึงกับทุกวัฒนธรรม เพราะภาษาเจ๊ะเห เป็นภาษาที่ใช้เฉพาะผู้ที่นับถือศาสานพุทธ กล่าวคือ พุทธมีเจ๊ะเหเป็นภาษาถิ่น ส่วนมุสลิม ใช้ภาษามลายู การที่เด็ก ๆ มุสลิมสนใจและร้องตามได้ แสดงว่าเคยได้ยินเพลงมาก่อนภาพจาก MV เพลงคนบ้านเรา กระแสเพลงคนบ้านเรา ถือว่าดีไม่ใช่เล่น เพราะดังไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน มาเลเซีย แต่เจ้าของบทเพลงบอกว่า “มีคนบอกว่าเพลงคนบ้านเรา เกิดการยอมรับ เป็นเพลงดัง แต่ในมุมมองผม ผมมองว่าไม่ใช่ความดัง แต่เป็นความแปลก เพราะเป็นเพลงเจ๊ะเหเพลงแรก ที่ร้องแล้วเป็นสำเนียงเจ๊ะเหจริง ๆ ซึ่งบ้านเราไม่มีก่อน”ชาย ชนบท เผยว่า การนำภาษาเจ๊ะเหมาใส่ทำนอง ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสำเนียงเรียบเนิบไม่ค่อยมีสูงต่ำอันชัดเจน อีกทั้งยังหานักร้องยาก “ร้องตอนซ้อมพอได้ น้อง ๆ หลายคนเสียงดี พอมาร้องเป็นภาษาเจ๊ะเหในทำนองเพลง ‘จบหมด’ ไปไม่ได้ แต่ผมก็พยายามซ้อม พยายามฝึกให้น้อง ๆ ในวงอยู่”ความดังของเพลงคนบ้านเรา นอกจากเกิดกระแสตระหนักด้านการอนุรักษ์ภาษาเจ๊ะเหแล้ว ยังมีเสียงแนะนำให้ร้องเป็นภาษากลาง หรือปรับคำเพื่อให้คนภาคอื่นได้เข้าใจง่าย ส่วนนี้เจ้าของบทเพลงให้คำตอบ “ผมมองว่า เราเป็นเพียงจุดเริ่มต้น เป็นการเปิดทาง เพราะถ้าไม่มีจุดเริ่มต้นคนรุ่นหลังก็ไม่สามารถจะต่อยอดได้ ส่วนการขยายด้านนั้นคงต้องฝากให้คนรุ่นหลัง ส่วนของเราที่ทำทุกวันนี้ถือว่าได้รับการตอบรับที่เกินคาดอยู่แล้ว แต่มีบางท่านที่หวังดี เสนอว่าอยากให้ต่อยอดเพื่อร่วมสมัย มีความหลากหลาย คนภาคอื่นเข้าถึงได้ จริง ๆ ก็เป็นเรื่องที่ดี ถึงกระนั้น เรายังรักในสำเนียงเจ๊ะเหอยู่ ซึ่งไม่มีที่ไหนแล้ว ยังไงเราก็ต้องนำสำเนียงมาเป็นที่ตั้ง เราไม่ได้คาดหวังว่าคนนอกต้องรับรู้ก่อน แต่เราอยากสร้างจิตสำนึกให้คนในพื้นที่ คนที่เป็นเจ้าของได้เห็นความสำคัญ เพราะเรามองว่าทุกวันนี้เจ้าของยังไม่ค่อยสนใจ ฉะนั้นเราจะไปพึ่งคนนอกนอกก่อนไม่ได้” แม้ ชาย ชนบท จะร้องเพลงทุกเพลงในวงของเขาเป็นภาษาเจ๊ะเห ทว่าผู้เขียนเชื่อเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าผู้ฟังจะอยู่ภาคไหน ใช้ภาษาถิ่นใด ก็จะสามารถฟังได้อย่างเข้าใจ พิสูจน์ได้เลยที่ เพลงคนบ้านเราภาพโดย ผู้เขียน