รีเซต

[รีวิว] Squid Game: The Challenge เรียลลิตีโชว์โกโกวา สนุกอีกรสชาติที่ยังขาด ๆ เกิน ๆ

[รีวิว] Squid Game: The Challenge เรียลลิตีโชว์โกโกวา สนุกอีกรสชาติที่ยังขาด ๆ เกิน ๆ
แบไต๋
1 ธันวาคม 2566 ( 09:00 )
1.3K

แม้จะ 2 ปีมาแล้ว แต่เชื่อว่าหลายคนยังคงจำ ‘ปรากฏการณ์โกโกวา’ ของซีรีส์ระทึกขวัญ ดราม่าเอาตัวรอดสัญชาติเกาหลีใต้อย่าง ‘Squid Game’ (2021) (สควิดเกม เล่นลุ้นตาย) ที่ดังระบือลือลั่นไปทั่วโลกได้อย่างดีนะครับ เพราะเป็นซีรีส์ออริจินัลของ Netflix ที่มีผู้ชมมากเป็นประวัติการณ์ทั้งในเกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา และทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย

เอาแค่สถิติทุกวันนี้ (พฤศจิกายน 2023) ไม่น่าเชื่อว่า ซีรีส์เรื่องนี้ยังติดอันดับ 6 ยอดผู้ชมมากที่สุดในประเภทรายการทีวี (ที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษ) ในตาราง Global Top 10 อยู่เลย นอกจากนี้ ตัวซีรีส์และนักแสดงนำยังคว้ารางวัลระดับโลกมาแล้วมากมาย ทั้งรางวัลลูกโลกทองคำ, SAG Awards, Primetime Emmy Awards และอีกเป็นกระบุง

และก่อนที่เราจะได้มีโอกาสชม ‘ซีรีส์’ ซีซัน 2 ที่คาดว่าน่าจะได้ชมกันภายในปีหน้าโน่น Netflix ก็สานต่อปรากฏการณ์ปรากฏการณ์ฮิต ด้วยการเนรมิตเกมการแข่งขันสุดโหดจากในซีรีส์ ออกมาเป็นเกมที่สามารถแข่งได้จริง ๆ (แต่ไม่ตายจริง) ใน ‘Squid Game: The Challenge’ ที่หยิบเอาเกมการแข่งขันสุดระทึกบีบหัวใจจากซีรีส์ ที่ดัดแปลงจากการละเล่นเด็กเกาหลี มาสู่รูปแบบของรายการเรียลลิตีเกมโชว์ที่ให้ผู้ชมทางบ้านมาร่วมแข่งขัน

ผู้แข่งขัน 456 คน หลากหลายวัย หลายเชื้อชาติจากทางบ้านทั่วโลก ที่ผ่านการออดิชันจากคลิปวิดีโอ จะได้เข้ามาร่วมเล่นในเกมสุดท้าทาย ที่เรียกได้ว่าถอดแบบจากซีรีส์แบบเกือบครบ ทั้งเกมโกโกวา เอ๊ย ไฟแดงไฟเขียว (Red Light, Green Light หรือ ‘เออีไอโอยูหยุด’), เกมแกะแผ่นน้ำตาลทัลโกนา (Dalgona), เกมลูกแก้ว, เกมข้ามสะพานกระจก และเกมใหม่ที่เพิ่มเข้ามา ซึ่งกติกาก็ยังคงเหมือนเดิมคือ ใครที่เล่นแพ้ ก็จะถูกกำจัดออกไป (แต่ไม่มีโป้งป้างนะ)

และทุก ๆ คนที่ถูกกำจัด เงินรางวัลกองกลางก็จะเพิ่มขึ้นคนละ 10,000 เหรียญไปเรื่อย ๆ จนในท้ายที่สุด หลังแข่งเกมสุดท้าย ผู้เข้าแข่งขันเพียงคนเดียวที่ไม่แพ้ใครเลย ก็จะได้รับเงินรางวัลแจ็กพอตทั้งหมด 4.56 ล้านเหรียญ (ประมาณ 160 ล้านบาท) ไปครอง ซึ่งเงินรางวัลสูงขนาดนี้ ย่อมต้องเปลี่ยนชีวิตใครบางคนเหมือนกับพี่ซองกีฮุน (อีจองแจ – Lee Jung-jae) ผู้แข่งขันหมายเลข 456 (ผมสีแดงเถือก) อย่างแน่นอน

ในแง่ของโปรดักชัน ฉากถูกสร้างขึ้นมาใหม่ที่ สตูดิโอแลมเบิร์ต (Studio Lambert) ในอังกฤษ ซึ่งอันที่จริงก็ต้องชมแหละว่า มีการทุ่มทุนเพื่อเนรมิตฉากต่าง ๆ ที่เคยอยู่ในซีรีส์ออกมาสู่โลกแห่งเกมโชว์ได้ใกล้เคียงมาก คือดูไม่เป็นงานลอกเลียนแบบหรืองานเผาให้เสียชื่อ Netflix แน่นอน อีกจุดที่ต้องชมก็คือการออกแบบฉากส่วนใหม่ ๆ ที่มีเฉพาะในรายการ ซึ่งก็ต้องชมแหละว่า แม้ทีมโปรดักชันจะคนละเจ้า แต่การเอา Key Visual และธีมสีมาใช้ก็ยังทำได้ดีและไม่หลุดธีม ซึ่งมันก็จะส่งผลให้งานโปรดักชัน การถ่ายทำก็อยู่ในคุณภาพที่ดีมาก ๆ ไปด้วย

แต่นั่นก็เป็นเปลือกนอกล่ะนะครับ เพราะความยากโหดหินของรายการนี้ก็คือการที่มันไม่ได้เป็นรายการออริจินัลที่มีกติกาเป็นของตัวเอง จะคิดจะเล่นยังไงก็ได้ แต่เป็นรายการที่แปลงมาจากซีรีส์แนวเกมเอาตัวรอดที่มีกติกาชัดเจน แถมเป็นซีรีส์ระดับโลกที่ผ่านสายตาหลายสิบล้านคู่มาแล้วนั่นเอง และความยากเหล่านั้นมันก็สะท้อนมาถึงจุดสังเกตต่าง ๆ ของรายการอย่างเห็นได้ชัด

ตั้งแต่การแข่งเกม ที่แม้ว่าหลาย ๆ เกมจะเคยเห็นในซีรีส์จนช้ำไปหมดแล้ว และการตัดต่อช่วงการแข่งเกมที่ยังไม่ไหลลื่น การสอดแทรกเสียง-ภาพสัมภาษณ์ Off-Scene ของผู้เข้าแข่งขันจนทำให้ดูเนือยหนีดไปบ้าง แต่โดยรวม ๆ แล้ว เกมออริจินัล (เออีไอโอยูหยุด,แกะแผ่นน้ำตาล,เกมลูกแก้ว,ข้ามสะพานกระจก) อาจจะไม่ได้ลุ้นระทึกหรือโหดจนมือหงิก แต่ก็ยังมีความดูสนุก ได้บรรยากาศใกล้เคียงกับซีรีส์

ในขณะที่เกมใหม่ ๆ ทั้งเกมเรือรบยิงขีปนาวุธ (Warship) ที่มาแทนเกมชักเย่อ ที่แม้จะเป็นเกมวางแผนกลยุทธ์ที่น่าสนใจ แต่มันกลับดึงดูดให้น่าตื่นเต้นได้เพียงแค่การแข่งแมตช์แรก ๆ เท่านั้น รวมทั้งบรรดาการทดสอบเพื่อ ‘คัดคนออก’ ที่้แม้บางเกมจะดูมีกิมมิก เช่น การมีตัวช่วยพิเศษ รวมทั้งการเพิ่มกิมมิกบางอันที่น่าลุ้นใช้ได้เลย เช่น การใช้เล่ห์เหลี่ยมหลอกล่อเพื่อเอาตัวรอด หรือการจับกลุ่มผู้เข้าแข่งขัน หรือการคัดคนออกแบบเซอร์ไพรส์

แต่ด้วยการตัดต่อ และรูปแบบการนำเสนอที่ไม่ได้เร้าใจเท่าที่ควร ก็เลยทำให้การคัดออกไม่ได้เป็นไปเพื่อพลิกสถานการณ์ให้น่าสนใจ สร้างอุปสรรคและข้อได้เปรียบให้ผู้เข้าแข่งขันบางคน หรือขับเน้นอารมณ์ดราม่าความไว้วางใจ ไม่แม้แต่จะเป็นการคัดคนออกตามความสามารถ แต่เป็นเพียงการคัดให้คนน้อยลงจะได้จบไปเร็ว ๆ เท่านั้น

อีกความยากก็คือ ต่อจะให้เรียกว่าเป็นรูปแบบเกมโชว์เรียลลิตี แต่ดูจากดาวอังคารก็ดูออกว่ามันเป็นรายการเรียลลิตีแบบมีสคริปต์ (Scripted Reality) คือมีการ ‘จัดวาง’ คาแรกเตอร์ของผู้เข้าแข่งขันไว้ประมาณหนึ่งนั่นแหละ ซึ่งความยากของรายการที่มีผู้เข้าแข่งขันยุ่บยั่บ โดยเฉพาะเกมเน้นพละกำลังในตอนแรก ๆ ของรายการก็คือ การมีผู้เข้าแข่งขันเยอะมากจนไม่รู้ว่าจะโฟกัสใครได้จริง ๆ แถมผู้เข้าแข่งขันบางคนก็เหมือนถูกจับวางให้มีคาแรกเตอร์แบบหลวม ๆ ยิ่งพอผู้เข้าแข่งขันคนไหนมีพฤติกรรมแรง ๆ น่าหมั่นไส้ หรือมีเสียงออฟซีนบรรยายชีวิตตัวเอง ก็ยิ่งเดาชะตากรรมของผู้เข้าแข่งขันคนนั้นได้ง่ายเข้าไปอีก

ในขณะที่รายการช่วงแรก ๆ กลับเน้นคาแรกเตอร์พื้น ๆ เช่น นักกีฬาจอมเบ่ง ผู้หญิงมั่น LGBT บุคลิกแรง ๆ คนเคร่งศาสนาที่อ่อนแอ ลุงใจดี แม่และลูกชายที่สมัครมาแข่งพร้อมกัน ที่อยากได้เงินไปทำอะไรบางอย่าง กว่าที่คาแรกเตอร์ ‘ตัวขาย’ ที่ซับซ้อนมีมิติ สะท้อนตัวตน สันดาน ความไว้วางใจ ความเป็นมนุษย์ การงัดด้านมืดของตัวเองออกมาเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบในเกม ความมนุษย์ป้า ฯลฯ (ซึ่งเป็นธีมหลักของ ‘Squid Game’) ของผู้เข้าแข่งขันแต่ละคนจะออกมาดึงดูดสายตา รู้สึกน่าเอาใจช่วย (และน่าหมั่นไส้) จริง ๆ ก็ต้องรอจนถึงเกมทดสอบความไว้ใจที่มีผู้เข้าแข่งขันจำนวนน้อย ๆ แล้ว ยิ่งพอคนดูไม่ได้เห็นภาพและรู้สึกถึงการถูกกำจัดจริง ๆ (เท่าในซีรีส์) ก็ยิ่งทำให้ขาดรสชาติความลุ้นระทึก สะเทือนใจไปมากโขทีเดียว

แน่นอนว่าคงเปรียบเทียบกันตรง ๆ ไม่ได้ระหว่างซีรีส์ที่สนุกตื่นเต้นอยู่แล้ว กับเรียลลิตีโชว์ที่ต้องปรับเปลี่ยนบางอย่างเพื่อให้เหมาะสมกับการถ่ายทำ ความปลอดภัย แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีโปรดักชันที่ดี ความเคารพต้นฉบับ มีกิมมิกตอนท้าย ๆ ถ้าใครชอบซีรีส์ หรือชอบรายการแนวเรียลิตีโชว์ หรือคุ้นกับความเป็น Scripted Reality ที่มีดราม่าเจือปนอยู่เป็นทุนเดิม ก็น่าจะดูสนุกได้ไม่ยาก ถือว่ายังเป็นรายการที่มีความดูสนุก เพลิน ๆ ดูไปรีดผ้าไปได้อยู่นะ

แต่ถ้าไม่ถนัดเรียลลิตี ไม่อยากดูดราม่า ไม่อยากดูอะไรยืดย้วย ไม่สนปมจิตวิทยา ไม่สนใจใครใจซื่อใจคด อยากดูบันเทิงคนแข่งเกมเอาเงินอย่างเดียว คลิปแข่งสควิดเกมของนาย MrBeast ในยูทูบก็ยังน่าสนใจครับ