หลายท่านอาจจะเคยอ่านนิยายหรือดูละครโทรทัศน์ที่มีเนื้อหาเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในชีวิตจริง เกี่ยวกับการสลับร่างชายกับชาย หญิงกับหญิง หรือสลับเพศชายกับหญิง และมักจะคุ้นเคยกับการสลับร่างไปมาระหว่างคนสองคน แต่เรื่องราวที่แสนจะประหลาดนี้เป็นการสลับเพศของคน ๆ เดียว แถมยังประหลาดไปกว่านั้นอีก เพราะเกิดขึ้นในวรรณคดีไทย เริ่มคิดในใจแล้วใช่ไหมว่าวรรณคดีของไทยมีเรื่องแบบนี้ด้วยหรือ? ทำไมฉันไม่เคยได้ยิน ความจริงแล้ววรรณคดีไทยมีเรื่องราวแปลก ๆ และมีความมหัศจรรย์มากมายที่รอให้เราเปิดอ่าน อย่างเช่นเรื่องที่จะเล่านี้ เรื่องที่เกิดขึ้นมาจากนิทานเรื่อง “อิลราช” ซึ่งอยู่ใน “บ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์” บทพระราชนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายหลังพระยาศรีสุนทรโวหาร (ผัน สาลักษณ) หรือหลวงสารประเสริฐในขณะนั้น ก็ได้หยิบนิทานเรื่องนี้ขึ้นมาแต่งเป็นคำฉันท์ มีชื่อว่า “อิลราชคำฉันท์” กษัตริย์องค์หนึ่ง ชื่อว่า “ท้าวอิลราช” ออกไปเที่ยวป่ากับเหล่าทหาร แต่ดันโชคไม่ดี เดินเข้าไปใกล้บริเวณที่พระอิศวรแปลงกายเป็นหญิงหยอกล้ออยู่กับพระนางอุมาผู้เป็นภรรยา ซึ่งผู้ใดหรือสัตว์ชนิดใดย่างกายเข้าไปบริเวณนั้น หรือแม้แต่ต้นไม้ในบริเวณนั้น ก็จะกลายเป็นเพศหญิงหมด ท้าวอิลราชกับทหารที่เดินเข้าไป ก็กลายเป็นผู้หญิงกันทุกคน พระอิศวรรู้ว่ามีคนเข้ามาจึงโกรธมาก สาปให้ท้าวอิลราชกลายเป็นผู้หญิงตลอดไป แต่พระนางอุมาลดโทษและประทานพรให้เป็นหญิงหนึ่งเดือน แล้วกลับไปเป็นชายอีกหนึ่งเดือนสลับกันอยู่อย่างนี้ เมื่อสลับเพศแล้วให้ลืมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับอีกเพศ ในตอนสลับมาเป็นหญิงนั้นท้าวอิลราชชื่อ อิลา ต่อมามีฤาษีชื่อพระพุธมาพบนางอิลาเข้า เกิดหลงใหลจนตบะแตก รับนางไปเป็นภรรยา หนึ่งเดือนผ่านไปนางอิลาก็สลับไปเป็นท้าวอิลราช พอครบกำหนดอีกเดือนก็สลับเป็นนางอิลา เป็นอยู่แบบนี้จนเวลาล่วงไปหลายเดือนนางอิลาก็ท้อง แม้นางอิลาจะท้องแต่ตอนสลับไปเป็นท้าวอิลราชร่างกายก็ยังเป็นชายหน้าท้องไม่ได้นูนขึ้นแต่อย่างใด สลับร่างกันได้เหมือนเดิมจนนางอิลาคลอดบุตรฝ่ายพระพุธรู้เรื่องทั้งหมดจึงหาทางช่วยให้ท้าวอิลราชกลับเป็นชายและกษัตริย์ดังเดิม หลังจากที่กลับเป็นชายแล้วท้าวอิลราชก็กลับเข้าเมือง และนี่ก็คือเรื่องราวอันประหลาดที่เกิดขึ้นในวรรณคดีไทย กว่าเรื่องราววุ่น ๆ จะจบลงก็นานพอควร หากลองจินตนาการภาพตาม หรือแค่คิดว่าอาจจะมีการทำเป็นบทละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ ก็น่าสนใจและน่าติดตามไม่น้อย หรือจับประเด็นเรื่องเพศที่สะท้อนจากเรื่องนี้ขึ้นมาวิเคราะห์ในมุมต่าง ๆ สำหรับผู้อ่านท่านใดที่ยังค้างคาใจ และสนใจอยากอ่านแบบละเอียดก็ลองค้นหา "อิลราช" หรือ "อิลราชคำฉันท์" มาอ่านเพื่อหาความรู้และความบันเทิงได้ อ้างอิง : พระยาศรีสุนทรโวหาร (ผัน สาลักษณ). อิลราชคำฉันท์. พิมพ์ครั้งที่ 22. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา. 2516.