10 เกร็ดภาพยนตร์เรื่อง "นางนาค" ตำนานรักแห่งคลองพระโขนง
เกร็ดภาพยนตร์
เตรียมกลับมาสร้างความหลอนอีกครั้งกับเรื่องราวตำนานผีไทยแห่งคลองพระโขนงเรื่อง นางนาก ที่เคยเข้าฉายครั้งแรกในปี 2542 ที่จะได้กลับเข้าโรงฉายอีกครั้งในรอบ 20ปี โดยมรกำหนดเข้าฉายในวันที่ 25-31 กรกฎาคม นี้ โดยความชัดระดับ 4K วันนี้เราเลยอยากนำเกล็ดจากภาพยนตร์เรื่องนี้มาบอกเล่าให้เหล่าแฟนหนังผีไทยได้รู้อีกครั้ง
ตัวอย่าง นางนาก เวอร์ชั่นปี พ.ศ.2542
1. หนังเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ครั้งแรกวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 และทำรายได้เฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑลไปราว 150 ล้านบาท
2. “นางนาก” เป็นหนังไทยเรื่องแรกในประวัติศาสตร์ที่ทำรายได้เกิน 100 ล้านบาท สร้างปรากฏการณ์ “โรงเต็ม” ทุกที่นั่ง ในแทบทุกโรงที่เข้าฉาย
นางนาก
3. “นางนาก” สามารถล้างภาพลักษณ์ของตำนาน “แม่นาคพระโขนง” ได้จริง โดยเฉพาะหนังที่เกี่ยวกับตำนานดังกล่าวหลังจากนั้น จะมีความเชื่อมโยงกับ “นางนาก” ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่น การรอคอยที่ท่าน้ำ, ตัวละครอ่ำ เพื่อนของมาก, ตัวละคร สมเด็จพุฒาจารย์โต ซึ่งมีตัวตนจริง, การเจาะกะโหลกคนตายสะกดวิญญาณ และฉากนางนากห้อยหัว ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกใน “นางนาก” ทั้งสิ้น
4. “นางนาก” ทำให้หนังไทยหลังจากนั้นให้ความสำคัญกับการรีเสิร์ชมากขึ้น โดยเฉพาะหนังที่เล่าเรื่องย้อนยุคและมีความเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ จนสามารถกู้คืนวิกฤตศรัทธาให้กับหนังไทยได้สำเร็จ
5. “นางนาก” เป็นหนังไทยเรื่องแรกๆ ที่ได้รับเลือกให้เข้าฉายในเทศกาลหนังต่างประเทศ และได้เข้าฉายในอีกหลายประเทศ อาทิ ฮ่องกง และ สเปน
นางนาก
6. ยังไม่มีข้อสรุปว่าตำนานแม่นาคพระโขนงเป็นเรื่องจริงหรือไม่ แต่มีความเป็นไปได้ว่าตำนานเกิดมาจากละครใน ในสมัยรัชกาลที่ 4 ที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับหญิงตายทั้งกลมคนหนึ่ง ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอันมาก โดยทีมผู้สร้าง “นางนาก” พัฒนาต่อคือการหยิบตำนานดังกล่าวมาผูกโยงเข้ากับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ที่มีอยู่จริง
7. อินทิรา เจริญปุระ และ วินัย ไกรบุตร เวิร์คช็อปการใช้ชีวิตแบบชาวบ้านในสมัยรัชกาลที่ 4 ตั้งแต่การถอดรองเท้าเดิน การนุ่งโจงกระเบน การสานปลาตะเพียน กินหมาก และอีกมากมาย จนสามารถเข้าฉากเป็นส่วนหนึ่งกับวิถีชีวิตแบบชาวบ้านได้อย่างรื่นไหล
8. ดนตรีประกอบ “นางนาก” เสร็จก่อนที่หนังจะเริ่มถ่ายทำ ทำให้ นนทรีย์ และทีมงาน มองเห็นภาพร่วมกันว่ากำลังพยายามทำอะไรอยู่
นางนาก
9. ขณะถ่ายทำ ทีมงานพร้อมใจกันตัดผมทรงดอกกระทุ่มเพื่อเป็นหนึ่งเดียวกัน และเมื่อถ่ายทำเสร็จ นนทรีย์และทีมงานส่วนหนึ่งเข้าพิธีอุปสมบทเนื่องจากมีการเบียดเบียนชีวิตสัตว์เป็นจำนวนมากขณะถ่ายทำ
10. “นางนาก” ได้รับการบันทึกให้เป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ เมื่อ พ.ศ. 2547