รีเซต

ปายาล คาปาเดีย ผู้กำกับนิวเวฟแห่งอินเดีย เปิดใจ "All We Imagine As Light" ชิงลูกโลกทองคำ 2025

ปายาล คาปาเดีย ผู้กำกับนิวเวฟแห่งอินเดีย เปิดใจ "All We Imagine As Light" ชิงลูกโลกทองคำ 2025
Jeaneration
26 ธันวาคม 2567 ( 21:30 )
38

ในตอนแรกของ All We Imagine as Light นั้น พาเราไปสัมผัสชีวิตในมุมไบได้อย่างลึกซึ้งและงดงาม ไม่ว่าจะเป็นแสงไฟในเมือง ร้านค้า ร้านอาหารเล็กๆ รถไฟ รถบัส และรถไฟใต้ดิน หรือแม้กระทั่งชั้นใต้ดิน… และยังมีฝนที่เหมือนจะตกอยู่ตลอดเวลา ซึ่งช่วยสร้างบรรยากาศโดยรวมของเรื่องด้วย คุณเป็นคนมุมไบโดยกำเนิดหรือเปล่าคะ?

ฉันเป็นคนมุมไบ แม้ฉันจะไม่ได้โตที่นี่มาตลอดแต่มุมไบคือเมืองที่ฉันคุ้นเคยมากที่สุด มุมไบมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมสูง ผู้คนจากทั่วทุกมุมของอินเดียมาทำงานที่นี่ มันเป็นเมืองที่ค่อนข้างเปิดกว้างสำหรับผู้หญิงมากกว่าเมื่อเทียบกับหลายๆ เมืองในประเทศด้วย ฉันอยากเล่าเรื่องผู้หญิงที่ต้องออกจากบ้านมาทำงานที่อื่น และมุมไบก็คือที่ที่เหมาะที่สุดสำหรับเรื่องนี้ อีกแง่มุมหนึ่งของมุมไบที่ดึงดูดใจฉันคือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ส่วนหนึ่งมาจากกระแสความเฟื่องฟูในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เข้ามายึดพื้นที่ที่ผู้คนอาศัยอยู่มานานหลายปี หลายคนไม่มีเอกสารที่ถูกต้องเพื่อยืนยันสิทธิ์การอยู่อาศัย ทำให้คนที่มีอำนาจสามารถเข้าครอบครองพื้นที่ได้ง่ายขึ้นไปอีก 

พื้นที่หนึ่งที่ปรากฏในภาพยนตร์คือบริเวณระหว่างโลเวอร์ปาเรลไปถึงจนดาดาร์ มันเป็นพื้นที่ที่เคยเป็นแหล่งโรงงานฝ้ายขนาดใหญ่จนถึงช่วงปี 1980 แต่เมื่อโรงงานเหล่านี้เริ่มปิดตัวลง หลายคนก็ต้องตกงาน ที่ดินเหล่านี้เดิมทีได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลให้แก่เจ้าของโรงงานในราคาถูก ดังนั้นเมื่อโรงงานปิดตัวลง การแบ่งปันที่ดินให้ครอบครัวของคนงานจึงเป็นเรื่องยุติธรรม แต่กลับกลายเป็นว่าพวกเขาถูกโกงและพื้นที่นี้ก็ถูกเปลี่ยนเป็นคอนโดหรูและห้างสรรพสินค้าระดับไฮเอนด์แทน เจ้าของโรงงานได้รับผลประโยชน์มหาศาลขณะที่คนงานกลับไม่ได้อะไรเลย ถ้าคุณขับรถผ่านถนนเส้นนี้และมองไปยังสถาปัตยกรรมที่ตั้งอยู่มันก็สามารถบอกเล่าประวัติศาสตร์ทางสังคมและการเมืองได้แล้ว 

ในฉากตลาด มีเสียงชายคนหนึ่งพูดขึ้นมาว่าแม้เขาจะอยู่ในมุมไบมาหลายปี เขาก็จะไม่เรียกที่นี่ว่าบ้านหรอก เพราะเขารู้ว่าวันหนึ่งเขาอาจจะต้องจากไป... 

คนจำนวนมากที่มาทำงานในมุมไบมักไม่ได้พาครอบครัวมาด้วย พวกเขาได้เจอภรรยาและลูกแค่ปีละครั้ง ดังนั้นความรู้สึกของการเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนจึงเป็นสิ่งที่พวกเขารู้สึกอยู่ตลอดเวลา แม้มุมไบจะเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยโอกาสทางการเงินที่ดีที่สุดสำหรับหลายคน แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าชีวิตที่นี่จะง่ายเลย

ในแง่ของการถ่ายทำแล้วเนี่ย คุณจัดการอย่างไรให้ภาพยนตร์ดูเป็นส่วนหนึ่งของเมืองนี้จริงๆ?
การถ่ายทำในมุมไบมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงเพราะอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฮินดีทั้งหมดอยู่ที่นี่ สิ่งที่เราทำคือถ่ายทำโดยใช้กล้องสองตัว กล้องหลักใช้สำหรับสถานที่ที่เราได้รับอนุญาตให้ถ่ายทำ ส่วนกล้องตัวที่สองคือ Canon EOS C70 ขนาดเล็กที่ใช้งานได้ดีมาก ใช้ในสถานที่ที่เราไม่ได้รับอนุญาต เราจะทำทีว่ามาสำรวจสถานที่ถ่ายทำ นักแสดงให้ความร่วมมืออย่างมาก เพราะพวกเขาเคยแสดงในภาพยนตร์อินดี้มาก่อน กระบวนการทั้งหมดนี้จึงเป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่ามาก

คุณถ่ายทำในโรงพยาบาลจริงหรือเปล่า?
ฉันมีผู้ช่วยหาสถานที่ที่ยอดเยี่ยมชื่อ Kishor Sawant เขาขึ้นชื่อเรื่องการหาสถานที่น่าทึ่งในมุมไบ และเขายังเคยทำงานในหนังอาร์ทสำคัญ ๆ หลายเรื่องอีกด้วย เขามักจะหาสถานที่ที่สะท้อนความเป็นเมืองได้อย่างแท้จริง และยังไม่ค่อยมีใครเห็นบนจอภาพยนตร์มากนัก เขาพบโรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่กำลังจะถูกรื้อถอนในอีกไม่กี่เดือน อุปกรณ์การแพทย์ทั้งหมดภายในยังคงอยู่ครบจึงทำให้เราใช้สถานที่นี้ได้เป็นอย่างดี อพาร์ตเมนต์ในเรื่องก็เช่นเดียวกัน เราใช้ตึกที่เป็นโครงการบ้านราคาประหยัดซึ่งกำลังจะถูกรื้อถอน และสร้างอพาร์ตเมนต์ของ ประภา (Prabha) และ อนุ (Anu) ขึ้นที่นั่น

น่าแปลกใจมากที่พาร์ทสองของ All We Imagine as Light กลับไม่ได้เกิดขึ้นในมุมไบ แต่เป็นที่ชายทะเล…
พาร์ทที่สองเกิดขึ้นในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในเขตชายฝั่งของ Ratnagiri ในอดีต ผู้คนจำนวนมากจากภูมิภาคนี้เดินทางไปมุมไบเพื่อทำงานในโรงงานฝ้าย ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาพื้นที่ที่เป็นฉากในส่วนแรกของเรื่อง (โลเวอร์ปาเรลและดาดาร์) แต่เมื่อโรงงานฝ้ายปิดตัวลง ผู้คนต้องเผชิญความลำบากในการเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง ในช่วงเวลานั้นเอง ผู้หญิงหลายคนซึ่งสามีสูญเสียรายได้จากอาชีพเดิมและต้องลุกขึ้นมาสนับสนุนครอบครัวของพวกเธอ ผู้หญิงเหล่านี้จำนวนมากมาจากภูมิภาค Raigad และ Ratnagiri

พยาบาลสองคนที่แชร์อพาร์ตเมนต์กันอย่างอนุและประภา มาจากเขต Ratnagiri ด้วยหรือเปล่า?
อนุและประภามาจากรัฐเกรละทางตอนใต้ ซึ่งเป็นแหล่งที่ผู้หญิงจำนวนมากที่มาทำงานในมุมไบมาจาก อาชีพพยาบาลในรัฐเกรละเป็นอาชีพที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงและผู้หญิงที่เลือกทำงานนี้มักได้รับการสนับสนุนจากครอบครัว ถึงแบบนั้น ผู้หญิงที่มาทำงานในมุมไบจำนวนมากก็ยังไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างสมบูรณ์แม้ว่าครอบครัวจะอยู่ห่างออกไปก็ตาม ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้นถือเป็นความจริงที่พบได้ในผู้หญิงแทบทุกคนในประเทศนี้ แม้พวกเธอจะมีอินดี้ทางการเงินแต่ก็ยังคงมีความผูกพันแน่นแฟ้นกับครอบครัวที่บ้าน ครอบครัวยังคงควบคุมกฎเกณฑ์ทางสังคมและการตัดสินใจส่วนตัว เช่นเรื่องที่ว่าพวกเธอต้องรักหรือแต่งงานกับใคร

สามีของประภาอาศัยอยู่ในเยอรมนี และดูเหมือนว่าเธอจะไม่ได้ยินข่าวคราวจากเขามากนัก สถานการณ์แบบนี้นับเป็นเรื่องปกติไหม?
คนอินเดียจำนวนไม่น้อยแสวงหาโอกาสการทำงานในต่างประเทศ ในทุกๆ รัฐโดยเฉพาะรัฐที่มีชายฝั่งมักมีประวัติศาสตร์การอพยพแรงงานมายาวนานหลายศตวรรษ เช่นเดียวกับสามีของประภาซึ่งใฝ่ฝันที่จะทำงานต่างประเทศเพราะค่าตอบแทนที่สูงกว่า ผู้คนจากรัฐเกรละจำนวนมากมักเดินทางไปทำงานในตะวันออกกลางแต่ก็ไม่ได้จำกัดแค่ที่นั่นเท่านั้น เช่นเดียวกับมุมไบ ผู้ชายมักจะเป็นฝ่ายเดินทางไปต่างประเทศและทิ้งครอบครัวไว้ข้างหลัง

เราควรจะเชื่อไหมว่าสามีของประภาจะกลับมาหาเธอในท้ายที่สุด?
อาจจะเคยมีสัญญาไว้ในช่วงหนึ่งว่าเขาจะกลับมาหรือพยายามหางานให้เธอที่เยอรมนี แต่ดูเหมือนว่าเขาจะหายไปจากชีวิตของประพาและเจตนาของเขายังคงคลุมเครือในสายตาของพวกเรา ในความเป็นจริงแล้ว ประพาเองก็ไม่อยากได้ยินข่าวจากเขาเท่าไหร่นัก เมื่อเธอได้รับหม้อหุงข้าว ซึ่งสามารถตีความได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของชีวิตครอบครัว ทุกอย่างดูเหมือนจะพังทลายลงสำหรับเธอและเธอก็ผลักหม้อหุงข้าวออกไป ประพาเป็นคนที่ซับซ้อน เธอชัดเจนว่าชอบที่จะเป็นที่พึ่งของผู้อื่น เธอพยายามช่วยปรวตีให้รักษาอพาร์ตเมนต์ของเธอไว้ ที่โรงพยาบาลเอง เธอก็ใจดีกับหญิงชราที่มีอาการหลอนเช่นกัน อีกทั้งเธอยังจ่ายค่าเช่าส่วนของอานุอีกด้วย เธอเหมือนนางฟ้าในชุมชนของเธอเลย แต่ในขณะเดียวกันเธอก็เข้มงวดเล็กน้อยด้วย เธอไม่ได้คำนึงถึงความต้องการของตัวเองเท่าไรนัก

อานุมาจากรัฐเกรละด้วยใช่ไหม?
ใช่แล้ว อานุมาจากครอบครัวที่ค่อนข้างเคร่งครัด เธอเป็นคนที่มีความเป็นกบฏในตัวเอง เธอแสดงออกทั้งตัวตนและเรื่องเพศของเธอมากกว่าประพาและมากกว่าแฟนของเธอเองเสียอีก

ภาพยนตร์เรื่องนี้เองยังเกี่ยวกับมิตรภาพของผู้หญิงเหล่านี้ด้วย
มิตรภาพระหว่างผู้หญิงทั้งสามในเรื่องนี้ค่อนข้างซับซ้อน แต่ละคนมีข้อบกพร่องและไม่ได้สมบูรณ์แบบเสมอไป ฉันสนใจที่จะสำรวจความสัมพันธ์ที่ไม่มีคำนิยามชัดเจนแบบนี้ เมื่อเราโตขึ้นนั้น เพื่อนมักกลายเป็นระบบสนับสนุนที่แข็งแกร่งสำหรับเรา บางครั้งแข็งแกร่งกว่าครอบครัวเสียอีก โดยเฉพาะเมื่อเราต้องใช้ชีวิตไกลบ้าน ความสัมพันธ์แบบนี้เป็นสิ่งที่ฉันอยากสำรวจในภาพยนตร์เรื่องนี้

นักแสดงทั้งสามคนสุดยอดเลย ทั้งแข็งแกร่งและอ่อนโยนในเวลาเดียวกัน คุณเลือกพวกเธอมาแสดงได้อย่างไร?
เราคัดเลือกประภาก่อน เธอชื่อ คานี คุสรุติ (Kani Kusruti) ซึ่งแสดงในหนังอาร์ตหลายเรื่อง ฉันคิดถึงเธอตั้งแต่ตอนเขียนบทแล้วล่ะ เธอมีพื้นฐานทางการแสดงละครเวทีและมีความหลากหลายในการแสดงมาก เราทำงานร่วมกันก่อนถ่ายทำ โดยการอ่านบทกับนักแสดงคนอื่นๆ ค้นหาไอเดียใหม่ๆ หรือแม้กระทั่งปรับเปลี่ยนบทพูด แม้ว่าฉันจะพูดภาษาฮินดีและมราฐีได้ แต่ฉันไม่ถนัดภาษามาลายาลัมเลย การกำกับในภาษาที่ไม่คล่องนั้นยาก เพราะต้องอาศัยการตีความท่าทางมากมาย การทำงานกับคานีช่วยให้ฉันเข้าใจตัวละคร บริบททางสังคม และภาษาได้มากขึ้น

นักแสดงที่รับบทอานุคือ ดิวยา ประพา (Divya Prabha) เธอมาจากรัฐเกรละซึ่งอุตสาหกรรมภาพยนตร์อินดี้กำลังเฟื่องฟูมาก เธอเป็นนักแสดงนำในเรื่อง Ariyippu ที่ได้รับเลือกให้ฉายในเทศกาลภาพยนตร์โลการ์โนเมื่อสองปีก่อน ดิวยามีความเข้มแข็งและมีพลังในตัว เธอทุ่มเทให้กับบทบาทอย่างมากเลย

ส่วนปรวตีแสดงโดย ชายา กาดัม (Chhaya Kadam) ซึ่งเป็นนักแสดงที่มีประสบการณ์สูง เธอเคยแสดงทั้งในภาพยนตร์อินดี้และภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ด้วย เธอมักจะรับบทเป็นผู้หญิงที่เข้มแข็ง เธอเองก็มาจาก Ratnagiri หมู่บ้านของเธออยู่ไม่ไกลจากสถานที่ถ่ายทำ เธอจึงเข้าใจบริบทและประวัติศาสตร์ของการเดินทางเข้ามาในมุมไบเพื่อหางานแต่ไม่สำเร็จเสมอไป

คุณถ่ายทำเมื่อไหร่?
เราถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นสองช่วง ช่วงแรกถ่ายในมุมไบในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม 2023 ในช่วงมรสุมหนัก เทศกาล Ganapati ที่ปรากฏกลางเรื่องถือเป็นตัวแบ่งเริ่มต้นพาร์ทที่สอง หลังจากนั้นเราหยุดพักเพื่อรอให้ฤดูกาลเปลี่ยนไป พาร์ทสองถ่ายในเดือนพฤศจิกายน ที่ชายฝั่งตะวันตกของอินเดียมีเพียงสองฤดู คือฤดูมรสุมและฤดูที่ไม่มีมรสุม ฉันอยากได้ความรู้สึกของสภาพอากาศที่แตกต่างกัน ในส่วนที่สองของเรื่องซึ่งถ่ายทำที่ Ratnagiri ทิวทัศน์เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงหลังจากฤดูมรสุมหมดลง ทุ่งหญ้าเขียวชอุ่มเปลี่ยนเป็นทุ่งหญ้าแห้งและพื้นดินสีแดงที่เป็นเอกลักษณ์ของ Ratnagiri ก็เผยออกมาให้เห็น ฉันตั้งใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้เพื่อสะท้อนสีสันและอารมณ์ที่แตกต่างกันของพื้นที่ทั้งสองในสองฤดูกาล

กระบวนการตัดต่อเริ่มระหว่างช่วงพักการถ่ายทำหรือเปล่า?
ใช่แล้ว เราทำการตัดต่อคร่าวๆ ไว้ก่อนน่ะ ฉันชอบทำงานแบบนี้ ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากประสบการณ์ในการทำภาพยนตร์สารคดีหรือแนวไม่ใช่เรื่องแต่ง (non-fiction) การสร้างภาพยนตร์สารคดีนั้น คุณสามารถถ่ายทำไป ตัดต่อไป ดูว่าขาดอะไร แล้วกลับไปถ่ายเพิ่มเติมได้ แม้ว่ากับภาพยนตร์เรื่องแต่งจะทำแบบนี้ไม่ได้ทั้งหมดด้วยข้อจำกัดหลายอย่างแต่ฉันชอบนำกระบวนการนี้มาใช้ เหล่านักแสดงนำสิ่งใหม่ๆ มาสู่ตัวละคร สถานที่ต่างๆ รวมถึงสร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาด้วยเช่นกัน ในระหว่างตัดต่อครั้งแรกนั้น ฉันค้นพบว่าความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงสามคนในเรื่องนั้นแข็งแกร่งกว่าที่ฉันคิดไว้มาก ฉันจึงอยากเพิ่มสิ่งนี้เข้าไปในส่วนที่สอง ฉันต้องการให้ประพา อานุ และปรวตีใช้เวลาร่วมกันมากขึ้น และการได้ทำงานกับพวกเธอ มันเหมือนเปลวไฟที่จุดประกายความสดใหม่ทุกครั้งเลยที่พวกเธออยู่ด้วยกัน!

แม้ว่า All We Imagine as Light จะเป็นภาพยนตร์เรื่องแต่งเรื่องแรกของฉัน แต่มันสำคัญมากที่ภาพยนตร์เรื่องแต่งและสารคดีจะอยู่ร่วมกันได้ สิ่งที่ฉันพยายามทำคือการนำวิธีการของสารคดีมาปรับใช้กับภาพยนตร์เรื่องแต่ง ฉันคิดว่าการผสมผสานระหว่างสองสิ่งนี้น่าสนใจมาก และฉันเชื่ออย่างยิ่งเลยว่ามันช่วยทำให้สารคดีกลายเป็นเรื่องแต่งมากขึ้น และทำให้เรื่องแต่งดูเหมือนสารคดีมากขึ้นอีกด้วย

ภาพยนตร์เรื่องก่อนหน้าของคุณ A Night of Knowing Nothing ซึ่งเป็นทั้งเรื่องราวความรักและภาพสะท้อนการประท้วงของนักศึกษา มีความเป็นการเมืองในลักษณะที่ตรงไปตรงมา แล้วคุณจะอธิบายภาพยนตร์เรื่องนี้ในแง่มุมดังกล่าวว่าอย่างไร?
All We Imagine as Light อาจไม่ได้เป็นการเมืองในแบบตรงไปตรงมาเหมือนเรื่องก่อน แต่ฉันคิดว่าทุกอย่างล้วนเกี่ยวข้องกับการเมืองในระดับหนึ่งนะ ความรักในอินเดียเป็นเรื่องการเมืองแบบสุดๆ ดังนั้นฉันคงไม่บอกหรอกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่มีความเป็นการเมืองเลย ใครที่คุณสามารถแต่งงานด้วยได้เป็นเรื่องที่ซับซ้อนมากในอินเดีย มีทั้งปัญหาเรื่องวรรณะและศาสนาซึ่งกำหนดวิถีชีวิตของคุณมากๆ และผลกระทบที่ตามมา ความรักที่เป็นไปไม่ได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในธีมหลักของภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ถือเป็นประเด็นที่มีความเป็นการเมืองสูงเช่นกัน

All We Imagine as Light มีทั้งโปรดิวเซอร์ชาวฝรั่งเศสและอินเดียร่วมกันใช่ไหม?
ใช่แล้วล่ะ โปรดิวเซอร์ชาวฝรั่งเศสของฉันคือ Petit Chaos เราทำงานร่วมกันมาห้าหรือหกปีแล้ว รวมถึงใน A Night of Knowing Nothing ด้วย เราเริ่มพัฒนา All We Imagine as Light ตั้งแต่ปี 2019 การระดมทุนสำหรับภาพยนตร์เรื่องแรกเป็นเรื่องที่ใช้เวลานานมากเหมือนกับการวิ่งมาราธอนเลย ในระหว่างนั้นเราก็เลยสร้าง A Night of Knowing Nothing ขึ้นมา ส่วนโปรดิวเซอร์ชาวอินเดีย Chalk and Cheese Films คุ้นเคยกับการถ่ายทำในมุมไบมาก แต่เช่นเดียวกันกับฉัน พวกเขาก็ไม่เคยเป็นโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์เรื่องยาวมาก่อน มันเป็นประสบการณ์ที่ดีที่เราทุกคนได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน

คุณจะอธิบายการเป็นผู้กำกับหญิงในอินเดียปี 2024 ว่าอย่างไร?
ฉันไม่แน่ใจว่านั่นนิยามตัวฉันได้ทั้งหมด… ในอินเดียน่ะนะ เพศไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่กำหนดโอกาสหรือข้อเสียเปรียบ ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีก ฉันเป็นผู้หญิงก็จริง แต่ฉันมาจากวรรณะที่มีอำนาจและชนชั้นที่มีสิทธิพิเศษดังนั้นหลายสิ่งจึงง่ายกว่าสำหรับฉัน เมื่อเทียบกับผู้ชายที่ไม่ได้รับโอกาสแบบเดียวกัน การสร้างภาพยนตร์ โดยเฉพาะภาพยนตร์อินดี้ที่พยายามเข้าสู่เวทีเทศกาลภาพยนตร์นั้นเป็นเรื่องยากสำหรับทุกคน เพราะไม่มีเงินมากในสายนี้ ฉันรู้สึกขอบคุณระบบสนับสนุนในยุโรปมากๆ ที่ช่วยให้เรามีโอกาส แต่กลับมาที่คำถามของคุณนะ ฉันไม่ค่อยมองว่าตัวเองเป็นผู้กำกับหญิงที่ไม่ได้รับโอกาสเพราะเรื่องเพศ ฉันได้รับโอกาสมากมายจากสิทธิพิเศษด้านอื่นๆ ของฉันต่างหาก

All We Imagine As Light ที่ตรงนี้ยังมีหัวใจ วันนี้ในโรงภาพยนตร์

-------------------------------------

>> ดูหนังออนไลน์ได้ที่ Movie.TrueID <<

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับทรูไอดีสามารถเข้าไปได้ที่ TrueID Help Center เป็นช่องทางใหม่ที่ให้ข้อมูลและการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นเกี่ยวกับทรูไอดี คลิกเลย >> https://bit.ly/3xEgdAa