สวัสดีผู้อ่านทุกท่านด้วยจ้า บทความนี้ผู้เขียนจะไปชมและมาแชร์เรื่องราวของนักพากย์จริงๆ แชร์ประสบการณ์ พูดคุย ในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับการพากย์ เข้าไปดูจริงถือว่าแตกต่างจากการดูผ่านวิดีโอคลิปอย่างมากเลย เป็นการทำงานสดๆ จริงๆ จากนักพากย์ไทยชื่อดัง เป็นครั้งแรกของผู้เขียนเหมือนกันที่ได้มาที่สถานที่จริงๆ ได้มาดูการทำงานจริงๆ จังๆ แบบต่อหน้าต่อตาเลย การเดินทางก็ไม่ได้ยุ่งยากเท่าไหร่ด้วย มาอ่านกันได้เลยจ้าสถานที่ที่จะไปกันก็คือ สตูดิโอเค (StudioK) มาดูกันว่าการเดินทางผู้เขียนไปยังไง เริ่มมาก็เดินทางด้วยรถไฟฟ้าโดยลงมาที่ MRT พระราม 9 และก็ออกมาที่ทางออกที่ 3 เดินที่หลังเซ็นทรัลพระราม 9 จะผ่านตรงตลาดจ๊อดแฟร์ ข้ามถนนไปอีกฝั่งแล้วเลี้ยวซ้ายเมื่อเจอป้าย ทวีมิตร ซอย 7 ให้เลี้ยวขวาไปสุดเลย ตัวสถานที่จะอยู่ขวามือ ป้ายบอกชัดเจนจ้าผู้เขียนเข้ามาครั้งแรกก็เจอคนมากมายรวมไปถึงเหล่าทีมงานจาก TrueID และผู้โชคดีจากกิจกรรมด้วย และรู้ว่ามีนักพากย์จาก Cartoon Club Academy รุ่น 5 กับ 7 มาด้วย เนื่องด้วยเป็นสถานที่จริงของการทำงานพากย์ ผู้เขียนก็มาครั้งแรกด้วย เลยรู้สึกแปลกใหม่เหมือนกัน ทำตัวไม่ถูกเลย แต่ก็เป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาสตูดิโอจริงๆมีการสัมภาษณ์เกี่ยวกับประวัติความเป็นมา กว่าจะมาเป็น Cartoon Club จนถึงทุกวันนี้ ผ่านยุคช่อง 9 การ์ตูน ผ่านยุคเคเบิ้ลทีวี บอกเลยว่าระยะเวลารวมปัจจุบันก็ 36 ปีแล้ว นักพากย์ไทยก็ผ่านยุคของน้าต๋อย เซมเบ้, ยุคน้าเปียก วิภาดา จนมาถึงยุคปัจจุบันแล้ว เบื้องหลังการนำเข้าอนิเมะหลากหลายเรื่องเข้ามาให้ทุกคนได้รับชมกัน ในรูปแบบของเสียงไทย โดยนักพากย์ไทย ในปัจจุบันก็มีเรื่องที่สามารถดูได้ที่ TrueID เช่น Kimetsu no Yaiba (ดาบพิฆาตอสูร), Spy X Family, Zom 100, Bleach เป็นต้น แต่ความเป็นมาถือว่ากว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยผู้เขียนได้เข้ามาดูบรรยากาศการพากย์แบบสดๆ ด้วย บรรยากาศแตกต่างจากการดูผ่านคลิปเลย ผู้เขียนเคยดูคลิปที่เป็นบรรยากาศการพากย์นะ แต่พอมาดูของจริงนี่คนละแบบกันเลย การพากย์แต่ละประโยคที่จะให้เข้ากับบรรยากาศของฉากของตัวละครก็มีปรับแก้ใหม่ นักพากย์ก็มีขอพากย์ใหม่อีกทีเผื่อบทพากย์มันดูมีความกลมกลืนและดีที่สุด และได้ฟังเห็นดูการกำกับการพากย์ของพี่ปลายด้วย จะมีให้ปรับประโยคพูด หรือ ปรับโทนอารมณ์การพากย์ให้เข้ากับตัวละคร เรียกว่านักพากย์ทุกคนเต็มที่กับการพากย์มาก ไม่ง่ายเลยกับการพากย์ รวมไปถึงการกำกับการพากย์ของพี่ปลายด้วย เซ็นเซอร์นะว่าเรื่องที่พากย์คืออะไร เพราะ ยังไม่ออกอากาศให้ดูจ้าต่อไปจะเป็นบทสัมภาษณ์ของนักพากย์ไทยชื่อดัง จะเป็นยังไงไปดูกันท่านที่ใส่เสื้อเหลืองนี่คือนักพากย์ที่อยู่ในวงการมานานหลายปี ตั้งแต่ยุคแรกของ บริษัท ทีไอจีเอ จำกัด หรือ TIGA (ไทก้า) นั่นคือ พี่แมนหรือน้าแมน พงษ์เทพ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นผู้กำกับหรือ Director ของ TIGA (ไทก้า) ยุคแรกๆ มาดูกันว่าเป็นยังไง คำถามผู้เขียนไม่ได้ถามนะ จะเป็นคนอื่นที่ถามกันการพากย์ครั้งแรก?เริ่มแรกยังไม่ได้เข้า TIGA (ไทก้า) เป็นคนช่วยดูแลการพากย์ พากย์ครั้งแรกเป็นเรื่องยุคแรกๆ ของ TIGA (ไทก้า) จะมีตัวละครทหารเรียงกัน พูดแค่คำว่า "ครับ" อย่างเดียวติดต่อกัน 4-5 ตัวละคร และก็เลยขอเข้าไปลองพากย์โดยที่ไม่เคยดูเรื่องนั้นด้วย พากย์ครั้งแรกต้องใช้เวลา 4 เทค เริ่มพากย์จากตัวประกอบก่อน ไปดูเรื่องนั้นมาก่อนได้รู้บทเพื่อที่จะได้รู้อารมณ์การพากย์และทำการซ้อม วิธีแก้ความเกร็งเวลาพากย์?สูดหายใจลึกๆ ค่อยๆ ผ่อนคลาย เหมือนทำสมาธิการพูดเร็วพูดช้ากับการพากย์?เราต้องรู้ตัวเองก่อนว่าเราพูดเร็วหรือพูดช้าก็ค่อยๆ ปรับ มันไม่มีอะไรที่ฝึกไม่ได้ ถ้าเราดูการ์ตูนมาเยอะๆ เราจะเข้าใจอารมณ์ของตัวละครนั้นในฉากต่อๆ มาของเรื่อง หรือการที่เราได้ดูกับเขากับตัวละครที่เราพากย์เราจะได้เห็นพัฒนาการของเรื่องว่าเป็นแบบไหนและเราจะได้ให้อารมณ์ถูก ควรอยู่กับพี่ๆ เขาอยู่ตลอด เพราะ เราจะสามารถต่อกันได้เลย จะได้รู้ว่าฉากนี้นะ อารมณ์แบบนี้วิธีรักษาเสียง?ดื่มน้ำที่ไม่เย็น น้ำที่ไม่แช่เย็น เป็นน้ำเปล่าทั่วไปปกติจะดีกว่า หรือเป็นน้ำอุ่นได้ก็ดี และก็เรื่องของการพักผ่อนนอนหลับ พยายามนอนให้เต็มที่ ดึกมากก็ไม่ดี ถ้าเราเคยเห็นตัวอย่างจากหลายๆ คนมาแล้วก็ลองปรับกับตัวเองดู เราต้องดูก่อนว่าเราได้ดูแลสุขภาพบ้างหรือเปล่าหรืออย่างน้อยมีการเอาเหงื่อออกบอกหรือยัง การเดินให้เร็วแบบไม่นั่งรถจะช่วยให้กระตุ้นการทำงานของหัวใจและร่างกายได้ ช่วยนำสิ่งที่เป็นพิษในร่างกายออกการอ่านสำคัญไหมต่อการพากย์?สำคัญ ต้องอ่านหนังสือเยอะๆ อ่านหนังสือแบบไหนก็ได้ ได้ความรู้หมด อย่างน้อยจะได้คำศัพท์ในหัว จะเอาไปใช้ยังไงก็อีกเรื่อง เป็นคนสมาธิสั้นยังไงก็อ่านไปเถอะตอนเริ่มกำกับพากย์ใหม่ๆ รู้สึกยังไงบ้าง?มีอาการเกร็งๆ นิดหน่อย วันแรกที่ได้ไปคุมการพากย์ คือเรื่อง Sailor Moon Super S (เซเลอร์มูน ซุปเปอร์ เอส) เคยอยากเข้าไปลองดูสมัยตอนที่อยู่ที่ค่าย Right Picture (ไรท์ พิคเจอร์) แต่ตอนนั้นเข้าไปไม่ได้ จนเขาย้ายเข้ามาทำที่ TIGA (ไทก้า) และได้เข้าไปดูเพราะเขารู้ว่าชอบ วันนั้นไปพากย์ที่กันตนา เหม่งจ๋าย เข้าไปดู ขอดูบท พี่เขายื่นบทมาให้เราดูด้วย ค่อยๆ ดู และก็นั่งดูพวกพี่เปียก วิภาดา พี่ตุ๊ก อรุณี พากย์ และก็ได้ไปช่วยดู และตอนคุมพากย์ก็บอกพี่เปียกว่าไม่เล่นมุกนะครับ และเคยมีเปลี่ยนตัวละครพากย์ด้วย โดยอ้างอิงจากผลงานของนักพากย์ที่เคยพากย์ผลงานมาก่อนด้วย นั่งคุมพากย์ มีพากย์สะดุดก็ไปช่วยเทค หลังจากนั้นก็ไปทุกสัปดาห์ๆ ช่วยคุมพากย์ ถ้าเราได้อยู่เบื้องหลังจะรู้เรื่องมาก่อนและได้รู้ว่าตัวละครไหนจะเจอกันบ้างก็ต้องแบ่งกันพากย์ตามจำนวนทีมพากย์ที่มี จะดูว่าตัวละครไหนเหมาะกับใครไม่เหมาะกับใครผลงานที่เยี่ยมที่สุดในชีวิตไทม์เรนเจอร์ แต่ถ้าดีที่สุดก็คือตัวละคร Tsuburaya Mitsuhiko (ซึบุรายะ มิซึฮิโกะ) จาก โคนัน เป็นงานที่แปลก และเป็นผู้ชายคนแรกที่ได้พากย์เด็ก เนื่องจากยุคนั้นเด็กต้องเป็นผู้หญิงพากย์ ไม่มีผู้ชายคนไหนกล้าไปพากย์เด็ก เพราะเสียงบีบลงไม่ได้ แต่ว่าเสียงเราจะเล็กบางกว่าคนอื่นเราสามารถบีบเสียงให้เล็กได้ เราจินตนาการแล้วว่าเสียงตัวละครนี้ต้องเป็นแบบนี้ก็เลยลงไปพากย์มาถึงสามท่านนี้เป็นนักพากย์ที่ปัจจุบันหลายๆ คนที่ตามอนิเมะหรือวงการนักพากย์จะรู้จัก 3 ท่านนี้อย่างแน่นอน ทางซ้ายก็คือ พี่คิม หรือ Mr.Kim ประภัฒน์ สินธพวรกุล ส่วนตรงกลางก็คือพี่ปลาย พิพัฒน์ บุญสิทธิเลิศ หรือ พี่ปลาย รีวิวแมน และท่านทางขวาก็คือ พี่ทอย ศิวพันธ์ บุณยรัตพันธุ์ เป็นหลานของน้าต๋อย เซมเบ้ เป็นลุงของพี่ทอย มาดูกันว่าเป็นยังไง คำถามผู้เขียนไม่ได้ถามอีกแล้วนะ จะเป็นคนอื่นที่ถามกันเช่นเคย ตัวละครหลักเรื่องแรกที่ได้พากย์คือเรื่องอะไร?พี่ปลาย: The Amazing Spider-Manพี่คิม: จำไม่ได้ พากย์เยอะมากพี่ทอย: Kimi no Suizo wo Tabetai (ตับอ่อนเธอนั้น ขอฉันเถอะนะ)การทำงานผู้กำกับต้องใช้ทักษะอะไรบ้าง?พี่ปลาย: ผู้กำกับมีทั้งเป็นนักพากย์และไม่ได้เป็นนักพากย์ แต่การเป็นนักพากย์ดีตรงที่เราสามารถบอกคนพากย์และคนช่วยกำกับงานพากย์ให้เน้นน้ำหนักคำว่าต้องเน้นตรงไหน แต่คนที่ไม่ได้เป็นนักพากย์จะไม่สามารถบอกได้ มุมมองจะเหมือนคนนอก ผู้กำกับที่เป็นนักพากย์จะรู้ว่าน้ำหนักคำไหนที่ควรเน้น ควรทิ้งจังหวะคำลงตรงไหน ทางที่ดีควรจะมีทักษะการพากย์ด้วย ผู้กำกับการพากย์ทำงานเยอะกว่านักพากย์หลายเท่า ผู้กำกับได้เรื่องมา เช็คเรื่อง คัดนักพากย์ แคสติ้งนักพากย์ ได้บท เช็คบท ส่งบทเข้าสตูดิโอ คุมนักพากย์เวลาพากย์ เรื่องที่ดัดแปลงเสร็จก็ต้องมาเช็คว่าแก้จุดไหนและส่งเข้าสตูดิโอ สิ่งที่ผู้กำกับต้องมี คือ ดูเรื่องนั้นหลายรอบแล้วไม่รู้สึกเบื่อ รู้สึกเซ็ง ต้องดูไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบ ครั้งแรกดูเพื่อคัดนักพากย์ ดูเพื่อตรวจบท มีช่วงเวลาท้อในชีวิตบ้างไหม?พี่คิม: ทุกวัน ไม่ใช่ว่าไม่ชอบ เราชอบ เหมือนเราชอบออกกำลังก็ชอบออกกำลัง ออกทุกวันก็เหนื่อยพี่ปลาย: ทุกคนมีช่วงเวลากันทั้งนั้น ไม่ว่าจะอาชีพไหน แล้วแต่คน การทำงานไม่มีอย่างงั้น การท้อจะมาจากช่วงแรกในการฝึกมากกว่า แบบเราข้ามจุดนี้ไม่ได้สักที ตีอารมณ์แบบนี้ไม่ได้สักที โดนตำหนิบ่อย อยู่ที่มุมมอง อยู่ที่หลายๆ อย่าง ทุกสิ่งทุกอย่างมีหลายด้านอยู่เสมอ แม้กระทั่งคนที่มาด่าเรา เราก็ต้องดูว่า คำด่านั้นมันจริงมากน้อยแค่ไหนเราก็เก็บคัดกรองถ้าอันไหนมันจริงเราก็เก็บมาคิดมาแก้ไขอะไรที่เป็นแรงบันดาลใจให้อยากเป็นนักพากย์?พี่ทอย: อยากทำงานอะไรก็ตามที่เราดูแล้วเราส่งความสุขให้คนดูได้ ตอนแรกเรามี 3 อย่างที่อยากเป็น คือ นักร้อง ผู้กำกับและนักพากย์ สุดท้ายมาเลือกเรียนภาพยนตร์ เพราะ ดูเป็นไปได้มากที่สุด พอเรียนไปรู้สึกว่ายังไม่ใช่ เราไม่ได้รักมันขนาดนั้น จนมาคิดถึงเรื่องนักพากย์ และลุงของเราก็เป็นนักพากย์ เลยกลายเป็นว่ามีโอกาสใกล้ชิด เราอยากลองมาตั้งนานแล้ว เราไม่รู้ว่าจะเริ่มยังไง ก็เลยไปเห็นพวก Fan Dub บนโซเชียล เห็นเขาฝึกพากย์ ก็เลยลองบ้าง อย่างน้อยเราก็ได้เริ่มแล้ว ไม่ใช่เพ้อเจ้อแล้วอยากจะเป็นแล้วไม่ทำอะไรสักอย่าง พอทำคลิปฝึกพากย์ แล้วลุงก็ลองมาชวนพากย์ มาลองแล้วก็สนุกแต่ในความสนุกก็จะมีความตื่นเต้น ความกังวล เพราะพูดตรงๆ ว่าไม่ได้เก่งในตอนแรกๆ ที่เข้ามา ปัจจุบันก็ดีขึ้นพี่คิม: เราดูหนังจากทีมพันธมิตร เราชอบทีมพันธมิตร เคยดูหนังที่ไม่มีพากย์ไทย เมื่อก่อนจะเป็น VCD ที่ไม่สามารถกดสลับภาษาได้ เป็น VCD ที่เขียนว่า "ซับ" แล้วก็มาดูแล้วรู้สึกไม่สนุกเลย ไปถามเพื่อนบอกดูไม่สนุกเลย เพื่อนบอกให้ไปดูพากย์ไทยและไปดูรู้สึกว่ามันต่างกันเลย หลังจากนั้นมาก็เริ่มชอบพากย์ไทย เราก็ชอบทีมพากย์พันธมิตรเลยขอเข้าไปอยู่ในทีมพันธมิตร แต่เราก็ไปพากย์ที่อื่นก่อนให้พอเข้าหนังเป็น และตอนนั้นมีคนออกจากทีมพันธมิตรและเราก็ได้เข้าไปแทนพี่ปลาย: เราชอบวาดการ์ตูน พากย์การ์ตูนมาตั้งแต่เด็กแล้ว ชอบหลายอย่าง เป็น Passion ตั้งแต่เด็กๆ เก็บใฝ่ฝันมาตลอด จนมีทางเข้า จนได้มารู้จักนักพากย์มาดูสตูดิโอ มาเห็นการพากย์จริงว่าเป็นยังไง ส่ง Demo ให้เจ้าของสตูดิโอคนก่อนและเขาให้โอกาสเรามาลองที่นี่ ตอนนั้นต้องหว่านแห่รู้จักสตูดิโอไหน ก็ต้องส่ง Demo ไป ตอนนั้นหลายๆ อย่างมันจำกัด การเข้ามาเป็นนักพากย์นั้นมันยาก เราต้องแข็งจริงๆ เป็นพากย์ทีมล้วนๆ เราจะมานั่งพากย์แล้วเทคเสียเวลาคนอื่นมันก็ไม่ได้ ก็แรกๆ ที่เข้ามาก็เราไปนั่งดูแล้วเขาเห็นหน้าเห็นตาและเขาเห็นความมานะของเรา และเราก็สะสมประสบการณ์ของเราไปตัวละครแปลกๆ ที่เคยพากย์?พี่คิม: มันก็แปลกหมด เราไม่ค่อยได้จำว่าพากย์ตัวละครอะไรที่แปลกพี่ปลาย: แล้วแต่ช่วง เพราะ บางทีเราก็จำไม่ได้แต่ที่แปลกสุดที่จำได้ในปัจจุบันก็คือ กิวทาโร่ จาก ดาบพิฆาตอสูรพี่ทอย: พากย์เป็นแกะนับไหม?! ความลำบากของอ่านบทจากกระดาษกับ iPad?พี่ปลาย: ส่วนตัวไม่ลำบาก ลำบากแค่การทำบทมากกว่า แต่ส่วนตัวยังชอบกระดาษพี่คิม: iPad เนี่ยเราต้องเลื่อน (แต่จริงๆ มันมีปุ่มกด) แต่ถ้าเป็นกระดาษเราเห็นเลยว่าตัวเราโผล่จากหน้าไหนบ้าง เราจะขีดมาหน้าสุดท้ายจนถึงหน้าแรกเป็นสไตล์เรา บางทีเราอยากจะรู้ว่าตัวละครเนี่ยมันดีหรือไม่ดี บางทีมาเฉลยหน้าหลังๆ ขีดมาก่อน ไล่ๆ มา ดูประโยคตัวละครจะพูดแบบนี้ เราเตรียมไว้เลย บางทีเราไม่ได้พากย์ตัวเดียว เราพากย์สองตัว เวลาตัวชนกัน เขาจะเรียงหน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้าย ถ้าเราพลิกดูข้างหลังด้วยเนี่ย ถ้าตัวละครที่เราพากย์ชนกัน เราเตรียมตัวไว้เลย ดีไซน์ได้ตามตัวละครที่ได้เป็น ง่ายๆ ก็ถามเขาได้เลยว่ามีตัวละครที่เราพากย์จะมาชนกันไหม กระดาษสามารถแก้อะไรได้พี่ทอย: นิดนึง น่าจะเหมือนกับพี่คิม บางทีเรา Low Tech บางทีการค้นหาตัวเนี่ย ค้นหาไม่ทันก็เปิดไล่ดูทีละอัน ดูแลเส้นเสียงกันยังไง?พี่ปลาย: ไม่ได้ทำอะไรเลย เวลาพากย์บางทีมันจะมีตัวละครตะโกน การพากย์ การร้องเพลงมีสิ่งหนึ่งที่เรียกว่าการเรียกลมจากท้อง ถ้าเกิดว่าเราแหกปาก อย่างเราพากย์แอสต้า เราตะโกนทั้งวัน โดยที่เราไม่ใช้ลมจากท้อง หรือเอาลงคออย่างเดียวเส้นเสียงจะฟัง ต้องใช้ลมจากท้องช่วย ตะโกนหนักแค่ไหนก็ไม่บาดเจ็บเส้นเสียง แต่แค่นิดเดียว ต้องดูหน้าเรื่องด้วย ต้องค่อยๆ ทำไป ถ้ารักษาเสียงปกติ พื้นฐานเลยก็คือ การรักษาสุขภาพ กินอาหารที่เป็นประโยชน์ ถ้าร่างกายดี เส้นเสียงก็จะดีตาม กินน้ำอะไรก็ได้ แต่น้ำร้อนไม่เอา แต่ก่อนพากย์ก็ต้องงดของรสจัด พวกของเผ็ดจัด มันจัดต้องงด อยากเป็นนักพากย์ต้องทำยังไงพี่ปลาย: หลักๆ คือ อ่านหนังสือให้คล่องและใช้เสียงให้เป็น พูดให้เต็มเสียง และค่อยไปพัฒนาต่อ อย่าเป็นน้ำเต็มแก้ว ดูตัวอย่างแล้วนำมาปรับใช้เป็นสิ่งที่ดีพี่คิม: (ตามประโยคที่พี่ปลายบอกไว้เลย คือ อ่านหนังสือให้คล่องและใช้เสียงให้เป็น) พากย์ไม่มีตายตัว ไม่ใช่ว่าสมมุติเราไปเรียนอีกคนนึง เขาสอนอีกแบบนึง พออีกคนสอนเหมือนกัน แต่เราไม่ได้เรียนด้วย ไม่ใช่ว่าเราปิด ไม่ฟัง ฉันเชื่อแต่คนนี้ ก็ไม่ใช่ เขาถึงบอกว่าอย่าทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้วเพราะพวกนี้เราเรียนรู้ได้เรื่อยๆ แต่ละคนมีเทคนิคหมด พี่ทอย: เหมือนพี่ปลาย ที่สำคัญจะเป็นอะไรก็ทำให้เต็มที่ ตั้งใจทำให้เต็มที่ สู้ๆ ครับความรู้สึกของผู้เขียนหลังได้ไปที่สตูดิโอของนักพากย์ก็คือ บรรยากาศผู้คนก็ดีมาก สนุกสนานดี ผู้เขียนก็ไม่ได้ตื่นเต้นอะไรแต่ไม่รู้จะวางตัวยังไงดี ได้เข้ามาสถานที่จริงก็เป็นเกียรติอย่างมากแล้ว เจอกับคนอื่นที่ไม่ได้รู้จักอะไรเลยก็แม้ไม่ได้คุยอะไรกันแต่ก็ยินดีที่ได้เจอทุกคนเลยจ้า ได้เห็นคนแชร์คำถาม แชร์ประสบการณ์กับนักพากย์นับว่าเป็นช่วงเวลาที่สุดยอดแล้วที่ได้มาเจอนักพากย์ไทยตัวจริงเสียงจริงภายในสถานที่ทำงานจริงๆ ของนักพากย์ไทย และการได้เข้าไปดูการพากย์แบบจริงๆ เป็นสิ่งที่ผู้เขียนชอบมากที่สุดแล้ว เนื่องด้วยมันคือภาพที่เกิดขึ้นตรงหน้าจริงๆ ไม่ได้เหมือนกับคลิปวิดีโอที่ดู ทำงานจริงๆ ต่อหน้า ได้เรียนรู้ตัวอย่างการทำงานไปในตัวด้วย ต้องขอบคุณที่เปิดโอกาสให้ผู้เขียนได้เข้ามาดูการทำงานพากย์ไทยและได้มาฟังนักพากย์ถามตอบ เปิดแชร์ประสบการณ์กันด้วยจ้า ผู้เขียนก็ได้อะไรกลับไปเยอะเหมือนกัน แม้ผู้เขียนจะไม่ได้ใฝ่ฝันอยากเป็นนักพากย์ แต่ผู้เขียนเองก็โตมากับพากย์ไทยและชอบพากย์ไทยมากๆ ตั้งแต่เด็กจนโต ยังไงหวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่ใครที่สนใจอยากจะเป็นนักพากย์ จะได้มากได้น้อยยังไงก็ขอบคุณทุกคนที่เข้ามาอ่านบทความนี้กันด้วยนะเป็นยังไงกันบ้างกับการไปพบปะนักพากย์อนิเมะจาก Cartoon Club ของผู้เขียน ภาพอาจจะน้อยไปก็ต้องขออภัยด้วยจ้า แต่ว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีมากกับการได้ไปรอบนี้ มีอะไรติชมหรือมีข้อมูลส่วนไหนผิดพลาดอะไรยังไงสามารถบอกกันมาได้เลยนะ ขอฝากบทความนี้กันด้วยจ้า ฝากแชร์ให้คนอื่นๆ ได้เข้ามาดูกันด้วยนะ ขอบคุณทุกคนที่เข้ามาอ่านกันถึงตรงนี้จ้าพิกัด: StudioK (สตูดิโอเค)ช่องทางการติดตามของผู้เขียนFacebook: AmmarinJTwitter (X): @AmmarinJภาพปกทำโดย Canvaภาพประกอบผู้เขียนถ่ายเองจ้าติดตามข่าวสาร คอนเทนต์เด็ด ๆ ก่อนใคร อย่าช้า โหลดเลยที่ TrueID !!