เพลิงฉิมพลี ถ่ายทอด ฟ้อนแง้น การร่ายรำวัฒนธรรมของชาวล้านนา
เปิดฉากเพลิงฉิมพลี ด้วยกระแส ซิกแพคของหนุ่มๆในเรื่อง ที่ทำสาวๆ หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ ส่วนในมุมของหนุ่มๆ นั้น คงต้องพูดถึงฉากเปิดตัวสาว เบลล่า ราณี กับท่าฟ้อนรำที่สวยงาม การโยกย้ายทรวดทรงองค์เอวที่ทำให้เห็นสัดส่วนของ เนื้อนาง (เบลล่า) ชัดเจน ในฉากนี้เองที่ทำให้หนานไตร (อั้ม อธิชาติ) หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะเช่นกัน
ด้วยทวงท่าที่งดงาม โยกย้ายเคลื่อนไหวอย่างสง่างามชดช้อย ทำให้ทีมงานต้องหาข้อมูลของฟ้อนแง้น ที่สาวเบลล่า ราณี แสดงความสามารถมาให้เราชมกัน ว่าที่มาที่ไปของฟ้อนนี้เกิดขึ้นอย่างไร
การฟ้อนแง้น เป็นที่นิยมกันในหมู่ช่างขับซอหญิงโดยเฉพาะช่างขับซอในเขตจังหวัดน่าน แพร่ ลำปาง พะเยาและเชียงราย คำว่า “แง้น” หมายถึง แอ่น โค้ง หรืองอไปด้านหลัง การฟ้อนรำแล้วแอ่นลำตัวไปด้านหลังเรียกว่า “ฟ้อนแง้น” ฟ้อนแง้น เป็นการฟ้อนแบบพื้นบ้านประกอบด้วยวงซอคั่นระหว่างการขับซอ เป็นการแสดงความสามารถเฉพาะตัว ฟ้อนได้ทั้งชายและหญิง การฟ้อนนิยมฟ้อนครั้งละ 1 คน เพื่อความสนุกสนานและผ่อนคลายอารมณ์จากการฟังการขับซอ ไม่มีแบบแผนที่แน่นอน ส่วนใหญ่ผู้ฟ้อนจะแอ่นตัวไปข้างหลัง จนศรีษะจรดพื้น ยืนอยู่กับที่ ขากางออกเล็กน้อยแต่พองาม
ดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดง ใช้วงสะล้อ ซึ่งมี ปี่จุม บรรเลงเพลงซอเงี้ยว ผู้แสดงแต่งกายแบบพื้นเมืองภาคเหนือ (ไทลื้อ) ชาย นุ่งกางเกงขาสามส่วน สวมเสื้อม่อฮ่อม ผ้าขาวม้าคาดเอว หญิง นุ่งซิ่นยาวกรอมเท้า สวมเสื้อแขนสามส่วน หรือเสื้อหม้อฮ่อมก็ได้ ปัจจุบันมีกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ให้ความสนใจกับศิลปะ วัฒนธรรมนี้มากขึ้น เด็ก และเยาวชนเริ่มนิยมนัดฟ้อนและเข้าร่วมฟ้อนในงานวัฒนธรรมต่างๆและได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก
ขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม
ชมทีวีออนไลน์ช่อง 3 แบบสดๆ ได้ที่นี่ |
ติดตามข่าวสารบันเทิงทีวีได้อีกช่องทาง Facebook.com/TVSociety |