“บทภาพยนตร์ อินวิซิเบิล เวฟส์ คำพิพากษาของมหาสมุทร”สำนักพิมพ์: ระหว่างบรรทัด // ผู้เขียน: ปราบดา หยุ่น // พิมพ์ครั้งแรก: กุมภาพันธ์ 2549คุณคิดว่าใครสมควรจะมีชีวิตอยู่มากกว่ากันล่ะ คนที่มีความสุขหรือวิญญาณที่หลงทาง หนังสือเล่มนี้ได้นำบทภาพยนตร์ร่างแรกและร่างสุดท้าย ของหนังเรื่อง คำพิพากษาของมหาสมุทร (Invisible Waves) มารวมไว้ในเล่มเดียวกัน ซึ่งหนังเรื่องนี้เป็นของผู้กำกับที่มีผลงานอันเป็นเอกลักษณ์อย่าง เป็นเอก รัตนเรือง ที่ได้ออกฉายเมื่อปี พ.ศ. 2549บทหนังเรื่องนี้เป็นบทหนังเรื่องที่ 2 ที่ ปราบดา หยุ่น เขียนให้ เป็นเอก รัตนเรือง ได้กำกับ ถัดจากเรื่องแรกคือ เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล (Last Life in the Universe) ซึ่งเข้าฉายก่อนหน้านี้ไปเมื่อ 3 ปีที่แล้วหนังว่าด้วยเรื่องราวของพ่อครัวชาวญี่ปุ่นที่ทำงานอยู่ร้านอาหารแถบมาเก๊า เขาเป็นชู้กับภรรยาของเจ้าของร้านอาหารร้านนั้นเอง จากนั้นเรื่องวายป่วงก็เกิดขึ้น เมื่อทั้งคู่ทานอาหารมื้อค่ำร่วมกัน แล้วเธอก็ตายคาแก้วไวน์ตอนจิบสุดท้าย ตามด้วยเรื่องไม่คาดฝัน เมื่อนักฆ่าได้กลับกลายเป็นเหยื่อของการฆาตกรรมในครั้งนี้เสียเอง ผมไม่เคยดูหนังเรื่องนี้ในโรง แต่จำได้ว่าเคยเช่ามาดูสมัยแผ่นออกมาใหม่ๆ และตอนนี้ในหัวมีเพียงช็อตที่ตั้งกล้องนิ่งถ่ายแช่สายน้ำไหลเอื่อยยาวนานหลายนาทีของหนัง นอกเหนือจากนั้นก็จำอะไรไม่ได้แล้ว (แหะๆ ไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าดูจบเรื่องมั้ย!)ปกติชื่อผู้กำกับคนนี้ก็ไม่ได้รับประกันความสนุกของหนังอยู่แล้ว แต่ในแง่คุณภาพของหนังทุกเรื่องที่เขาทำมา-จนถึงเรื่องนี้ หากมองหนังเป็นผลงานศิลปะ, เขาไม่ใช่คนที่ทำหนังออกมาแบบสุกเอาเผากินแน่นอนเมื่อผมได้มีโอกาสมาอ่านบทหนังหลังจากดูหนังเรื่องนี้จบแล้ว ก็รู้สึกว่าสิ่งที่ผมไม่ชอบไม่ใช่ตัวบทหนัง แต่เป็นการถ่ายทอดบทหนังออกมาเป็นภาพและเสียงต่างหากในบทหนังที่ผมได้อ่าน การบรรยายแต่ละฉากไม่ได้ใช้เวลานานเท่ากับในหนัง แถมในบทหนังยังเดินหน้าถ่ายทอดสิ่งที่หนังต้องการสื่อสารได้อย่างชัดเจน และทำให้ผม 'รู้สึก' ได้มากกว่าการดูหนัง ว่ากันถึงรูปแบบ (format) ของบทหนังที่ถูกต้องตามมาตรฐาน บทหนัง 1 หน้ากระดาษ จะเท่ากับความยาวประมาณ 1 นาทีในหนังพอนับดูแล้วบทหนังเรื่องนี้ร่างแรกมี 144 หน้า ส่วนร่างสุดท้ายมี 184 หน้า แต่วิกิพีเดียบอกว่าตัวหนังมีความยาว 115 นาที ก็ถือว่าใกล้เคียงกัน เพราะขณะถ่ายทำหรือตัดต่ออาจจะมีปรับเปลี่ยนไปจากบทร่างสุดท้ายอยู่บ้าง-เป็นเรื่องธรรมดาสามัญของการทำหนัง (อีกทั้งบทหนังในกองถ่ายมักเป็นเล่มกระดาษ A4 ส่วนหนังสือเล่มนี้ใช้กระดาษที่เล็กกว่าขนาด A4 คงเอามาเทียบกันไม่ได้นั่นเอง) ถ้าเข้าใจไม่ผิด บทเรื่องนี้น่าจะเป็นบทหนังไทยเรื่องล่าสุดที่ถูกตีพิมพ์เผยแพร่เป็นหนังสือ หลังจากนั้นก็ไม่มีบทหนังเรื่องไหน (กล้า) ปรากฏโฉมออกมาเป็นหนังสืออีกเลย เพราะเด็กที่เรียนฟิล์มหรือคนที่อยากศึกษาบทหนังก็คงอาศัยขอหลังไมค์เป็นการส่วนตัวจากนักเขียนบทหนังเรื่องนั้นๆ เอาแล้ว ทำให้หนังสือแนวนี้ขายไม่ค่อยได้…เศร้า