ภาพ: ผู้เขียนสำนักพิมพ์: Salmon books / ผู้เขียน: ธนชาติ ศิริภัทราชัย / พิมพ์ครั้งแรก: มีนาคม 2560ผมติดตามผลงานของคุณธนชาติ ศิริภัทราชัย มาตั้งแต่การเป็นนักเขียนที่แจ้งเกิดตั้งแต่หนังสือเล่มแรกของเขาอย่าง ‘New York 1st times นิวยอร์กตอนแรกๆ…’ และผลงานหนังสืออีกมากมายเกือบสิบเล่มที่ตีพิมพ์กับ Salmon books และผลงานวิดีโอของเขาจากอาชีพผู้กำกับโฆษณาแห่ง Salmon houseโฆษณาหลายชิ้นกับหนังสือหลายเล่มในเครือแซลมอน มีความน่าประทับใจ และสร้างรอยยิ้มให้กับผมอยู่บ่อยๆ แต่ก็มีบางผลงานที่ผมไม่ชอบ ด้วยเนื้อหาที่บางทีรู้สึกว่าธรรมดาเกินไป (แล้วแต่คน ไม่ใช่มันไม่ดี) และมีหนังสือบางเล่มที่ผมรู้สึกว่า มันถูกผลิตออกมาอย่างไม่ประณีต หนึ่งในนั้นคือ Full-time director, Part-time loserภาพ: ผู้เขียนเมื่อสามปีที่แล้ว ตอนได้ข่าวแซลมอนกำลังจะออกหนังสือใหม่ของคุณธนชาติ เมื่อทราบว่าจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับประสบการณ์การเป็นผู้กำกับโฆษณาของเขา ผมตั้งตารอคอยที่จะไปซื้อที่งานหนังสือ-สถานที่ที่หนังสือเริ่มวางเป็นแห่งแรก ด้วยเครดิตผลงานชิ้นก่อนๆ ของเจ้าตัวเอง และเนื้อหาของเล่มใหม่ที่สอดคล้องกับความสนใจของผมอยู่แล้ว แต่จำได้แม่นว่าหนังสือมาวางที่บูธไม่ทันวันแรกในงาน กว่าจะมาก็ช่วงกลางๆ ของการจัดงานแล้ว ผมก็ไปซื้อมาที่งานนั้น และอ่านจบเป็นเล่มแรกในบรรดาหนังสือทั้งหมดที่ซื้อมาจากงานคุณธนชาติเขียนเล่าการเป็นผู้กำกับแบบ ‘เต็มเวลา’ และการเป็นคนขี้แพ้ในช่วง ‘งานพิเศษ’ (พอพยายามแปลชื่อหนังสือเป็นภาษาไทยแล้วรู้สึกแปลกๆ) เริ่มตั้งแต่การเป็นผู้ช่วยผู้กำกับหนังอิสระเรื่อง ‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’ (หนังไทยเรื่องแรกและเรื่องเดียวที่เคยได้รับรางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลหนังเมืองคานส์) การไปเรียนต่อปริญญาโทในด้านภาพยนตร์ที่นิวยอร์ก มาจนถึงชีวิตการเป็นผู้กำกับโฆษณาที่เมืองไทย จากปีแรกจนถึงปีนี้ กินระยะเวลามากว่า 10 ปีแล้ว เขาได้สะท้อนเรื่องจริงในการทำโฆษณา เรื่องดีๆ ร้อยแปดพันเก้า กับเรื่องเศร้าๆ ปัญหาพันเก้าร้อยแปด นำมาเล่าให้สนุกได้ตามมาตรฐาน การอำและความขี้เล่น ตลกขบขันตามสไตล์ของเขาภาพ: ผู้เขียนหนึ่งในผลงานที่เขานำเบื้องหลังมาถ่ายทอดในเล่มนี้และผมชอบมาก คือ MV เพลงมนุษย์ลืม ของแสตมป์-อภิวัชร์ เพราะมีผ้าป่านเล่น…จบ แค่นั้นเลย ไม่ใช่! ผมชอบไอเดียเรื่องพิพิธภัณฑ์ที่ให้คนส่งข้าวของจากแฟนเก่าที่ไม่ใช้แล้วเข้ามาจัดโชว์ (คล้ายกับไอเดียของหนังสือวรรณกรรมของตุรกีชื่อ The museum of innocence และนิตยสาร a day เล่มเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่ใช้ชื่อ Museum of Relationships)ส่วนเรื่องน่าเสียดายของ Full-time director, Part-time loser คือ เป็นหนังสือที่มีความบกพร่องด้านการพิสูจน์อักษรเป็นจำนวนมาก ผิดจากธรรมชาติของหนังสือเล่มก่อนๆ ของสำนักพิมพ์นี้ที่ผมเคยอ่าน (แต่อาจดูเป็นจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับหนังสือของสำนักพิมพ์อื่น) จนผมรู้สึกว่าปล่อยผ่านไปไม่ได้แล้ว ต้องทำอะไรสักอย่าง ผมจึงรวบรวมทุกข้อผิดพลาดด้านการพิสูจน์อักษรในเล่มนี้ แล้วส่งไปทาง messenger ของเฟซบุ๊กแฟนเพจ Salmon books ดังนี้(หน้า 25 บรรทัด 9) “ไรั” > “ไร้”(หน้า 100 หัวข้อ pack shot บรรทัด 5) “มั้ย้” > “มั้ย”(หน้า 125 บรรทัด 7) “goodenough” > “good enough”(หน้า 142 บรรทัดรองสุดท้าย) “ได้ไม่แยแส” > “ได้ ไม่แยแส”(หน้า 147-152) ทุกข้อความบรรยายไม่สัมพันธ์กับรูปภาพ ต้องเลื่อนแต่ละข้อความให้สัมพันธ์กับรูปภาพ(หน้า 169 บรรทัด 8) ตัดคำว่า “มี” หลัง “ไม่” ทิ้งไป(หน้า 176 ตรงข้อความใต้ภาพ) “เป็นวัยรุ่น ต้องออกไปมันส์ดิวะ /2017” > “วิดีโอความปลอดภัยบนรถเมล์ /2016”พร้อมแนบข้อความประมาณว่า ผมเข้าใจว่าสำนักพิมพ์รีบผลิตออกมาให้ทันวางในงานหนังสือ แต่งานน่าจะละเอียดกว่านี้ ผมไม่มีเจตนาจ้องจับผิด แต่เพื่อความสมบูรณ์ของหนังสือ อยากมาบอกกล่าวกันเผื่อสำนักพิมพ์นำไปแก้ไขในการพิมพ์ครั้งต่อไป (ตามด้วย) ขอบคุณสำนักพิมพ์ที่ตีพิมพ์หนังสือดีๆ หลายเล่มออกมา ผมจะยังติดตามต่อไป ถ้าเล่มไหนขาดคนพิสูจน์อักษรก็ลองติดต่อผมมาได้ อยากทำแต่ยังไม่มีโอกาส(แหนะ, จบด้วยของานทำกันดื้อๆ)ซึ่งทางสำนักพิมพ์ก็ตอบกลับผมอย่างสุภาพ น้อบรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น และหวังจะนำไปปรับปรุง หากมีการตีพิมพ์ครั้งต่อไปภาพ: ผู้เขียนหลังจากนั้นสองปี ตอนไปเดินงานหนังสือทั้งสองครั้งเมื่อปีที่แล้ว (ครั้งสุดท้ายที่ศูนย์สิริกิติ์ก่อนปิดปรับปรุง กับครั้งแรกที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี) ผมเจอหนังสือ Full-time director, Part-time loser จำนวนมากที่บูธขายหนังสือมือสองสภาพดี ในราคาเล่มละแค่ 50 บาท จากราคาปก 210 บาท แล้วได้แต่ย้อนกลับไปคิดเสียดายเงิน และถามตัวเองซ้ำๆ ว่าทำไมตอนนั้นต้องรีบซื้อรีบอ่านด้วย.