“ใจ...มิรู้ถูกผิด แต่...หัวรู้ได้ ห้ามได้” (จาก มนตร์ทศทิศ — น.498) เคยมีคำกล่าวว่าในการสงครามนั้น ผู้ชนะย่อมเป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์ นั่นหมายถึงว่าจะกล่าว ‘ใส่ร้าย’ อีกฝ่ายหนึ่งที่ปราชัยอย่างไรก็ย่อมได้ โดยที่บางครั้งเราก็ลืมนึกไปว่าในการสงครามนั้น ไม่เคยมีผู้ชนะที่แท้จริง เพราะเมื่อใดก็ตามที่มีคำว่า ‘สงคราม’ เกิดขึ้น เราก็ล้วนแล้วแต่ตกอยู่ในฐานะผู้พ่ายแพ้เช่นเดียวกัน ยิ่งในบาง ‘สงคราม’ ยิ่งซ้ำร้าย เพราะว่าบางทีเราก็ยังตัดสินด้วยสายตาไม่ได้ด้วยซ้ำว่าใครกันแน่คือผู้ชนะ ในเมื่อต่างฝ่ายต่างก็ยังดึงดันว่าตนไม่ใช่ ‘ผู้แพ้’ อีกทั้งไม่ใช่ ‘ผู้ร้าย’ อีกด้วย นั่นหมายความว่าท่ามกลางความเบาะแว้งทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าเราจะยืนอยู่ตรงฝั่งใดก็ตาม เราก็ล้วนแล้วแต่ต้องรับบทบาททั้งสองบทบาท คือเป็นทั้งพระเอกและผู้ร้ายเสมอ สุดแล้วแต่ว่าเราจะถูกเรียกขานจากฝั่งใด อย่างเช่นในนวนิยายเรื่อง มนต์ทศทิศ เล่มนี้ก็เช่นกัน หากเอ่ยนาม “เมงจีสวา” เชื่อแน่ว่าหลายคนอาจจะไม่รู้จัก แต่หากเอ่ยชื่อว่า มังกยอชวา หรือ มังสามเกียด หลายคนอาจจะร้องอ๋อขึ้นมาทันที เพราะนี่คือชื่อของตัวละครที่สำคัญยิ่งตัวหนึ่งในภาพยนตร์ไทยอิงประวัติศาสตร์แห่งสยามประเทศอย่าง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ของ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ที่หลายคนคุ้นเคยกันดีในบทของ พระมหาอุปราชา ซึ่งเป็น ‘ตัวร้าย’ ในเรื่องนั่นเอง ใน มนตร์ทศทิศ จินตนิยายอิงประวัติศาสตร์ของ ราตรี อธิษฐาน เรียกพระมหาอุปราชาผู้ทรงพระปรีชาความสามารถพระองค์นี้ตามชื่อในพงศาวดารฉบับหอแก้วของพม่าว่า “เจ้าชายเมงจีสวา” และแน่นอนที่สุด ในนวนิยายเรื่องนี้พระองค์ไม่ได้มาในบทบาทของ ‘ผู้ร้าย’ อย่างที่คนไทยคุ้นเคย หากแต่มาในบทบาทของพระเอกเต็มตัว ชนิดที่เรียกได้ว่าน้อยคนจะได้เห็นพระองค์ในมุมนี้กันเลยทีเดียว มนตร์ทิศทิศ จัดเป็นจินตนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่ ราตรี อธิษฐาน ได้เขียนเกริ่นเอาไว้ในคำนำว่า “อยากให้อ่านเอาเป็นนิทานเพื่อความบันเทิงมากกว่าเป็นตำราทางประวัติศาสตร์” ตัวบทของนวนิยายแบ่งออกเป็นจำนวน 54 บทในส่วนของเนื้อหา บวกกับ 1 บทนำ และอีก 1 บทพิเศษในตอนท้ายเล่ม รวมความยาวทั้งสิ้นเกือบ 600 หน้า นวนิยายบอกเล่าเรื่องราวของ "เอื้องดาวเรียง" หญิงสาวที่มีโอกาสได้ไปสักการะ พระธาตุอินทร์แขวน ที่รัฐมอญ ประเทศพม่า แล้วประสบอุบัติเหตุพลัดตกลงไปในหุบเขาที่มีหมอกหนา ก่อนที่จะฟื้นตื่นขึ้นมาโผล่ในช่วงเดือน 7 สมัยจุลศักราช 930 ก่อนช่วงกรุงแตกครั้งที่ 1 เพียงไม่นาน และที่สำคัญก็คือเธอได้ฟื้นตื่นขึ้นมาในร่างของ "น้อย" เด็กสาววัย 13 ปีที่ไม่ยอมพูดจากับใครเลยนับตั้งแต่ที่เด็กสาวได้พลัดตกน้ำเมื่อตอนที่เธออายุได้เพียง 3 ขวบ ซึ่งในดินแดนแห่งใหม่นี่เอง ที่ เอื้องดาวเรียง ในร่างของ น้อย ได้กลายมาเป็นน้องสาวบุญธรรมของสองพี่น้องชาวไทย คือ พี่เพ็ญ — ข้ารับใช้เจ้าเมืองพระพิษณุโลกสองแคว และ พ่อเพชร — ผู้ติดตามรับใช้พระองค์ดำ หรือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช วีรบุรุษในประวัติศาสตร์ชาติที่คนไทยเรารู้จักกันดีนั่นเองพี่เพ็ญ และ พ่อเพชร ดีใจมาก ที่ “แม่น้อย” ซึ่งเป็นเด็กที่ทั้งสองได้ช่วยกันอุปการะเลี้ยงดูมาตั้งแต่ยังเยาว์สามารถกลับมาพูดได้อีกครั้งเหมือนคนปกติ ถึงแม้ว่า “แม่น้อย” คนใหม่นี้จะพูดจาอะไรที่ดูฟั่นเฟือนไปบ้างจากเดิมก็ตามทีโชคชะตาจับพลัดจับผลูให้ เอื้องดาวเรียง ในร่างของ “แม่น้อย” ได้มีโอกาสติดสอยห้อยตามขบวนมุ่งหน้าไปยังเมืองหงสาวดี ซึ่งที่เมืองหงสาวดีนี่เองที่ เอื้องดาวเรียง ได้กลายมาเป็นข้ารับใช้ประจำตำหนักของ พระเทพกษัตรี ตลอดจนได้พบกับทหารหนุ่มอีกสองคนคือ ตะนีงกะนเหว่ นายทหารคนหนึ่งที่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนกับ ปาวี พี่ชายในอีกโลกหนึ่งของเธอเป็นอย่างมาก และ อาโกจีจา ทหารหนุ่มอีกคนหนึ่งที่ชอบพาเธอปีนกำแพงหนีออกไปเที่ยวนอกวังอยู่เสมอเมื่อเธอรู้สึกเบื่อและคิดถึง ‘บ้าน’ ที่เธอจากมาอาโกจีจา ให้ความสนิทสนมและดูแล เอื้องดาวเรียง เป็นอย่างดีตลอดระยะเวลาที่ไปไหนมาไหนด้วยกัน ความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองหนุ่มสาวต่างกาลสมัยค่อยเติบโตขึ้นท่ามกลางความคุกรุ่นของทั้งสงครามภายในราชสำนักหงสาวดีและสงครามภายนอกกับกรุงศรีอยุธยา จนกระทั่งความสัมพันธ์อันดีที่ว่านั้นได้พัฒนาแนบแน่นกลายเป็นความรัก เอื้องดาวเรียง จึงได้รู้ความจริงว่าแท้ที่จริงแล้ว อาโกจีจา ของเธอหาได้เป็นนายทหารธรรมดาไม่ หากแต่เขาคือ เจ้าชายเมงจีสวา พระมหาอุปราชาแห่งหงสาวดี พระมหาอุปราชซึ่งในวิชาประวัติศาสตร์ของโลกที่เธอจากมาได้บันทึกเอาไว้ว่าพระองค์จะถูกปลิดชีวิตโดย สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในขณะทำสงครามยุตหัตถี ! ราตรี อธิษฐาน ได้เล่าประวัติศาสตร์ในช่วงที่คนไทยเราคุ้นเคยกันดีออกมาเป็น ‘นิทาน’ ฉบับเล่าใหม่ เพราะถึงแม้จะเป็นการเล่าเรื่องราวในช่วงไทม์ไลน์ที่ เจ้าชายนเรศ หรือ พระองค์ดำ กำลังจะกลับมากอบกู้เอกราชคืนจากพม่า แต่การที่ผู้เขียนได้มอบให้ทางฝั่งหงสาวดีเป็นผู้เล่าเรื่อง อีกทั้งยังให้ฉากหลังของเรื่องปักหลักอยู่ที่เมืองหงสาวดี จึงทำให้ เจ้าชายเมงจีสวา ผู้เป็นพระโอรสของ นันทบาเยง ซึ่งเคยตกเป็นตัวร้ายเสมอมาในสายตาของคนไทย มีโอกาสได้พลิกกลับขึ้นมารับบทพระเอกอย่างเต็มตัวในเรื่องเล่าชุดนี้ ถึงแม้ว่าจะเป็น ‘นิทาน’ ที่มีเค้าโครงเรื่องพิงอยู่กับความจริงทางประวัติศาสตร์ แต่ผู้อ่านก็ไม่ต้องกลัวว่าเนื้อหาของเรื่องจะหนักหน่วง เคร่งเครียด เพราะเอาจริง ๆ แล้ว นิยายเรื่องนี้จะออกไปในแนวโรแมนติกพาฝันเสียด้วยซ้ำ โดยเฉพาะบทเบา ๆ ที่เล่าถึงความรักความสัมพันธ์แบบกุ๊กกิ๊กฟินจิกหมอนของคู่พระนาง คือเจ้าชายเมงจีสวาและเอื้องดาวเรียง ซึ่งมีแทรกอยู่เป็นระยะ ๆ เกือบตลอดทั้งเรื่อง จึงทำให้ฉากที่ดูหนักหนักหน่วงและ ‘ดาร์ค’ จริง ๆ ในเรื่องมีอยู่เพียงไม่กี่ฉากเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะปรากฏอยู่ในตอนท้าย ๆ ของเรื่อง เช่น ฉากการตลบแผนซ้อนแผนของนัดจินหน่อง ฉากที่เจ้าหญิงนัดเชงเมดอถูกเผาทั้งเป็นในขณะที่กำลังออกปากตระโกนร้องให้เอกา — ทหารองครักษ์คนสนิทรีบหนีไป เป็นต้น นอกเหนือไปจากฉากเหล่านี้ มนตร์ทิศทิศ ก็ถือได้ว่าเป็นนิยายเบา ๆ ที่อ่านได้สบาย ๆ เพื่อความบันเทิง ถูกจริตนิยมแบบ “บุพเพสันนิวาส” เลยทีเดียว ราตรี อธิษฐาน เริ่มต้นบทประพันธ์ในช่วงครึ่งแรกของนวนิยายโดยใช้บทร้อยกรองเข้ามาเป็นตัวนำบท แม้จะเป็นบทร้อยกรองที่มีฉันทลักษณ์ ‘แกว่ง ๆ ’ จนอาจทำให้กลุ่มผู้อ่านที่เสพทั้งงานร้อยแก้วและร้อยกรองบางท่านต้องแอบเผลอขมวดคิ้วกันบ้าง ทว่าอย่างน้อยก็ยังทำให้เห็นถึงความพยายามในการนำเสนอกลิ่นอายย้อนยุคผ่านบทประพันธ์ฉันทลักษณ์ของผู้ประพันธ์ สิ่งที่ยังค้างคาใจหลังจากอ่านนวนิยายเรื่องนี้จบ น่าจะเป็นเรื่องราวของความสมเหตุสมผล แรงจูงใจ และที่มาของ พี่เสือ และ หนูมะลิ ในบทพิเศษส่งท้าย ซึ่งถึงแม้จะไม่ได้บอกกล่าวกับผู้อ่านโดยตรง แต่ผู้เขียนก็แอบแฝงนัยยะเอาไว้ในบทสนทนา ว่าเป็นการกลับชาติมาเกิดของตัวละครเอกทั้งสองตัว คือ เจ้าชายเมงจีสวา และ เอื้องดาวเรือง นอกจากนี้ก็ยังทำให้เราแอบขมวดคิ้วกับชื่อเรื่อง “มนตร์ทศทิศ” ว่าสรุปแล้ว ราตรี อธิษฐาน ต้องการจะสื่อไปถึงตัวละครใดกันแน่ เพราะคำว่า “ทศทิศ” หรือ ฉายาสิบทิศนั้น หมายถึง บุเรงนอง (ไม่ใช่หงสาวดี) แต่ในขณะที่นวนิยายเรื่องนี้นั้น ตัวละคร ‘บุเรงนอง’ เองกลับมีบทบาทอยู่เพียงน้อยนิดเท่านั้น อย่างไรก็ตาม มนตร์ทิศทิศ ก็นับเป็นนวนิยายที่ ‘กล้าเล่า’ อีกเรื่องหนึ่ง โดยเฉพาะการเล่าเรื่องผ่านทางมุมมองของ พระมหาอุปราช ในฝั่งพม่า ว่าเจ้าชายผู้ทรงอ่อนแอไม่เอาไหนในสายตาของใคร ๆ พระองค์นั้น แท้ที่จริงแล้วพระองค์เองก็ทรงมีความดุดันเด็ดขาดและเป็นคนที่มีความสามารถคนหนึ่ง แต่ที่ไม่อาจจะแสดงความสามารถที่แท้จริงออกมาได้ก็ด้วยเหตุผลทางการเมืองบางประการ จึงทำให้พระองค์ต้องวางตัวในแบบที่เรียกกันว่า ‘อยู่ให้เป็น’ ท่ามกลางคำพูดที่ออกไปในทางคำดูถูกของผู้คนในราชสำนัก ซึ่งในประเด็นนี้ถือว่า ราตรี อธิษฐาน สามารถนำเสนอมุมมองออกมาได้ดี พอ ๆ กับการเขียนเล่าบรรยากาศของวังกัมโพชธานีและเมืองหงสาวดีที่เล่าออกมาได้ค่อนข้างละเอียด สามารถทำให้ผู้อ่านจินตนาการตามแล้วเห็นภาพ โดยอาศัยความเป็นเด็กอยากรู้อยากเห็นของ “แม่น้อย” ได้อย่างคุ้มค่าสำหรับการสร้างตัวละครตัวหนึ่ง ๆ ขึ้นมา นอกเหนือไปจากการเขียนให้ “แม่น้อย” ได้พบกับ “อาโกจีจา” ที่เธอเข้าใจว่าเป็นมหาดเล็กของเจ้าชายเมงจีสวาผู้ไม่เอาไหน เพื่อส่งต่อบท ‘ฟินๆ’ พาฝันให้นักอ่านสายหวานได้จิกหมอนตาม ๆ กันไป ก่อนที่จะเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงของตัวละครเอกให้ผู้อ่านทราบตามแนวทางของขนบเรื่องแต่งที่หลายต่อหลายเรื่องเคยทำมาแล้วก่อนหน้านี้ เมื่อมองในแง่ของความสมจริงของตัวละคร โดยส่วนตัวแล้วเมื่ออ่าน มนตร์ทิศทิศ จนจบ ตัวละครที่น่าสนใจและน่าติดตามที่สุดกลับไม่ใช่ เจ้าชายเมงจีสวา และ เอื้องดาวเรียง หากแต่กลับเป็นเรื่องราวที่พลิกผันไปมาระหว่าง นัดจินหน่อง และ เจ้าหญิงราชาธาตุกัลยา ซึ่งน้อยคนจะได้รู้ซึ้งถึงรายละเอียด เพราะไม่ค่อยมีนักประวัติศาสตร์คนไหนกล่าวถึงมากนัก ซึ่งข้อนี้เองที่เป็นมนตร์เสน่ห์อันแท้จริงของนวนิยาย (ที่เซไป) อิงประวัติศาสตร์ “มาวันนี้...เราเข้าใจแล้วว่าสุขคือสิ่งใด แลทุกข์คือสิ่งใด” เจ้าหญิงเมงตรานะมะโดทอดพระเนตรไนอ่อง “อำนาจราชทรัพย์ใดก็มิอาจทำให้เราสุขได้เลย หากคนที่เรารัก...ก็มิอาจรักได้” “โปรดระวังถ้อยรับสั่งด้วยพระเจ้าค่ะ...คนเราเกิดมาต่างมีหน้าที่ของตน หน้าที่ของกระหม่อมคือเป็นทหารรักษาพระองค์ แลหน้าที่ของพระองค์คือเจ้าหญิงพระราชธิดาของเจ้าเมืองเชียงใหม่ แลต่อไปก็จักได้เป็นมเหสีของเมืองใดเมืองหนึ่ง” (จาก มนตร์ทศทิศ — น.508)ขอบคุณรูปภาพ PIC 1-3 : Sahamongkol Film / PIC 4 : ภาพโดยผู้เขียน