ท้ายที่สุด...แพ้ก็อาจกลับมาชนะ ชนะ...ก็อาจจะแพ้ได้เพราะเกมโกะไม่มีใครล้มถาวร และไม่มีคำว่าแพ้ตลอดไป วิถีแห่ง "หมากล้อม" หรือ "โกะ" ที่ คุณ ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ นายกสมาคมกีฬาหมากล้อมแห่งประเทศไทย ได้กล่าวสรุปปิดท้ายไว้ในงานเสวนาพิเศษ “กลยุทธ์หมากล้อมสร้างคน สร้างเยาวชน เก่ง+ดี” เป็นวลีที่สามารถสะท้อนวิถีแห่งหมากล้อมได้เป็นอย่างดี ออริ #AORii เองก็เคยฝึกเล่นหมากล้อมกับสมาคมฯ ด้วย แต่ก็ไม่เคยเข้าใจปรัชญาแห่งหมากล้อมเลย จนกระทั่ง ได้มาดู "Misaeng (2014)" หรือ "หนุ่มออฟฟิศพิชิตฝัน" ซีรีส์เกาหลีน้ำดีที่สร้างจากเว็บตูน มีการนำไปรีเมคเป็นเวอร์ชั่นญี่ปุ่นและจีน เสริมทัพความน่าสนใจด้วยรางวัลอีกมากมาย ในระหว่างรอลุ้น Season 2 เรามารีวิว Season 1 กันไปพลางๆ กับซีรีส์เปลี่ยนชีวิตเรื่องนี้ #เรื่องย่อซีรีส์: Misaeng (2014) | หนุ่มออฟฟิศพิชิตฝัน "Misaeng" หรือ "มิแซง" ซีรีส์ที่สะท้อนปรัชญาของคำว่า ‘미생’ (Misaeng) ซึ่งเป็นศัพท์เฉพาะในเกมโกะ หมายถึง สถานะของตัวหมากในกระดานที่ยังไม่รู้ชะตาแน่ชัดว่าจะอยู่หรือตาย หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าตัวหมากเหล่านั้นยังมี "ชีวิตที่ไม่สมบูรณ์" (an incomplete life) โดยนักเขียนเว็บตูน ยูน แทโฮ (Yoon Tae-ho) ได้สอดประสานกลยุทธ์ในการเดินหมากล้อมกับวิถีของความเป็นมนุษย์เงินเดือนในบริษัทเทรดดิ้งยักษ์ใหญ่ชื่อ ONE International ที่ทุกการตัดสินใจกระทบต่อต้นทุน-กำไรมหาศาล...รวมถึงสถานะในที่ทำงานของตัวเองด้วย เฉกเช่นเดียวกับสถานะ Misaeng ในกระดานหมากล้อม (หมากล้อม/โกะ ในภาษาเกาหลี เรียกว่า 바둑 (Baduk)) ซีรีส์บอกเล่าเรื่องราวของ "จาง กือเร" (Jang Geu-rae) นำแสดงโดย #อิมชีวาน (Im Si Wan) ซึ่งชื่อ "กือเร" ตรงกับคำว่า 그래 ในภาษาเกาหลีที่เป็นคำตอบรับ คำอุทาน ตรงนี้ขอแอบนอกเรื่องนิด คือ เราชื่อ "อ๋อ" คล้ายๆ กับ "กือเร" เป็นคำตอบรับ คำอุทาน ที่คนใช้บ่อย บางทีเขาอุทานเราก็นึกว่าเรียกเหมือนกัน และในซีรีส์ก็จะเห็นมุกแนวนี้ที่ "กือเร" ขานรับเพราะนึกว่าเรียกอยู่บ้าง แต่หลักใหญ่ใจความของชื่อ "กือเร" นั้นสะท้อนอุปนิสัยที่เป็นคนไม่ค่อยปฏิเสธใคร มักตอบรับทำไปเสียทุกอย่าง เหมือนเป็นคนหัวอ่อน และไม่เป็นตัวของตัวเอง เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะการที่เขาได้เข้ามาเป็นหนึ่งในตัวเลือกให้บริษัทคัดเข้าทำงานนั้นด้วยเส้นสายของครอบครัว แต่คุณสมบัติของตัว กือเร เองเรียกได้ว่าทิ้งห่างจากคนอื่นแบบหลุดลุ่ย ขาดทั้งความมั่นใจ ประสบการณ์ ความรู้ และทักษะ จึงทำให้เขาต้องพยายามมากกว่าคนอื่นหลายเท่า เพื่อที่จะได้รับการยอมรับ คำว่า "ปฏิเสธ" จึงไม่ใช่สิ่งที่ "กือเร" เลือกที่จะทำ แม้ว่าชื่อ "กือเร" จะมีความหมายเหมือนคำตอบรับ แสดงถึงการเป็น "พวกเดียวกัน" แต่แท้จริงแล้วชีวิตของ "กือเร" ช่างย้อนแย้งกับความหมายของชื่อเขาโดยสิ้นเชิง ตั้งแต่เด็ก "กือเร" ฉายแววเป็นเด็กฉลาดและหัวไวกว่าเด็กในรุ่นเดียวกัน เขาเริ่มฝึกหมากล้อมตอน 7 ขวบ ซึ่งถือว่าเริ่มช้ามากสำหรับคนที่มีเป้าหมายสอบเป็นนักหมากล้อมมืออาชีพ แม้กระนั้น "กือเร" ก็ยังสามารถพัฒนาทักษะหมากล้อมได้เร็วและโดดเด่นกว่าเพื่อนๆ ในรุ่นเดียวกัน จนสามารถเทียบชั้นมือโปรได้ตั้งแต่อายุยังน้อย แต่ในโลกใบนี้ "ความไม่แน่นอน" คือ "ความแน่นอนที่สุด" ความสามารถอย่างเดียวไม่อาจการันตีอนาคตได้ ในวัยมัธยมอนาคตที่สดใสของ "กือเร" ต้องดับลงอย่างน่าเสียดาย เขาต้องลาออกจากโรงเรียนมัธยม ทำงานพาร์ตไทม์ทุกชนิดเพื่อดูแลแม่ ทำให้ "กือเร" ใช้ชีวิตสวนทางกับคนอื่นมาโดยตลอด และอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นจริงเสมอ...บนโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนแห่งนี้ ก็คือ "ทุกสิ่งมีเวลาจำกัด" การสอบเป็นนักหมากล้อมมืออาชีพของ "กือเร" ก็เช่นกัน ด้วยความที่เขาเองต้องแบ่งเวลาไปทำงานหาเงินไม่อาจทุ่มเทให้หมากล้อมได้ทั้งหมดเหมือนเคย แม้จะพยายามขนาดไหน สุดท้ายเขาก็ไม่สามารถสอบเป็นมือโปรได้ทัน เมื่อช่วงเวลาแห่งโอกาสของเขาจบลง ก็เหมือนกับชีวิตทั้งชีวิตของเขาจบลงไปด้วย เพราะตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมานั้นชีวิตเขามีเพียงสิ่งเดียว ก็คือ "หมากล้อม" แล้วกือเรจะทำเช่นไรเมื่อต้องมาเริ่มต้นใหม่บนสนามจริงในบริษัทเทรดดิ้งยักษ์ใหญ่แห่งนี้ ซีรีส์สะท้อนคำกล่าวที่ว่า "หมากล้อมสร้างคน" กือเรผูกพันกับหมากล้อมมาตั้งแต่เจ็ดขวบ ได้ซึมซับปรัชญาแห่งหมากล้อมไปโดยไม่รู้ตัว ถึงแม้หมากล้อมจะทิ้งรอยแผลฉกรรจ์ในใจจนเขาไม่อาจหวนกลับไปหามันได้อีก แต่ทุกก้าวสำคัญในชีวิตหากเขาไม่รู้ว่าควรตัดสินใจอย่างไรดี เขาก็จะดึงเอากลยุทธ์ในการเดินหมากมาช่วยในการตัดสินใจเสียทุกครั้ง เป็นซีรีส์เกาหลีที่เรียกได้ว่าเราต้องกดหยุดเพื่ออ่านซับไตเติ้ลแบบไม่ให้พลาดทุกตัวอักษร กดย้อนดูเพื่อให้เข้าใจสถานะการณ์ได้อย่างถ่องแท้ เรียนรู้ไปด้วยกันบนเส้นทางจาก "zero สู่ hero" ของ "จาก กือเร" #รีวิวซีรีส์: Misaeng (2014) | หนุ่มออฟฟิศพิชิตฝัน อ่านมาถึงตรงนี้แล้วดูทรงเหมือนเป็นซีรีส์เครียดๆ ใช่มั้ยคะ :) แต่ไม่เลย ตลอดซีรีส์เต็มไปด้วยมุกตลก ดราม่า กุ๊กกิ๊กมีแอบ Y นิดๆ ให้พอชุ่มชื่นหัวใจ การตัดสินใจของตัวละครแต่ละตัวในทุกๆ สถานการณ์มีความสมจริง จุดนี้น่าจะเป็นสเน่ห์ของ "Misaeng" ที่ทำให้หลายคนชื่นชอบ เพราะเรามักจะได้แง่คิดที่นำไปปรับใช้ในชีวิตได้จริงซึ่งแฝงอยู่ในหลายต่อหลายตอนตลอดซีรี่ส์ โดยปกติซีรีส์เกาหลีส่วนใหญ่มักให้แง่คิดรวบยอดเป็นหลักใหญ่ใจความตามแกนเรื่อง แต่สำหรับ "Misaeng" จะมีมาเรื่อยๆ เลยค่ะ ดูจบแล้วนอนฟินต่ออีก 3 นาที แต่เดี๋ยวก่อน!! ใช่ว่าเรื่องนี้จะมีความดีงามทุกกระเบียดนิ้ว เนื่องด้วย 90% ของซีรี่ส์เป็นบรรยากาศที่ทำงาน ซึ่งตรงนี้แหล่ะค่ะในสายตาคนไทยอย่างเรารู้สึกว่าขัดหูขัดตาเหลือเกินกับบรรยากาศการทำงานในบริษัทเทรดดิ้งยักษ์ใหญ่น้านนน...มีทั้งตะโกนด่ากัน กระชากคอเสื้อ ลามไปจนต่อยกันกลางออฟฟิศ โยนเอกสารลงพื้นให้เก็บ สาดกาแฟใส่ ด่าสาดเสียเทเสียใส่ลูกน้องแบบไม่อายฟ้าดิน บางช่วงบางตอนเรายังงงอยู่ว่านี่บริษัท "มาเฟีย" เกาหลีหรือบริษัท "เทรดดิ้ง" กันแน่จ๊ะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น บรรยากาศขัดหูขัดตาเหล่านี้ส่วนหนึ่งก็เพื่อสะท้อนปัญหาที่สามารถพบเห็นในที่ทำงานทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการเหยียดเพศ การคุกคามทางเพศ การใช้อำนาจในทางมิชอบ ไปจนถึงการทุจริตในองค์กร และความขัดหูขัดตานี้เองที่ทำให้ "Misaeng" เผ็ดร้อนมากขึ้น อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจใน "Misaeng" ก็คือ ตัวละครนำอย่าง "จาก กือเร" ที่อ่อนด้อยไปเสียทุกอย่างเมื่อเทียบกับคนอื่นๆ ในที่ทำงาน แต่ภายใต้ความอ่อนด้อยนั้นกลับแฝงจุดแข็งที่คนอื่นๆ ไม่มี ด้วยความที่ "กือเร" ไม่เคยผ่านการบ่มเพาะทั้งการศึกษาและทักษะตามครรลองของมนุษย์เงินเดือน มุมมองของเขาจึงไม่ถูกตีกรอบด้วยมาตรฐานที่ถูกสั่งสอนและสืบทอดกันแบบปกติ ทำให้ "กือเร" กลายเป็นคนคิดนอกกรอบไปโดยไม่ต้องพยายามเพราะเขาไม่เคยผ่านกระบวนการสร้างกรอบความคิดเหมือนคนอื่นนั่นเอง ประกอบกับปรัชญาแห่งหมากล้อมที่ไม่มีผู้แพ้-ผู้ชนะ มีเพียงผู้เรียนรู้ แม้ว่าจบกระดานจะมีฝ่ายแพ้และฝ่ายชนะจริง แต่ผู้แพ้และผู้ชนะนั้นไม่มีอยู่จริง มีแต่ผู้เรียนรู้จุดอ่อนของกลยุทธ์เพื่อพัฒนาในการวางหมากครั้งต่อไป ท้ายที่สุด...แพ้ก็อาจกลับมาชนะ ชนะ...ก็อาจจะแพ้ได้ เพราะเกมโกะไม่มีใครล้มถาวร และไม่มีคำว่าแพ้ตลอดไป การฝึกฝนหมากล้อมของ "กือเร" จึงหล่อหลอมให้เขากลายเป็นคนที่พร้อมจะเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาและมีหัวใจนักสู้ ไม่โทษปัจจัยภายนอก แต่กลับเข้ามาแก้ไขภายในตน แม้ว่า "Misaeng" ใน "season 1" จะเป็นเรื่องราวของมนุษย์เงินเดือนในบริษัทยักษ์ใหญ่ แต่แท้จริงแล้วปรัชญาของคำว่า "Misaeng" นั้นแฝงอยู่ในทุกที่ ดังคำกล่าวในซีรีส์ที่ว่า ช่วงเวลาของการตัดสินใจทั้งหมดของคุณ เป็นตัวสร้างชีวิตและการมีตัวตนทางเลือกที่คุณเลือกทุกวัน เป็นตัวตัดสินคุณภาพชีวิตของคุณ ข่าวคราวสำหรับ season 2 นั้นจะเป็นเรื่องราวของวิถีแห่ง SME ที่ชีวิตมีความซับซ้อนยิ่งกว่ามนุษย์เงินเดือนในบริษัทยักษ์ใหญ่ อย่างที่นักเขียนเว็บตูน ยูน แทโฮ (Yoon Tae-ho) ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ในงานแถลงข่าวที่กรุงโซลว่า "ในบริษัทใหญ่แต่ละคนจะมีหน้าที่ความรับผิดชอบของตนเอง แต่สำหรับ SME พนักงานทำหน้าที่ทุกอย่างเพื่อให้งานสำเร็จ" และปัญหาหลักของ SME ก็มักเป็นเรื่องของเงินทุน การลงทุนในทรัพยากรบุคคลของ SME จึงเป็นเรื่องที่ต้องตัดสินใจอย่างหนัก รวมถึงการตัดสินใจทางธุรกิจด้วย ซึ่ง SME ที่มีกฏระเบียบไม่เข้มเท่าบริษัทใหญ่แต่มีข้อจำกัดหลายด้านมากกว่านั้นจะยังคงดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรมได้หรือไม่ ประเด็นเหล่านี้จะถูกหยิบยกมาเป็นหัวใจหลักของเรื่องราวใน season 2 สำหรับเว็บตูนเกาหลี Misaeng season 2 กำลังดำเนินไปเรื่อยๆ แต่สำหรับซีรีส์อาจจะต้องร้องเพลงรอกันไปก่อน เมื่อไรก็ตามที่มีความเคลื่อนไหวของซีรีส์ Misaeng Season 2 ออริ #AORii จะมารีวิวความคืบหน้าให้เพื่อนๆ อย่างละเอียดแน่นอนค่ะ :) มาร่วมเดินหมากฝ่าเกมกลยุทธ์ของสนามรบมนุษย์เงินเดือนไปพร้อมๆ กันใน "Misaeng" ทาง Netflix คะแนนเรื่องนี้ ออริ #AORii จัดให้ 5/5 ดาว ไปเลยจ้า นี่คือมิติใหม่แห่งความฟินของซีรีส์เกาหลี ในทุกๆ ตอนของ "Misaeng" จะค่อยๆ ตีแผ่ให้เราเห็นว่า...ทุกๆ ปัญหาที่เราคิดว่ามีทางเลือกจำกัดนั้น อาจเป็นเพียงกรอบที่เราสร้างขึ้น หากขจัดอคติทุกอย่างออกไป เรามักจะพบอีกทางเลือกหนึ่งเสมอ สุดท้าย ออริ #AORii เชื่อว่าการได้ร่วมเดินทางจาก "zero สู่ hero" ของ "จาง กือเร" นั้นก็จะทำให้เราเติบโตและกลายเป็นคนที่ดีขึ้นได้ด้วยเช่นกันค่ะ หากชอบงานเขียนสไตล์ ออริ #AORii ฝากกด "ติดตาม / คอมเมนต์" เป็นกำลังใจ 💗 แล้วพบกันใหม่ทาง TrueID นะคะhttps://store.line.me/stickershop/author/3250/thเครดิตรูปภาพ: ปก, รูปภาพที่ 2: tvNรูปภาพที่ 1, 3: 1, 2, 3, 4, 5, 6, 7รูปภาพที่ 4: tvNรูปภาพที่ 5: tvNรูปภาพที่ 6: tvNรูปภาพที่ 7, 8: ผู้เขียน คอมมูนิตี้โลกคนรักหนัง ห้องหวีดซีรีส์ดังออกใหม่มาแรง ป้ายยาหนังดีหนังโดน