หากกล่าวถึงวรรณกรรมอิงประวัติศาสตร์เรื่องดังอย่างสามก๊ก ก็แน่นอนว่าตัวละครที่ถูกพูดถึงในเชิงบวกมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการยกย่องเรื่องความสามารถ หรือสติปัญญาย่อมเป็นขงเบ้ง หรือจูกัดเหลียง ชายในตระกูลจูกัด ที่มีพื้นเพเป็นเพียงบัณฑิตในชนบท ใช้ชีวิตอยู่อย่างสมถะทำไร่ ทำสวนเลี้ยงชีพ ทว่ากลับสามารถขึ้นมามีบทบาทสำคัญในการกำหนดชะตาของแผ่นดินจีนช่วงปลายราชวงศ์ฮั่นได้ ด้วยความรู้ความสามารถทั้งในด้านพิชัยสงคราม และการหยั่งรู้ฟ้าดิน (การคาดการณ์สภาพอากาศ ทิศทางลม ฝน) อย่างไรก็ตามแม้ว่าขงเบ้งจะแสดงให้เห็นถึงความสามารถอันน่าทึ่งของเขาและพาจ๊กก๊กยืนหยัดต่อสู้กับวุยก๊ก และง่อก๊กได้อย่างสง่าสงามในช่วงระยะเวลานึง แต่สุดท้ายแล้วเขาก็ไม่ประสบความสำเร็จในการรวมก๊กทั้งสามและกอบกู้ราวงศ์ฮั่นได้ตามที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ ในวันนี้ผู้เขียนจึงจะมาเปิดเหตุผลว่าเพราะอะไร ขงเบ้ง ผู้ถูกยกย่องให้เป็นยอดนักปราชญ์แห่งยุคสามก๊กถึงล้มเหลวในตอนท้าย และราชวงศ์ฮั่นต้องล้มสลายไปในที่สุด ช่วงเวลาไม่เหมาะสม หนึ่งในประโยคคำกล่าวที่ถูกพูดถึงกันมากที่สุดช่วงที่ขงเบ้งได้เริ่มต้นทำงานเป็นกุนซือให้กับนายอย่างเล่าปี่ ผู้สืบเชื้อสายราชวงศ์ฮั่นก็คือ "เขาได้นายดี แต่ช่วงเวลากลับไม่ใช่" หรือตีความกันให้เข้าใจกันได้ง่าย ๆ ว่า ช่วงเวลานั้นไม่เหมาะสมที่ขงเบ้งจะเริ่มทำงานใหญ่ให้เล่าปี่ เพราะขาดปัจจัยหนุน เรียกว่าเริ่มต้นแบบติดลบเลยก็ว่าได้ เนื่องจากเล่าปี่ไม่มีแม้กระทั่งดินแดนที่เป็นฐานที่มั่นในการสู้รบ ไม่มีกำลังคน ไม่มีเสบียงหรือทุนใด ๆ ทำให้การเริ่มงานของขงเบ้งยากลำบาก และต้องอาศัยสติปัญญาในการวางกลยุทธ์การรบของเขาเพียงอย่างเดียวเลยจึงจะเริ่มก่อร่างสร้างก๊กขึ้นมาได้ ดังที่เห็นได้จากการทำศึกในช่วงเริ่มต้นครั้งหนึ่ง ขงเบ้ง เล่าปี่ และบรรดาแม่ทัพต้องพาชาวบ้านเดินทาง ย้ายเมืองหนีการโจมตีของศัตรูอย่างทุลักทุเล ซึ่งแม้ว่าศึกหลายครั้งขงเบ้งจะใช้สติปัญญาอันเฉียบแหลมวางแผนเอาชนะศัตรูได้ แต่บางครั้งกำลังคนที่แตกต่างกันมากเกินไปก็ยากต่อการสู้รบ ทั้งในเวลาต่อมายังต้องใช้เวลาในการฝึกทหาร สั่งสมกำลังคนเพื่อรับมือศัตรูอีกด้วย ผู้เป็นนายใช้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล แม้ว่า"เล่าปี่"ผู้เป็นนายของขงเบ้งจะมีข้อดีมากมายตามที่ได้รับการกล่าวขานถึง ทั้งการจงรักภักดีต่อราชวงศ์ฮั่น การมีอุดมการณ์ชัดเจน(กอบกู้ราชวงศ์ฮั่นจากกบฏ) การเป็นคนยึดถือคุณธรรม แต่สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันก็คือในช่วงเวลาสำคัญเล่าปี่กลับเลือกใช้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผลจนมีส่วนทำให้แผนการของขงเบ้งต้องล้มเหลว ดังที่เห็นได้เมื่อตอนที่กวนอู หนึ่งในแม่ทัพคนสำคัญของจ๊กก๊กและเป็นพี่น้องร่วมสาบานของเล่าปี่เสียชีวิตเพราะทหารของง่อก๊ก(ก๊กของซุนกวน) ซึ่งถ้าหากเลือกทำตามแผนของขงเบ้งต่อไปเพื่อเป้าหมายความสำเร็จในระยะยาว ซึ่งก็คือรวมแผ่นดินกลับเป็นหนึ่ง จ๊กก๊กเองก็ยังต้องรักษาความสัมพันธ์กับง่อก๊ก และเลือกจำกัดศัตรูทางเหนืออย่างวุยก๊กของโจโฉก่อนตามวิสัยทัศน์ของขงเบ้งที่ว่า รบโจโฉ ผูกมิตรซุนกวน เพราะเป็นวิธีที่มีโอกาสประสบความสำเร็จมากที่สุด ทว่าเล่าปี่กลับเลือกที่จะแก้แค้นซุนกวน และนั่นก็ทำให้จ๊กก๊กต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากขึ้นไปอีก มีปัญหาในการใช้คน ถึงแม้ว่าขงเบ้งจะมีความสามารถในการอ่านคน จำแนกคนได้อย่างทะลุปรุโปร่ง ทั้งยังล่วงรู้ความคิดคนได้จนทำให้ผู้อ่านหลายคนทึ่งในสติปัญญาของปราชญ์ฉายามังกรหลับผู้นี้ แต่หากวิเคราะห์ลึกลงไปก็จะพบว่าความจริงแล้วการเลือกใช้คนกลับเป็นปัญหาสำคัญ และทำให้ตัวขงเบ้งเองต้องเผชิญกับความยากลำบากในการทำศึกแต่ละครั้ง ดังที่เห็นได้จากการมอบหมายหน้าที่ให้กับแม่ทัพ หรือขุนนางของจ๊กก๊กแต่ละครั้ง ขงเบ้งมักจะแสดงความหนักใจ และลังเลออกมา ทั้งผลลัพธ์ที่ออกมาก็ผิดแผนบ่อยครั้งไม่ว่าจะเป็นการใช้แม่ทัพคนสำคัญอย่างเตียวหุย และกวนอูเฝ้าเมือง ซึ่งเคยละเลยคำสั่งของขงเบ้งจนต้องเสียเมืองไป หรือเมื่อครั้งใช้ม้าเจ๊ก แม่ทัพผู้มีฝีมือของจ๊กก๊กในการรับศึกกับทัพของสุมาอี้ที่เมืองเกเต๋ง ม้าเจ๊กก็ละเลยที่จะตั้งทัพตามคำกำชับของขงเบ้งจนสุดท้ายก็ถูกทัพสุมาอี้ตีจนแตกพ่าย และม้าเจ๊กเองก็กลับไปรับโทษประหารทำให้จ๊กก๊กต้องเสียแม่ทัพไปอีกหนึ่งคนแทนที่จะสามารถเอาชนะทัพของศัตรูได้ตามแผนที่วางไว้ เรื่อง : ผู้เขียนภาพปก(ต้นฉบับ) : PublicDomainPictures pixabay.comภาพประกอบ : Pettycon pixabay.com Peggy und Marco pixabay.com