รีเซต

เล็ก ฝันเด่น เตือน อย่าชะล่าใจ โอมิครอน แพร่ไว อย่าการ์ดตก เพราะไม่ตาย

เล็ก ฝันเด่น เตือน อย่าชะล่าใจ โอมิครอน แพร่ไว อย่าการ์ดตก เพราะไม่ตาย
ข่าวสด
24 กุมภาพันธ์ 2565 ( 13:32 )
147

เล็ก ฝันเด่น เตือน อย่าชะล่าใจ โอมิครอน แพร่ไว อย่าการ์ดตก เพราะไม่ตาย

เล็ก ฝันเด่น เตือน - สถานการณ์โควิด-19 กลับมาแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ยอดจำนวนผู้ติดเชื้อโอมิครอนทะลุหลักหมื่นต่อวัน ส่งผลให้ผู้มีความเสี่ยงมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

ล่าสุด เล็ก ฝันเด่น จรรยาธนากร นักแสดงหนุ่มจิตอาสา ใจถึงใจคนไทยไม่ทิ้งกัน ได้ออกมาเตือนผู้คนให้ระมัดระวังตนเองมากขึ้น อย่าชะล่าใจเพียงเพราะข่าวสารที่ออกมาว่า โอมิครอน เป็นแล้ว ไม่ตาย พร้อมทั้งเล่าถึงผลกระทบของครอบครัวในช่วงโควิด

สถานการณ์โควิดตอนนี้คนติดเยอะมาก? "ต้องบอกว่าเราติดตามข่าว ในฐานะที่เป็นดาราและจิตอาสา ตั้งแต่โควิดเริ่มต้นขึ้นเราก็ติดตาม แจกถุงยังชีพ ทำโรงครัว โรงทาน หรือแม้กระทั่งส่งผู้ป่วยไปตามฮอสพิเทล ส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ไปให้โรงพยาบาลสนามหรือหน่วยงานแพทย์ จนมาถึงวันนี้มันเป็นสิ่งที่เราไม่รู้ว่าจะทำยังไง

เพราะว่าข้อมูลบางครั้งมันไม่สอดคล้องกัน หน่วยงานรัฐวันนี้พูดแบบนี้ แต่ตอนบ่ายเป็นแบบนี้ เราเลยมองว่าจุดทางออกในการให้ข้อมูลที่แท้จริงกับประชาชนที่เขาจะรู้ข้อมูล เขาควรจะปฏิบัติตนอย่างไร มันอาจจะมีความคลาดเคลื่อนได้ แล้วตัวเลขมันเพิ่มมากขึ้น

 

เขาบอกว่าโควิดโอมิครอนเป็นง่าย ติดง่าย แต่ไม่ตาย นี่ก็กลายเป็นความเชื่อไปแล้วนะว่าไม่ตาย ก็ไม่เป็นอะไรสิ ไม่ต้องไปใส่ใจอะไรมาก เป็นก็รักษากินยา 5-10 วันหายออกมาก็จบ แต่มันยังมีตัวเลขที่ตามมานั่นก็คือเสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน

วันนี้จำนวนผู้เสียชีวิตก็เป็นยอด 30 กว่าคน ฉะนั้นถ้ามีคนติดมากขึ้นระดับ 2 หมื่นกว่า และยังมีที่ยังไม่ตรวจ ที่ยังอยู่ที่บ้าน และที่ไม่ได้สนใจ ไปโม้ตาม 4 แยกในชุมชน จะเพิ่มปริมาณเป็นเท่าทวีคูณ"

"ที่พูดแบบนี้ คือเวลาเราไปแจกของในชุมชนเราจะเห็นว่ามีบางกลุ่มที่ไม่สนใจอะไรเลย เขายังถอดแมสก์เดินคุย หรือพวกขี้เมา ล้วนเป็นปัญหาที่จะทำให้สภาวะโดยรวมมันส่งผลมาก น่ากลัวมาก ไม่ตายก็ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะดีขึ้น

ถ้าวันหนึ่งคนติดเยอะๆตัวเลขก้าวกระโดดไป 6 หมื่นรายต่อวัน 10 วัน 6 แสนคนนะ แล้วคนหนึ่งรักษา 10-12 วัน คุณจะเอาที่ไหนมารองรับ แล้วตอนนี้เห็นข่าวว่าผู้ป่วยไม่มีสถานที่รองรับ ที่ไปนอนตามหน้าริมถนน หน้าธนาคาร

 

มันเป็นสิ่งที่เราเห็นแล้วไม่รู้จะช่วยยังไง เพราะบางเคสทีมอาสาสมัครทุกวันนี้ก็ยังช่วยเหลืออยู่นะ ไปรับ-ส่งฟรี บางทีติดทั้งครอบครัวเลยเยอะมาก ลูกเล็ก จนถึงยาย อันนี้เป็นตัวเลขที่เราค่อนข้างที่จะซีเรียสมากๆ"

ระหว่างการทำงานมีคนมาติดต่อเยอะมากแค่ไหน จากเมื่อก่อนที่เหมือนจะสถานการณ์ดีขึ้น?
"เยอะนะ ในไลน์กลุ่มเรามี 100 คนที่เป็นอาสาสมัครทั่วประเทศที่เป็นเครือข่ายเรา เขาจะมีการถ่ายภาพและส่งมาในไลน์ทั้งวันเลย

ซึ่งมันก็เป็นสิ่งที่เราค่อนข้างที่จะซีเรียสมากในมาตรการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ แล้วถ้าเกิดแผนรองรับไม่ดี เราอาจจะเข้าไปสู่ยุคที่เรียกได้ว่ากระเสือกกระสนที่จะหาให้ผู้ที่ติดมีที่นอน พูดในมุมของผมนะ บางคนจะบอกว่ายังได้อยู่ก็แล้วแต่"

รัฐไม่ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับโอมิครอนที่มากพอ? "เราไม่ได้มองว่าเป็นการให้ข้อมูลเชิงสถิติ แต่เรามองในมุมมองที่ว่า ถ้าเกิดเราเอาความจริงมาพูดกันว่าตอนนี้สถานการณ์มันอยู่ในระดับไหน สถิติที่เกิดขึ้นต่อวันตัวเลขที่แท้จริงมันคืออะไร และผลที่ตามมา พรุ่งนี้เป็นยังไง แนวโน้มมันเป็นยังไง พวกนี้มันเป็นตรรกะที่วิเคราะห์ได้ มันจะทำให้ประชาชนที่ได้รับฟังข่าวสารได้ตระหนักว่านี่คือข้อมูลที่แท้จริง

เรากำลังอยู่ในความสุ่มเสี่ยงที่จะเป็นหนึ่งในผู้ติดโควิดหรือเปล่า แล้วถ้าเกิดติดแล้ว คุณจะไปอยู่จุดไหน ทำยังไง จะรักษาตัวที่บ้าน อยู่กินอยู่ใช้ยังไง ยาที่จะใช้ทำยังไง ถ้าเกิดเป็นหนักจะมีหน่วยงานไหนไปส่งคุณที่โรงพยาบาล หรือจะมีหน่วยงานไหนมาเป็นที่ปรึกษา อันนี้ล้วนเป็นบริบทที่ละเอียดย่อยไปอีกมาก

บางทีถ้าพูดเยอะไปก็กลัวว่าจะเกินขอบเขตของคำว่าอาสาสมัคร เขาจะหาว่าเราทำเกินหน้าที่ไปก็ได้ ดังนั้นเราอยากให้เป็นข้อมูลที่แท้จริง เพื่อประกอบกับการตัดสินใจในการดำรงชีวิตของประชาชน พูดในทิศทางเดียวกัน ข้อมูลผมว่ามันไม่น่าจะเหลื่อมล้ำกัน ถ้าเกิดเรามีแผนปฏิบัติการที่ชัดเจน และประชาชนฟังจากช่องทางเดียว มีการประชุม มีการไตร่ตรอง มีแผนการ

สิ่งนี้จะเป็นตัวแปรให้ประชาชนเชื่อถือ เพราะว่าถ้าหลายๆครั้งข้อมูลมันไม่ตรง มันจะกลายเป็นเด็กเลี้ยงแกะไง แล้วคนไทยก็อย่างที่รู้ๆ คิดว่ามันก็ไม่ได้น่ากลัวอะไร ใช้ชีวิตต่อไป แล้วอยู่ดีๆถ้าตัวเลขมันขึ้นมาเหมือนทางยุโรปล่ะ วันละ 8 หมื่น ถึง 1 แสน เหมือนที่ญี่ปุ่นโดน แล้วมันจะยังไง คิดไม่ออก"

"ที่ผ่านมาก็แย่อยู่แล้ว ถ้าเกิดติดอีกใครจะเอาเราไปทำงาน รายจ่ายต่อวัน และรายได้ที่คุณจะได้แบบมนุษย์เงินเดือน หรือพวกหาเช้ากินค่ำ มันเป็นผลกระทบที่ตามมามากเลยจริงๆ บางคนอาจจะไม่เข้าใจว่าทำไมต้องดูซีเรียสอะไรขนาดนั้น คนมีก็คือมี คนไม่มีคือไม่มี 5 บาท 10 บาท

บางคนบอกกระจอก แต่คนที่ไม่มีเดินหาข้างถนนยังไม่มีเลยนะ มันไม่เหมือนกัน อย่าเอามาตรฐานสูงมาเทียบ เอากลางๆ มาเทียบมันจะดีกว่า เพราะคนมันมีความหลากหลายมาก ต้องเข้าใจในส่วนนี้ด้วย"

ทำงานอาสาสมัครเยอะกว่าอาชีพหลักแล้ว? "มหาศาล มันเป็นสิ่งที่เราทำมาแล้วเคยชิน เป็นเรื่องปกติไป ไม่ได้มีเวลาเข้างาน ไม่มีเวลาออกงาน และมันยังมีเหตุภาระประจำวัน และเหตุพิเศษ ตรงนี้มันล้วนแต่ทำให้เราใช้เวลาในการช่วยเหลือผู้อื่นเยอะ"

ทุกวันนี้ทำงานเจอปัญหาอะไร? "ถ้าในเรื่องของโควิดเป็นเรื่องของการบริหารจัดการเรื่องข้อมูลที่แท้จริงให้ประชาชนได้รับทราบ ซึ่งหลายคนอาจจะบอกว่ามีอยู่แล้ว มีช่องเฉพาะกิจ ออกเวลาเฉพาะกิจ แต่ถามว่าคนดูเขาดูไหม เขาดูเขาเข้าใจไหม แล้วเขาปฏิบัติตามหรือเปล่า และมีการชี้นำยังไงให้สถานการณ์มันดีขึ้น

ถ้าเกิดเป็นการรายงานแล้วตัวเลขยังขึ้นทุกๆวัน มันเท่ากับว่าเป็นแค่การรายงานข่าวนะ มันไม่ได้เป็นแผนมาตรการป้องกัน และถึงแม้บางคนจะบอกว่าแผนก็นี่ไง ให้แผนการขอความร่วมมือไปแล้ว ใช้ยาแรงก็โดนด่า ใช้ยาเบาก็ไม่สัมฤทธิ์ผล

บางทีเราอาจจะต้องใช้จิตวิทยาเข้ามาเกี่ยวข้องกับการทำให้ประชาชนมีความเข้าใจ และมีความรับผิดชอบร่วมกันหรือเปล่า มันอาจจะเป็นโจทย์ยาก แต่มันจำเป็นที่ต้องทำ เพราะโควิดมันยังไม่หมดไป"

ช่วงโควิดได้รับผลกระทบยังไงบ้าง? "ในช่วงโควิดที่ผ่านมา 3 ปีได้แล้ว หลายคนคงจะได้เรียนรู้แล้วก็ได้สัมผัสถึงโควิด-19 เรียกว่าเป็นยุคโควิดที่สร้างผลกระทบมากมายของมวลมนุษยชาติ และตัวของผมด้วยที่ได้รับผลกระทบ มันเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ในสิ่งที่จะเกิดขึ้น

แต่พอมาถึงจุดตรงนี้เราต้องมองว่าสภาวะต่อไปเราต้องอยู่อย่างไร เพราะเราไม่รู้ว่าโควิดจะหมดเมื่อไหร่ ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะได้ผลกระทบเรื่องของการงาน เรื่องของการดำรงชีวิต มันทำให้เราต้องปรับตัวให้ได้ไวที่สุด"

"สำหรับโควิด-19 รอบแรกทุกคนก็โดนในรูปแบบที่โซเชี่ยลดิสแทนซิง ตามด้วยการหยุดงาน การเข้าสังคม หรือมีมวลชนมากๆ ซึ่งอาชีพหลักๆ ของผมคือ นักแสดง นักร้อง พิธีกร เลยมีผลในเรื่องของการทำงาน เพราะบริษัทก็มีการยกเลิกตามมาตรการต่างๆ ทีแรกตีไว้ 6 เดือน ก็น่าจะดีขึ้น แต่มันไม่เป็นแบบนั้น มันก็ลุกลามมาถึงปัจจุบัน

ฉะนั้นค่าใช้จ่ายมันยังคงที่คงตัว แต่รายรับมันไม่มีมาเพิ่มเติม ฉะนั้นมันก็ต้องกินบุญเก่ากัน ก็ต้องคิดว่าวันที่เราลำบาก ยังมีคนอื่นที่เขาลำบากกว่าเรา เราเลยไปมอบถุงยังชีพ ทำข้าวกล่องแจก หรือไปช่วยเพื่อนเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยต่างๆ

เราก็จะได้เห็นว่ามันเกิดอะไรขึ้นต่อสังคม จนเราก็แอบคิดจุดจบของโควิดมันจะหมดลงเมื่อไหร่ เราก็ต้องมาพิจารณาการใช้จ่ายว่าเราจะต้องอยู่กับมันยังไงในกรณีที่เราไม่มีรายรับ หรือต้องลดทอนกันยังไงกันในครอบครัว และการบริหารจัดการชีวิตตนเอง"

ได้ยินว่าเอาทรัพย์ในวัย 18 ปีออกมาใช้? "วันนั้นไปทำงานเป็นพิธีกรแล้วมีสื่อมวลชนมาพูดคุย แล้วมีคำถามว่าแล้วตัวเองได้รับผลกระทบไหม ก็มีครับ แต่โชคดีที่เราเป็นคนที่ค่อนข้างจะเผื่ออนาคตเอาไว้ เพราะเราเป็นพิธีกรแล้วเราได้ไปพูดคุยกับหลายๆคน เลยได้เห็นว่าคนที่เขารวยมากๆ เขาใช้ชีวิตยังไงจนมากๆ เขาใช้ชีวิตยังไง หรือบางคนที่รวยมากๆ แล้วมาจนเป็นยังไง

เลยให้แง่คิดว่าชีวิตของเราไม่แน่นอน จะทำยังไงให้เรามีความมั่นคงในการดำรงชีวิต เลยเรียนรู้ที่จะเก็บเงิน และบริหารทรัพย์สินเผื่อว่าวันหนึ่งเราไม่มีงาน เราแก่ เราป่วย เป็นโรคเรื้อรัง เป็นผู้ป่วยติดเตียง เราจะใช้ชีวิตอยู่ยังไง แล้วคนในครอบครัวจะอยู่ยังไงได้ แต่เราก็ไม่ถึงขนาดที่แย่ที่สุดนะ เราก็แค่ขายในส่วนที่เราไม่จำเป็นไป"

ตัดสินใจยากไหมที่ขายรถ 2 คันไป? "มันก็ไม่ได้ถึงกับยากมากนะ เพราะจริงๆก็ไม่ได้มีรถเยอะ แล้วรถทุกคันที่เราซื้อก็เป็นรถที่เราอยากได้ตั้งแต่เด็ก หรือเป็นรถที่เรารู้สึกว่าเหมาะกับสถานการณ์นั้นๆ แต่พอมาถึงจุดหนึ่งที่มันเริ่มมีปัญหาเราก็ต้องขายออกไป ถ้าเกิดเราใช้เหตุผลมาประคองกับสติได้ เราจะไม่รู้สึกอะไรมากหรอก เพราะว่าเหตุผลมันเห็นอยู่ตำตาอยู่แล้ว มันไม่ได้เสียไป"

หาแนวทางในการหารายได้เสริมในช่วงนี้? "ก็มี เพราะมันก็เป็นแนวคิดอยู่ เพราะเรายังคงประคองในสถานะให้อยู่รอด ปลอดภัย แต่ในเรื่องของอนาคต เราก็มองว่าเราเป็นดาราที่ค่อนข้างแก่แล้ว หรือ อาจจะเป็นดาราที่ตกขอบตกเทรนด์ไปแล้ว เราก็ต้องยอมรับสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น แต่มุมมองตอนนี้ยังไม่รู้เลยว่าจะหาอะไรเป็นอาชีพเสริม ได้แต่มอง

เดี๋ยวรอจังหวะดีๆ คงต้องทำ เพราะเราอยากให้มันเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด แต่เราไม่ได้มองถึงการลงทุนก้อนใหญ่นะ มันก็เป็นเหมือนพี่น้องดาราทำกัน รับสินค้ามาขาย หรือผลิตสินค้าขึ้นมา อาจจะเป็นการไลฟ์ขาย แต่ก็อยู่ในกรอบที่เราชำนาญ ถนัด และใช้ได้จริง"

มีงานในวงการติดต่อเข้ามา? "มี ไปร่วมรายการเกมโชว์ ไปทอล์กโชว์ แขกรับเชิญละคร แต่ก็ไม่ได้เยอะเหมือนสมัยก่อน อาจจะด้วยหลายๆอย่าง เพราะเขาก็มีตัวเลือกเยอะ ที่เขาต้องเอาอะไรที่มันอินเทรนด์ หรือมันเหมาะกับยุคกับวัยในช่วงเวลานั้นๆ

ตอนนี้ก็เลยไปเป็นวิทยากรตามหน่วยงานราชการ มหาวิทยาลัย ไปถ่ายทอดประสบการณ์ หรือการเป็นจิตอาสา เกี่ยวกับการระงับเหตุ ระงับภัยครับ แล้วก็ไปร่วมงานกับหน่วยงานรัฐเยอะมากเลยทีเดียว"