รีเซต

[รีวิวหนัง] "Bangkok Breaking ฝ่านรกเมืองเทวดา" แอ็กชันเดือดเลือดพล่าน ฉบับเมืองหมาใหญ่ไล่หมาเล็ก

[รีวิวหนัง] "Bangkok Breaking ฝ่านรกเมืองเทวดา" แอ็กชันเดือดเลือดพล่าน ฉบับเมืองหมาใหญ่ไล่หมาเล็ก
แบไต๋
26 กันยายน 2567 ( 11:00 )
12.4K

เมื่อ 3 ปีที่แล้ว Netflix ได้ฤกษ์ปล่อย ‘Bangkok Breaking มหานครเมืองลวง’ (2564) ออริจินัลซีรีส์ไทยผลงานการกำกับและเขียนบทโดย โขม ก้องเกียรติ โขมศิริ และได้นักเขียนซีไรต์อย่าง ปราบดา หยุ่น มาทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสร้างและช่วยเขียนบท จนได้เป็นซีรีส์แอ็กชันทริลเลอร์ความยาว 6 ตอนที่มีธีมในการแฉด้านมืดของเมืองฟ้าอมร จนมาถึงปีนี้ Netflix ก็ทำเซอร์ไพรส์ด้วยการหยิบเอาธีมนี้มาขยายในรูปแบบหนัง Spin-Off ความยาว 2 ชั่วโมงครึ่งที่ยังคงใช้ชื่อ ‘Bangkok Breaking’ แต่เปลี่ยนชื่อไทยเป็น ‘ฝ่านรกเมืองเทวดา’ โดยมีตัวละคร นายวันชัย ไพรสูง ไอ้หนุ่มผู้มีศรัทธาในการช่วยเหลือมนุษย์ ที่รับบทโดยพี่เวียร์ ศุกลวัฒน์ คณารศ กลับมาเดินเครื่องฝ่านรกพร้อมกับตัวละครและเรื่องราวใหม่เอี่ยม

เรี่องราวของ ‘Bangkok Breaking ฝ่านรกเมืองเทวดา’ เล่าเรื่องราวของ วันชัย (ศุกลวัฒน์ คณารศ) เจ้าหน้าที่กู้ภัยที่ต้องเข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์จลาจลในม็อบผู้ชุมนุมของชาวเคหะชุมชนรวมใจ ที่ต่อต้านการขับไล่ที่เพื่อนำพื้นที่ไปสร้างอภิมหาโปรเจกต์เมืองสวรรค์ แต่เหตุการณ์ครั้งนั้นกลับทำให้เขาถูกพักงานอย่างไม่มีกำหนด วันชัยจึงหันมาทำอาชีพไรเดอร์ส่งอาหาร แต่แล้ววันหนึ่ง ในระหว่างที่เขาเดินทางไปส่งชานมไข่มุกให้กับเมจิ (มายด์ 4EVE, อาทิตยา ตรีบุดารักษ์) พยาบาลฝึกหัด ทั้งคู่กลับต้องเข้าไปพัวพันในเหตุการณ์การลักพาตัวดวงกมล (ณัฐธยาน์ องค์ศรีตระกูล) ลูกสาวเจ้าของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่

และคนที่รับงานลักพาตัวดวงกมลก็คือ สายสิญจน์ หรือ สิน (สัญญา คุณากร) โชเฟอร์แท็กซี่ผู้มีอีกด้านเป็นนักสังหารเจ้าของฉายา ‘สินนัดเดียว’ ร่วมกับแบงค์ (ธีรภัทร โลหนันทน์) หลานชายแท้ ๆ เพื่อหวังจะตั้งต้นชีวิตใหม่ แต่แล้วเหตุการณ์ก็บานปลายจนทำให้พวกเขาเดินทางเข้ามาติดอยู่ในเคหะชุมชนร่วมใจ เมืองอันตรายที่ไม่ใช่แค่โสมม แต่ยังเต็มไปด้วยภัยร้าย โดยมีดาร์ลี่ (เดย์ ไทเทเนียม, เนเมียว ธาน) เป็นผู้ควบคุม และ แจ็ค (สุทธิภัทร สุทธิวาณิช) หน่วยกู้ภัยที่มีภารกิจแอบแฝง วันชัยจึงต้องหาทางช่วยเหลือดวงกมลและเอาชีวิตรอดออกไปจากนรกแห่งนี้ให้ได้

สำหรับคนที่กังวลว่าจะต้องดู ‘มหานครเมืองลวง’ มาก่อนหรือไม่ คำตอบสำหรับผู้เขียนก็คือไม่จำเป็นเลยครับ เพราะนอกจากตัวละครวันชัย (และตัวละครบางตัวจากซีรีส์ที่กลับมาด้วย) รวมทั้งการสอดแทรก Easter Egg จากฉบับซีรีส์เล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ไม่ได้มีอะไรเชื่อมโยงกันในเชิงเนื้อเรื่องนะครับ เพราะฉะนั้นจะดูอันไหนก่อนหลังก็ได้ ซึ่งความที่มันอยู่ในฟอร์แมตภาพยนตร์ มันก็ได้เปรียบตรงที่แม้ว่าจะแอบมีตัวละครโผล่มาเยอะแยะพัลวันไปบ้าง แต่ตัวหนังก็ลากเข้าสถานการณ์แอ็กชันระห่ำเต็มสูบแบบไม่ต้องให้รอนาน แถมยังเป็นแอ็กชันแนวไล่ล่าที่ชวนให้นึกถึงหนังแอ็กชันไทย ๆ ยุครุ่งเรืองแถว ๆ ต้นปี 2000 ที่ต้องมีซีนไล่ล่าบนถนนเป็นไฮไลต์สำคัญ

สิ่งที่ยังพอเห็นถึงความพัฒนาให้เข้ากับยุคสมัยก็คงเป็นเรื่องของการครีเอต วางพล็อต และสร้างสถานการณ์ที่ใหญ่ขึ้น พูดประเด็นและธีมที่ลึกขึ้น ในขณะเดียวกันก็แทรกซีนแอ็กชันสนุก ๆ เอาไว้ท่ามกลางสถานการณ์ตึง ๆ และดราม่าหน่วง ๆ แต่ดันมีแอบหยอดมุกตลกจังหวะนรกนิดหน่อย ซีนที่ขายของตัวซีรีส์มากที่สุดก็คงหนีไม่พ้นซีนการไล่ล่าบนรถพยาบาลที่มีจังหวะลองเทกมัน ๆ ที่เกิดจากงานสตันท์จริง ๆ แน่แหละว่ามันคงไม่ใช่ลูกเล่นใหม่ถอดด้าม และก็รู้สึกว่าน่าจะมีเยอะกว่านี้ได้ แต่การได้เห็นโปรดักชันไทยมีอะไรแบบนี้ (ภายใต้ทุนสร้างและศักยภาพของทีมงานที่เพียงพอ) ยังไงก็เป็นเรื่องที่ชวนว้าวและแปลกตาสำหรับหนังแอ็กชันไทยมากทีเดียว

หลังจากฉากไล่ล่าอันเป็นไฮไลต์ ตัวหนังก็พาเราเข้าสู่สถานการณ์หนีเสือปะจรเข้ในเคหะชุมชนรวมใจ ซึ่งก็ยังคงขับเคลื่อนด้วยแอ็กชันเพียว ๆ แม้แอบมีจังหวะตกท้องช้างอยู่บ้าง โดยเฉพาะช่วงจังหวะซ่อนแอบที่กราฟความตื่นเต้นแอบหัวทิ่มนิด ๆ แต่ตามรายทางก็ยังถือว่ามีฉากแอ็กชันใหญ่ ๆ ที่กระตุกความตื่นเต้นได้อยู่ และความน่าสนใจหนึ่งของหนังก็คือการสร้างชุมชนเคหะที่มีความเป็นเมืองจำลองอยู่กลาย ๆ แม้ภาพรวมจะออกมาดูมีความเป็นสลัมในอุดมคติที่ดูเซอร์เรียลประมาณหนึ่ง คือดูเหมือนคนไร้บ้านมาอาศัยตึกร้าง มากกว่าสลัมที่มักมีที่อยู่อาศัยที่เป็นระบบมากกว่า แต่ในอีกแง่หนึ่ง ชุมชนที่เป็นเมืองจำลองนี้ก็เป็นตัวแทนของดิสโทเปียที่โอบอุ้มความเสื่อมทรามทั้งหลาย ทั้งความสกปรก หิวโหย เอารัดเอาเปรียบ อิทธิพล และอาชญากรรม เป็นภาพที่ Contrast กับใจกลางตึกรามบ้านช่องอันแสนศิวิไลซ์ที่น่าสนใจไม่น้อย

แม้เส้นเรื่องหลัก ๆ ตลอดความยาวหนังจะเป็นเรื่องของการผจญภัยออกแนวหนีเสือปะจรเข้ของบรรดาคนธรรมดาที่ต้องเข้ามาเผชิญชะตากรรมหลังตู้คอนเทนเนอร์ที่ถูกใช้เป็นบังเกอร์ และค่อย ๆ บังคับให้พวกเขากลายเป็นกึ่ง ๆ ฮีโรจำเป็นที่ต้องเอาตัวรอดจากอันตรายที่ตัวหนังระดมใส่สถานการณ์เดือด ๆ เข้าไปเป็นระยะ ๆ ตลอดทั้งเรื่อง ในขณะที่ตัวหนังก็ค่อย ๆ คลี่คลายให้เห็นการเชื่อมโยงของกลุ่มบุคคลที่โยงใยสถานการณ์เข้าด้วยกันจนเห็นภาพ อย่างที่ฝรั่งใช้คำว่า ‘Dog Eat Dog’ ที่หมายถึงสถานการณ์ที่ผู้มีอิทธิพล และกลุ่มคนอันชั่วร้าย (ทั้งที่เปิดเผยและแอบแฝง) ใช้ประชาชนตาดำ ๆ เป็นเครื่องมือในการเอารัดเอาเปรียบ และบีบให้ต่อสู้กันเองเพื่อผลประโยชน์เพียงหยิบมือ ราวกับหมาใหญ่ที่กำลังไล่งับหมาเล็กต่อกันไปเป็นทอด ๆ ก่อนที่หมาเล็ก ๆ เหล่านั้นจะถูกทิ้งขว้างเมื่อหมดประโยชน์

ซึ่งหมาใหญ่ที่ว่าก็คือบรรดาชนชั้นสูง การเมือง ระบบราชการ หรือแม้แต่องค์กรที่ดูขาวสะอาด แต่กลับมีเบื้องหลังอันโสมมซ่อนอยู่ และใช้อิทธิพลในการบีบบังคับคนที่อยู่ต่ำกว่า ทั้งชนชั้นแรงงาน คนไร้หลักฐาน ไร้หลักแหล่ง หรือแม้แต่คนชายขอบเป็นเพียงเบี้ยหมากและเครื่องมือในการทำนาบนหลังคน (จน) และตัวละครของวันชัยก็คือตัวแทนของคนธรรมดาที่ยังแน่วแน่ในการช่วยเหลือคนอื่น ๆ แม้ว่าตัวเองจะกลัว แต่สิ่งที่สำคัญกว่าก็คือ วันชัยคือตัวแทนของกลุ่มคนที่ไม่ยอมกลายไปเป็นหมาที่กินหมา และยอมถูกหมากิน แม้สถานการณ์รอบด้านจะบีบบังคับให้ทำแบบนั้นได้ไม่ยากเลยก็ตาม

อีกจุดที่ทำให้ตัวหนังต่างจากหนังแอ็กชันดาด ๆ ทั่วไปก็คงเป็นเรื่องของการสอดแทรกประเด็นสังคมและการเมืองอันซีเรียสหนักหน่วงเข้ามาในหนังนี่แหละ ตั้งแต่พล็อตเรื่องที่แอบชวนให้นึกถึงสภาพสังคม การเมือง บางตัวละครที่ชวนให้นึกถึง ‘บางคน’ ที่เคยอยู่ในองคาพยพการเมืองไทยช่วงทศวรรษที่ผ่านมาอยู่ตงิด ๆ แต่แน่นอนว่าพอตัวหนังต้องการบอกเล่าความเป็นดิสโทเปียของสังคมที่เกิดขึ้นจากการกระทำของกลุ่มบุคคลจำนวนมาก เอาแค่กลุ่มคนในเคหะทั้งที่เกี่ยวและไม่เกี่ยวกับอาชญากรรมก็มีอยู่อีกเพียบ หากมองในแง่ภาพรวม แม้ตัวหนังจะอัดแอ็กชันลุ้น ๆ ดูสนุกแบบชนิดติดหนึบได้ตลอดทั้งเรื่อง แต่ในภาพรวมการปะติดปะต่อกลไกของเรื่องราว ก็พบว่ายังมีความซับซ้อนวุ่นวายพอสมควร รวมถึงทำให้มิติของบางตัวละครจมหายไปบ้าง ซึ่งถ้าหนังเคลียร์ตรงนี้ได้ ประเด็นเกี่ยวกับหมาใหญ่ไล่หมาเล็กก็น่าจะทำให้ตัวหนังทรงพลังมากขึ้นไปอีก

ความโดดเด่นของหนังเรื่องนี้อีกจุดก็คือการแสดงของเหล่าบรรดานักแสดงที่เรียกได้ว่าทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างชัดเจนสมบูรณ์แบบ ในขณะที่พี่เวียร์ก็สามารถรับบทวันชัยได้น่าสนใจ มีกลิ่นอายที่แตกต่างจากฉบับซีรีส์อยู่ในระดับหนึ่ง ส่วน มายด์ 4EVE เข้ามาทำหน้าที่สร้างสีสันให้กับสถานการณ์เถื่อน ๆ ได้ดีทีเดียว รวมทั้งตัวละครที่หลายคนจับตาอย่าง พี่ดู๋ สัญญา ที่สามารถล้างภาพนพใน ‘ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด’ (2536) จนถึงบทบาทกู๋เคี้ยงใน ‘หลานม่า’ (2567) ไปได้เสียสิ้น กลายเป็นตัวละครขโมยซีนที่ดึงดูดสายตาได้ตั้งแต่วินาทีแรก ชนิดที่ผู้เขียนถึงกับอุทานในใจว่า “พี่ดู๋แม่-เท่ชิ-หาย ! ” และตัวละครของพี่ดู๋ก็ถูกสร้างขึ้นมาอย่างมีมิติและมีหัวใจ จนทำให้คนดูเข้าใจตัวละครนี้ได้จนถึงวินาทีสุดท้ายจริง ๆ

จริง ๆ ในแง่ของคาแรกเตอร์ก็ยังแอบมีข้อสังเกต เพราะนอกจากการที่ตัวหนังมีเส้นเรื่องและตัวละครยุ่บยั่บจนทำให้บางตัวละครกลืนหายไปกับหนังแล้ว ส่วนตัวยังแอบรู้สึกว่าอยากให้ตัวหนังมีการเติมแก่นเนื้อเรื่องของตัวละครหลักเพิ่มเข้าไปอีกสักหน่อย เพราะในขณะที่หนังใส่หัวใจด้วยการเติมปูมหลังของบางตัวละครให้เข้าใจและรู้สึกเอาใจช่วยได้ ก็แอบมีความเสียดายที่เราไม่ได้เห็นแง่มุน จุดยืน และมิติของอีกหลาย ๆ ตัวละครที่น่าสนใจเท่าที่ควร ในขณะที่บางตัวละครก็ใช้วิธีการบอกเล่าปูมหลังของตัวเองผ่านตัวละครโดยไม่ได้มีเส้นเรื่องมารองรับ ส่วนหนึ่งก็เข้าใจได้แหละว่าหนังต้องให้เวลากับสถานการณ์แอ็กชันและแบ็กกราวนด์ รวมทั้งตัวละครหลากฝ่ายหลายฝั่งที่มุ่งตรงเข้ามาในสถานการณ์ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไป แต่ถ้าหนังเติมตรงนี้เข้ามาอีกนิด ก็น่าจะช่วยให้ตัวหนังมีความลึกซึ้งในพาร์ตดราม่าเพิ่มขึ้นได้อีก

ไม่ว่าคุณจะเคยดูฉบับซีรีส์มาหรือไม่ นี่คือหนังที่ให้รสชาติที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิงเลยครับ เป็น 2 ชั่วโมงครึ่งที่อัดแอ็กชันที่ดุเดือด ในขณะเดียวกัน งานโปรดักชันและงานสตันท์สเกลใหญ่ที่โดยรวมแอบมีแผลนิด ๆ แต่โดยรวมถือว่าทำออกมาได้สมจริงและใหญ่โตชนิดที่โชว์ชาวโลกได้ รวมทั้งการแทรกประเด็นสังคม การเมือง มนุษยธรรม และความมีหัวใจของตัวละครเอาไว้อย่างเข้มข้น (แม้ว่าการแก้ปัญหาจะแอบพึ่งพาจังหวะนรกประมาณหนึ่ง แต่อย่างน้อยก็ยังดีกว่าตอนจบซีรีส์ที่มันช่าง ‘ฟ้ามีตา’ เหลือเกิน) รวมทั้งการแสดงของเหล่านักแสดงนำที่เรียกได้ว่าจัดเต็ม ในมุมของผู้เขียน จะบอกว่าเป็นหนังของพี่โขมที่ดีที่สุดอีกเรื่องหนึ่งก็คงไม่เวอร์เกินไป และก็คงไม่เวอร์เกินไปที่จะบอกว่า นี่คือการแสดงที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งของพี่ดู๋ด้วยเช่นเดียวกัน ดีในระดับตอนที่ผู้เขียนดูรอบสื่อจบ ถึงกับอุทานออกมาว่า “พี่ดู๋โว้ยยยยยยย ! “

โดย ประภาส อยู่เย็น