April, Come She Will เมษายน พาใครบางคนกลับมา | รีวิวความรักของคน 3 คน ที่มองผ่านโดยบุคคลที่ 4 หมายเหตุ: เนื้อหาหลังจากนี้อาจมีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์บางส่วน “รักแรกหรือรักสุดท้าย ใครคือคนที่รักคุณ?” คำโปรยที่แสดงให้เห็นถึงภาพของคน 3 คน เป็นประโยคคำถามที่ทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกสงสัย ตื่นเต้น และลุ้นปลายทางของภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่ไม่น้อย รวมไปถึงโปสเตอร์ที่ถูกถ่ายทอดด้วยสีภาพโทนอุ่น มีลูกเล่นกับแสงที่ขับให้นักแสดงและภาพรวมของโปสเตอร์มีความละมุนยิ่งขึ้น ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกรังสรรค์ขึ้นจากหนังสือเรื่อง “เดือนเมษายน พาใครบางคนกลับมา” เป็นวรรณกรรมที่เล่าเรื่องผ่านตัวละครอย่าง ฟูจิชิโระ ที่เป็นทั้งรักแรกของ ฮารุ และแฟนคนปัจจุบันของ ยาโยอิ เมื่อความเฉยชาที่มีในความสัมพันธ์ในปัจจุบัน กลับทำให้รักความสัมพันธ์ในอดีตเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น บริบทของ “เดือนเมษายน” และ “จดหมาย” กลายเป็นตัวแปรสำคัญในการเล่าเรื่อง ประกอบกับเพลงประกอบอย่าง Michi Teyu Ku (Overflowing) ที่มีการประพันธ์และขับร้องโดยคุณฟูจิอิ คาเสะ ศิลปินชื่อดัง เนื้อหาของเพลงถูกถ่ายทอดออกมาอย่างลึกซึ้ง สะท้อนถึงความเป็นจริงในชีวิตของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรม ร่างกายหรือความรู้สึก ไม่มีอะไรที่จะคงอยู่กับเราอย่างอนันต์เสมอไป ในเมื่อสิ่งต่าง ๆ ล้วนมีการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่เป็นเกราะป้องกันในการรับแรงกระแทกนี้คือการรู้จักที่จะยอมรับอย่างปล่อยวาง รีวิวความรักของคน 3 คน ที่มองผ่านโดยบุคคลที่ 4 เมื่อไหร่กันที่ความสัมพันธ์มาถึงจุดที่ละเลยกันและกัน ใช่ตอนที่เราต้องตื่นมาทำงานหามรุ่งหามค่ำหรือเปล่า? ใช่ตอนที่เหนื่อยจนอยากกลับมาแล้วพุ่งตัวลงนอนเลยหรือเปล่า? ใช่ตอนที่นึกขึ้นได้ว่านานเท่าไหร่แล้วที่เราไม่ได้นั่ง Deep Talk ด้วยกัน? หรือใช่ตอนที่เพิ่งคิดได้ว่าการมีอยู่ของคนข้าง ๆ เป็นแค่ความเคยชิน? มันไม่ใช่เรื่องที่แปลกหรอก หากวันหนึ่งเส้นความสัมพันธ์จะเรียบนิ่ง สิ่งที่สำคัญกว่าคือการรักษาเส้นความสัมพันธ์ที่เรียบนั้นให้คงอยู่ โดยส่วนตัวแล้วเข้าใจว่า การเข้ามาของ ฮารุ เป็นแรงกระตุ้นที่ทำให้ ฟูจิชิโระ ตระหนักถึงบทบาทการมีอยู่ของคนข้าง ๆ อย่าง ยาโยอิ ที่ถามกับคนรักของตัวเองขึ้นว่า “ต้องทำยังไง ไม่ให้รักจบลง…” ก่อนจะเอ่ยต่อราวกับคุยคนเดียวว่า “…การไม่ครอบครอง” ในช่วงอายุที่คำว่า “วุฒิภาวะ” นั้นค้ำคอ การจัดลำดับความสำคัญเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตจึงเป็นหนึ่งสิ่งที่ต้องจัดการ เมื่อโตขึ้นการตระหนักถึงความสำคัญจึงเปลี่ยนไป ตัวอย่างเช่น ตอนเป็นวัยรุ่น อาจจะจัดลำดับให้ความเป็นเพื่อนมาก่อนใคร แต่เมื่อกลายเป็นผู้ใหญ่ อาจจะจัดลำดับให้การทำงานอยู่เหนือสิ่งอื่นใดก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้จะเป็นไม่เป็นปัญหาในชีวิตรัก หากมีการปรับความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง เพราะท้ายที่สุดแล้วภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ปิดลงด้วยฉากที่ฟูจิชิโระกับยาโยอิเดินพูดคุยกันระหว่างเดินทางกลับบ้าน ทั้งนี้ การปรากฎตัวของฮารุก็ยังเปรียบเสมือนตัวแทนของจากบอกลาครั้งสุดท้าย หรือกล่าวอีกอย่างคือเป็นสิ่งที่อยากทำก่อนจากโลกใบนี้ จดหมายและภาพถ่ายของสถานที่ที่สวยงามที่ครั้งหนึ่งเคยวาดฝันไว้ว่าจะไปด้วยกันกับฟูจิชิโระ แต่วันนี้กลับมีเพียงฮารุที่เติบเต็มความฝันนี้อยู่เพียงคนเดียว แม้จะไม่เคยมีประสบปัญหาความรักแบบในเรื่องนี้มาก่อน จึงทำให้ไม่เข้าใจความรักของพวกเขาทั้งหมดในบางจุด แต่สิ่งที่รู้สึกเชื่อมโยงกับตัวเองคือ ตัวตนของตัวละคร บางความรู้สึกนึกคิดของตัวละครสะท้อนให้เห็นภาพของตัวเองในนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของฟูจิชิโระ นักจิตแพทย์ที่คอยช่วยเหลือและให้คำปรึกษากับคนไข้มากมาย แต่เมื่อถึงคราวที่ต้องเจอปัญหาเอง กลับหลงทางและหาทางออกด้วยตนเองไม่ได้ เช่นเดียวกัน… ถึงคอยให้ปรึกษาคนอื่นมาตลอด แต่ปัญหาตัวเองกลายเป็นสิ่งที่ยากที่สุดที่จะแก้ไข หรือการที่ยาโยอิมีความคิดว่าเมื่อไหร่ที่มีความสุข ความทุกข์ก็จะรอพบเราอยู่ข้างหน้าเสมอ ไม่ต่างกัน… ครั้งหนึ่งการมีความสุขกลายเป็นเรื่องต้องห้าม ต้องคอยควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ให้รู้สึกดีมากเกินไป เพราะเมื่อไหร่ที่มีความสุขมาก กระทั่งจู่ ๆ มีเรื่องที่กระทบต่อจิตใจเข้ามา ความรู้สึกในตอนนั้นจะดิ่งลงคูณสองทันที กลับกลายเป็นมีความรู้ผิดที่มาแทรกอยู่ในอก “ความรักแบบผู้ใหญ่?” โดยส่วนตัวแล้วรู้สึกว่า ภาพรวมของภาพยนตร์นั้นมีการเล่าเรื่องนั้นไม่ได้เน้นการเล่นกับอารมณ์ของผู้รับชมอย่างหวือหวามากนัก แต่ถ่ายทอดมุมมองด้วยความรักในรูปแบบที่ไม่จำเป็นต้องมีความรู้สึกที่สุดโต่ง ซึ่งอาจจะดูอืดอาดสำหรับบางคน แต่ในโลกความเป็นจริงแล้วนั้นสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้แตกต่างกันออกไปมากนัก เพราะความจริงแล้ว ภาระกับความรับผิดชอบเป็นสิ่งที่หลีกหนีไม่ได้ ถึงจะเสียใจแต่ก็ต้องตื่นออกไปทำงานในตอนเช้า ไม่ได้มีมาเวลาร้องไห้ฟูมฟายข้ามวันข้ามคืน ถึงจะเสียใจแต่ก็ต้องยิ้มให้กับลูกค้าที่นั่งรออยู่ด้านหน้า ไม่ได้สามารถแสดงความรู้สึกในใจได้ทุกอย่าง และคิดว่าหากเข้าใจความหมายของเพลงประกอบ จะทำให้มีอารมณ์ร่วมมากขึ้น โดยเฉพาะจังหวะที่เพลงขึ้นช่วง End Credits นอกจากนี้ ยังมีสิ่งที่สงสัยโดยส่วนตัวคือ ทำไมยาโออิถึงออกตามหาฮารุ? ซึ่งจากอ่านวิเคราะห์และรีวิวของคนอื่นทำให้เห็นความคิดเห็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ เขาตอบว่าเพราะยาโออิอยากรู้ว่าความรักที่ฮารุมีให้ฟูจิชิโระมันเป็นแบบไหน และทำไมความรักนั้นมันยังคงมีอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ ต่างกับตัวเองที่ตั้งคำถามขึ้นมาว่าต้องทำยังไง ไม่ให้รักจบลง ท้ายที่สุด ผลงานต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ มนุษย์ล้วนตีความได้ต่างกัน ภาพวาดชิ้นหนึ่งอาจตีความได้ออกมาหมื่นความหมาย ซึ่งหนึ่งในหมื่นนั้นอาจจะไม่มีความหมายที่ผู้สร้างตั้งใจจะสื่อมาก็เป็นได้ ผู้รับสารแต่ละคนอาจมีวิธีการทำความเข้าใจสื่อที่ต่างกันออกไป เช่นเดียวกันกับภาพยนตร์ ไม่ใช่ทุกเรื่องที่มนุษย์จะเข้าใจไปในทางเดียวกันหมด บางคนอาจรู้สึกพอใจหรือบางคนอาจรู้สึกผิดหวัง ดังนั้นการรีวิวครั้งนี้จึงเป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวที่อาจเป็นส่วนหนึ่งให้ผู้อ่านได้นำไปประกอบตัดสินใจในการรับชมหรือมีโอกาสแบ่งปันมุมมองภาพยนตร์เรื่องนี้จากผู้รับชม และขอขอบคุณทีมงานทุก ๆ คนที่มีส่วนช่วยในการรังสรรค์ภาพยนตร์ชิ้นนี้ขึ้นมา ขอขอบคุณภาพปกและภาพประกอบที่ 1, ภาพประกอบที่ 2 และภาพประกอบที่ 3 โดย MONGKOL CINEMA / ภาพประกอบที่ 4 โดย นักเขียน จะฟังเพลงหรือดูหนัง ซีรีส์ใหม่สุดปัง โหลดเลยที่ App TrueID โหลดฟรี !