รีเซต

[สุขสันต์หนังครบรอบ] 20 ปี "สตรีเหล็ก" หนังจุดประกายพลังแกร่ง LGBTQ แห่งวงการหนังไทย

[สุขสันต์หนังครบรอบ] 20 ปี "สตรีเหล็ก" หนังจุดประกายพลังแกร่ง LGBTQ แห่งวงการหนังไทย
Jeaneration
3 มีนาคม 2563 ( 12:30 )
4.2K
2

ข่าวสารวงการหนัง สตรีเหล็ก

3 มีนาคม 2543 เป็นวันที่วงการหนังไทยเกิดปรากฏการณ์ครั้งใหม่ขึ้น เมื่อถึงเวลาการเข้าฉายของ "สตรีเหล็ก" หนังตลกที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากทีมนักวอลเลย์บอลชายระดับภูมิภาคของไทย ที่สมาชิกทั้งทีมเป็นกลุ่มคนเพศที่สาม หรือ LGBTQ ที่นับเป็นการนำเสนอเรื่องใหม่ของสังคมไทยในยุคนั้นเลยทีเดียว

สตรีเหล็ก ครบรอบ 20 ปีแล้ว

สตรีเหล็ก เป็นเรื่องราวของโค้ชบี๋ที่ก้าวเข้ามาดูแลทีมวอลเลย์บอลชาย ประจำจังหวัดลำปาง จึงได้ทำการฟอร์มสมาชิกเข้ามาใหม่ ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้เล่นเพศที่สาม ทำให้เกิดความอึดอัดกับสมาชิกเดิมของทีม ทำให้ในที่สุดทีมวอลเลย์บอลนี้ก็มีแต่กลุ่มคนเพศที่สามเกือบทั้งหมด และตั้งชื่อว่า ทีมสตรีเหล็ก ออกตระเวนแข่งขันเก็บแต้ม เพื่อคว้าชัยการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ

ฉากแมตช์แข่งที่กลายเป็นที่น่าจดจำในสตรีเหล็ก

หนังเรื่องนี้ถือเป็นผลงานชิมลางและสร้างชื่อเสียงให้กับผู้กำกับ "ยงยุทธ ทองกองทุน" ที่เป็นทำงานภายใต้ชายคาของค่าย ไท เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ในขณะนั้น...ที่ถือเป็นต้นกำเนิดของค่ายจีดีเอชในปัจจุบัน ตัวหนังยังได้รับกระแสตอบรับค่อนข้างดี คำวิจารณ์ก็อยู่ในระดับที่น่าชื่นชม ทำให้กลายเป็นกระแสปากต่อปากไปสู่คนดู สรุปแล้วหนังกวาดเงินไปได้เกือบ 100 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นรายได้หนังที่เยอะมาในเวลานั้นเลยทีเดียว

การแคสติ้งนักแสดงของหนังเรื่องนี้ถือว่าเป็นอีกหนึ่งจุดเด่น ที่ดึงดูดให้คนมาตีตั๋วดูหนังกัน โดยเฉพาะพระเอกแม่เหล็กอย่าง "ติ๊ก-เจษฎาภรณ์ ผลดี" ที่ช่วงนั้นยังเป็นพระเอกสดใหม่ของวงการ หลังจากที่แจ้งเกิดในบท 'แดง ไบเล่ย์' มาได้ 2-3 ปี ขณะที่นักแสดงคนอื่นๆ ก็พลอยได้รับอานิสงส์จากความสำเร็จไปด้วย ไม่ว่าจะเป็น "ต่อ-สหภาพ วีระฆามินทร์", "ป๋อม-ชัยชาญ นิ่มพูลสวัสดิ์", "โจโจ้ ไมอ๊อกชิ", "โกโก้-กกกร เบญจาธิกุล", "อี้-แทนคุณ จิตต์อิสระ" หรือแม้กระทั่ง 3 แฝด "เอพิล-เมย์-จูน"

แม้ว่าในปัจจุบันนักแสดงหลายๆ คนจะแยกย้ายไปมีเส้นทางอาชีพอื่นๆ เป็นของตัวเอง โดยไม่มีผลงานในวงการบันเทิงแล้วก็ตาม แต่ก็ถือว่าผลงานที่ตรึงใจและติดตัวพวกเขาไปตลอดกาล จากความสำเร็จของหนังเรื่องนี้ ยังทำให้มีหนังภาคต่อตามออกมาอีก ไม่ว่าจะเป็น "สตรีเหล็ก 2" ในปี 2546 กับทีมนักแสดงชุดเดิมเป็นส่วนใหญ่ และ "สตรีเหล็ก ตบโลกแตก" ที่เป็นการรีบูทใหม่โดย 'พชร์ อานนท์' เมื่อปี 2557 แต่ก็ไม่มีเรื่องไหนประสบความสำเร็จได้เท่ากับฉบับดั้งเดิม

สตรีเหล็ก กลายเป็นหนังที่จุดประกายในประเด็นสิทธิเท่าเทียมของเพศ ไม่ว่าจะเป็นชาย-หญิง หรือเพศทางเลือกอื่นๆ ที่ในสังคมยุคนั้นยังไม่มีการเปิดกว้างกล่าวถึงประเด็นนี้ได้อย่างโจ่งแจ้ง ทำให้หนังเรื่องนี้เป็นกระบอกเสียงให้กับกลุ่ม LGBTQ ในเมือง และเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดใจยอมรับของสังคมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ใครที่ทันดู สตรีเหล็ก ภาคแรก คุณไม่เด็กแล้วนะ

หนังยังถูกได้รับเชิญไปฉายตามเทศกาลหนังต่างๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น เทศกาลหนังปูซาน, เทศกาลหนังเอเชียอเมริกันที่ซานฟรานซิสโก รวมทั้งเทศกาลหนังเพศที่สามต่างๆ ทั่วโลกต่างก็ให้การยอมรับหนังเรื่องนี้ ขณะที่หนังเข้าชิง 12 สาขาบนเวทีสุพรรหงส์ทองคำ และกวาดรางวัลมาได้มากมาย

กระทั่งเมื่อปี 2559 หอภาพยนตร์แห่งชาติ ได้ประกาศยกให้ สตรีเหล็ก เป็นขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ เพื่อจารึกเอาไว้ว่าเป็นหนังที่มีคุณคาของชาติ และบันทึกไว้ต่อการเสี่ยงการสูญเสียไปจากวัฒนธรรม นับเป็นการจารึกอันเป็นเกียรติของหนังเรื่องนี้เลยก็ว่าได้

ถึง สตรีเหล็ก จะเคยสร้างปรากฏการณ์ผ่านมา 20 ปีแล้ว ต้องยอมรับว่าหนังเรื่องนี้มีอิทธิพลอยู่ไม่น้อ ที่ทำให้สังคมไทยหันมาเปิดใจยอมรับในตัวตนของกลุ่มเพศที่สาม เพราะไม่ว่าจะเป็นเพศไหน สถานะแบบนั้น ทุกคนล้วนเป็นมนุษย์เหมือนกัน แม้ว่าหนังเรื่องนี้จะมีจุดด้อยอยู่เล็กๆ ตรงที่สื่อภาพของกลุ่มคนเพศที่สามออกมาให้ดูเป็นตัวตลก และกลายเป็นเส้นบางๆ ในการสร้างค่านิยมสืบต่อจนถึงปัจจุบัน ทำให้ทุกวันนี้ยังต้องหาทางแก้ไขกันกับประเด็นที่ว่า "กะเทยไม่ใช่ตัวตลก"

----------------------------------------------------

>> ดูหนังออนไลน์ได้ที่ Movie.TrueID <<