ภาพยนตร์หลายเรื่องในอดีตถึงปัจจุบันจะมีการถ่ายทำอีกรูปแบบหนึ่งที่สร้างความน่าสนใจทุกครั้งแก่นักดูหนังนั่นคือเทคนิคถ่ายทำ “Long Take” ซึ่งเป็นการถ่ายต่อเนื่องโดยไม่ตัดต่อเป็นระยะเวลานาน ข้อดีของการถ่ายแบบนี้คือได้เห็นความต่อเนื่องของฉาก การกระทำของตัวละครในหนังจะไหลลื่น หากเป็นฉากแอ็คชั่นจะดูรู้เรื่องมากกว่าใช้การตัดต่อครับทว่าการจะได้มาของความต่อเนื่องแบบนั้นมันต้องอาศัยความอดทนและความ “เป๊ะ” ของทีมงานด้วยเพราะหากมีจุดใดจุดหนึ่งผิดพลาดหรือลืมบทล่ะก็ ทุกอย่างต้องเริ่มใหม่ทั้งหมดตั้งแต่ต้นครับ มันจึงเป็นเทคนิคที่ได้ผลลัพธ์ที่สวยงามแต่เบื้องหลังนั้นถือว่าลำบากมาก ๆ น้อยนักที่จะมีคนทำถึงจะบอกว่าอย่างนั้นแต่ในวงการฮอลลีวูดหรือภาพยนตร์ในประเทศอื่น ๆ ก็มีการใช้เทคนิคดังกล่าวใส่เข้ามาในหนังของตน บ้างก็ใส่มา 1 ฉาก บางเรื่องก็เล่นใหญ่ถ่าย Long Take ทั้งเรื่องไปเลยก็มีครับ (ถึงจะถ่ายทั้งเรื่องแต่จะเป็นการถ่าย Long Take หลายช็อตแล้วนำมากัน) หากใครยังนึกไม่ออกล่ะก็ วันนี้เราจะมาแนะนำภาพยนตร์ที่ใช้เทคนิคดังกล่าวกันครับ1. London has Fallenภาคต่อของภาพยนตร์แอ็คชั่นไล่ล่าประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ครั้งนี้ย้ายโลเคชั่นมาอยู่ที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ สำหรับเรื่องนี้จะไม่ได้ถ่าย Long Take ทั้งเรื่อง เพียงแต่ว่าจะมีบางฉากเท่านั้นที่ใช้ครับเป็นเวลาประมาณ 2-3 นาที จะเป็นฉากที่พระเอกของเรา (แสดงโดย Gerrard Butler) ร่วมมือกับหน่วย SAS จากอังกฤษเดินหน้าบุกถล่มรังของผู้ก่อการร้ายความมันส์จะอยู่ตรงที่การต่อสู้แบบต่อเนื่องครับ เราจะได้เห็นการรุกคืบของฝ่ายพระเอกไปทีละนิด มีการหลบกระสุน ตอบโต้ด้วยปืนชนิดต่าง ๆ แถมยังมีบทพูดแทรกระหว่างทางด้วย เรียกว่าต้องจดจำไดอะล็อกและเคลื่อนที่ไปข้างหน้า แม้ฉากนี้จะถ่ายในตอนกลางคืน แต่มุมกล้องกับการจัดแสงก็ทำให้เราเห็นชัดเจนว่าตัวละครกำลังทำอะไร2. Old Boyการถ่าย Long Take ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นภาพยนตร์ฝรั่งจากฮอลลีวูดเท่านั้น ภาพยนตร์จากแดนกิมจิเกาหลีใต้เองก็สามารถทำได้เหมือนกัน ดูเหมือนว่าจะทำได้ดีถึงใจมาก ๆ ด้วย อย่างเช่นเรื่อง Old Boy ครับ เป็นเรื่องราวของชายหนุ่มที่ถูกจับขังลืมนับสิบปี ซึ่งเขาต้องค้นหาคำตอบให้ได้ว่าใครเป็นคนทำแบบนี้กับเขาจุดเด่นของฉาก Long Take ในเรื่องจะอยู่ที่ฉากห้องโถงครับเมื่อ โอ แดซู ตัวละครเอกต้องบุกฝ่าพวกอันธพาลด้วยตัวคนเดียว ในฉากนี้เราจะเห็นการต่อสู้มือเปล่าพลิกผันไปมา มีได้เปรียบเสียเปรียบกันทั้งสองฝ่าย แถมระยะเวลา 3 นาทีที่ไม่มีการตัดต่อเลย จึงเป็นงานยากมาก ๆ ที่จะได้ผลลัพธ์แบบนี้ ซึ่งตัวผู้กำกับเองได้ถ่ายฉากนี้ถึง 17 เทค เป็นเวลา 3 วัน3. Birdmanตัดกลับมาฝั่งฮอลลีวูดกันบ้างครับกับเรื่อง Birdman นำแสดงโดย Michael Keaton เป็นเรื่องราวของนักแสดงตกอับที่อยากกลับมาเฉิดฉายอีกครั้งในการแสดงบรอดเวย์ที่เขาทุ่มเท แสดงเอง กำกับเอง เขียนบทเอง โดยภาพยนตร์เรื่องนี้จะใช้เทคนิต Long Take ทั้งเรื่องครับ แต่จะมีการตัดคัทฉากแบบเนียนตาจนไร้รอยต่อสิ่งที่ทำให้ Birdman น่าติดตามนอกจาก Long Take ทั้งเรื่องก็คือการตีแผ่ชีวิตของดาราละครเวที เหมือนเราได้รับรู้ชีวิตของนักแสดงคนหนึ่ง ตีแผ่วงการการแสดงได้อย่างเจ็บแสบ ผ่านการถ่ายทำแบบต่อเนื่องแถมยังใช้สถานที่ถ่ายทำได้คุ้มค่ามาก ต้องยอมรับความบ้าของผู้กำกับ Alejandro G. Inarritu ซึ่งมันก็ทำให้คว้าออสการ์ไปถึง 4 รางวัล4. La La Landเป็นภาพยนตร์ที่มีการถ่าย Long Take หลายฉากทีเดียวและมันน่าจดจำแม้ว่าหนังจะผ่านไปนานหลายปี La La Land จะเป็นเรื่องราวของหนุ่มสาว 2 คนที่เดินทางตามหาความฝันในวงการบันเทิง พร้อมกับบททดสอบมากมาย สำหรับเรื่องนี้ถือว่ามีความดีงามทั้งการเดินเรื่อง บทตัวละคร ซึ่งทำได้ดีมาก ๆ ยิ่งในฉากที่ถ่าย Long Take จะเป็นการสื่ออารมณ์ออกมาได้ดีแม้ไม่ต้องมีบทพูดอะไรมากนักฉากดังกล่าวหลัก ๆ จะเป็นฉากร้องเพลงเหมือนละครเวทีครับ อย่างฉากเปิดเรื่องตอนแรกก็เรียกว่าต้องพร้อมและเป๊ะทุก ๆ คนหรือจะเป็นฉากที่พระนางของเรื่องเต้นคู่กันบนถนน ก็เป็นอะไรที่งดงามมากทีเดียว นอกจากเทคนิคการถ่ายทำแล้ว การจัดแสงสีในเรื่องก็สะดุดตามาก ๆ ด้วย5. 1917เป็นภาพยนตร์ฉายโรงเรื่องล่าสุดที่ได้รับการพูดถึงเมื่อช่วงต้นปี 2020 เป็นเรื่องราวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อทหาร 2 นายได้รับภารกิจส่งข้อความไปยังแนวหน้าสงคราม เนื้อหาของเรื่องถือว่าไม่ได้มีอะไรมากนัก แต่สิ่งที่ทำให้ 1917 ถูกพูดถึงมากก็คือเทคนิคการถ่ายทำแบบ Long Take ตลอดทั้งเรื่องครับความน่าสนใจของ 1917 คือการได้เห็นจุดเริ่มต้นของทหาร 2 นายว่าพวกเขาต้องพบเจอกับอะไรบ้างระหว่างการดินทาง เหมือนพาเราไปมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ในนั้นได้เลย ความต่อเนื่องที่ไม่มีตัดทำให้ได้เห็นฝีมือการแสดงที่มีครบทุกอารมณ์ครับ รวมไปถึงฉากสงครามการต่อสู้ก็ทำได้อลังการและสภาพอากาศการจัดแสงเรียกว่าจัดเตรียมกันแบบ Real Time เลยทีเดียว6. Atomic Blondeส่วนภาพยนตร์เรื่อง Atomic Blonde จะเป็นภาพยนตร์สายแอ็คชั่นสายลับ ที่เน้นความดิบเถื่อนเลือดสาด ถึงแม้ว่าการเดินเรื่องจะชวนให้สับสนก็ตาม สิ่งที่เป็นไฮไลท์ก็จะอยู่ในช่วงท้ายของเรื่องครับ กับการถ่าย Long Take ฉากต่อสู้ที่ทำเอาลุ้นจนเหนื่อยแทนตัวละครกันเลยล่ะฉากที่ว่าจะเป็นฉากที่นางเอกต้องจัดการกับนักฆ่าในตึก โดยเราจะได้เห็นการออกแบบคิวบู๊ที่ไหลลื่นรุนแรง จังหวะการเตะต่อยที่ต่อเนื่องดูไม่เตี๊ยมกันมา เป็นฉากสู้ที่ค่อนข้างยาวนานมาก ๆ ถูกใจคอหนังสายบู๊แน่นอน และฉากนี้มักจะถูกพูดถึงบ่อย ๆ หากมีการเปิดประเด็นหัวข้อฉากแอ็คชั่นที่รุนแรงและต่อเนื่อง7. Kingsman: Secret Serviceในส่วนของภาพยนตร์สายลับสุดแหวกแนวเรื่องนี้จะมีดีตรงที่ฉากในตำนานที่เรียกกันว่า “โบสถ์” ครับ นอกจากเหนือจากจะเป็น Long Take แล้ว มันยังบวกกับสไตล์ของเรื่อง เป็นฉากแอ็คชั่นที่เน้นความรวดเร็วผสมแฟนตาซี เหมือนกับอ่านคอมิคยังไงยังงั้นครับรายละเอียดของฉากนี้จะเป็นฉากที่ “กาลาฮัด” และผู้คนในโบสถ์ ถูกสะกดจิตด้วยคลื่นโทรศัพท์ให้ฆ่ากันเอง ผลที่ออกมาก็คือตัวของ กาลาฮัด จัดการทุกคนในนั้นจนหมดด้วยทักษะสายลับกับอาวุธทุกอย่าง ฉากนี้ค่อนข้างโหดและทารุณพอสมควร แต่ก็แลกกับการได้เห็นลีลาการต่อสู้ แบบทุ่มสุดตัวของเขาว่าเป็นเช่นไร เรียกว่าฉากดังกล่าวมันบ้าบิ่นและสะใจแบบแปลก ๆ เลยทีเดียว8. Avengersถึงจะเป็นภาพยนตร์ซูเปอร์ฮ๊โร่แต่มันก็มีฉากถ่ายทำต่อเนื่องไม่มีตัดด้วยเหมือนกัน มันจะเริ่มในฉากที่ Iron Man โจมตีกลุ่ม Chitauri แล้วลงมาช่วย Captain America จากนั้นกล้องก็พุ่งขึ้นให้เห็นการยิงสกัดกั้นของ Hawkeye บนตึก จนนำไปสู่การต่อสู่ร่วมกันระหว่าง Thor กับ Hulk ช่วยกันโค่นอสูรกายยักษ์จากฉากที่ว่านี้มันทำให้เห็นการต่อสู้ของฮีโร่แต่ละคนว่ากำลังทำอะไร ณ จุดไหนบ้าง โดยที่ไม่ต้องตัดต่อ อีกอย่างที่ฉากนี้มันน่าสนใจอีก ก็คือการใช้วัตถุเพื่อนำไปสู่ฉากใหม่เช่น ตัวของ Iron Man, ลูกธนู มันทำให้การเชื่อมต่อฉากมันมีความ Smooth อย่างมาก แม้ว่าฉากดังกล่าวจะไม่ถึง 1 นาที เชื่อว่าได้ใจแฟน Marvel ไปเต็ม ๆ9. Extractionสุดท้ายกับภาพยนตร์บน Netflix ผลงานการแสดงเรื่องล่าสุดของ Chris Hemsworth กับการชิงตัวประกันในประเทศบังกลาเทศ จุดเด่นของเรื่องนี้คือฉากแอ็คชั่นครับ โดยจะมีการถ่ายต่อเนื่องยาวนานถึง 11 นาทีด้วยกัน อย่างเช่นในฉากไล่ล่าด้วยรถยนต์ ก็เหมือนกับการพาผู้ชมไปอยู่ในรถร่วมกับตัวละครในฉากที่เป็นการต่อสู้ประชิดตัวก็ดีเช่นกันครับ สามารถ่ายทอดออกมารู้เรื่อง กล้องไม่เหวี่ยงมากไป คนดูรับรู้ได้ว่าตัวละครกำลังทำอะไรอยู่ นอกจากนี้สถานทีต่อสู้เป็นที่แคบ ก็เพิ่มความท้าทายในการออกแบบฉากสู้ ถือว่าเป็นอีกเรื่องที่ใช้เป็นแหล่งอ้างอิงในการเรียนทำภาพยนตร์ได้เลยครับทั้ง 9 เรื่อง 9 ฉากนี้ก็ถือว่าเป็นการแสดงให้เห็นถึง ความอดทนทั้งแรงกายและใจของทีมงาน สามารถทำฉากแต่ละฉากออกมาได้อย่างเหลือเชื่อ แถมยังมีไอเดียสร้างสรรค์หยิบจับวัตถุดิบต่าง ๆ ดึงศักยภาพออกมาได้สูงสุด ต้องบอกเลยว่าน่านับถือผู้กำกับ นักแสดง และทีมงานเบื้องหลังทุกคนจริง ๆ ครับที่มารูปภาพ: รูปภาพปก / รูปภาพ 1 / รูปภาพ 2 / รูปภาพ 3 / รูปภาพ 4 / รูปภาพ 5 / รูปภาพ 6 / รูปภาพ 7 / รูปภาพ 8 / รูปภาพ 9