“พิมพ์ด้วย soy Ink หมึกปลอดสารพิษ ไม่ใช้ระบบเคลือบปกเพื่อร่วมกันดูแลโลก” เป็นข้อความที่แสดงถึงเจตนารมณ์ในการทำหนังสือดี ๆ สำหรับเด็ก ๆ ที่จะเป็นผู้ดูแลโลกใบนี้ต่อไป ซึ่งเราจะไม่ค่อยได้เจอในหนังสือทั่วไปที่พิมพ์จำหน่ายในเชิงการตลาดหนังสือเล่มนี้ภาพประกอบสวยครับ แสดงให้เห็นว่า ผู้จัดทำได้ตระหนักถึงความเป็นสากลของมนุษยชาติในการให้มาเป็นแนวร่วมสำคัญในการช่วยปลดล็อกครั้งนี้ นอกจากนั้นข้อความที่ปกหลัง ยิ่งทำให้หนังสือเล่มนี้น่าสนใจมากขึ้นไปอีก เพราะเขาเขียนว่า “มอบความสุขทุกครั้งด้วยหนังสือ” แค่ได้ถือไว้ในมือ ผมว่าก็มีความสุขแล้วหล่ะ ถ้าหากได้อ่านเนื้อหาด้านในจะเกิดสุขภาวะทางจิตวิญญาณยังไง มาดูกันต่อครับหนังสือเริ่มต้นด้วยการพูดถึงงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่บอกว่า พัฒนาการของเด็กไทยล่าช้าด้านภาษามากที่สุดร้อยละ 21 และเชื่อมโยงถึงคุณค่าระยะยาวของการอ่านหนังสือที่เด็กปฐมวัยควรอ่าน รวมถึงพฤติกรรมของเด็กผู้ชายที่ไม่ได้เห็นพ่อกับผู้ชายคนอื่นอ่านหนังสือ อาจจะเกิดความเชื่อว่า การอ่านหนังสือนั้นเป็นกิจกรรมเฉพาะของเด็กผู้หญิงต่อจากนั้น ผู้เขียนได้กล่าวถึงประโยชน์ของการอ่านหนังสือหลายอย่าง เช่น ช่วยสร้างความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับประเด็นหรือหัวข้อต่าง ๆ ทำให้รู้จักและเข้าใจคำศัพท์ ช่วยให้คุ้นเคยกับรูปแบบภาษา สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างของเรื่องราว ช่วยให้เด็กคุ้นเคยกับกระบวนการอ่าน ดังนั้น การจัดกิจกรรมที่ทำให้เกิดการอ่านหนังสือให้เด็กฟัง จะช่วยสร้างคำศัพท์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลกว่าการคุยให้ฟังอย่างเดียว แล้วก็จะมีประสิทธิผลมากขึ้น หากมีกิจกรรมพูดคุยแบบมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กที่ฟังอยู่หนังสือเล่มนี้ยังได้กล่าวถึง พัฒนาการของเด็กจะมี 2 ส่วน คือ การรับรู้เข้าใจภาษาและการแสดงออกทางกาย ซึ่งเป็นเรื่องที่เราไม่ค่อยรู้และไม่ค่อยระวัง จึงทำให้เราสูญเสียโอกาสในการพัฒนาเด็ก นั่นคือ เด็กในช่วง 0-3 ปี สมองจะพัฒนาเร็วกว่าช่วงอื่น ๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องส่งเสริมให้มีการอ่านหนังสือช่วงนี้ ถ้าเด็กไม่ได้รับการกระตุ้น ไม่ได้รับการอ่านหนังสือให้ฟัง ไม่ได้มีกิจกรรมร่วมกับหนังสือ ไม่ได้ถูกตั้งคำถาม สมองเด็กจะฝ่อโดยปริยาย พ่อแม่และผู้ใหญ่จึงควรอ่านหนังสือให้ลูกฟัง ร้องเพลงร่วมกับลูก ชวนพูดชวนคุย นี่เป็นการเตรียมพร้อมให้คนรุ่นใหม่ให้ประสบความสำเร็จในการเรียนต่อไปได้ เพราะช่วงปฐมวัยเป็นคือโอกาสทอง องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ก็บอกอย่างนั้น จึงไม่มีคำว่าเร็วเกินไปในการให้เด็กได้เรียนรู้เพราะเขามีพัฒนาการมากกว่าที่เราคิด เด็กที่มีทักษะภาษาพูดที่แข็งแรง จะมีทักษะการอ่านและการเขียนที่แข็งแรงด้วย ในทางตรงกันข้ามเด็กที่มีปัญหาด้านการพูด จะมีปัญหาต่อการอ่านและการเขียนสูงเช่นกันช่วงสุดท้าย ผู้เขียนได้แนะนำให้อ่านหนังสือตามลำดับขั้นบันไดของการเรียนรู้สำหรับเด็ก คือ พ่อแม่ควรใช้หนังสือที่เหมาะสมในการอ่านของเด็กแต่ละช่วงวัย ตั้งแต่หนังสืออ่านระดับต้น ระดับกลางและระดับขั้นสูง แต่ละระดับมีความยากง่ายของภาษาและโครงเรื่องรวมถึงกระบวนคิดต่างกัน อย่างไรก็ตาม การอ่านจะสำคัญและมีประโยชน์มากก็ต่อเมื่อมีการเขียนด้วย และการอ่านการเขียนในช่วงวัยรุ่นนี่แหละคือดัชนีชี้อนาคตของเขา เพราะทั้งสองส่วนเกื้อกูลเกี่ยวสัมพันธ์กันสามารถนำไปใช้ได้ตลอดชีวิตไม่ใช่เป็นแค่สะพานให้เด็กก้าวหน้าด้านความรู้จากระดับหนึ่งไปอีกระดับหนึ่งเท่านั้นบทสรุปของเนื้อหาผมเห็นว่า หนังสือเล่มนี้เป็นเหมือนแผนที่ลายแทง เนื้อหาข้างในส่วนใหญ่ก็จะพูดถึงพัฒนาการของเด็ก แล้วก็เทคนิคการสื่อสารกับเด็กด้วยหนังสือ แม้จะมีเนื้อหาเป็นวิชาการอยู่ระดับหนึ่ง แต่ก็ด้วยการเรียงลำดับขั้นตอนและตัวหนังสือทำให้อ่านง่ายขึ้น พร้อมกับภาพประกอบที่ทำให้รู้ได้ทันทีว่าหนังสือต้องการพูดเรื่องอะไร ดังนั้น หนังสือเล่มนี้จึงเหมาะกับพ่อแม่รุ่นใหม่ คนที่ทำงานด้านเด็กแล้วก็คนที่สนใจเรื่องการพัฒนาการของเด็กอย่างมาก เพราะขุนทรัพย์ที่มีค่ามหาศาลแท้จริงนั้นไม่ได้อยู่ที่ขอบฟ้า ท้องทะเลหรือถ้ำลึก แต่อยู่ในตัวเด็ก ๆ ที่เป็นอนาคตของเรานี่เอง ชื่อหนังสือ : ปลดล็อกวิกฤตพัฒนาการเด็กปฐมวัยด้วยการอ่านพิมพ์ : ครั้งที่ 1 พฤษภาคม 2561 จำนวน 2,000 เล่ม จำนวน 94 หน้าเขียนและเรียบเรียง : ถิรนันท์ อนวัชศิริวงศ์และพิรุณ อนวัชศิริวงศ์จัดพิมพ์โดย : แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน บริหารงานโดยมูลนิธิวัฒนธรรมการอ่านสนใจดูเพิ่มเติมได้ที่ : เว็บไซต์ happyreading.in.thภาพปกและภาพประกอบที่ 1 กับ 2 ถ่ายโดยผู้เขียนภาพที่ 3 ขอบคุณภาพโดย Alexas_Fotos จาก Pixabayภาพที่ 4 ขอบคุณภาพโดย Mystic Art Design จาก Pixabay