หากจะให้แนะนำนวนิยายสักเรื่อง เพื่อช่วยยืนยันคำกล่าวที่ว่า “การแต่งงานของคนตะวันตกเป็นเรื่องของคนสองคน แต่ทว่าสำหรับคนตะวันออกคือเรื่องของครอบครัวสองครอบครัว” ว่าเป็นความจริงอย่างที่สุดแล้วล่ะก็ นวนิยายในลำดับต้น ๆ ของวงการวรรณกรรมไทยก็เห็นจะหนีไม่พ้นนวนิยายรางวัลเรื่อง บูรพา ของ ว.วินิจฉัยกุล นวนิยายรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ ๑ หนังสือดีเด่น Seven Book Award ครั้งที่ ๑ ประจำปี ๒๕๔๖-๒๕๔๗บูรพา เป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ในช่วงยุควิคตอเรียนของอังกฤษซึ่งอยู่ในราว ๆ ช่วงประมาณรัชกาลที่ ๔ ของสยามประเทศ เนื้อหาโดยสังเขปของนวนิยายบอกเล่าเรื่องราวของ แคธรีน หญิงสาวชาวอังกฤษผู้มีความคิดที่แตกต่างไปจากหญิงสาวอังกฤษทั่วไปในสมัยนั้น ที่ต่างมีเป้าหมายในชีวิตเพียงแค่ได้แต่งงานกับชายดี ๆ สักคน ทำงานบ้านเลี้ยงลูก และก็ปรนนิบัติสามีเท่านั้นเป็นพอ ทั้งนี้ก็เพราะว่าหญิงสาวอย่าง แคธรีน ซึ่งเป็นตัวละครเอกของเรื่อง เธอมีความต้องการมากกว่านั้นแคธรีน มีความใฝ่ฝันที่จะได้เดินทางออกไปให้ไกลกว่าเขตชนบทอันเงียบสงบอย่างลองสต็อก หมู่บ้านเล็ก ๆ ซ้ำซากจำเจที่เธออาศัยอยู่มาตั้งแต่เกิด เพื่อออกไปผจญโลกกว้าง ซึ่งในที่สุดโอกาสของเธอก็มาถึง เมื่อเธอได้แต่งงานแบบสายฟ้าแลบกับ อาเธอร์ ลินลีย์ นายทหารหนุ่มชาวอังกฤษผู้ที่เพิ่งกลับจากการไปประจำการอยู่ที่อินเดียและกำลังจะได้ไปประจำการในประเทศเล็ก ๆ ทางตะวันออกที่มีชื่อว่าสยามเมื่อถึงวันเดินทาง แคธรีน ป่วยหนักจึงไม่สามารถเดินทางไปพร้อมกับ อาเธอร์ ผู้เป็นสามีได้ เธอจึงต้องออกเดินทางตามไปภายหลังด้วยความช่วยเหลือจากนายทหารหนุ่มอีกสองคนที่กำลังมุ่งหน้าไปสยามเช่นกัน ชายคนแรกคือ พันเอกโรแลนด์ ชายวัยกลางคนเพื่อนของคุณลุงที่มาแต่งงานใหม่กับ แมรี่ ญาติสาวของแคธรีนเอง ส่วนชายคนที่สองก็คือ จัสติน หนุ่มน้อยรูปงามชาวสยามที่ได้มาร่ำเรียนไกลถึงอินเดีย และกำลังจะเดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอนของเขา จัสติน...ชายหนุ่มผู้มีความแตกต่างกับเธอโดยสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นสีผิว รูปร่างหน้าตา ภาษา ศาสนา วัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีช่วงเวลาการเดินทางโดยเรือซึ่งกินเวลาราวหกเดือนจากอังกฤษมาสยาม ถือเป็นเวลามากพอที่จะทำให้ แคธรีน และ จัสติน ได้สนิทสนมและเกิดความรู้สึกที่รู้กันลึก ๆ เพียงสองคน ว่ามันเป็นความสัมพันธ์ต้องห้ามเพียงใด ถ้าหากว่า จัสติน หรือ หม่อมเจ้าวิชชุประภา (เจ้าสายฟ้า) แห่งสยามประเทศ และหญิงต่างชาติต่างศาสนาและวัฒนธรรมที่แต่งงานมีสามีแล้วอย่าง แคธรีน จะมีใจให้แก่กัน “ก่อนอื่น ดิฉันขอเล่าเรื่องราวบางอย่างที่ดิฉันไม่เคยเล่าให้ผู้ใดทราบมาก่อน ระหว่างอาเธอร์กับดิฉัน มีแต่แม่และพี่สาวเท่านั้นที่รู้ความจริง คือเราสองคนแม้ว่าได้ทำพิธีสมรสกันอย่างถูกต้องในโบสถ์ แต่อาเธอร์กับดิฉันยังไม่เคยได้เป็นสามีภรรยากันตามความหมายที่แท้จริง ดิฉันป่วยด้วยโรคหัดตั้งแต่เช้าวันวิวาห์ และอาเธอร์ก็ตัดสินใจเดินทางมาสยามโดยไม่อาจรอให้ดิฉันหายเสียก่อน แต่ขอให้ดิฉันติดตามมาภายหลัง ระยะเวลานานที่อาร์เธอร์และดิฉันห่างกันทำให้ดิฉันได้ตระหนักว่าดิฉันไม่ได้รักเขาเลย ดิฉันแต่งงานด้วยความปรารถนาจะไปพ้นจากชีวิตจำเจน่าเบื่อหน่ายในบ้านเกิด ผู้หญิงไม่มีโอกาสเลือกทางชีวิตใหม่มากนักเว้นแต่ว่าจะแต่งงานเพื่อจะได้ออกไป ส่วนอาร์เธอร์จะแต่งงานกับดิฉันด้วยเหตุผลใดก็ตาม แต่ก็คงไม่ใช่ความรักเช่นกัน เพราะว่าเมื่อดิฉันเดินทางมาถึงบางกอก ก็พบว่าเขาได้มีความสัมพันธ์กับหญิงอื่นระหว่างที่ดิฉันยังมาไม่ถึง...” (บางส่วนจากนวนิยาย บูรพา ของ ว.วินิจฉัยกุล)แม้ว่า ว.วินิจฉัยกุล จะเปิดตัวนางเอกของ บูรพา ด้วยขนบของนวนิยายพาฝัน โดยให้ แคธลีน กล้าแหวกประเพณีของสาวอังกฤษในช่วงยุครัชกาลที่ ๔ ให้เธอก้าวกลายมาเป็นเจ้าหญิงแห่งราชอาณาจักรสยามก็ตามที แต่ ว.วินิจฉัยกุล ก็คือ ว.วินิจฉัยกุล นามปากกานี้ไม่เคยสร้างให้ตัวละครเอกได้พบเจอกับความสมหวังในความรักอย่างเรียบง่ายดุจเทพนิยาย หากแต่ต้องประสบทั้งความรัก ความชัง และชะตากรรมไปพร้อม ๆ กันด้วย ซึ่งการสร้างตัวละครที่ไม่สมบูรณ์พร้อมด้วยพลอตเรื่องและปมขัดแย้งที่ไม่เคยถนอมน้ำใจตัวละครเลยสักครั้งนี่เอง กลับกลายเป็นลายเซ็นชนิดหาตัวจับยากของนักเขียนในนามปากกานี้ ที่หาอ่านได้ไม่บ่อยนักในผลงานของนักเขียนร่วมสมัยเดียวกัน ความสัมพันธ์แบบรักต้องห้ามระหว่าง แคธลีน และ เจ้าสายฟ้า จึงเป็นความขัดแย้งใหญ่ในเรื่องที่ผู้อ่านต้องติดตามลุ้นเอาใจช่วยด้วยความหนักหน่วงในหัวใจ “กระหม่อมห่วงความรู้สึกของฝ่าบาท เพราะรู้ว่าความรักต้องห้าม มันรุนแรงยิ่งกว่ารักที่สมหวังหลายเท่า ...ถ้าฝ่าบาทกับเธอเป็นชาวสยามเหมือนกัน กระหม่อมจะไม่ปริปากพูดแม้แต่คำเดียว ถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัวของคนสองคน แต่นี่..ถ้าหากว่ามันดำเนินต่อไป อาจจะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวได้ง่าย ๆ ” “มันจะก่อให้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นมาเทียวรึ” “นายทหารอังกฤษ ฝ่าบาทจะถือว่าเป็นการหมิ่นประมาทเกียรติของเขามาก ถ้าฝ่าบาทเกิดปฏิพัทธ์ภรรยาของเขา ผลเสียหายต่อพระเกียรติจะลุกลามเป็นเรื่องใหญ่โต ...” “ขอให้เบาใจ ผู้การ ชาวสยามมีเกียรติที่จะต้องรักษาไม่น้อยไปกว่าคนอังกฤษ ...ผู้ชายสยามมีภรรยาได้หลายคน ถือว่าถูกต้องตามกฎหมายและประเพณีก็จริง แต่เขาได้รับการสั่งสอนต่อๆกันมาว่า...อย่าละเมิดหญิงที่มีสามีแล้ว มันเป็นข้อห้ามหนึ่งในห้าข้อของศีลขั้นต้น ที่ทุกคนยอมรับนับถือ” (บางส่วนจากนวนิยาย บูรพา ของ ว.วินิจฉัยกุล)ว.วินิจฉัยกุล ยังคงเป็นนักเขียนที่สามารถคิดค้นรูปแบบอันถือว่าเป็น ‘นวัตกรรม’ เพื่อสร้างสรรค์นวนิยายของเธอได้อย่างแปลกใหม่และน่าสนใจอยู่เสมอ ในนวนิยายเรื่อง บูรพา ก็เช่นกัน เรื่องราวความรักต้องห้ามของ แคธลีน และ หม่อมเจ้าวิชชุประภา ก็ไม่ได้ถูกเล่าไปแบบเฉย ๆ เรื่อย ๆ อย่างในนวนิยายร่วมสมัยทั่วไป เพราะในนวนิยายเรื่องนี้ ว.วินิจฉัยกุล ได้เลือกกลวิธีการเล่าเรื่องแบบการเขียนบันทึก ผ่านมุมมองการเรียบเรียงเล่าเรื่องของ อสนี วิชชุเสนา ณ อยุธยา ลูกหลานในราชสกุลวิชชุเสนา ของ หม่อมเจ้าวิชชุประภา นั่นเองจริงอยู่ว่าการเล่าเรื่องผ่านบันทึกอาจหาอ่านได้ไม่ยาก เพราะเราอาจเคยอ่านเจอนวนิยายอีกหลายเรื่องเลือกที่จะนำเสนอเรื่องราวในรูปแบบเดียวกันนี้ แต่ความแปลกใหม่และน่าสนใจของ บูรพา มีมากกว่านั้น เพราะแทนที่ผู้เขียนจะเลือกนำเสนอเรื่องราวผ่านบันทึกของตัวละครในเรื่องเพียงอย่างเดียวแบบนวนิยายทั่วไปที่เราเคยอ่านผ่านตา ว.วินิจฉัยกุล กลับเลือกที่จะเล่าเรื่อง บูรพา ของเธอเพิ่มเติมผ่าน “เชิงอรรถ” ซึ่งสิ่งนี้เองที่ถือเป็น อนุภาค (Motive) สำคัญที่ทำให้เห็นความพยายามในการหลอมรวมระหว่าง “การสร้างเรื่องจริงให้เป็นเรื่องแต่ง” และ “การสร้างเรื่องแต่งให้เป็นเรื่องจริง” ของนักประพันธ์อาวุโสในนามปากกา ว.วินิจฉัยกุล และสิ่งเดียวกันนี่เอง ที่น่าจะเป็นปัจจัยเสริมสำคัญที่จุดประเด็นให้มีนักอ่านหลายท่านเขียนจดหมายเข้ามาถามหาตัวจริง-เรื่องจริงของตัวละครในนวนิยายกันจ้าละหวั่น ในขณะที่นวนิยายกำลังได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่เป็นตอน ๆ ลงในนิตยสารสกุลไทย ...อาร์เธอร์เขียนจดหมายส่งข่าวถึงแคธลีน ก่อนจะเดินทางมาหาเธออีกครั้งตอนปลายเดือน “ผมมีข่าวดี คราวนี้ผมตัดสินใจว่าจะไม่กลับไปอินเดียอีกแล้ว เพราะมีกำหนดจะไปทำงานในพระราชอาณาจักรสยาม นายทหารคนหนึ่งชื่อร้อยเอกโธมัส นอกซ์ (—แทรกเชิงอรรถ—) ลาออกจากราชการทหารแล้ว...” [—แล้ว ว.วินิจฉัยกุล ก็เลือกนำเสนอแทรกเป็นเชิงอรรถอธิบายด้วยตัวอักษรขนาดเล็กกว่าใต้หน้ากระดาษว่า--] ‘ร้อยเอกโธมัส นอกซ์ ที่ว่านี้ ผมไปค้นคว้าได้ความมาว่า ในตอนต้นรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจ้างมาเป็นครูฝึกหัดทหารวังหน้า ต่อมาคือกงสุลเยเนอรัลของอังกฤษในกรุงเทพฯ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์จากอังกฤษ เป็นเซอร์โธมัส นอกซ์ – อสนี’ “ท่านพ่อเสด็จไปกับเออร์เนสต์ครับ เห็นว่าจะไปเฝ้าเจ้าชายอัครราชทูตที่ลอนดอน (—แทรกเชิงอรรถ—) กว่าจะกลับมาถึงนี่ก็คงดึก” [—แล้ว ว.วินิจฉัยกุล ก็เลือกนำเสนอแทรกเป็นเชิงอรรถอธิบายด้วยตัวอักษรขนาดเล็กกว่าใต้หน้ากระดาษว่า--] ‘ผมเข้าใจว่าในค.ศ.๑๘๘๒-๑๘๘๓ จัสตินหมายถึงพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ อัครราชทูตพระองค์แรก ต่อมาทรงย้ายไปเป็นอัครราชทูตประจำประเทศฝรั่งเศส อัครราชทูตไทยประจำอังกฤษพระองค์ต่อมาคือพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร กรมพระนเรศวรฤทธิ์ – อสนี’โดยผู้อ่านจะสามารถพบ ‘เชิงอรรถ’ เหล่านี้ได้เป็นช่วง ๆ ตลอดทั้งเล่มของนวนิยายเลยทีเดียวนอกจาก บูรพา จะสอดแทรกไปด้วยเกร็ดความรู้ทั้งทางประวัติศาสตร์ ทั้งทางด้านพระราชพิธี พระมหากษัตริย์ การล่าอาณานิคมของตะวันตก การส่งทูตไปต่างแดน และสะท้อนเรื่องราวและวิถีปฏิบัติของคนไทยในสังคมยุคสมัยรัชกาลที่ ๔ แล้ว นวนิยายเรื่องนี้ยังสอดแทรกวาทะคำคมของบุคคลที่มีชื่อเสียงอีกหลายท่านเอาไว้ได้อย่างเหมาะสมและแนบเนียน ที่ไม่สามารถจะเรียกว่าเป็นการยัดเยียดได้เลย เพราะ ว.วินิจฉัยกุล ได้จัดวางอนุภาคของวาทะคำคมเหล่านั้นเอาไว้ได้อย่างลงตัวทุกครั้งที่เธอเลือกสรรนำมาใช้ " ถ้าเจ้าสายฟ้าใจตรงกับฉัน จำนวนปีในชีวิตหาได้มีความหมายไม่ แต่ชีวิตในจำนวนปีที่คุณอยู่อย่างมีความหมายนั่นต่างหาก เป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงมากกว่า " - วาทะของอับราฮัม ลินคอล์น สมัยเจมส์ เบอร์เนตต์ ยังมีชีวิตอยู่ เขามักจะพูดว่า “ไม่ว่าตะวันออกหรือตะวันตก บ้านนับว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุด” – East or West , Home is Best.ถึงแม้ บูรพา จะเป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์การันตีด้วยรางวัลระดับชาติจากปลายปากกาของประพันธกรอาวุโสชั้นครูระดับศิลปินแห่งชาติที่แวดวงนักอ่านรู้จักดี แต่ บูรพา กลับเป็นนวนิยายที่หาคนเขียนบทวิจารณ์ไว้น้อยมาก ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่า บูรพา เป็นนวนิยายที่หุ้มนัยประเด็นเอาไว้หลายชั้นหลายเปลาะมาก และแต่ละเปลาะก็เชื่อมโยงกันไว้ได้หมดอย่างเป็นเอกภาพ จนไม่รู้ว่าจะเริ่มแกะที่เปลาะประเด็นไหนก่อนดี ไม่ว่าจะเป็นด้านประวัติศาสตร์การเมืองที่ต้องยอมรับว่าผู้ประพันธ์ ‘ทำการบ้าน’ มาดีมาก ทั้งประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของทางฝั่งอังกฤษและทางฝั่งสยาม ประเด็นของความรักต้องห้ามระหว่างตัวละครเอก คือ แคธรีนและหม่อมเจ้าวิชชุประภา ซึ่งถือว่าเป็นความรักต้องห้ามยิ่งกว่าโรมิโอจูเลียตเสียอีก เพราะมันไม่ใช่เรื่องราวรักต้องห้ามระหว่างวงศ์ตระกูลเท่านั้น หากแต่เป็นความรักต้องห้ามระหว่างประเทศสยามและอังกฤษกันเลยทีเดียวนอกจากประเด็นที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้นแล้ว ก็ยังมีประเด็นทางด้านสตรีนิยมในยุคปิตาธิปไตยแบบเต็มขั้นที่เจ้านายในระดับสูงสามารถมีเมียได้หลายคนได้โดยชอบธรรมตามธรรมเนียมนิยม เป็นต้น ซึ่งในประเด็นท้ายสุดนี่เอง ที่ผู้ประพันธ์ได้พาผู้อ่านไปทำความรู้จักตัวละครฝ่ายหญิงที่ตรงข้ามกันสุดโต่งอีกสองตัว นอกเหนือไปจากผู้หญิงที่เลือกจะหันหลังให้กับ ‘ระบบประเพณี’ อย่างแคธลีน นั่นก็คือผู้หญิงที่ท้าทายระบบวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ ฝ่าฝืนแทบทุกวิถีจารีตเพื่อเหนี่ยวรั้งความสุขของตัวเองเอาไว้ได้อย่าง ชาร์ล็อต พาล์มเมอร์ และผู้หญิงไทยหัวเก่าที่ยอมสวามิภักดิ์ตนอยู่ในขนบโอวาทและประเพณีแม้ว่าตนเองจะไม่มีความสุขในชีวิตเลยอย่าง แม่บัว ซึ่งเป็นผู้หญิงอีกคนหนึ่งที่ครอบครัวของเจ้าสายฟ้าผลักส่งเข้ามาแทรกในความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าสายฟ้าและแคธลีน “สำหรับแม่บัว อย่าลืมว่าฉันรู้จักแม่บัวก่อนคุณเสียอีก หล่อนเป็นคนดีในสายตาของฉัน เป็นผู้หญิงเกิดมาเพื่อปลูกฝังความรับผิดชอบไม่มีที่สิ้นสุดจนความปรารถนาและความคิดเห็นส่วนตัวของหล่อนกลายเป็นสิ่งต้องห้าม หล่อนเรียกความรับผิดชอบต่อความประสงค์ของพ่อแม่และคุณจอมคลี่ว่าความกตัญญู หล่อนเรียกความรับผิดชอบต่อสามีว่าความซื่อสัตย์จงรักภักดี ฉันเชื่อว่าแม่บัวจะเรียกความรับผิดชอบต่อลูกของคุณว่าความรักซึ่งไม่อาจพรากจากันได้ หล่อนจะไม่ยอมดำเนินชีวิตตามความปรารถนาส่วนตัวซึ่งรวมทั้งการมีสามีใหม่ ตราบใดที่ความรับผิดชอบเหล่านี้ยังไม่สิ้นสุดลง” (บางส่วนจากนวนิยาย บูรพา ของ ว.วินิจฉัยกุล)ในบรรดาตัวละครฝ่ายหญิงทั้งสามตัว คือ แคธลีน ชาร์ล็อต และแม่บัวนั้น แม่บัวก็ภักดีกับประเพณีแบบเสมอต้น ส่วนชาร์ล็อตก็จงรักในการเป็นขบถต่อวิถีจารีตแบบเสมอปลาย แคธลีนจึงน่าจะเป็นตัวละครที่มองเห็นพัฒนาการของตัวละครได้ชัดเจนที่สุด ดังจดหมายฉบับหนึ่งที่แคธลีนได้เขียนถึงจัสติน ในใจความสำคัญที่ว่า “ฉันใช้หัวใจรักคุณ ‘มากเกินไป’ จนเป็นผลร้ายแก่ตัวฉัน ...ฉันไม่คิดว่าชีวิตฉันจะมีความสุขขึ้นกว่าเก่า แต่ฉันจะไม่ทุกข์มากกว่าเท่าเก่า ความระทมทุกข์ที่สูญเสียคุณ เป็นความทุกข์จนถึงที่สุดของฉัน ฉันไม่มีหัวใจไว้สำหรับความเจ็บปวดอื่นนอกไปจากนี้ แต่ฉันจะมีสมองเอาไว้ดำเนินชีวิตต่อไปอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในชีวิตที่ปราศจากสามีสุดที่รัก” (บางส่วนจากนวนิยาย บูรพา ของ ว.วินิจฉัยกุล)ว.วินิจฉัยกุล ทำให้ผู้อ่านได้ทบทวนและตั้งคำถามในระหว่างบรรทัดของตัวบทนวนิยาย ไปพร้อม ๆ กับที่แคธลีนทำให้เจ้าสายฟ้าได้ทบทวนและตั้งคำถามในระหว่างบรรทัดของตัวบทจดหมาย ...ฉันใช้หัวใจรักคุณ ‘มากเกินไป’ จนเป็นผลร้ายแก่ตัวฉัน ...มีด้วยหรือ...ความรักที่ ‘มากเกินไป’ มันน่าจะมีเพียงแค่ ‘รักมากที่สุด’ เท่านั้นต่างหาก ไม่มีคำว่าน้อยเกินไปหรือมากเกินไป ถ้ารักน้อยเกินไปก็คือไม่รัก แล้วความรักมากเกินไปจะเรียกว่าอะไร ... เรียกว่าไม่รักได้อีกเช่นกันหรือไม่ (บางส่วนจากนวนิยาย บูรพา ของ ว.วินิจฉัยกุล)ใช่แล้ว ว.วินิจฉัยกุล ไม่ได้ตอบคำถามไว้ตรง ๆ ในตัวบทนิยาย เจ้าสายฟ้าเองก็เช่นกัน ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าคนที่จะตอบคำถามนี้ได้ดีที่สุด ก็คือผู้อ่านนั่นเอง ตอบ — โดยการใช้ข้อมูลจากประสบการณ์ชีวิตของตนเอง ซึ่งการตั้งคำถามที่แยบยลเช่นนี้ อาจนับได้ว่าเป็นหน้าที่ที่สำคัญอีกหน้าที่ของนวนิยายชีวิตชั้นดีที่เราจะหาอ่านได้ไม่บ่อยนักภาพประกอบ โดย ก.ไกรศิรกานท์