รีเซต

จากวินาศภัยสู่หนังฟอร์มดี ผู้กำกับ ฌอง-ชาคส์ อองโนด์ เล่าถึงที่มา "Notre-Dame de Paris"

จากวินาศภัยสู่หนังฟอร์มดี ผู้กำกับ ฌอง-ชาคส์ อองโนด์ เล่าถึงที่มา "Notre-Dame de Paris"
Major Cineplex
2 มิถุนายน 2565 ( 18:30 )
296

สำหรับคุณเส้นทางงานสร้างอันน่าทึ่งของภาพยนตร์เรื่องนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 15 เมษายน ซึ่งคือวันที่เกิดเหตุเพลิงไหม้มหาวิหารนอเทรอดามในปารีส (Notre-Dame de Paris)

ช่วงสองสามวันนั้นผมอยู่ที่ ว็องเด (ทางตะวันตกของฝรั่งเศส) แต่บ้านที่ผมอยู่โทรทัศน์ดันเปิดใช้งานไม่ได้ ผมเลยลองเปิดวิทยุ ซึ่งกำลังเป็นช่วงที่ประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง กำลังกล่าวถึงเหตุการณ์นี้อยู่พอดี นั่นเลยทำให้ผมได้รู้ถึงวินาศภัยที่มหาวิหารนอเทรอดาม ตอนเย็นวันนั้นผมยังไม่ได้เห็นภาพของเหตุการณ์ในทันที แต่ผมจินตนาการถึงภาพของมัน ส่วนตัวแล้วผมรู้จักมหาวิหารนี้เป็นอย่างดี ในตอนเด็กผมเคยทำกล้องถ่ายรูป โกดัก บราวนี่ (Kodak Brownie)  ของผมพัง เพราะพยายามจะถ่ายภาพรูปปั้นอสูรปีศาจที่ตั้งประดับอยู่บนมหาวิหาร

แต่แล้วคำเชิญไปรับประทานอาหารกลางวัน ก็ได้นำคุณมุ่งไปสู่แนวคิดของการสร้างภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับโศกนาฏกรรมครั้งนี้

เฌโรม แซดู, ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทภาพยนตร์ Pathé โทรหาผมเมื่อช่วงปลายเดือนธันวาคม ปี 2019 ซึ่งนั่นเป็นจุดที่ทำให้เราได้ร่วมงานกัน เขาได้เสนอไอเดียที่ทำให้ผมประหลาดใจเลยทีเดียว เขานึกถึงการสร้างภาพยนตร์ที่เน้นถึงความสมจริงทั้งด้านภาพและเสียงของเหตุการณ์อัคคีภัยในมหาวิหารนอเทรอดาม ตอนแรกผมคิดว่าจะมีฟุตเทจหรือเรื่องราวต่างๆ มาประกอบให้เข้ากันได้ไม่มากพอที่จะเป็นภาพยนตร์ขนาดยาวประมาณ 90 นาที แต่เฌโรมก็ได้ให้ซองเอกสารแก่ผมเพิ่มเติมไว้ ด้านในนั้นเต็มไปด้วยเอกสารต่างๆ มากมาย มีทั้งบทความในภาษาฝรั่งเศสและภาษาอังกฤษ ก่อนที่จะเข้านอนผมดูเนื้อหาต่างๆ ในเอกสารเหล่านั้น ตั้งใจอ่านมันอย่างละเอียดชนิดแทบจะโต้รุ่งเลย แน่นอนว่ามันอาจสายเกินไปหรือเร็วเกินไปที่จะโทรกลับไปหาเขา แต่ผมเองก็ได้ตัดสินใจแล้ว

เนื้อหาส่วนใดในเอกสารเหล่านั้นที่โน้มน้าวใจคุณในการอยากที่จะสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้

สิ่งที่ผมได้ค้นพบนั้นมันเหนือความคาดหมายจริงๆ เพราะเรื่องราวมันมีทั้ง ความพ่ายแพ้, อุปสรรค, ความสำเร็จบนความล้มเหลว หรืออย่างส่วนประกอบต่างๆ ที่พอจะเห็นเป็นบทภาพยนตร์ได้ก็อยู่ตรงหน้าแบบชัดๆ เลยอย่าง บทตัวเอก: มหาวิหารนอเทรอดาม คู่ต่อสู้หรือวายร้าย: เปลวเพลิง ที่ทั้งน่าเกรงขามราวกับปีศาจ แต่ก็เปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ในเวลาเดียวกัน ส่วนตัวประกอบอื่นๆ ที่อยู่ท่ามกลางทั้งคู่ก็คือ คนหนุ่ม-สาวธรรมดาๆ ที่ต่างพร้อมสละชีวิตเพื่อกอบกู้มหาวิหารอันเป็นที่รักนี้ รายละเอียดต่างๆ พวกนั้นตรึงความสนใจของผมได้อยู่หมัด มันทั้งยิ่งใหญ่ นำเสนอความเป็นมนุษย์ได้อย่างลึกซึ้ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผมเองก็ต้องยึดเรื่องราวให้ตั้งอยู่บนข้อเท็จจริง ดังนั้นรายละเอียดในแต่ละส่วนจึงจำเป็นที่จะต้องถูกต้องและแม่นยำ ผมเองจึงรู้ได้ในทันทีตั้งแต่แรกว่า จะต้องรวบรวมข้อมูล คำให้การ และสมมติฐานต่างๆ ที่เป็นไปได้ทั้งหมดจากเหล่าผู้คนที่ได้เคยอยู่ในช่วงเวลาตอนนั้นของเหตุการณ์อันน่าเหลือเชื่อนี้

คุณเริ่มต้นกระบวนการทำงานต่อไปอย่างไรบ้าง

ตอนแรกผมตัดสินใจที่จะยึดอยู่กับข้อเท็จจริงของเรื่องราว จึงเริ่มต้นด้วยการลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยอ้างอิงจากการเปรียบเทียบคำให้การต่างๆ ที่ผมมีอยู่ในตอนนั้น ผมรู้ว่าแต่ละคนล้วนมีรูปแบบภาพเหตุการณ์ในหัวของตัวเองที่แตกต่างกันออกไป  ตั้งแต่ช่วงที่ควันและเปลวไฟเริ่มต้นปรากฏขึ้นครั้งแรก ไปจนถึงเมื่อแผนกดับเพลิงเดินทางมาถึง กับผมก็เข้าใจด้วยว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ตอนนั้นเป็นช่วงเวลาที่คับขันและกดดัน เพราะไม่มีใครมีเวลาดูนาฬิกาของพวกเขาเลย ผมเลยให้ โทมัส บีเดเกน นักเขียนบทของจ๊าค ออเดียด ลองวางสถานการณ์จำลองแบบร่างแรกคร่าวๆ ให้ลองอ่านดูก่อน 

ในขณะที่คุณทบทวนเหตุการณ์ของวันที่ 15 เมษายน 2019 อะไรคือสิ่งเซอไพรส์ที่คุณได้ค้นพบ

ได้มีการตรวจพบเพลิงไหม้ในช่วงตอนต้นของพิธีอีสเตอร์มันเดย์ เมื่อเวลา 18:17 น. แต่ก็ยังไม่ได้รับความสนใจจากแผนกดับเพลิงจนถึงครึ่งชั่วโมงต่อมา โดยเพื่อนของ นายพลแกลเล็ต ที่กำลังพักผ่อนอยู่ที่เมืองฟลอเรนซ์ (ประเทศอิตาลี) 

ตั้งแต่เช้าวันนั้นเหตุการณ์ที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นกลับดันเกิดขึ้น จนนำไปสู่หายนะอันเป็นภาพจำของคนทั้งโลก มันเป็นการเริ่มต้นทำงานวันแรกในมหาวิหารนอเทรอดามของเจ้าหน้าที่ป้องกันอัคคีภัยคนใหม่ ผู้รับหน้าที่ดูแลตรวจสอบแผงควบคุมสัญญาณ แต่แล้วสัญญาณเตือนภายในมหาวิหารกลับไม่ทำงานขณะที่กำลังเกิดเพลิงไหม้ เขาไม่เคยไปที่มหาวิหารนี้มาก่อน และไม่คุ้นเคยกับศัพท์เทคนิคของสถาปัตยกรรมแบบโกธิค เมื่อสัญญาณเตือนภัยไม่ทำงาน และหน้าจอแสดงรหัสที่เขาไม่สามารถเข้าใจได้ เขาจึงตัดสินใจโทรหาเจ้านายของเขา แต่ก็ไม่สามารถติดต่อได้ และกว่าที่เจ้านายจะโทรกลับมาหาเขา เวลาก็ล่วงเลยผ่านไปแล้วกว่า 15 นาที ถัดมา รปภ. จึงได้ถึงเริ่มรับรู้ถึงเหตุการณ์เพลิงไหม้ที่กำลังเกิดขึ้น จากการพูดคุยกันผ่านวิทยุสื่อสาร พวกเขารู้ตัวในทันทีว่าต้องรีบออกไปตรวจสอบตามจุดต่างๆ ซึ่งในขณะนั้นไฟก็ได้ปะทุขึ้นในห้องใต้หลังคาของโบสถ์ และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์แสนเคราะห์ร้ายนี้

ยังคงเป็นประเด็นที่ถูกถามกันอยู่บ่อยๆ ว่า อะไรคือสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดขึ้นของเปลวไฟ วันนี้เกือบสามปีให้หลังก็ยังคงไม่มีคำตอบใดๆ อันเป็นทางการใดออกมา

การไต่สวนทางกฎหมายนั้นกำลังดำเนินอยู่ ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้มีเจตนาหรือถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นการเค้นสืบสวนเรื่องราว เราไม่ได้ต้องการที่จะทำหน้าที่แทนเป็นอัยการ แน่นอนว่ามันนำเสนอถึงสาเหตุที่อาจเป็นไปได้ต่างๆ แต่ก็ยังคงขาดหลักฐานอยู่ 

Notre-Dame on Fire เป็นภาพยนตร์ที่พูดถึงในรายละเอียดต่างๆ ที่เรารู้ ในแง่หนึ่งมันเป็นราวกับ ‘ตำนานแห่งการกอบกู้มหาวิหาร’ เราเล่าว่าอาสนวิหารเป็นอย่างไร ได้รับการช่วยเหลือด้วยวิธีใด ไม่ได้ย้ำในส่วนว่าเพราะเหตุใดมันจึงเกือบถูกทำลายลง

ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอภาพอันตระการตาของมหาวิหารนอเทรอดามในปารีส มหาวิหารแทบจะถูกยกให้เป็นตัวละคร รวมถึงสถานที่หลักเลย คุณได้มีโอกาสถ่ายสองถึงสามฉากภายในมหาวิหารจริง แต่ในขณะเดียวกันคุณก็ต้องสร้างและจำลองบางส่วนของมหาวิหารขึ้นมาในสตูดิโอ

ตัวมหาวิหารจริง ยังคงไม่สามารถเข้าไปด้านในได้ เนื่องจากมีสารตะกั่วต่างๆ อยู่ทั่วพื้นที่ และโครงสร้างบางส่วนก็เสี่ยงต่อการพังทลายลงมา อีกทั้งในขั้นตอนการถ่ายทำ เราจำเป็นที่จะต้องสร้างควันและเติมควันให้เต็มอาคาร ตกแต่งพื้นด้วยขี้เถ้าและฝุ่น โถมไม้เป็นตันๆ ที่ไฟลุกท่วม และกองหินอีกมากมาย ด้วยเหตุนี้เราจึงจำเป็นที่จะต้องจำลองบางส่วนของมหาวิหารฯ ขึ้นมา ในส่วนของการสร้างเปลวไฟนั้น ถูกทำให้เกิดขึ้นโดยผ่านหัวฉีดที่สามารถปรับรูปแบบและความแรงได้หลายร้อยแบบเพื่อทำให้เกิดการจุดติดไฟอย่างสมจริง

มหาวิหารที่สร้างขึ้นมาใหม่นั้น มีการขยายพื้นที่บางจุดให้ใหญ่โตขึ้นอย่าง โถงทางเดินกลาง, บันไดเวียน, แกลเลอรี่ภายนอก, จันทัน (คานค้ำหลังคา) ฝั่งเหนือ รวมไปถึง ด้านในของหอระฆัง ซึ่งเป็นฉากในช่วงท้ายของภาพยนตร์ เราใส่ใจในทุกรายละเอียดของการจำลองส่วนประกอบต่างๆ ที่เป็นภาพจำของมหาวิหารออกมาให้สมจริงที่สุด เพราะภาพแต่ละองค์ประกอบเหล่านั้นของมหาวิหาร ผู้ชมจะได้เห็นมันเต็มๆ ทั้งในช่วงก่อนและระหว่างที่เกิดไฟไหม้

คุณจำเป็นต้องเป็นผู้ศรัทธาในความเชื่อไหม สำหรับการทำโปรเจกต์นี้

คุณต้องเชื่อในภาพยนตร์ ผมมาจากครอบครัวที่ไม่เชื่อในพระเจ้า เป็นฆราวาสโดยสิ้นเชิง และเป็นคนรีพับลิกันด้วยซ้ำ ผมจำได้ว่าตอนเมื่ออายุประมาณ 10-12 ปี ผมรู้สึกว่าชีวิตเหมือนมีบางอย่างขาดหายไป ผมจึงดึงความสนใจอย่างมากของตัวเองไปที่สถาปัตยกรรมยุคกลาง 

ผมใช้เงินค่าขนมของตัวเองหมดไปกับการซื้อแผ่นเพลงบทสวดเกรกอเรียน บทสวดทิเบต เพลงซาเฮเลียน บาคโอราทอริโอ และเฟรสโกบัลดีทอกกาตา หรืออย่างในฤดูร้อน แทนที่จะไปเที่ยวที่ชายหาด เรากลับไปเที่ยวกันที่โบสถ์ในเบรอตงหรือบาซิลิกาแบบโรมาเนสก์ในโอแวร์ญ และถึงแม้ผมจะไม่สามารถท่องบทอธิษฐานใดๆ ได้เลย แต่ผมเองเคารพรูปแบบการนมัสการ และศรัทธาของผู้อื่นอย่างสุดซึ้ง

สิ่งนี้อธิบายถึงการทำงานของผมได้เป็นอย่างดีกับการถ่ายทำภาพยนตร์ที่มีประเด็นเรื่องของพระในผลงานเรื่องก่อนหน้าของผมอย่าง Seven Years in Tibet (1997), The Name of the Rose (1986) ขณะอยู่ภายในวัด มัสยิด หรือโบสถ์ ผมชอบที่จะรู้สึกถึงความน่าสงสัยของความศรัทธา และความสงบของการสักการะ-อธิษฐาน

นักบวชที่ผมพบในกองถ่าย ไม่แปลกใจเลยที่ผมเป็นคนสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ และเหนือสิ่งอื่นใดจากเหตุเคราะห์ร้ายที่เกิดขึ้นนี้ เราถือว่า นักผจญเพลิง คือกลุ่มคนที่ควรค่าแก่การเคารพ มันน่าสนใจมากๆ กับการจะได้เห็นว่า ประเด็นทั้งสองส่วนนี้จะมาผสานรวมกันในภาพยนตร์ด้วยวิธีการอย่างไร

คุณทำให้ บทบาทนักผจญเพลิง ที่ช่วยกอบกู้ชีวิตมหาวิหารฯ เป็นวีรบุรุษของเรื่องจริงๆ อีกทั้งโดยเฉพาะในส่วนของ หนุ่มสาวหกคนที่เป็นกลุ่มคนแรกที่จัดการกับเปลวเพลิง

หญิงสาวสองคนและชายหนุ่มสองคน พวกเขาเพิ่งจะผ่านพ้นช่วงวัยรุ่นมาหมาดๆ และนอกจากสี่คนในนั้น มีสองคนที่ไม่เคยอยู่ในเหตุการณ์ไฟไหม้มาก่อน พวกเขามาถึงด้วยรถบรรทุกขนาดเล็ก ความสูง 22 ฟุต ถือว่าเป็นการรับมือกับเปลวเพลิงครั้งแรกหลังจากกำลังเกิดเหตุ ซึ่งขณะนั้นไฟได้ลุกท่วมขึ้นมาสูงถึงเกือบ 40 ฟุต พวกเขามีรถเข็นทางการแพทย์, บันได, ท่อดับเพลิงขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเล็ก 

เมื่อผมได้พบกับพวกเขาขณะอยู่ในช่วงเตรียมถ่ายทำ ผมรู้สึกประทับใจกับความสุภาพเรียบร้อยและอ่อนน้อมถ่อมตนมากๆ ของพวกเขาได้ในทันที พวกเขาไม่โอ้อวดตนเอง มีแต่ความทุ่มเทล้วนๆ ในอาชีพที่ทำ ชีวิตเขาเผชิญหน้ากับอันตรายและความเสี่ยงอยู่ในทุกๆ วัน แต่ช่างน่าเสียดายที่คนทั่วๆ ไปหลายคนยังไม่ค่อยให้เกียรติในอาชีพของพวกเขา

ผมต้องการชี้ให้เห็นว่างานประจำของพวกเขา ภารกิจต่างๆ ที่ต้องเจอในแต่ละวัน ล้วนหล่อหลอมให้สามารถเรียกพวกเขาว่าเป็น วีรบุรุษ ได้อย่างเต็มปาก พวกเขาทำให้ผมนึกถึงคติประจำใจของหน่วยดับเพลิงแห่งปารีสที่ว่า เสี่ยงชีวิตเพื่อช่วยชีวิตผู้อื่น  มีครั้งหนึ่งผมเชิงต่อว่าต่อขานกับพวกเขาว่า มหาวิหารนอเทรอดามก็เป็นแค่อนุสาวรีย์ที่สร้างด้วยหินทั่วไปเฉยๆ แต่พวกเขากลับเอียงอายและตอบกลับมาว่า ชีวิตของพวกเขานั้นยังน้อยนิดมากเมื่อเทียบกับหินอายุนับพันปีในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ อันเป็นหนึ่งในสถานที่สำคัญที่สุดของโลก

พวกเขาเล่าต่อถึงภารกิจในวันนั้นว่า หลังจากลุยน้ำที่ระดับความสูงเกือบถึงเข่าผ่านแกลเลอรี่ที่ได้กลายสภาพเป็นสระน้ำย่อมๆ พวกเขาเสียใจมากที่ถูกห้ามไม่ให้เข้าใกล้เปลวไฟ เพราะว่าชุดลุยไฟของพวกเขาได้รับการออกแบบมาให้ทนต่ออุณหภูมิที่ 1,300 องศาฟาเรนไฮต์ แต่จากการที่ชุดเปียกโชก และเปลวเพลิงในตอนนั้นที่อุณหภูมิสูงเกินกว่าที่ชุดจะรับได้เกือบสองเท่า ซึ่งหากพวกเขายังดั้นด้นที่จะฝ่ากองไฟ ชุดที่สวมใส่อยู่อาจกลายเป็นเครื่องมือที่จะทวีคูณอบระอุความร้อนจากภายในจนถึงขั้นระดับรุนแรง และสามารถที่จะคร่าชีวิตของพวกเขาลงได้อย่างง่ายๆ 

15 เมษายน เหตุการณ์หายนะในวันนั้น อุณหภูมิของกองไฟที่วัดได้สูงเกินกว่า 2,200 องศาฟาเรนไฮต์ เมื่อผมได้รู้ข้อมูลแบบนั้น ก็ทำให้ผมนึกต่อไปถึงความยากลำบากที่ชวนทรหดของเหล่านักผจญเพลิง ความร้อนจัดที่แทบจะทนไม่ได้, ควันที่ทำให้หายใจไม่ออก, อุปกรณ์ที่พวกเขาต้องแบกขึ้นบนหลังที่หนักกว่า 40 กิโลกรัม, สายยางน้ำหนัก 15 กิโลกรัม, หมวกและหน้ากากช่วยหายใจที่แสนอึดอัด ทั้งหมดนี้พวกเขาต้องตกอยู่ในพื้นที่ที่ยากต่อการทำงานสุดๆ ด้วยทางเดินที่แคบอย่างไม่น่าเชื่อ บางจุดกว้างไม่ถึง 50 ซม. ด้วยซ้ำ

คำให้การของ นักผจญเพลิง มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อภาพยนตร์เรื่องนี้ คุณร่วมงานกับพวกเขาอย่างไรบ้าง

ช่วงขั้นตอนเตรียมการถ่ายทำ รวมไปถึงขณะจัดการเอกสารกองถ่าย เราดันอยู่ท่ามกลางการแพร่ระบาด เป็นช่วงระหว่างการล็อกดาวน์ครั้งแรก แต่อย่างไรก็ตาม ความพยายามของเราในการติดต่อเหล่าพยานหลักและผู้ที่ได้เคยอยู่เผชิญหน้าในเหตุการณ์ภัยพิบัตินั้นได้รับการช่วยเหลืออำนวยความสะดวกเป็นอย่างมาก จากการนัดหมายกับสมาชิกของ BSPP (หน่วยดับเพลิงปารีส) ซึ่ง ฌอง-อีฟ แอสเซลิน ผู้ประสานงานระหว่างสตูดิโอ-โปรดิวเซอร์-ผู้จัดการกองถ่ายของผม ได้ติดต่อผ่านพันโท แคลร์ โบเอต์ หัวหน้าฝ่ายสื่อสาร รวมถึงนายกเทศมนตรีกรุงปารีส แอนน์ ฮิดัลโก ยังช่วยให้เราสามารถเข้าถ่ายทำยังพื้นที่สำคัญอย่าง ลานพลาซ่า (ด้านหน้ามหาวิหารนอเทรอดาม) อีกทั้ง ฟลอเรนซ์ พาร์ลี รัฐมนตรีกระทรวงกองทัพ ซึ่งดูแลหน่วยดับเพลิงปารีส และหัวหน้าตำรวจของปารีส ดิดิแอร์ ลามอนต์ ยังได้ช่วยดูแลด้านการปิดถนนถ่ายทำให้แก่เราด้วย

สิ่งที่โดดเด่นสะดุดตาเมื่อรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้คือ ภาพอันโอ่อ่าน่าทึ่งของมหาวิหารนอเทรอดาม มันให้ความรู้สึกที่ทั้ง น่าสะพรึงกลัว และน่างดงาม ไปพร้อมๆ กัน

ผมเห็นด้วย สถาปัตยกรรมแบบโกธิค และเปลวไฟเป็นองค์ประกอบที่พอถ่ายภาพให้ออกมาคู่กันแล้ว ช่างแสนลงตัวเป็นอย่างมาก ในบรรดาคำให้การต่างๆ มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับการมาถึงของทีมกู้ภัยแรกที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกับนอเทรอดาม เนื่องจากไฟได้ลุกเผาไม้หลังคาและทำให้หลังคาละลาย

ทุกคนบรรยายถึงภาพเหตุการณ์จังหวะนั้นราวกับเป็นฉากในวันสิ้นโลก ด้วยไฟที่ไหม้อย่างหนักและลามอย่างรวดเร็วทำให้บางส่วนเกิดพังทลาย จนตกลงมาอย่างรุนแรง และกระจัดกระจายไปทั่ว เศษขี้เถ้าปลิวว่อนไปตามลมพัดผ่านอยู่เหนือ พิพิธภัณฑ์ออร์แซ และเหล่ารูปสลักตัวประหลาดที่ตั้งอยู่บ้านบนมหาวิหารฯ ล้วนถูกชโลมไปด้วยควันสีกำมะถันและตะกั่ว จนออกมาเหมือนกับปีศาจร้ายที่ดูมีชีวิตจริง ทุกคนบอกผมว่า สิ่งแรกๆ ที่มากระทบตัวพวกเขาเลยคือ ขุยผงของถ่านที่ลอยมาตกลงบนหมวก หรือติดอยู่ตามเสื้อผ้า รวมทั้งเกิดความสั่นสะเทือนที่ดังกึกก้องอยู่ข้างใต้เท้าพวกเขา

หนึ่งในการเตรียมตัวสำคัญสำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ของคุณคือการได้พบและพูดคุยกับ นายพล จอร์จลิน ผู้ซึ่งเป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศส และมีหน้าที่ในการดูแลงานสร้างซ่อมแซมมหาวิหารนอเทรอดามขึ้นมาใหม่

ตอนนั้นเป็นช่วงเดือนพฤษภาคม ปี 2020 เขาแนะนำให้ เฌโรม แซดู ผู้อำนวยการสร้าง และผม ไปที่มหาวิหารที่ถูกไฟไหม้ เราต้องสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันตะกั่ว หน้ากาก รองเท้าบู๊ตขนาดใหญ่ สวมเสื้อชั้นใน กางเกง เสื้อโค้ตแบบใช้แล้วทิ้งหลายชั้น และปฏิบัติตามมาตรการข้อระวังต่างๆ 

นายพล จอร์จลิน อธิบายถึงสถานะรายละเอียดพื้นที่ในส่วนต่างๆ ของอาคารหลังภัยพิบัติ และแม้ว่าในหลายๆ จุดจะเกิดความเสียหายไปมาก แต่ว่าก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่พอจะสามารถบูรณะซ่อมแซมให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ เพราะว่าจากข้อมูลในด้านสถาปัตยกรรมนั้น ทำให้ผมได้รู้ว่าสถาปนิกในยุคกลาง ซึ่งเป็นผู้ที่คิดค้นสถาปัตยกรรมแบบโกธิค มักได้มีการใช้โครงสร้างทรงโค้งและใช้วัสดุเป็นปูนที่ทนไฟ ซึ่งเป้าหมายก็คือเพื่อป้องกันภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น โดยมีผนังที่รองรับโครงสร้างหลังคาโดยตรง และไม่จำเป็นต้องใช้สารหน่วงไฟ (สารที่ใช้ชะลอหรือหยุดการลุกลามของไฟ) ซึ่งตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา โครงสร้างสถาปัตยกรรมแบบดังกล่าวสามารถป้องกันเหตุอัคคีภัยได้อย่างดีเยี่ยม และจากที่ผู้เชี่ยวชาญบางคนได้บอกไว้ว่า ปัจจัยนี้เองคือสิ่งที่ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการระเบิดครั้งใหญ่ และยังช่วยพิทักษ์ชีวิตของมหาวิหารนอเทรอดามเอาไว้

แต่คุณไม่ได้เพียงแค่เข้าไปดูสภาพของมหาวิหารที่เกิดความเสียหาย แต่ยังต้องออกค้นหาและสำรวจสถานที่อื่นๆ เพิ่มเติมที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันกับมหาวิหาร และมีรูปแบบสถาปัตยกรรมจากในช่วงยุคสมัยเดียวกันด้วย

ใช่ครับ หลังจากที่ได้เริ่มมีมาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ปี 2020 ผมตัดสินใจเดินทางไปเยี่ยมชมอาสนวิหารร่วมสมัยหลายแห่งที่มีลักษณะคล้ายกันกับมหาวิหารนอเทรอดาม ผมได้ไปที่ วิหารเซ็นส์ ซึ่งเป็นโบสถ์แบบโกธิคแห่งแรกในโลก ที่นี่เรียกได้ว่าเป็นต้นแบบของมหาวิหารนอเทรอดามในปารีสเลยก็ว่าได้ แล้วก็ยังได้ไปที่ มหาวิหารแซ็ง-เดอนี ที่สร้างขึ้นด้วยหินปูนเหมือนกัน ที่นั่นยังพิเศษตรงที่มี จรมุข (ทางเดินรอบด้านหลังมุขตะวันออกของตัวอาสนวิหาร มีไว้เพื่อให้ผู้ศรัทธาได้เดินสักการะและเยี่ยมชม) ที่ใหญ่และกว้างพอที่จะให้ผมได้ตั้งกล้องถ่ายในแต่ละมุมต่างๆ ได้อย่างครบถ้วน ซึ่งลักษณะของมันก็คล้ายกับของที่มหาวิหารนอเทรอดาม รวมถึงฟุตเทจตรงนี้ก็ยังไปจับคู่ต่อกับโบสถ์จำลองที่ตั้งอยู่ในส่วนของสตูดิโอได้อย่างแนบเนียน นั่นทำให้ผมไม่ต้องสร้างทุกอย่างขึ้นมาใหม่ทั้งหมด แถมยังได้ลักษณะรูปแบบที่ใกล้เคียงตรงกับของจริง ทั้งพวกประตู, บันไดเวียน, ทางเดินด้านข้าง, บานกระจกสี, รูปปั้น, ชายคา และครีบยันลอย 

ผมทำตารางสถานที่ถ่ายทำไว้หลายแห่งมาก ซึ่งผมเองก็ต้องหาทางผสานรูปแบบของสถาปัตยกรรมแบบโกธิคในแต่ละสถานที่มาประกอบเข้าไว้เป็นภาพเดียวกันเพื่อให้สอดคล้องกับรูปลักษณ์ของมหาวิหารนอเทรอดามที่จะได้เห็นกันในภาพยนตร์ และจากการได้ลองสำรวจมหาวิหารนอเทรอดามอย่างละเอียดชนิดเดินขึ้นบันไดไปหลายพันก้าว ตั้งแต่โถงกลางไปจนถึงหอระฆัง ผมก็ได้ตระหนักรู้ว่า ภารกิจของนักผจญเพลิงในวันนั้นเป็นอะไรที่แสนสาหัสมากๆ มันอาจไม่มีหนทางที่จะสำเร็จลุล่วงได้เลยด้วยซ้ำ (แต่พวกเขากลับสามารถทำมันได้ในที่สุด) เพราะในบางจุดของบันไดเวียนดันมีพื้นที่ที่แคบมากๆ จนพวกเขาต้องถอดชุดกันไฟออก แล้วตะเกียกตะกายกันผ่านทางเดินแคบๆ เพื่อรุดไปให้ถึงเปลวเพลิง

เราอยากพูดถึงการคัดเลือกนักแสดงภาพยนตร์ของคุณ คุณเลือกที่จะใช้ดารา-นักแสดงที่ผู้ชมไม่ได้คุ้นหน้าคุ้นตา

กลุ่มชายและหญิงที่ช่วยปกป้องมหาวิหารนอเทรอดามจากเหตุร้ายนี้เป็นเหล่าวีรบุรุษนิรนาม ซึ่งผมยังคงต้องการจะให้มันเป็นแบบนั้นอยู่ มันคงไม่ค่อยเหมาะเท่าไหร่นักที่จะให้ดาราชื่อดังมารับบทเป็นพวกเขาเหล่านี้ เพราะมันจะทำให้ผู้ชมติดภาพของเหล่านักแสดงเกินไป และเพื่อให้เกิดความแตกต่างระหว่างการเป็น ภาพยนตร์สารคดี และ ภาพยนตร์บันเทิง ผมเลือกที่จะไม่ใช้ทีมนักผจญเพลิงตัวจริงที่เคยเป็นวีรบุรุษเมื่อวันที่ 15 เมษายนมารับบทในภาพยนตร์ ผมต้องการที่จะให้มีเส้นแบ่งระหว่างความเป็นประเภทของภาพยนตร์ทั้งสองแบบนั้นไว้

แต่ในทางกลับกันเหล่าบุคคลสำคัญที่มีบทบาทออกมาตามสื่อฯ ในช่วงเหตุการณ์วันนั้นอย่าง ประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง, นายกเทศมนตรีกรุงปารีส แอนน์ ฮิดัลโก, หัวหน้าตำรวจของปารีส ดิดิแอร์ ลามอนต์, หัวหน้าหน่วยดับเพลิงปารีส ฯลฯ สำหรับบุคคลเหล่านี้ ผมเลือกที่จะใช้ฟุตเทจภาพจริงที่ได้รับการบันทึกไว้ในวันเกิดเหตุ ซึ่งถ่ายโดยนักท่องเที่ยว นักข่าว หรือเจ้าหน้าที่ดับเพลิง ฟุตเทจเหล่านี้ถูกถ่ายไว้ในช่วงที่ขณะกำลังเกิดเหตุการณ์วินาศภัย มันจึงช่วยเพิ่มความสมจริง กดดัน น่าเชื่อถือให้แก่ภาพยนตร์

ส่วนนายพลแกลเล็ต, นายพลกอนเทียร์ และบุคคลสมทบอื่นๆ ที่จำเป็นต้องมีบทสนทนาในหลากหลายช่วง ผมได้เหล่าทีมนักแสดงมากฝีมืออย่าง ซามูเอล ลาบาร์ธ, โคลอี้ ฌัวแน็ต, ปีแยร์ ลอตติน, เจเรมี่ ลาเฮิร์ท, ฌอง-พอล บอลต์, เอว่า บาร์ยาร์, วาซิลี ชไนเดอร์ และฌูล ซาดูฌี มารับบทได้อย่างสมจริงและยอดเยี่ยม

มาพูดถึงการออกแบบและจำลองสร้างฉากขึ้นมาใหม่ในสตูดิโอกัน สำหรับโปรเจกต์ระดับมหึมาขนาดนี้ แน่นอนว่าคุณต้องหาที่ที่เหมาะสมกับขนาดงาน

เราต้องการพื้นที่ที่ใหญ่พอที่จะรองรับฉากที่ความสูงมากถึง 80 ถึง 100 ฟุต และยิ่งกว่านั้นคือฉากที่จำลองสร้างมาใหม่เหล่านี้ล้วนต้องผูกเผาแทบจะทั้งหมดจากการถ่ายในแต่ละฉาก เราอยากที่จะถ่ายทำกันในสตูดิโอแบบที่เดียวหลักๆ ไปเลย แต่ติดตรงที่ที่นี่ไม่มีสตูดิโอสักแห่งเลยที่มีขนาดพื้นที่พอจะตอบโจทย์กับความต้องการของเรา ดังนั้นเราเลยจำเป็นต้องแยกถ่ายไปในสองที่คือ สตูดิโอ Cité du Cinéma ในแซ็งท์-เดอนี และสตูดิโอ Bry-sur-Marne สำหรับสตูดิโอที่แซ็งท์-เดอนี เราถ่ายฉากที่เป็นอินดอร์ ส่วนที่ Bry-sur-Marne เราถ่ายทำฉากที่เป็นเอ้าท์ดอร์ กลางแจ้งตามในพื้นที่โล่งต่างๆ 

เรายังต้องการอีกพื้นที่สำหรับการทำงานช่างไม้, งานเหล็ก, ประติมากรรม, การหล่อปูนปลาสเตอร์ ฯลฯ ซึ่งโชคดีมากๆ ที่สตูดิโอ Cité du Cinéma นั้นสามารถตอบโจทย์เราตรงในจุดนี้ได้ ที่สตูดิโอมีเหล่าทีมงานด้านเทคนิคพิเศษที่เชี่ยวชาญกับการสร้างสรรค์และผลิตงานประเภทนี้ รวมทั้งผมยังได้ ฌอง ราบบาสต์ นักออกแบบงานสร้างฝีมือเยี่ยมมาช่วยดูแลงานในด้านนี้ ฌองเคยร่วมงานกับผู้กำกับชื่อดังอย่าง ฌอง-ปิแอร์ จูเนต์, แบร์นาร์โด แบร์โตลุชชี และโรมัน โปลันสกี มาแล้วในผลงานอย่าง The City of Lost Children (1995), The Dreamers (2003), Venus in Fur (2013)

คุณจำลองสร้างฉากขึ้นมาได้อย่างไร?

ทีมออกแบบงานสร้างของเราทำงานกันภายในสตูดิโอ Cité du Cinéma รูปแบบการทำงานมีทั้ง การวาดภาพ, ผลิตโครงแบบจำลอง, โมเดล 3 มิติ ผมได้มีการขอแบบจำลองของมหาวิหารนอเทรอดาม และหอระฆังในเวอร์ชั่นขนาดต่างๆ ที่เล็กลง ทีมงานแต่ละคนต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ในการทำงาน ซึ่งจากการที่ผมได้เห็นแบบจำลองต่างๆ นั้นทำให้ผมสามารถทำงานในส่วนของการลองนึกวางตำแหน่งมุมกล้องในแต่ละฉากได้ตั้งแต่เนิ่นๆ รวมไปถึงการวางบล็อกกิ้งของนักแสดง อีกทั้งพอมีการต้องจุดไฟจริงภายในสถานที่ถ่ายทำ พวกเราล้วนคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยกันเป็นอย่างมาก มีการวางตำแหน่งเส้นทางของน้ำหรืออุปกรณ์อื่นๆ ที่จะมาใช้ดับไฟอย่างชัดเจน กำหนดทางออกฉุกเฉินไว้อย่างครอบคลุม ด้านทีมงานอุปกรณ์ถ่ายทำของเรายังได้มีการเสริมชิ้นส่วนพิเศษให้กับกล้อง ซึ่งช่วยให้กล้องสามารถทนต่อความร้อนขณะถ่ายทำฉากไฟไหม้ได้อย่างสบายๆ 

ผมได้มีการพาทีมออกแบบฉากไปเยี่ยมชมอาสนวิหารจริงหลายแห่งเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ศึกษารูปแบบของโครงสร้าง และรายละเอียดเฉพาะต่างๆ เช่น ผนัง, รูปปั้น ผมเองรู้สึกดีใจเป็นอย่างมากที่ได้เห็นเหล่าทีมช่างฝีมือที่ต่างล้วนกระตือรือร้นและตั้งใจทำงานกันทุกคน ไม่ว่าจะเป็น ช่างทำตู้, ช่างปู, ช่างเหล็ก, ช่างเคลือบ, ช่างทาสี ฯลฯ ทุกคนล้วนเชี่ยวชาญในทางของตัวเองอย่างแท้จริง ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้พวกเขาจะไม่ค่อยได้มีโอกาสในการผลิตงานรูปแบบของโกธิคกันเท่าไหร่นัก แต่พวกเขาก็ทำมันอย่างเต็มที่จนออกมาสำเร็จในที่สุด 

เรายังได้มีการทดลองและทดสอบการสร้างลักษณะของไฟที่ค่อยๆ หลอมละลายวัตถุเวลาเกิดการไหม้ออกมาให้สมจริงที่สุด รวมไปถึงรูปแบบเช่นเวลาที่ไฟเกาะกลุ่มกันเป็นก้อนแล้วตกลงมาจากที่สูงลงสู่พื้นหรือลงบนหมวกของนักผจญเพลิง 

จากการเตรียมงานอย่างพิถีพิถันนั้นช่วยให้เราสามารถที่จะประหยัดเวลาการถ่ายทำภายในมหาวิหารจริง หรือในฉากที่จำลองภายในสตูดิโอได้มากเลยทีเดียว ผมรู้สึกอิ่มเอมใจเป็นที่สุดจากการที่ทุกๆ ฝ่ายต่างทำงานร่วมกันอย่างกระตือรือร้น

ในภาพยนตร์ “Notre-Dame on Fire” ฉากที่เปลวเพลิงกำลังไหม้โหมกระหน่ำอาสนวิหาร คือฉากไฮไลท์เด่นพิเศษ คุณวางแผนถ่ายทำฉากนี้อย่างไร

โครงสร้างหลังคาของมหาวิหารนอเทรอดามทำด้วยคานไม้โอ๊ค (บางส่วนมีอายุมากกว่า 900 ปี) ตรงส่วนหลังคานั้นถูกไฟไหม้หนักในวันนั้น จนเกิดการพังทลายไป นั่นทำให้เราต้องจำลองโครงสร้างส่วนนั้นขึ้นมาใหม่ มันเป็นจุดที่มีรายละเอียดโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ เหตุการณ์ในฉากนั้นเกิดขึ้นตรงจุดที่ปีกด้านเหนือของอาสนวิหาร เป็นจุดที่นักผจญเพลิงได้บุกเข้าไปเพื่อต่อสู้กับเปลวเพลิง ฉากนี้ทั้งน่าทึ่งและน่าตื่นเต้นไปพร้อมๆ กัน ในด้านการทำงานเราสร้างหลังคาที่เป็นแบบจำลอง 3 มิติขึ้นมาก่อน จากนั้นจึงได้สร้างขนาดจริงๆ ของมันขึ้นมาในสตูดิโอ Bry-sur-Marne แล้วเราก็ได้จุดไฟเผามันขณะเข้าฉากถ่ายทำ ด้านระฆังทำจากปูนปลาสเตอร์ที่ได้มีการเสริมให้แข็งแรงเป็นพิเศษ และสามารถทนต่ออุณหภูมิความร้อนได้ 750 องศาฟาเรนไฮต์ 

ช่วงฤดูใบไม้ผลิ ปี 2021 ในวันที่ 9 มีนาคม คือวันแรกของการเปิดกล้องถ่ายทำมาถึง คุณจำอะไรในวันนั้นได้บ้าง

ในที่สุดเราก็ได้เริ่มต้นถ่ายทำ! ตอนนั้นเราอยู่กันที่เมืองบูร์ช ใช้เวลาหนึ่งสัปดาห์ในการถ่ายทำ มันเป็นสัปดาห์ที่ดีมากๆ สำหรับฉากภายในอาสนวิหารที่อยู่ในตอนต้นของภาพยนตร์นั้น ผมต้องการให้เห็นกลุ่มผู้คนที่หลั่งไหลมาจากทั่วโลกเพื่อมาเยี่ยมเยือนมหาวิหารนอเทรอดาม เราจึงใส่กลุ่มนักท่องเที่ยงจากแทบจะทุกเชื้อชาติเข้ามาในฉากนี้ทั้ง สเปน, อิตาลี, อังกฤษ, เยอรมัน, จีน, ญี่ปุ่น, ฮังการี, แคนาดา, รัสเซีย ฯลฯ จากนั้นเราเดินทางไปยังเมืองเซ็นส์ เพื่อถ่ายทำฉากอาสนวิหารคล้ายๆ กับตอนที่ในเมืองบูร์ช แต่ว่าเป็นการเลือกถ่ายด้วยคนละมุมกล้อง ที่เมืองบูร์ชเราเน้นถ่ายแบบมุมต่ำ แต่ที่เมืองเซ็นส์เราเน้นถ่ายมุมสูง

ข้อดีของอาสนวิหารที่เมืองเซ็นส์นั้นคือ มีลักษณะลวดลายของพื้นที่เหมือนกันกับของมหาวิหารนอเทรอดาม ผมยังได้ถ่ายทำฟุตเทจจากตั้งแต่ช่วงบันไดลากยาวขึ้นไปจนถึงหอระฆัง หนำซ้ำผมยังได้เจอบานประตูไม้ที่ทำมาจากไม้โอ๊คจากตั้งแต่ช่วงยุคกลางที่เกิดการปฏิวัติ มันแข็งแรงและทนทานมากๆ รายละเอียดมันโดดเด่นเหมาะที่จะอยู่บนจอภาพยนตร์ได้อย่างสวยงาม

ฉากที่น่าตื่นเต้นที่สุดฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่องนี้คือ ฉากการพังทลายลงของยอดแหลมและเพดานโค้งของมหาวิหารนอเทรอดาม คุณถ่ายทำฉากนี้ที่สตูดิโอ Cité du Cinéma ช่วยเล่าให้เราฟังเกี่ยวกับรายละเอียดของฉากนี้

วันนั้นเป็นวันที่ 5 เมษายน ปี 2021 เป็นวันที่สำคัญมากจริงๆ เพราะเราได้สร้างทั้งตัวฉากและเหตุการณ์ภายในนั้นขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เนื่องจากภายในมหาวิหารไม่มีกล้องวงจรปิดเพื่อบันทึกภาพช่วงเวลาของเหตุการณ์นั้น อีกทั้งเหล่านักผจญเพลิงเองก็ไม่ได้มีกล้องบันทึกติดตัวที่ชุด ดังนั้นเราจึงไม่ได้มีภาพต้นฉบับของเหตุการณ์กู้ภัยจริงให้ได้เห็นภายในนั้นเลย เรารู้หลักๆ เพียงแค่ว่า เพดานโค้งพังลงมาจากความสูง 40 เมตร อีกทั้งบรรดาโครงสร้างปูนและหินที่น้ำหนักรวมๆ กว่า 500 ตันก็ต่างถล่มตกลงมายังพื้นของมหาวิหาร

ฉากนี้มีความยาวประมาณ 1 นาที 30 วินาทีในภาพยนตร์ แต่เราใช้เวลาเตรียมการถ่ายทำอยู่นานหลายสัปดาห์ ผมต้องขอยกย่องและให้เครดิตเต็มๆ แก่เหล่าทีมงานเทคนิคพิเศษ เราจำลองสร้างฉากนี้กันขึ้นมาในสตูดิโอ Cité du Cinéma มีการติดตั้งส่วนผสมของสารเคมีต่างๆ ความจุขนาด 2,500 ลูกบาศก์ฟุตที่พร้อมลุกเป็นไฟอยู่ในแท่นบรรจุขนาดใหญ่ และแขวนไว้อยู่ที่ความสูงประมาณ 65 ฟุต

เรายังมีกระเช้าโลหะขนาดใหญ่หกใบที่ภายในบรรจุไปด้วย หินปลอม, เศษปูน, คานไม้ต่างๆ โดยกระเช้าเหล่านี้ได้ถูกโยงติดตั้งไว้กับสายเคเบิลที่ทำงานโดยระบบคันโยกคล้ายกับสวิตช์รถไฟเพื่อเปิดการใช้งาน ดังนั้นเมื่อตอนถึงจังหวะเริ่มต้นถ่ายทำ ทุกอย่างจะถูกจุดไฟหมด และเศษของสิ่งของต่างๆ จะค่อยๆ ถูกปล่อยตกลงมา ซึ่งในช่วงเวลานั้นเรามีเวลาประมาณ 1 นาที 15 วินาที ก่อนที่ความร้อนและควันจากเปลวไฟจะอยู่ในจุดที่ควบคุมไม่ได้ และอาจเกิดเป็นอันตรายได้ โดยไฟจะลุกโชนขึ้นมาเต็มที่หลังจากผ่านไปแล้ว 30 วินาที ทำให้ผมเหลือเวลาที่จะสามารถถ่ายทำได้อีกเพียงประมาณ 40 วินาทีเท่านั้น เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเซ็ทอัพทุกอย่างใหม่หมด ดังนั้นผมจึงต้องใช้กล้องหลายสิบตัวเพื่อเก็บภาพฉากนี้จากหลากหลายมุมไปพร้อมๆ กันในทีเดียว ซึ่งกล้องบางตัวก็วางตั้งไว้กลางกองไฟเลย โดยเราได้ใส่กล้องไว้ในกล่องนิรภัยที่เป็นกล่องเหล็กที่สามารถทนแรงกระแทกและทนความร้อนได้สูงเป็นพิเศษ กล้องทุกตัวเก็บฟุตเทจภาพต่างๆ ให้เราได้อย่างยอดเยี่ยมตรงกับที่ตั้งใจไว้ แต่ว่าด้วยความรุนแรงและไฟที่ลุกท่วมขึ้นในระดับที่สูง จึงทำให้เพดานสตูดิโอของเราเกิดรอยไหม้ขึ้นในบางจุด โชคดีที่เราได้ทำประกันดีๆ กันเอาไว้

อีกหนึ่งเดือนต่อมา ช่วงเวลาที่สำคัญอีกอย่างคือ คุณสามารถเข้าถ่ายทำตรงบริเวณ ลานพลาซ่า ด้านหน้ามหาวิหารนอเทรอดามได้

ใช่ครับ เป็นพื้นที่ลานสาธารณะบริเวณด้านหน้ามหาวิหาร แต่เดิมมันเป็นจุดอันตรายที่ยังมีสารตะกั่วหลงเหลืออยู่ เป็นพื้นที่ที่ห้ามมีบุคคลเข้าไป นั่นจึงทำให้การถ่ายทำของเรากลายเป็นเรื่องที่ท้าทาย การเตรียมพื้นที่ถ่ายทำตรงนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะเรามีองค์ประกอบต่างๆ ในฉากมากมายทั้ง นักแสดงตัวประกอบ, รถดับเพลิง, รถทัวร์, ทีมกองถ่าย, อุปกรณ์ต่างๆ เช่น กล้อง, พัดลมยักษ์, เครื่องพ่นควัน เป็นต้น ทำให้เราต้องมีการปิดล้อมบางส่วนของพื้นที่ใกล้เคียงและถนนโดยรอบ

นอกจากนี้เรายังได้รับอนุญาตพิเศษให้สามารถเข้าไปถ่ายทำยังภายในแกลเลอรี่ของมหาวิหาร ซึ่งน่าตื่นเต้นเป็นอย่างมาก เรายังได้มีโอกาสเดินผ่านส่วนต่างๆ ของมหาวิหารที่ยังมีรอยไหม้และปกคลุมไปด้วยคราบสีดำฝังอยู่ตามเศษไม้ คาน และผนัง มันเป็นความรู้สึกที่ท่วมท้นและจับใจ

ตลอดเวลาที่ผ่านมา ผมตั้งใจจับตามองดูมหาวิหารอยู่บ่อยครั้ง ผมมักมองว่าเธอ (มหาวิหารนอเทรอดาม) เป็นตัวละครที่มีชีวิต เธอคือดวงดาวของผม และผมรักเธอ ผมเล่าเรื่องชั่วโมงโศกนาฏกรรมที่เธอเกือบเสียชีวิต เจ้าหน้าที่กู้ภัยไม่สามารถให้การช่วยเหลือเธอได้ทันท่วงที เนื่องจากปัญหาการจราจร และคุณหมอผู้เชี่ยวชาญจะสามารถหยุดเลือดที่ไหลโชกของเธอได้ทันเวลาหรือไม่ ข่าวดีก็คือมหาวิหารแห่งนี้รอดชีวิตมาได้ เธอยังคงยืนอยู่ แม้ว่าจะไม่สมบูรณ์แบบเหมือนเดิม เพราะจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงโครงสร้างใหม่ครั้งใหญ่ จากการที่หลายๆ จุดได้พังทลายลง ผมอยากที่จะบอกเล่าความจริงถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับเธอ ผมมองว่ามันเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ ผมทำมันด้วยความรู้สึกรักและเคารพในตัวเธอ

และแล้วก็มาถึงสิ่งที่คุณต้องการมากที่สุดคือ การได้เข้าไปถ่ายทำจริงภายในมหาวิหาร

ตอนแรกเราคิดว่ามันคงเป็นไปไม่ได้เลยด้วยซ้ำ แบบว่าเราคงไม่ได้เข้าไปแน่ๆ แต่สุดท้ายเราก็ได้เข้าไปถ่ายทำ แต่ไปกันในลักษณะที่มีการจำกัดจำนวนทีมงานมากๆ และเราต้องทำงานแข่งกับเวลาที่ค่อนข้างบีบคั้น อีกทั้งมาตรการป้องกันก่อนที่จะเข้าไปด้านในก็เป็นไปอย่างเข้มงวด พวกเราทั้งหมดต้องสวมใส่ชุดป้องกันสารตะกั่วอยู่ตลอดเวลา และเมื่อการถ่ายทำจบลง ชุดป้องกันเหล่านั้นต้องถูกนำไปทิ้งและเผาทั้งหมด

ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ปี 2021 คุณได้มีการประกาศบนโลกโซเชียลมีเดียเพื่อขอรวบรวมภาพถ่ายและวิดีโอที่ถูกบันทึกไว้ในคืนที่เกิดเหตุเพลิงไหม้โดยเหล่านักท่องเที่ยงและผู้คนทั่วไปที่สัญจรผ่านไปมาบริเวณย่านนั้น ไอเดียนี้ของคุณคือต้องการนำภาพและวีดีโอเหล่านั้นไปใส่ไว้ในภาพยนตร์

เราได้รับภาพถ่ายและวีดีโอมากกว่า 6,000 รายการ ฟุตเทจเหล่านั้นส่วนใหญ่บันทึกผ่านกล้องในโทรศัพท์มือถือ ผมได้เห็นรายละเอียดต่างๆ เพิ่มเติมจากในเหตุการณ์นั้นมากมาย ผมยังได้ฟุตเทจของกลุ่มคนที่รวมตัวกันบนสะพานและกำลังร้องเพลงบทสวดอยู่ด้วย อีกทั้งเรายังได้วีดีโอการรายงานข่าววินาศภัยนี้จากต่างประเทศอย่าง จีน, ออสเตรเลีย, สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, ไอซ์แลนด์ เหตุการณ์ไฟไหม้มหาวิหารนอเทรอดามกลายเป็นประเด็นที่คนทั้งโลกต่างกำลังให้ความสนใจ

ย้อนกลับไปที่สตูดิโอในช่วงเดือนพฤษภาคม ปี 2021 กับการถ่ายทำที่สตูดิโอ Bry-sur-Marne ของภาพยนตร์เรื่องนี้

ใช่ครับ เราถ่ายทำฉากไฟไหม้แกลเลอรี่บริเวณปีกฝั่งเหนือของมหาวิหาร เราจำลองสร้างฉากกันขึ้นมาใหม่เหมือนเช่นเคยภายในสตูดิโอแห่งนี้ สำหรับบริเวณแกลเลอรี่เป็นจุดที่เจ้าหน้าที่นักผจญเพลิงหกคนแรกได้เข้าไปถึง พวกเขามาถึงที่เกิดเหตุนานกว่าหนึ่งชั่วโมงหลังจากที่ตรวจพบว่าไฟได้เริ่มไหม้ ทำให้พวกเขาต้องเผชิญหน้ากับกองไฟขนาดมหึมาที่โหมกระหน่ำอย่างควบคุมไม่ได้ อีกทั้งอุปกรณ์ของพวกเขายังไม่มีความพร้อมเพียงพอที่จะดับมันลงได้

โครงสร้างฉากนี้มีความสูงอยู่หลายสิบฟุต ทางเดินแคบมากด้วยความกว้างประมาณ 20 นิ้ว เราออกแบบให้ทางเดินฝั่งหนึ่งเป็นแบบลาดต่ำตกลง ส่วนอีกฝั่งมีไว้สำหรับจุดไฟไหม้ตอนถ่ายทำ ทีมงานในกองถ่ายต้องรับมือกับข้อจำกัดต่างๆ มากมาย อาทิ การต้องหาทางปิดรายละเอียดของท่อส่งควันไฟไม่ให้โผล่เข้ามาในกล้องตอนถ่าย รวมไปถึงการจุดเปลวไฟแต่ละส่วนที่ถูกเติมเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีดแบบปรับได้ผ่านการควบคุมจากระยะไกล สีของไฟต้องเป็นสีแดง ไม่ใช่สีน้ำเงิน ดังนั้นพวกเขาจึงต้องจัดการความแรงของพัดลมที่มีหน้าที่ควบคุมควันด้วยความเร็วที่เหมาะสม และจ่อไปในทิศทางที่ถูกต้อง ควันในตอนเริ่มแรกจะต้องเป็นสีขาว ตามด้วยสีดำ และสุดท้ายเป็นสีเหลือง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะของเปลวเพลิง 

อีกทั้งควันยังเป็นเรื่องท้าทายและอันตรายสำหรับทีมนักแสดงด้วยเช่นกัน เพราะไม่ว่าจะยังไงควันถ้าหากเกิดการสูดเข้าไปมากๆ ย่อมล้วนเป็นพิษต่อร่างกาย สำหรับเปลวไฟในฉากนี้มีอุณหภูมิสูงประมาณ 9,000 ถึง 10,000 องศาฟาเรนไฮต์ ผมบอกนักแสดงทุกคนให้ถอยหลบออกมาถ้าหากรู้สึกว่าไฟในฉากนั้นร้อนจนเกินไป เรายังมีทีมนักดับเพลิงตัวจริงคอยดูแลป้องกันภัยที่อาจเกิดขึ้นได้ขณะถ่ายทำ การถ่ายฉากนี้ทำให้คุณเห็นถึงพลังสปิริตของเหล่านักแสดง พวกเขาเชื่อใจคุณในฐานะผู้กำกับ ทุ่มเทแสดงบทบาทออกมาอย่างเต็มที่ บางคนแทบไม่เป็นห่วงความปลอดภัยของตัวเองเลยด้วยซ้ำ ผมนับถือใจของพวกเขาอย่างถึงที่สุด

อีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญของภาพยนตร์นั่นคือดนตรีประกอบคุณได้มีโอกาสร่วมงานกับ ไซม่อน แฟรงเกลน นักประพันธ์เพลงประกอบสัญชาติอังกฤษ

ผมได้มีโอกาสรู้สึก ไซม่อน แฟรงเกลน ผ่าน เจมส์ ฮอร์เนอร์ ผู้เป็นทั้งนักประพันธ์เพลงผู้ยิ่งใหญ่และเพื่อนผู้ล่วงลับ เจมส์เคยร่วมงานกับผมในภาพยนตร์สี่เรื่องได้แก่ The Name of the Rose (1986), Enemy at the Gates (2001), Black Gold (2011) และ Wolf Totem (2015) น่าเศร้าใจที่เขากลับต้องมาเสียชีวิตจากเหตุการณ์เครื่องบินตกในเดือนมิถุนายน ปี 2015 ถ้าหากเขายังมีชีวิตอยู่ผมเชื่อว่ามิตรภาพของเราจะยังคงแน่นแฟ้น และเราจะร่วมกันสร้างผลงานที่ยอดเยี่ยมออกมาอีกสม่ำเสมอ

ไซม่อน แฟรงเกลน คือคนที่เจมส์นิยามว่าเป็น “มือคีย์บอร์ดที่ดีที่สุดในโลก” เขายังเป็นผู้เรียบเรียงเสียงได้อย่างเก่งกาจ เขามีเสียงนับพันจากเครื่องดนตรีทุกชิ้นที่คุณจะสามารถจินตนาการได้ และยังสามารถเล่นให้คุณฟังผ่านคีย์บอร์ดได้ ปัจจุบันไซม่อนกำลังร่วมงานกับผู้กำกับ เจมส์ คาเมรอนในภาคต่อของ AVATAR 

การแต่งดนตรีประกอบภาพยนตร์เป็นสิ่งที่ผมห่างเหินมานานมากแล้ว เพราะผมกลัวว่าจะเรียบเรียงมันไม่ได้ แต่ถ้าเป็นงานในส่วนอื่นๆ อย่าง การวางไอเดียเริ่มต้น, การเขียนบท, การคัดเลือกนักแสดง, การออกแบบฉาก, การถ่ายทำ, การลำดับภาพ, การเกรดสี, การมิกซ์เสียง พวกนี้ล้วนเป็นงานที่ผมสามารถทำเองได้หมด แต่ถ้าเรื่องการแต่งดนตรีประกอบผมจำเป็นที่จะต้องยกหน้าที่นี้ให้คนอื่นช่วยดูแลจริงๆ 

ผมใช้เวลาพอสมควรอยู่กับการคิดถึงภาพรวมในฉากต่างๆ แต่ละช็อตที่แยกย่อยออกมาว่า เราต้องการที่จะให้ดนตรีสื่อสารออกในอารมณ์รูปแบบไหน เราบันทึกเสียงดนตรีกันที่อังกฤษ เริ่มต้นที่ย่านถนนแอบบีย์ สตูดิโอของวงเดอะบีทเทิลส์ในตำนาน และยังเป็นสตูดิโอที่ภาพยนตร์หลายเรื่องได้ใช้ทำงานด้านการบันทึกเสียง เรายังได้บันทึกเสียงร้องประสานกับนักร้อง 35 คนของคณะ Tenebrae ที่มีชื่อเสียงระดับโลก พวกเขามีผลงานอย่างการขับร้องเพลงประสานให้กับภาพยนตร์ชุด Star  Wars เมื่อสิ้นสุดการอัดเสียง เหล่าสมาชิกของคณะนักร้องประสานเสียงต่างลุกขึ้นยืนปรบมือให้กับผลงานดนตรีของไซม่อน จากนั้นเราเดินทางไปบันทึกเสียงดนตรีจากวงออร์เคสตราที่มีนักดนตรีกว่า 70 ชีวิตที่ Air Studios ในกรุงลอนดอนด้วยเช่นกัน

เกี่ยวกับขั้นตอนหลังการถ่ายทำ ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้มีการใช้ช็อตที่เป็นเทคนิคพิเศษมากแค่ไหน 

Mikros ซึ่งเป็นบริษัทของฝรั่งเศสที่มีความเชี่ยวชาญในงานด้านเทคนิคพิเศษ คือผู้ที่เข้ามาดูแลงานในตรงส่วนนี้ ภาพยนตร์มีการใช้ช็อตที่เป็นเทคนิคพิเศษประมาณ 400 ช็อต จากทั้งหมดประมาณ 1,600 ช็อตของภาพยนตร์ โดยงานส่วนใหญ่นั้นเป็นการลบสายเคเบิล-สายสลิงที่ยึดไว้เพื่อรักษาความปลอดภัยให้เหล่านักแสดง รวมไปถึงการลบภาพของท่อส่งน้ำและท่อก๊าซที่ใช้ในฉากไฟไหม้ และในบางช็อตยังต้องมีการเพิ่มเติมภาพของกลุ่มควันเพื่อให้ดูแน่นหนาและอันตรายขึ้นเวลาอยู่บนจอภาพยนตร์

เส้นทางการถ่ายทำอันยาวนานและน่าตื่นเต้นนี้ใกล้จะเสร็จสิ้นแล้ว Notre-Dame on Fire กำลังจะเตรียมเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ หากมองย้อนกลับไปถึงเวลาและเส้นทางต่างๆ ที่ผ่านมา คุณรู้สึกและคิดเห็นอย่างไรบ้าง

มันเป็นช่วงเวลาในชีวิตที่น่าหลงใหลเป็นที่สุด! มันทำให้ผมได้มองย้อนถึงเส้นทางในสายงานอาชีพนี้ ผมมักจะคอยฟังเสียงเตือนในใจของผมอยู่เสมอ ถ้าระหว่างที่ผมพิจารณาโปรเจกต์ไหนแล้วไม่ได้มีเสียงเตือนนั้นดังขึ้นมาในใจผม ผมก็จะปล่อยผ่านโปรเจกต์เหล่านั้นไป ปกติแล้วการทำงานของผมจะขับเคลื่อนด้วยความกระตือรือร้น ตั้งแต่ที่ได้เริ่มอ่านเอกสารที่ เฌโรม แซดู ส่งมาให้ ผมก็รู้สึกตื่นเต้นและทึ่งไปกับเรื่องเหตุการณ์นี้ในทุกๆ วัน และในทุกๆ ขั้นตอนการทำงานอย่าง การสำรวจสถานที่, การถ่ายทำ, การคัดเลือกนักแสดง, ขั้นตอนหลังการถ่ายทำ 

อีกสิ่งที่อาจฟังแล้วดูน่าขบขันแต่ก็ชวนให้ประทับใจก็คือ ตัวผมเองจะแวะไปมหาวิหารนอเทรอดามแทบทุกวัน ผมมักไปยืนบนระเบียงอพาร์ทเมนท์ของผมในปารีส แล้วก็คุยกับเธอ (มหาวิหารนอเทรอดาม) และเรียกเธอว่า “ที่รักของฉัน!” ผมถามเธอว่า “วันนี้คุณเป็นอย่างไรบ้าง” ในบรรดานักแสดงหญิงทั้งหมดที่ผมเคยกำกับการแสดงมา แทบจะไม่ต้องสงสัยเลยว่า มหาวิหารนอเทรอดาม คือคนที่สง่างามเป็นที่สุด แต่ก็เปราะบางที่สุดเช่นกันด้วย ความสวยงามของเธอจะยังคงอยู่ไม่ว่าเวลาจะเปลี่ยนผ่านไปแค่ไหน แม้ว่ามหาวิหารที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกจะมีช่วงที่ต้องปิดเพื่อดำเนินการซ่อมแซมอยู่เป็นเวลานาน แต่เรื่องราวของเธอจะคงอยู่ต่อไปอีกนาน ผมมีความสุขที่ได้เชื่อในช่วงเวลาสั้นๆ ว่า ผมเป็นคนรักของเธอ

ภาพยนตร์ของคุณมักมีส่วนผสมของความมีระทึกขวัญ อย่างภัยคุกคามอันเป็นที่รู้จัก คุณสามารถที่จะได้ยิน จินตนาการ รับรู้ถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้น แต่คุณไม่สามารถที่จะมองเห็นมันได้อย่างชัดเจนในตอนต้น

ผมต้องการให้ผู้ชมเหมือนถูกตรึงอยู่บนตะขอ สร้างความลุ้น และอาการใจจดใจจ่อไปที่เหล่ากองไฟที่กำลังค่อยๆ ปะทุขึ้น ผมต้องการชะลอเหตุการณ์ต่างๆ ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ มีการหว่านเงื่อนงำของเหตุวินาศภัย มีการแสดงตัวเลขชั่วโมงและนาทีขึ้นบนหน้าจอ เพื่อบอกถึงช่วงเวลาก่อนที่จะเกิดเพลิงไหม้

คุณอาจสงสัยว่า มหาวิหารนอเทรอดามได้รับการกู้ภัยได้อย่างไร แต่หากพูดกันตามตรงแล้ว ในคืนที่เกิดเพลิงไหม้ ผมมั่นใจว่ามหาวิหารมีสิทธิ์ที่จะพังทลายลง นายพลกอนเทียร์เองก็ได้เผยความรู้สึกกับผมเมื่อสองสามเดือนก่อนว่า เขาเองก็กลัวว่าจะเป็นแบบนั้นเหมือนกัน ในทางหนึ่งเขาคิดถึงแผนที่จะต้องยอมเสียมหาวิหารไปด้วยซ้ำ เพื่อเป็นการรักษาความปลอดภัยแก่อาคารในบริเวณใกล้เคียง ป้องกันไม่ให้ไฟลุกลามไปทั่วพื้นที่เกาะอีลเดอลาซิติที่มหาวิหารตั้งอยู่

ความใส่ใจต่อเสียงในภาพยนตร์ของคุณนั้นคือจุดที่พิเศษมาก ทั้งเสียงของ การแตกหัก, เปลวไฟ, น้ำ, บรรยากาศ และบทสนทนา องค์ประกอบของเสียงแต่ละอย่างล้วนโดดเด่น

มันเป็นสเกลงานที่เรียกได้ว่ามหึมาสุดๆ ซึ่งใช้เวลาการทำงานนานกว่าหกเดือน โดยเริ่มจากในช่วงฤดูร้อน ปี 2021 เสียงของภาพยนตร์ได้รับการออกแบบมาให้ส่งประสิทธิภาพอย่างทรงพลังที่สุดในบรรดาเหล่าโรงภาพยนตร์หลักทั้ง โรง IMAX, โรง Dolby Vison, โรง Atmos 4K, โรง 7.1 และโรง 5.1

ผมมั่นใจตั้งแต่ตอนเริ่มต้นโปรเจกต์นี้ว่า 50% ของการนำเสนออารมณ์ในภาพยนตร์จะต้องออกมาจากเสียง เพราะทุกคนต่างล้วนเห็นภาพมหาวิหารถูกไฟไหม้ แต่มีเพียงไม่กี่คนที่ได้ยินเสียงของมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสียงจากด้านในของมหาวิหาร เป้าหมายของผมคือต้องการให้ผู้ชมได้ซึมซับห้วงอารมณ์และความรู้สึกไปกับเหล่านักผจญเพลิงที่อยู่ ณ ใจกลางเปลวเพลิง ผมอยากให้พวกเขาได้ยินเสียงคร่ำครวญ รวมถึงเสียงของวัสดุต่างๆ ที่แตกหัก พังทลาย กระจัดกระจายออกเป็นเสี่ยงๆ ผู้ชมจะได้รู้สึกถึงพลังความโกรธของเจ้า “ปีศาจเปลวเพลิง” มารพิชิตผู้ที่กัดกินทุกอย่างที่ขวางหน้า

เทคโนโลยีในระบบ Atmos ทำให้คุณสามารถสัมผัสประสบการณ์เหล่านี้ได้ด้วยลำโพงกว่าเจ็ดสิบตัวที่ทั้งตั้งอยู่ในรอบๆ ที่นั่งของคุณในโรงภาพยนตร์ รวมถึงอยู่บริเวณเหนือศีรษะ ทุกๆ รายละเอียดของเสียงจะกลายเป็นองค์ประกอบที่ช่วยเล่าเรื่องได้เป็นอย่างดี เหตุการณ์ไฟไหม้มหาวิหารทำให้เกิดเสียงอึกทึกไปทั่วกรุงปารีส ผมต้องการให้เสียงมีรายละเอียดเพิ่มเติมถึงความแม่นยำมากกว่าที่เราบันทึกมาแบบปกติในระหว่างที่ถ่ายทำ เราจึงมีการสร้างเสียงใหม่ขึ้นเพิ่มเติมในช่วงขั้นตอนหลังการถ่ายทำ เช่น เสียงของการสาดตะกั่วหลอมเหลวใส่หมวกนักผจญเพลิง หรือลงบนพื้นไม้โอ๊คเก่า, เสียงของเก้าอี้แตกหักที่เกิดจากการพังทลายของเพดานโค้งแล้วตกลงมายังพื้นของโบสถ์, เสียงของประตูที่เกิดการตกกระแทก, เสียงน้ำที่พุ่งกระทบลงบนพื้นผิวต่างๆ เช่น กำแพงหิน, เสานั่งร้าน, ระฆังทองเหลือง เป็นต้น

งานใหญ่ของทีมงานด้านเสียงคือ การต้องดูแลรับผิดชอบเสียงในแต่ละประเภท เช่น เสียงบรรยากาศ (เสียงเมือง, ไซเรน, การจราจรติดขัด, แตร, เสียงโห่ร้องของฝูงชน ฯลฯ ) เสียงเอฟเฟค (บานพับ, ล็อคเปิดปิด, กุญแจสั่น, หินแตกบนพื้น ฯลฯ) หรือเสียง SFX ที่ต้องอาศัยการสร้างที่ซับซ้อนขึ้น (รองเท้าบู๊ตเวลาอยู่บนขั้นบันไดหิน, ชุดเครื่องแบบเมื่อถูกับผนัง, กระจกแตก) เรายังต้องมีการอัดเสียงบทพูดของเหล่านักแสดงใหม่ในบางฉาก เนื่องจากตอนถ่ายทำได้มีเสียงของเครื่องจักรที่ช่วยทำเอฟเฟคภายในฉากเข้ามารบกวนบทพูด เช่น เสียงเครื่องพ่นควัน, เสียงเครื่องจุดไฟ และสุดท้ายคือด้านดนตรีประกอบที่ ไซม่อน แฟรงเกลน ใช้เวลาหลายเดือนในการเรียบเรียง เพื่อบรรเลงประกอบเข้ากับภาพของฉากในภาพยนตร์ที่เน้นย้ำในส่วนของความตึงเครียดและดึงเค้นอารมณ์ออกมา เราใช้เวลาหลายสิบชั่วโมงในตัดสินใจถึงรูปแบบดนตรีที่เหมาะสมที่สุด หลายสิบชั่วโมงในการสร้างเสียงเวอร์ชั่นร่างแรก และอีกหลายสิบชั่วโมงในการบันทึกเสียงดนตรี เรามีไฟล์เสียงดนตรีอยู่นับพัน ซึ่งได้ถูกนำไปผสมเสียงและลำดับเสียงกันต่อในกรุงลอนดอน ด้วยการดูแลของ ดิ๊ก เบิร์นสไตน์ นักทำงานด้านเสียงเจ้าของรางวัลเอมมี่ที่บินตรงมาจากสหรัฐอเมริกาเพื่อมาทำหน้าที่ตรงนี้เป็นพิเศษ 

Notre-Dame de Paris ภารกิจกล้า ฝ่าไฟนอเทรอดาม
23 มิถุนายนนี้ ในโรงภาพยนตร์

 สำหรับแฟนหนังเมเจอร์ ห้ามพลาดกับบัตรดูหนังสุดคุ้ม M PASS ที่จะทำให้คุณคุ้มเต็มอิ่มกับการดูหนังตลอดทั้งปี เตรียมไปมันส์กับกองทัพหนังดังมากมาย สมัครง่ายๆเพียงแค่คลิก ที่นี่ 

-------------------------------------

>> ดูหนังออนไลน์ได้ที่ Movie.TrueID <<

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับทรูไอดีสามารถเข้าไปได้ที่ TrueID Help Center เป็นช่องทางใหม่ที่ให้ข้อมูลและการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นเกี่ยวกับทรูไอดี คลิกเลย >> https://bit.ly/3xEgdAa