จริง ๆ แล้วเราเกือบจะได้เห็นวูล์ฟเวอรีนสวมชุดตามแบบคอมิกในจักรวาล X-Men ของ 20th Century Fox แล้วด้วยเหมือนกัน ในฉากที่ถูกตัดออกไปจากหนัง ‘The Wolverine’ (2013) จะมีฉากที่โลแกน ได้รับชุดสูทและหน้ากากสีเหลือง-น้ำตาล ใกล้เคียงกับหรือวูล์ฟเวอรีนในฉบับคอมิก ที่ผู้สร้างตั้งใจจะใส่เอาไว้เพื่อเป็นการปูเรื่องไปสู่ภาคอื่น ๆ แต่น่าเสียดาย สุดท้ายวูล์ฟเวอรีนก็ไม่มีโอกาสได้ใส่ชุดนี้อีกเลย เพราะในภาคต่อไป ‘X-Men: Days of Future Past’ (2014) วูล์ฟเวอรีนจะได้ใส่ชุดแบบใหม่ที่มีความ Futuristic ที่ตรงตามธีมเรื่องราวเกี่ยวกับทีม X-Men ในยุคอนาคตแทน

จนกระทั่งเมื่อ X-Men ได้เข้ามาอยู่ MCU จากการที่ Disney เข้าซื้อกิจการ 20th Century Fox เราจึงได้เห็นทิศทางของการนำตัวละครจากจักรวาล X-Men มาปรากฏตัวใน MCU มากขึ้น (เหมือนที่ไฟกีแถลงล่าสุดว่า) เส้นเรื่องของมิวแทนต์จะเข้ามามีบทบาทในมหากาพย์ Mutiverse Saga มากขึ้น)

และด้วยนโยบายที่ต้องการนำเสนอตัวละครในหนังให้มีความคล้ายกับคอมิก เราจึงได้เห็นตัวละครคลาสสิกมาปรกาฏตัวในรูปลักษณ์ที่คุ้นเคยกัน ตั้งแต่การปรากฏตัวของ โปรเฟสเซอร์เอ็กซ์ หรือ ชาร์ลส์ เซเวียร์ (Charles Xavier) ที่ปรากฏตัวพร้อมกับเก้าอี้ Hoverchair แบบเดียวกับคอมิกใน ‘Doctor Strange in the Multiverse of Madness’ (2022) หรือตัวละคร บีสต์ (Beast) และไบนารี (Binary) จากต่างมิติในฉาก ฉาก Mid-Credit ของหนัง ‘The Marvels’ (2023)

ชอว์น เลวี (Shawn Levy) ผู้กำกับ ‘Deadpool & Wolverine’ เคยเปิดไขที่ไฟกียอมให้แจ็กแมนกลับมารับบทวูล์ฟเวอรีนอีกครั้ง นั่นก็คือต้องให้แจ็กแมนสวมชุดวูล์ฟเวอรีนสีเหลือง-น้ำเงินตามต้นฉนับ ซึ่งนอกจากจะเป็นเรื่องของการทำให้ภาพลักษณ์ของคาแรกเตอร์ใกล้เคียงกับฉบับคอมิกมากที่สุดแล้ว อีกเหตุผลหนึ่งก็เพื่อบ่งบอกว่า โลแกนในหนัง ‘Logan’ และวูล์ฟเวอรีนใน ‘Deadpool & Wolverine’ ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกัน

ไฟกีเคยกล่าวถึงประเด็นนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า “การที่ ฮิว แจ็กแมน ไม่เคยได้สวมชุดที่เป็น Iconic ของตัวละครตัวนี้เลย มันก็คงเหมือนกับการที่ Superman มีหนังมาแล้ว 10 เรื่อง แต่ไม่เคยได้สวมชุด Superman เลยสักครั้ง มันเป็นตัวพิสูจน์ถึงตัวละครวูล์ฟเวอรีนว่า ชุดมันไม่ได้มีความสำคัญเสมอไป ตัวละครต่างหากที่มีความสำคัญมากกว่าชุดที่ใส่”