รีเซต

จากราชันสู่กิ้งก่าผู้ตกยาก กับเบื้องหลังหนัง "Godzilla" ปี 1998 ไคจูที่ญี่ปุ่นไม่อยากนับญาติ

จากราชันสู่กิ้งก่าผู้ตกยาก กับเบื้องหลังหนัง "Godzilla" ปี 1998 ไคจูที่ญี่ปุ่นไม่อยากนับญาติ
แบไต๋
1 กุมภาพันธ์ 2567 ( 11:00 )
141

“ทำยังไงก็ได้ให้เจ้ากิ้งก่ายักษ์มันวิ่งได้เร็ว”

การลั่นวาจาเพียงครั้งเดียวของผู้กำกับโรลันท์ เอ็มเมอริช (Roland Emmerich) ได้ฝังรอยด่างพร้อยที่ยากจะลบเลือนไปประวัติศาสตร์ของ Godzilla

กว่า 70 ที่ผ่านมา Godzilla เป็นหนึ่งในซีรีส์ที่อยู่กับเรามาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะผ่านไปนานเท่าไหร่ พี่แกก็ยังคงออกมาวาดลวดลายฟัดไคจูให้เด็กได้ดูกันอยู่เสมอ ตั้งแต่ในฝั่งต้นตำรับของญี่ปุ่นอย่าง Shin Godzilla และ Godzilla Minus One ที่ส่งให้โกจิร่านั้นได้ไปเหยียบงานประกาศรางวัลมากมาย หรือจะฝั่งอเมริกาที่ MonsterVerse ทำให้พี่หมีได้เป็นที่รู้จักพร้อมกับช่วงชิงตำแหน่งราชันมาจากไททันทั้งปวง

ทว่าในประวัติศาสตร์ของฮอลลีวูดเอง กลับมีอยู่ช่วงเวลาหนึ่งที่แฟนคลับพี่หมีนั้น อยากที่จะลืม ๆ มันไปให้พ้น

ย้อนกลับไปในช่วงยุค 90 ผู้อำนวยการสร้าง เฮนรี จี. ซาเปอร์สเตน (Henry G. Saperstein) ผู้นำเข้า Godzilla มาในอเมริกา ได้ตัดสินใจใช้ความกล้า ขอซื้อไคจูตัวนี้มาสร้างเป็นหนังเอง ในชื่อ King of the Monsters ซึ่งไป ๆ มา ๆ ไอเดียนี้ ก็ดันไปอยู่กับ TriStar Pictures (ซึ่งเป็นค่ายลูกของ Sony หรือที่รู้จักกันในชื่อ Columbia Pictures อีกที)

เมื่อ TriStar Pictures ได้รับสิทธิ์ในการสร้างภาพยนตร์ก็อดซิลล่าเมื่อ 1992 บริษัทได้จ้างนักเขียนบทอย่างเท็ด เอลเลียต (Ted Elliott) และเทอร์รี่ รอสซิโอ (Terry Rossio) ให้มาเขียนบทภาพยนตร์ Godzilla ซึ่งบทก็เสร็จในปี 1994 พอดี

ก็อดซิลล่าในบทเวอร์ชันนี้จะเป็นสิ่งมีชีวิตที่ได้รับการดัดแปลงพันธุกรรมจาก DNA ของไดโนเสาร์ยุคโบราณ (ซึ่งมีความใกล้เคียงกับของญี่ปุุ่น) โดยมันจะรักษาลักษณะเดิมของก็อดซิลล่าจากญี่ปุ่นเอาไว้ได้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นการเดินตัวตรง หนังเหนียว และมีลมหายปรมาณู ซึ่งพวกเขาตั้งใจจะทำให้ Godzilla เป็นหนังไตรภาค

ทว่าโปรเจกต์นี้ก็ไม่ได้ไปต่อ เนื่องจากผู้บริหารของ Sony ไม่สามารถทำข้อตกลงด้านงบประมาณกับ ยาน เดอ บงต์ (Jan De Bont) ผู้กำกับเรื่อง Speed ได้ นั่นทำให้ Godzilla จึงถูกดองไว้

อันที่จริงแนวคิดในการสร้าง Godzilla ของฮอลลีวูดนั้นไม่ใช่ครั้งแรก แต่ก่อนหน้าเคยมี โปรดิวเซอร์ฮอลลีวูดคนหนึ่ง เคยเสนอไอเดียว่าอยากทำหนัง Godzilla ที่เป็นมิวสิคคัลไปแล้ว แต่แน่นอนว่ามันแหวกเกินไป ซึ่งเจ้าของลิขสิทธิ์อย่าง Toho ก็ปัดผ่านไอเดียนั้นทิ้ง

กลับมาที่ในช่วงปี 1995 ในที่สุด Sony ก็พบว่าบท Godzilla ของเอเลียตกับรอสซิโอนั้นน่าสนใจ และ เหมาะสมที่จะเอามาต่อยอดเป็นหนัง โดยพวกเขารู้สึกว่า Godzilla นั้นมันมี ‘ศักยภาพสำหรับค่าย’ ในการสร้างหนังฟอร์มยักษ์สักเรื่อง

Sony จึงไฟเขียวโปรเจกต์ทันที โดยในเวลานั้นพวกเขาก็ต้องการผู้กำกับหนังที่เชื่อมือได้ และถ้าจะถามหาผู้กำกับที่ชอบทำหนังวินาศสันตะโรในสมัยนั้น ตัวเลือกแรกสำหรับ Sony จึงเป็น โรลันท์ เอ็มเมอริช อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะเอ็มเมอริชก็มีสัมพันธ์ที่ดีกับค่ายมาอย่างยาวนาน แต่นั่นแหละคือจุดเริ่มต้นของหายนะ

เมื่อโรลันท์ เอ็มเมอริช ได้เข้ามาดูแลโปรเจกต์ Godzilla สิ่งแรกที่เขาทำคือโละบทเดิมของเอเลียตกับรอสซิโอทิ้งไปทันที โดย เอ็มเมอริช ให้เห็นผลว่าก็อดซิลล่าควรจะเป็นอีกัวนากลายพันธุ์ที่เกิดจากการทดลองนิวเคลียร์

หลังจากนั้นเอ็มเมอริชก็ได้ว่าจ้าง ศิลปินเทคนิคพิเศษ แพทริค ทาโทปูลอส (Patrick Tatopoulos) มาออกแบบก็อดซิลล่าใหม่ ซึ่งเอ็มเมอริชก็บรีฟแค่ว่า ‘ก็อดซิลล่าตัวนี้มันควรจะวิ่งได้เร็วมาก ๆ’ เพราะเอ็มเมอริชตั้งใจจะให้ก็อดซิลล่ามีลักษณะเป็นสัตว์มากกว่ามอนสเตอร์

แม้เดิมทีก็อดซิลล่าถูกคิดขึ้นในฐานะไคจูผู้แข็งแกร่ง ยืนตรงสง่าก็ตาม ทว่าเอ็มเมอริชกลับให้มันนอนราบ และหางขนานกับพื้นไว้ โดยทาโทปูลอสได้สร้างมันให้เป็นอีกัวนาผอมบางที่ยืนสองเท้าได้ แต่ให้หลัง และหางขนานกับพื้น ซึ่งทาโทปูลอสได้รับแรงบันดาลใจจากเสือในนิยาย เชียร์คาน จากแอนิเมชันของดิสนีย์เรื่อง The Jungle Book

เอ็มเมอริช เชื่อว่าการออกแบบ Godzilla ดั้งเดิมในปี 1954 นั้นไม่สมเหตุสมผล ดังนั้นเขาจึงยืนกรานที่จะสร้างรูปลักษณ์ของมันขึ้นมาใหม่ ซึ่งในเวลานั้นผู้สร้างอย่าง Toho ก็ดันบ้าจี้ตอบตกลงให้ไฟเขียวไปซะอย่างนั้น

ถ้านี่ว่าหายนะแล้วสิ่งต่อมาคือการที่หนังทุ่มงบการตลาดไปมากกว่า 50 ล้านดอลลาร์ โดยพวกเขาทำการตลาดหนังด้วยการ ‘ไม่เปิดเผยตัวก็อดซิลล่าในฉบับนี้’ และส่งรูปปลอมของก็อดซิลล่าที่ไม่เหมือนกันให้กับแหล่งข่าวมากมาย (เพื่อที่จะจับได้ว่า ใครเป็นคนปล่อยรูปหลุดด้วย)

“เขาสูงกว่าเทพีเสรีภาพ!”

“เขายาวเป็นสองเท่าของเครื่องบิน 747 Jumbo Jet!”

“ม้ามของมันมีขนาดเท่ากับมิคกี้ รูนี่ย์!”

จะเห็นเลยว่า โฆษณาทางทีวีไม่เคยเผยภาพก็อดซิลล่าเลย แม้กระทั่งป้ายโฆษณาก็ตาม โดยคำโปรโมตมักจะอ้างอิงถึงแค่ขนาดของมันเท่านั้น ซึ่งผู้ชมจะไม่ได้เห็นก็อดซิลล่าของเอ็มเมอริชจนกว่าพวกเขาจะเข้าไปเจอในหนังเอง

สิ่งนี้ได้ผล เพราะหนัง Godzilla มียอดจองตั๋วล่วงหน้ากว่า 6,000 ใบ ซึ่งทุกคนคาดการณ์ว่า มันจะทำรายได้แซงหน้าสถิติเปิดตัวของ The Lost World ที่ 90.2 ล้านเหรียญด้วย

ทว่าขาของมันกลับก้าวไม่ยาวพอ เพราะ Godzilla สะดุดล้มตั้งแต่วันแรกที่เข้าฉาย ซึ่งคนที่ได้เข้าไปดูในหนังนั้นเกลียดเจ้ากิ้งก่ายักษ์นี้มาก เนื่องจากหน้าตาของมันไม่ใช่ก็อดซิลล่าที่พวกเขารู้จัก

หลังจากนั้นก็เป็นไปตามประวัติศาสตร์ ก็อดซิลล่าตัวนี้ถูกนักวิจารณ์สับเละอย่างไร้ความปรานี โดยทำรายได้ทั่วโลกเพียง 379 ล้านเหรียญ เมื่อรวมค่าโปรโมทที่ Sony อุตส่าห์ทุ่มงบไปก็เรียกว่าเจ็บตัวเอาการ 

มิหนำซ้ำในหนัง Godzilla: Final Wars ปี 2004 ทางญี่ปุ่นเองก็ยังได้นำกิ้งก่ายักษ์ของเอ็มเมอริชไปโผล่ในนั้น และตั้งชื่อมันใหม่ว่า Zilla โดยตัดคำว่า God ในชื่อออกไป เพราะมันไม่คู่ควรกับคำว่า ‘พระเจ้า’ นั่นเอง

ในหนัง Godzilla: Final Wars เจ้าซิลล่ายังโดนก็อดซิลล่าต้นตำรับจากญี่ปุ่น ซัดให้ปลิวภายในหนึ่งนาที และปิดจบด้วยลมหายใจปรมาณูอีกที เรียกว่าทางญี่ปุ่นก็เอามันมาปู้ยี่ปู้ยำแบบไม่สนใจใยดี

ภาพยนตร์ Godzilla ปี 1998 ถือเป็นอีกหนึ่งหน้าของประวัติศาสตร์ของโลกภาพยนตร์ที่บอกเราว่า การไม่เคารพต้นฉบับจะส่งผลเสียขนาดไหน เหตุการณ์นั้นทำให้ Toho ถึงขั้นขยาดฮอลลีวูดไปหลายปี ก่อนจะกลับมาแก้กรรมด้วย Godzilla ปี 2014 โดย Legendary Pictures ที่เป็นการเปิดจักรวาล MonsterVerse ซึ่งได้กอบกู้หน้าของพี่หมีในประวัติศาสตร์ฮอลลีวูดได้อย่างดี