เขย่าค็อกเทลปรัชญาหมื่นโวลต์ในหนัง "Poor Things"
เชื่อว่าหลายคนที่ได้ดู ‘Poor Things’ คงเกิดอาการงงกับบรรดาองค์ประกอบสุดประหลาดที่หนังเอามาปะติดปะต่อกันผ่านทั้งคำพูดและการกระทำเพี้ยน ๆ ของตัวละคร ซึ่งหากจะให้อธิบายก็คงต้องอาศัยองค์ความรู้ด้านปรัชญาดังนั้น Beartai Buzz จึงขอยกปรัชญาแนวคิดที่หนังสุดเพี้ยนแต่สนุกสุดเหวี่ยงเรื่องนี้ได้หยิบยกมาใส่ในจิตวิญญาณของ เบลล่า ตัวละครของ เอ็มม่า สโตน (Emma Stone)
แนวคิด ‘การพึ่งพาตัวเอง’
แนวคิดการพึ่งพาตัวเอง (Self-Reliance) เป็นแนวคิดที่ถูกเผยแพร่โดย ราล์ฟ วอลโด เอเมอร์สัน (Ralph Waldo Emerson) นักคิดชาวอเมริกัน เดิมทีแนวคิดนี้ถูกเผยแพร่ในรูปแบบของเรียงความ (Essay) เอเมอร์สันเชื่อว่า มนุษย์ควรจะเชื่อใจในสัญชาตญาณและการตัดสินใจของตัวเองเท่านั้น (Trust thyself) ซึ่งแนวคิดของเขาได้ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวที่เรียกว่า ลัทธิเหนือธรรมชาติ (Transcendentalism movement) ซึ่งเชื่อในความดีงามอันบริสุทธิ์ของมนุษย์และมองว่าสังคมหรือสถาบันในสังคมคือตัวบ่อนทำลายความดีงามนั้น ๆ
ซึ่งเมื่อเราเอาแนวคิดนี้มาวิเคราะห์ถึงการกระทำของเบลล่าแล้วจะพบว่า การที่เธอได้ค้นพบความสุขจากการช่วยตัวเอง (masturbation) หรือการกินทาร์ตแสนอร่อย ก็คือความสุขที่บริสุทธิ์และถูกค้นพบด้วยตัวเอง โดยมีสังคมของผู้ดียุควิกตอเรียนที่ แม็กซ์ (รับบทโดย รามี่ ยุสเซฟ, Ramy Yussef) และดันแคน (รับบทโดย มาร์ค รัฟฟาโล, Mark Ruffalo) มาบอกว่าความสุขของเธอคือสิ่งที่ไม่สมควรตามครรลองของสังคมผู้ดี
แนวคิด ‘อัตถิภาวนิยม’
แนวคิดอัตถิภาวนิยม (Existentialism) เป็นแนวคิดที่ได้รับการเผยแพร่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พัฒนาโดย ฌ็อง-ปอล ซาทร์ (Jean-Paul Sartre) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส โดยแนวคิดจะให้ความสำคัญต่อตัวตนของมนุษย์ในฐานะปัจเจกชนซึ่งมีสิทธิเสรีภาพในการหาคำตอบผ่านประสบการณ์ของตัวเอง โดยนักปรัชญาอัตถิภาวนิยมไม่มีเจตนานำเสนอคำสอน แต่เน้นให้แนวคิดเพื่อปลุกใจและกระตุ้นให้ผู้อ่านสร้างปรัชญาของตนเองขึ้นมา หาวิธีมองเห็นปัญหาของตนเองและหาคำตอบเอง
ซึ่งแนวคิดอัตถิภาวนิยมนี้ก็กลายเป็นตัวอธิบายว่าทำไมเบลล่าถึงเป็นสิ่งมีชีวิตที่เอาตัวเองเข้าไปรับประสบการณ์ทุกอย่างโดยไม่ตัดสินว่าสิ่งนั้นผิดหรือถูก ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือการที่เธอไปหาประสบการณ์การเป็นโสเภณีโดยมองว่าเป็นการทดลองใช้เซ็กส์แลกกับค่าตอบแทน และทำความเข้าใจว่าเซ็กส์ที่ไม่มีความสุขกับเซ็กส์ที่เธอได้ปลดปล่อยอารมณ์ได้อย่างเต็มที่ต่างกันอย่างไร
‘ลัทธิซีนิก’
ลัทธิซีนิก (Cynicism) เป็นปรัชญากรีกโบราณที่คิดค้นโดย ไดโอยีนส์ (Diogenes) โดยหัวใจของลัทธินี้ปฏิเสธเรื่องของอำนาจ ความมั่งคั่ง การเป็นที่ยอมรับในสังคม และเปลือกนอกทั้งหลายที่เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เป็นจุดประสงค์ของชีวิตที่ไม่ต่างไปจากพฤติกรรมของสัตว์ แล้วไปให้ความสำคัญกับเรื่องของการบรรลุคุณธรรมและการมีชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ
โดยใน ‘Poor Things’ มีฉากที่เป็นกิมมิกเล็ก ๆ คือตอนที่ดันแคนมายืนบังแดดขณะที่เบลล่าอ่านหนังสืออยู่ตรงดาดฟ้าเรือสำราญ ซึ่งเป็นการจำลองเหตุการณ์ที่อเล็กซานเดอร์มหาราชเคยถูก ไดโอยีนส์ ผู้คิดค้นลัทธิซีนิกบอกให้กษัตริย์ผู้พิชิตหลบแสงแดดขณะที่เขากำลังอาบแดดผ่อนคลายอารมณ์ ซึ่งเหตุการณ์ต่อมา เบลล่า ก็ได้เรียนรู้ว่าโลกใบนี้ไม่ได้มีเพียงความรื่นรมย์แต่ยังเต็มไปด้วยความโหดร้ายและสิ่งเลวทรามที่รอการแก้ไขอยู่ และเธอตั้งใจจะแก้ไขสิ่งผิด ๆ ในโลกใบนี้ไม่ต่างจากปรัชญาของลัทธิซีนิก
แนวคิด ‘อูเบอร์เมนช์’
แนวคิดอูเบอร์เมนช์ (Übermensch) ได้รับการเผยแพร่โดย เฟรดริก นิตเช่ (Friedrich Nietzsche) นักปรัชญาชาวเยอรมัน-โปแลนด์ คนสำคัญ โดยเผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือ ‘Thus Spoke Zarathustra’ ซึ่งเป็นนิยายที่กล่าวถึง ซาราธัสตรา ฤาษีที่ลงจากภูเขาหลังปลีกวิเวกกว่า 10 ปีเพื่อมอบความรู้เสริมปัญญาให้มนุษย์โดยเฉพาะการที่ต้องทำให้มนุษย์เชื่อว่า “พระเจ้าตายแล้ว” และมนุษย์มีหน้าที่ที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเผ่าพันธุ์ของตัวเองให้ดีขึ้นโดยมองว่าศาสนาเป็นอุปสรรคในการพัฒนาของมนุษย์
ก่อนอื่นต้องขอให้ข้อมูลเบื้องต้นก่อนว่างานเขียนของนิตเช่เองก็ถูกมองว่าไม่ได้ให้จำกัดที่ชัดเจน และเปิดช่องให้คนตีความได้หลากหลายโดยแนวคิดนี้โด่งดังเนื่องมาจาก อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)ได้ตีความปรัชญาของนิตเช่และใช้มันในภารกิจหลักของพรรคนาซีที่มุ่งพัฒนาเผ่าพันธุ์มนุษย์ด้วยการทำลายเผ่าพันธุ์ยิวที่เขามองว่าไม่ใช่พวกอารยันเหมือนตัวเอง
สิ่งที่ชัดเจนมากใน ‘Poor Things’ ก็คงเป็นการทดลองของ ดร.ก็อตวิน แบ็กซ์เตอร์ (รับบทโดย วิลเลม เดโฟ, Willem Dafoe) ที่จับเอาร่างของหญิงสาวมาผ่าเอาสมองของทารกในครรภ์ของเธอเพื่อทดลองและกำเนิดเป็นเบลล่าและในทางกลับกันเบลล่าเองก็เรียนรู้ว่าโลกไม่ได้มีเพียงสิ่งดีงาม ดังนั้นในช่วงองก์ 3 ของหนังเธอจึงตัดสินใจเปลี่ยนใครบางคนที่มีความชั่วร้ายให้กลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่บริสุทธิ์และอ่อนแอจนทำร้ายใครไม่ได้อีก
ข้อมูลอ้างอิง
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส