รีเซต

[รีวิวหนัง] "The Holdovers" หนังฟีลกู้ดใจฟู หม่นอุ่นตา ฮาอิ่มใจ (เสียดายที่ไม่ได้ดูตอนคริสต์มาส)

[รีวิวหนัง] "The Holdovers" หนังฟีลกู้ดใจฟู หม่นอุ่นตา ฮาอิ่มใจ (เสียดายที่ไม่ได้ดูตอนคริสต์มาส)
แบไต๋
21 กุมภาพันธ์ 2567 ( 16:00 )
214

ถ้าใครที่ติดตามข่าวบันเทิงฮอลลีวูด และติดตามข่าวการประกาศรางวัลที่มักจะมะรุมมะตุ้มกันแถว ๆ ช่วงต้นปี ก็น่าจะคุ้นชื่อกับหนังเล็ก ๆ ชื่อไม่คุ้นอย่าง ‘The Holdovers’ ที่มักจะมีชื่อเข้าชิง แต่ที่น่าทึ่งก็คือมักจะมีชื่อได้รับรางวัลจากเวทีโน้นเวทีนี้อยู่เรื่อย ๆ เรียกว่าสูสีตีคู่ เป็นหนังอีกเรื่องที่น่าจับตามองของปี 2023 ที่มีหนังเยอะโคตร ๆ เลยทีเดียว เพราะหนังเรื่องนี้เดินสายกวาดรางวัลมาเพียบ ตั้งแต่รางวัลลูกโลกทองคำ, รางวัล Critics’ Choice Movie Awards, รางวัล BAFTA และล่าสุดก็คือ มีชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 5 สาขา รวมทั้งสาขาใหญ่อย่างภาพยนตร์ยอดเยี่ยมด้วย

หนังเรื่องนี้กำกับโดย อเล็กซานเดอร์ เพย์น (Alexander Payne) ผู้กำกับที่สร้างชื่อจากหนังตลกรสหม่น ที่มักจะเอาความตลกมาเคลือบธีมความหม่น หรือประเด็นเครียด ๆ จนกลายเป็นงานถนัด งานดัง ๆ ของเขาก็มีทั้ง ‘About Schmidt’ (2003) หรือ ‘Sideways’ (2004) ที่ร่วมงานครั้งแรกกับลุงจิอาแมตติ หรือที่คนไทยคุ้นก็คือ หนังตลกไซไฟ ‘Downsizing’ (2017) ที่เอาคนมาย่อส่วนเรื่องนั้นแหละ ตัวหนังโดนวิจารณ์เยอะอยู่ เพย์นก็เลยเฟดตัวหายไปนานมาก ก่อนจะกลับมาพร้อมกับหนังฟีลกู้ดฟอร์มเล็กเรื่องนี้ โดย Focus Features ทุ่มทุน 30 ล้านเหรียญคว้าสิทธิ์มาฉายตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว ส่วนในไทยก็เพิ่งจะได้ดูต้อนรับออสการ์กันตอนนี้นี่แหละ

เรื่องราวของ ‘The Holdovers’ เกิดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม ปี 1970 ในโรงเรียนประจำชายล้วนที่มีชื่อว่า บาร์ตัน อะคาเดมี (Barton Academy) ศาสตราจารย์ พอล ฮันแนม (พอล จิอาแมตติ – Paul Giamatti) ครูสอนวิชาประวัติศาสตร์โบราณจอมฉุนเฉียว เข้มงวด เถรตรงขั้นสุดชนิดที่ทั้งครูและนักเรียนต่างก็หมั่นไส้ แต่ดันไม่มีครอบครัวให้กลับไปเยี่ยม เลยต้องอยู่เวรเฝ้าโรงเรียนในช่วงเทศกาลคริสต์มาสในช่วงปิดการศึกษาที่ทุกคนต่างกลับไปเยี่ยมบ้านกันหมด

แต่นั่นไม่ใช่แค่เขาคนเดียว แต่เขายังต้องควบคุมนักเรียน แองกัส ทัลลี (โดมินิก เซสซา – Dominic Sessa) วัย 15 ปี เด็กหนุ่มหัวขบถเรียนดี ที่ไม่ได้กลับบ้านเหมือนนักเรียนคนอื่นเพราะครอบครัวที่แตกสลาย รวมทั้ง แมรี แลมบ์ (ดาไวน์ จอย แรนดอล์ฟ – Da’Vine Joy Randolph) หัวหน้าแม่ครัวโรงอาหารที่กำลังอยู่ในช่วงเวลาเจ็บปวดหลังสูญเสียลูกชายไปในสงครามเวียดนาม คนเหงา ๆ 3 คนเลยต้องเผชิญกับความหนาวและความโดดเดี่ยวไปด้วยกันนานถึง 2 สัปดาห์

แม้หนังเรื่องนี้จะดูเป็นหนังอินดี้หนาว ๆ เหงา ๆ ที่อาจจะไม่ได้ดูจี๊ดจ๊าดหวือหวาเหมือนกับ ‘Downsizing’ ตรงข้าม มันเป็นหนังที่มีพล็อตง่าย ๆ ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนเลยครับ มันคือเรื่องราวของคน 3 คน ที่ต้องมาติดแหง็กอยู่ด้วยกัน คนหนึ่งไม่มีที่ให้กลับตั้งแต่แรกอยู่แล้ว คนหนึ่งไม่มีใครอยากให้กลับ ในขณะที่อีกคนหนึ่งไม่อยากกลับเพราะไม่เหลือใคร สิ่งที่ตัวหนังฉลาดในการนำพาให้เราติดตามทั้ง 3 คนไปตลอดรอดฝั่ง ทั้ง ๆ ที่ตอนเปิดเรื่องเราก็จะได้รู้จักพวกเขาแบบเผิน ๆ ก่อนจะลากคนดูไปสำรวจชีวิตเบื้องลึกและอดีตของตัวละครแต่ละตัวที่ก่อให้พวกเขาคิดและเป็นแบบนั้น

นอกจากการใช้ชีวิตเหงา ๆ เอาตัวรอดจากโรงเรียนที่ไม่ต่างจากการถูกลงโทษในค่ายทหาร ครูและนักเรียนที่ไม่กินเส้นกันแต่ต้องมาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน ในขณะที่คนกลาง (แมรี) ก็ต้องใช้ชีวิตไปแบบแกน ๆ แล้ว ตัวหนังยังเผยให้เห็นสิ่งที่ทั้ง 3 คนมีร่วมกัน นั่นก็คือ พวกเขาไม่ได้ติดแหง็กแค่ในอาณาเขตหรือระบบระเบียบของโรงเรียน (หรือครูฮันแนม) แต่พวกเขายังติดอยู่ในกรงที่เรียกว่าความสิ้นหวัง จากความผิดหวังในอดีตที่ควบคุมชีวิตของพวกเขาอยู่

การติดแหง็กอยู่ในชีวิตที่แตกสลายและหนาวเหน็บยิ่งกว่าหิมะ การเผชิญความโดดเดี่ยวในช่วงเวลาแห่งครอบครัว ก่อนที่พวกเขาจะได้เจอกับสถานการณ์ที่ทำให้พวกเขาเรียนรู้ในบางสิ่งบางอย่าง และกล้าที่จะออกไปเผชิญกับโลก ระยะห่างระหว่างผู้คน และการเริ่มต้นใหม่ในโลกภายนอก ที่เผลอ ๆ พวกเขาน่าจะกลัวยิ่งกว่าคริสต์มาส ความเหงา และการถูกขังในโรงเรียนซะอีก

แต่แม้ว่าเรื่องราวมันจะง่าย ๆ กันแบบนั้น แต่สิ่งที่หนังเรื่องนี้ทำได้อย่างน่ารักก็คือ การผสมผสานบทกับ Conflict ที่เล่าสถานการณ์ง่าย ๆ เดินเรื่องเรื่อย ๆ ได้ออกมาลงตัว ใช้ส่วนผสมของความหม่นเทาของชีวิต เข้ามาผสมกับจังหวะตลกนรกได้อย่างลงตัวมาก ซึ่งถือเป็นงานถนัดของผู้กำกับเขาแหละ คือไม่ต้องแปลกใจว่าเวลาดูหนังเรื่องนี้แล้วขำกับมุกง่าย ๆ โง่ ๆ ที่ดันได้ผลเฉย แล้วหลังจากนั้นก็น้ำตาซึมให้กับความหม่นหมองของตัวละครในอีกไม่กี่อึดใจได้ง่าย ๆ เช่นกัน แม้ว่าพล็อตมันจะไม่ได้เศร้าแบบพังตับก็ตาม คือถ้าใครชอบดูหนังฟีลกู้ดง่าย ๆ ครบรส อุ่นใจ หัวเราะร่าน้ำตารื้น เล่าเรื่องของชีวิตคนเล็ก ๆ สะท้อนคุณค่าของมนุษย์ คั่นด้วยสถานการณ์เปิ่น ๆ ฟีลหนังฮอลลีวูดยุคก่อนปี 2000 (ที่หายไปจากฮอลลีวูดนานมาก ๆ ) ก็น่าจะชอบหนังเรื่องนี้ได้ไม่ยากเลยครับ

เรื่องราวที่น่ารักก็ส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของหนังเรื่องนี้ก็คือ ด้วยความที่แบ็กกราวน์ของเรื่องราวในหนังมันเล่าคาบเกี่ยวช่วงปลายปี 1970 กับต้นปี 1971 สิ่งที่ตัวหนังทำก็คือการนำเสนอผ่านฟอร์มของหนังยุค 70s ครับ ไล่ไปตั้งแต่โลโก้สตูดิโอหน้งที่ถูกเปลี่ยนให้ตรงยุค การย้อมภาพให้มีความเป็น Film Look แม้แต่ไวยากรณ์ที่ให้อารมณ์แบบหนังยุค 70s ทั้งการออกแบบมุมกล้อง การฟรีซภาพ การแพน การเคลื่อนกล้อง การใช้ Transition ทั้งการ Dissolve การ Wipe และการซูมเปลี่ยนระยะภาพ หรือแม้แต่การหยอดเพลงประกอบที่เข้ากับโทนของแต่ละซีนเอาไว้เป็นเบื้องหลังได้อย่างไพเราะ ถ้าใครชอบดูหนังยุคนั้นก็จะร้องอ๋อเลย

แต่เหนือสิ่งอื่นใด การเลียนแบบหนังยุคนั้น ไม่ใช่แค่เพียงการเลียนแบบหรืออุปโลกน์ยุค 70s ขึ้นมาให้ดูเท่หรือตรงยุคเพียงเท่านั้น เพราะสิ่งที่ผู้กำกับต้องการนำเสนอก็คือ การนำเสนออารมณ์และบรรยากาศของยุค 70s ออกมาผ่านหนังครับ เพราะแม้ว่ายุคนี้จะถือเป็นยุครุ่งเรืองอีกยุคของฮอลลีวูด แต่มันก็เต็มไปด้วยความหม่นหมองเจ็บปวดจากภาวะสงคราม ทั้ง 3 คนคือตัวละครพัง ๆ ครูฮันแนมเป็นเหมือนตัวแทนของครูปากร้าย ใจร้าย และเชยสะบัด ท่ามกลางระบบการศึกษาอันคดงอ ทัลลีคือตัวแทนของวัยรุ่นที่มีปัญหาจากภายในใจจากความไร้ตัวตนที่ไม่ได้รับการแก้ไข แมรีคือตัวละครที่ไม่เคยก้าวล่วงความสูญเสียที่ไม่ทันตั้งรับได้พ้น ทั้ง 3 คนจึงเป็นเหมือน Underdog ที่ต้องเผชิญและมีชีวิตยืนหยัดอยู่ท่ามกลางกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงของสังคม ค่านิยม คุณธรรมในยุคสมัยเหล่านั้นนั่นเอง

อีกองค์ประกอบที่ทำให้หนังเรื่องนี้สมบูรณ์แบบก็คือการแสดงครับ แน่นอนว่าต้องเป็นการแสดงของ 3 นักแสดงหลักที่คอยขับเคลื่อนหนังไปได้อย่างไหลลื่น มีมิติเข้าถึง แม้ตัวละครจะมีความไม่น่ารักบางอย่าง แต่พวกเขาก็น่ารักมาก ๆ สำหรับคนดู เอาที่แน่ ๆ เลยก็คือ 2 นักแสดงที่กำลังเดินสายกวาดรางวัล และกำลังรอคิวลุ้นออสการ์ ทั้งน้าจิอาแมตติ ที่รับบทเป็นครูฮันแนมจอมเฮี้ยบแบบสไตล์เล่นใหญ่ได้ออกมากลมมาก สะท้อนความเป็นมนุษย์จอมโหดเจ้าระเบียบที่มีความตลก มีความเรื้อน ความเศร้า หรือแม้แต่ความหวังดีต่อศิษย์ ที่อาจทำให้ใครต้องหลั่งน้ำตาตอนท้ายเรื่อง

อีกคนที่เรียกว่าตอนนี้เป็นเต็ง 1 นักแสดงสมทบหญิง (แบบไม่มีเต็ง 2 แล้วตอนนี้) ก็คือ จอย แรนดอล์ฟ นักแสดงตลกและละครเวที ที่เฉียบขาดในการรับบทแม่ครัวที่มีความเท่ ความฮา แต่ก็มีความหม่นเศร้าในฐานะแม่จนเรียกน้ำตาจากผู้เขียนได้ไม่ยาก คือไม่แปลกใจแล้วว่าทำไม 2 คนนี้ถึงคว้ารางวัลเวทีโน่นนี่มาได้ และรางวัลออสการ์ของเธอก็น่าจะไม่เกินจริงนัก ส่วนอีกคนที่น่าทึ่งก็คือ เซสซา นักแสดงหนุ่มหน้าใหม่ ซึ่งก็ไม่น่าเชื่ออีกว่าเขาจะถ่ายทอดความเป็นเด็กขบถที่ถูกครอบครัวเหินห่างได้อย่างน่าสนใจและกินใจไม่น้อย แม้นี่จะเป็นผลงานการแสดงชิ้นแรกสุด แต่ก็เรียกได้ว่ามีแววน่าเอาใจช่วยทีเดียว หวังว่าฮอลลีวูดจะให้โอกาสเขาสั่งสมประสบการณ์ไปได้เรื่อย ๆ นะ

การเข้าชิง 5 รางวัลออสการ์ อาจเป็นเหตุผลที่ดีที่ทำให้หนังเรื่องนี้น่าดู ซึ่งก็ไม่ผิดอะไร แต่เหตุผลที่ผู้เขียนอยากแนะนำให้ไปดูหนังเรื่องนี้ เพราะนี่คือหนังคุณภาพที่ไม่ควรถูกละเลยจริง ๆ ครับ มันเป็นหนังในแบบที่ฮอลลีวูดลืมไปนานมากแล้ว และตัวหนังก็ไม่ได้ดูยากอะไรเลย (ถ้าไม่ติดว่า Dissolve เยอะจนอาจรู้สึกว่าหนังอืดนะ)

แต่ทั้งหมดทั้งมวล นี่คือหนังหน่วง ๆ หม่น ๆ ที่ดูแล้วอาจจะรู้สึกอุ่น ๆ ในตา ในขณะเดียวกัน มุกฮา และสารดี ๆ ในหนังก็ฮีลให้ยิ้มหัวเราะได้อย่างอบอุ่นหัวใจ การแสดงที่น่ารัก ที่น่าจะเยียวยาหัวใจแฟบ ๆ ให้กลับมาใจฟูได้อีกครั้ง และก็น่าจะกลายเป็นหนังคริสต์มาส หรือหนังครู-ลูกศิษย์ที่คลาสสิกในอนาคตที่หยิบมาดูซ้ำได้เรื่อย ๆ เหมือนกัน ความเสียดายเดียวของผู้เขียนที่มีต่อหนังเรื่องนี้ก็คือไม่ได้ดูตอนคริสต์มาส (แต่ถ้าเหงา ๆ โดดเดี่ยว แล้วต้องมาดูหนังเรื่องนี้ตอนคริสต์มาส ก็น่าจะตับพังอยู่นะ)


‘The Holdovers หนาวนี้ไม่ไร้ไออุ่น’ เข้าฉาย 22 กุมภาพันธ์นี้ เฉพาะที่โรงภาพยนตร์ House Samyan