รีเซต

ร้านขายของเล่นแรงบันดาลใจหนัง "Toy Story" ประกาศปิดตัว หลังดำเนินธุรกิจกว่า 86 ปี

ร้านขายของเล่นแรงบันดาลใจหนัง "Toy Story" ประกาศปิดตัว หลังดำเนินธุรกิจกว่า 86 ปี
แบไต๋
1 กุมภาพันธ์ 2567 ( 07:00 )
158

นับตั้งแต่ที่หนังแอนิเมชัน ‘Toy Story’ (1995) ผลงานของสตูดิโอแอนิเมชันน้องใหม่ในเวลานั้นอย่าง Pixar เข้าฉาย ก็สามารถสร้างปรากฏการณ์ในฐานะภาพยนตร์แอนิเมชันสามมิติขนาดยาวเรื่องแรกของโลก ชื่อของ ‘Toy Story’ กลายเป็นแฟรนไชส์ที่แข็งแกร่งจากการคว้ารางวัลออสการ์ และเป็นจุดกำเนิดของ Pixar และเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการแอนิเมชันอย่างแท้จริง

กลายเป็นแบรนด์ที่แตกขยายออกไปเป็นภาพยนตร์อีก 4 ภาค รวมทั้งหนังแอนิเมชัน Spin-Off อย่าง ‘Lightyear’ (2022) และ ‘Toy Story 5’ ภาคใหม่ล่าสุดที่กำลังจะมา ยังไม่นับรวมทั้งบรรดาสปินออฟทางทีวี หนังสือการ์ตูน วิดีโอเกม และอีกนับไม่ถ้วน

ซึ่งหลายคนอาจไม่ทราบว่า เรื่องราวการผจญภัยของนายอำเภอวูดดี้ กัปตันบัซไลท์เยียร์ และผองเพื่อนชาวของเล่น มีแรงบันดาลใจมาจากร้านของเล่นร้านหนึ่ง ที่มีประวัติศาสตร์อย่างยาวนาน จากการที่มี 1 ในแอนิเมเตอร์คือทายาทของร้านขายของเล่นร้านนี้ และยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับต้นกำเนิด และประวัติศาสตร์ของทั้ง ‘Toy Story’ และบริษัท Pixar ในยุคตั้งไข่ด้วย แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลง ในที่สุด ร้านขายของเล่นที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานคู่เมืองซานฟรานซิสโกกำลังจะถึงเวลาปิดตัวลงอย่างถาวร

ร้านของเล่นที่ว่านี้มีชื่อว่า เจฟฟรีย์’ส ทอยส์ (Jeffrey’s Toys) สาขาแรกของร้านตั้งอยู่ที่บริเวณอ่าวซานฟรานซิสโก และขยายสาขาไปทั่วบริเวณอ่าว ซึ่งสาขาสุดท้ายกำลังจะปิดตัวลงอย่างถาวร หลังจากดำเนินกิจการมายาวนานกว่า 86 ปี

คนที่เกี่ยวข้องที่สุดกับความสัมพันธ์ของหนังแอนิเมชันและร้านของเล่นก็คือ แมตธิว ลูห์น (Matthew Luhn) แอนิเมเตอร์, Story Artist นักเขียน และวิทยากร ซึ่งเป็น 1 ใน 12 แอนิเมเตอร์ที่ทำงานใน ‘Toy Story’ ภาคแรก ในยุคที่ Pixar ยังอยู่ในความดูแลของ สตีฟ จ็อบส์ (Steve Jobs) และยังเป็นทายาทรุ่นที่ 4 ของผู้ก่อตั้งร้าน Jeffrey’s Toys และร่วมเป็นเจ้าของธุรกิจในช่วงสุดท้ายก่อนจะปิดตัวลง

ลูห์นเล่ากับเว็บไซต์ SFGATE ถึงความสำคัญของร้าน Jeffrey’s Toys ที่เป็นจุดกำเนิดของ ‘Toy Story’ ว่า นี่คือร้านที่เขาผูกพันมาตั้งแต่เกิด เพราะรุ่นปู่ย่าตายายของเขาได้ก่อตั้งร้านนี้ขึ้นมาในปี 1938 ที่มีของขายหลากหลายชนิด ก่อนจะเปลี่ยนมาขายเฉพาะของเล่นในปี 1953 กิจการค่อย ๆ เติบโตกลายเป็นร้านของเล่นที่ใหญ่ที่สุดของอ่าวซานฟรานซิสโก และขยายสาขาออกไปยังบริเวณต่าง ๆ ทั่วทั้งอ่าวรวม 7 สาขาในเวลาต่อมา ในร้านนี้ยังเคยมีคนดัง ๆ ผ่านมาเยี่ยมเยือนด้วย อาทิ จอห์น ทราโวลตา (John Travolta), พอล นิวแมน (Paul Newman), อาร์โนลด์ ชวาร์เซเน็กเกอร์ (Arnold Schwarzenegger) และ บาร์บรา สไตรแซนด์ (Barbra Streisand)

ลูห์นได้มีโอกาสสัมผัสกิจการครอบครัวครั้งแรกเมื่อตอนอายุได้ 2 ขวบ ด้วยการหัดใช้เครื่องบันทึกเงินสด และทำงานนับเงิน โดยได้รับของเล่นเป็นค่าตอบแทน 10 ขวบ เขาได้รับการสอนให้ปฏิบัติกับลูกค้า รวมทั้งพนักงานของร้านให้เหมือนกับครอบครัว ด้วยของเล่นต่าง ๆ ทำให้เขาได้รับการสนับสนุนให้กลายเป็นคนรักการวาดภาพ รวมทั้งพาเขาไปดูหนังและเที่ยวพิพิธภัณฑ์บ่อย ๆ

สิ่งเหล่านั้นเป็นแรงบันดาลใจให้เขาไปเรียนต่อด้านแอนิเมชันอย่างจริงจัง ก่อนจะได้เข้าทำงานเป็นแอนิเมเตอร์ที่อายุน้อยที่สุดที่เคยทำงานในแอนิเมชันซีรีส์ทางทีวี ‘The Simpsons’ ตอนที่อายุได้เพียง 19 ปี ต่อมา ลูห์นได้มีโอกาสเข้าไปเป็น 1 ใน 12 แอนิเมเตอร์รุ่นแรกของบริษัท Pixar Animation Studios ที่กำลังจะสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการสร้างหนังแอนิเมชัน 3 มิติขนาดยาวเรื่องแรกขึ้นมา

ในการทำงานกับ Pixar นอกจากเขาจะเข้ามาทำงานในแผนกแอนิเมเตอร์ เเขาเองยังมีส่วนร่วมเกี่ยวกับเนื้อเรื่องในแผนก Story Artist ด้วย และเมื่อเขาและคนในแผนกต้องการแรงบันดาลใจและการอ้างอิงที่เกี่ยวกับของเล่น ลูห์นก็มักจะพาทีมงาน Story Artist ไปที่ร้านของเล่น ซึ่งทำให้พวกเขาได้ไอเดียและแรงบันดาลใจเกี่ยวกับของเล่นมากมายที่จะถูกนำไปเล่าในภาพยนตร์ที่พวกเขากำลังจะสร้างต่อไป

“ในช่วงที่กำลังทำ ‘Toy Story’ เรามักจะให้พ่อของผมมาช่วยเสนอไอเดียให้เราด้วย และเมื่อเราต้องการ Reference เกือบทุกอย่างที่เกี่ยวกับ ‘Toy Story’ เราก็มักจะไปที่ร้าน Jeffrey’s Toys เสมอ ซึ่งพ่อของผมที่เพิ่งจะปิดร้านก็จะพูดว่า ‘ก็แค่ต้องเล่นน่ะ ขอให้สนุกก็แล้วกันนะ แล้วถ้าพวกเธอต้องการอะไรก็บอกได้เลยนะ'”

หลังจากที่ ‘Toy Story’ ภาคแรกออกฉายและประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ลูห์นยังได้มีโอกาสกลับเข้ามาทำงานร่วมกับ Pixar อีกครั้งในฐานะ Story Artist ของภาคต่อ ‘Toy Story 2’ (1999) รวมทั้งยังมีส่วนร่วมในการสร้างเรื่องราวให้กับภาพยนตร์แอนิเมชันของค่ายอีกหลายเรื่อง ทั้ง ‘Monsters, Inc.’ (2001), ‘Finding Nemo’ (2003), ‘Cars’ (2006), ‘Ratatouille’ (2007), ‘Up’ (2009), ‘Toy Story 3’ (2010), ‘Monsters University’ (2013) และอีกมากมายตลอดระยะเวลาการทำงานกว่า 20 ปี

และต่อมา ลูห์นได้เข้ามาร่วมบริหารกิจการร้านของเล่น Jeffrey’s Toys ร่วมกับพ่อของเขา มาร์ก ลูห์น (Mark Luhn) และแม่เลี้ยง โรซี โคโรนาโด-ลูห์น (Rosie Coronado-Luhn) ด้วย แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมเข้ามา ทั้งพฤติกรรมการชอปปิ้งออนไลน์ และโรคระบาด ปี 2015 ร้านค้าต้องย้ายจากที่ตั้งดั้งเดิมไปยังที่ตั้งใหม่เพราะค่าเช่าที่สูงขึ้น และย้ายไปตั้งบนถนนเคิร์นนี (Kearny Street) อันเป็นที่ตั้งปัจจุบันในอีก 2 ปีต่อมา แต่วิกฤติลูกใหม่ก็ถาโถม เพราะต้องเผชิญกับโรคระบาด พนักงานในร้านน้อยลง อาชญากรรมที่เพิ่มขึ้นทำให้เกิดการลักขโมย และก่อเหตุความรุนแรงกับพนักงานของร้านที่ถูกคนร้ายใช้มีดแทง ทำให้สถานภาพทางธุรกิจของร้านยิ่งตกต่ำลงหนักไปอีก

ลูห์นเปิดใจเมื่อ 1 เดือนก่อนหน้าว่า เขาจำเป็นต้องจ่ายค่าเช่าร้านเดือนละถึง 20,000 เหรียญ “เราต้องการจะอยู่ในธุรกิจต่อไป แต่เราก็ต้องการความสัมพันธ์ที่ดีกับตัวเมืองด้วย เรากำลังทุ่มเงิน เรากำลังทำงานหนัก และทุ่มเทความรักให้กับเมือง แต่ในความสัมพันธ์ที่เรามีกับเมือง เราก็ไม่ได้อะไรกลับมาเลยเหมือนกัน”

ในขณะที่ทนายความตัวแทนของครอบครัวได้เผยว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ร้านต้องปิดตัวก็คือ อันตรายและความรุนแรงของสภาพแวดล้อมในตัวเมือง อัตราเงินเฟ้อ และการล้มของธุรกิจค้าปลีกที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งลูห์นเผยว่า เขาได้ใช้ความพยายามทุกอย่างในการพยุงกิจการไปจนหมดสิ้นแล้ว

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพจ Facebook ของร้านได้แจ้งข่าวร้ายถึงการปิดกิจการสาขาสุดท้ายลงอย่างถาวร โดยใช้คำว่า ‘แล้วทุกอย่างก็จะผ่านไป’ (“All things must GO.”) พร้อมทั้งประกาศว่า สินค้าของเล่นทุกชิ้นในร้านจะลดจากราคาเต็ม 30% โดยไม่รวมสินค้าฝากขาย ก่อนจะปิดตัวลงอย่างถาวรในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้

ลูห์นบอกกล่าวกับ SFGATE ถึงความสำคัญของร้านของเล่น Jeffrey’s Toys ที่ทำให้เขามายืนอยู่ตรงนี้ และกลายเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ของชาวซานฟรานซิสโก รวมทั้งยังเป็นต้นกำเนิดและแรงบันดาลใจของแอนิเมชันระดับโลกที่เปลี่ยนวงการไปตลอดกาลแบบสั้น ๆ ว่า ที่นี่คือที่ ๆ “มีสิ่งมหัศจรรย์เกิดขึ้นจริง”


ที่มา: CBR, SFGATE, SFGATE (2)