[review] หนังอินเดียที่ฉันดู : Taare Zameen Par(2007) เราไม่อยากให้คุณพลาดหนังดีๆ เพียงเพราะว่ามันเป็นหนังอินเดีย Taare Zameen Par(2007) สร้างโดยอาเมียร์ ข่าน(Aamir Khan)สตูดิโอ กำกับและรับบทนำเอง ร่วมกับน้อง Darsheel Safary (รับบทอิชาน สวัสตี - Ishaan Awasthi) ภาพยนตร์มีชื่อภาษาอังกฤษน่ารักๆว่า "Like Stars on Earth" แปลจากภาษาฮินดีว่า 'ดวงดาวบนโลก' เพื่อเปรียบว่าเด็ก ๆ เป็นเหมือนดวงดาวบนโลกและเด็กทุกคนมีความพิเศษในแบบของตัวเอง ภาพยนตร์เปรียบเสมือนกระจกของสังคมที่เราอาศัยอยู่ ในขณะที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ภาษาฮินดีกำลังติดตามประเด็นทางสังคมของอินเดียอย่างต่อเนื่อง และเป็นที่รับรู้ว่ามีบุคคลที่พิการทางร่างกายและจิตใจอยู่อีกมาก ดังนั้นภาพยนตร์บอลลีวูดหลายเรื่องจึงพยายามผลิตผลงานที่ไม่เพียงแต่เกี่ยวข้องกับเรื่องความพิการด้วยความอ่อนไหวและความเห็นอกเห็นใจเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการเปลี่ยนการรับรู้ของผู้คนและสังคมโดยรวมไปสู่ความเข้าใจที่แตกต่างอีกด้วย อาทิ ภาพยนตร์เรื่อง Zero ที่นำแสดงโดย Shah Rukh Khan หนึ่งในสามข่านผู้ยิ่งใหญ่ของวงการบอลลีวูด ในการรับบทคนแคระ / Hrithik Roshan และ Yami Gautam starrer ในภาพยนตร์เรื่อง Kaabil กับบทคนตาบอด หรือ 'ความบกพร่องทางสายตา' เรื่องย่อ : อิชาน สวัสตีเป็นเด็กชายอายุแปดขวบที่ไม่ชอบโรงเรียน เพราะเขาพบว่าวิชาทั้งหมดที่เรียนยาก อิชานไม่เข้าใจเนื้อหาที่อาจารย์ และทั้งนี้อิชานยังถูกดูหมิ่นโดยทั้งครูและเพื่อนร่วมชั้นของเขาจินตนาการความคิดสร้างสรรค์ และความสามารถทางศิลปะของอิชานมักถูกมองข้ามเสมอ กลับกันพ่อของอิชานภูมิใจในตัวลูกชายคนโตที่เรียนเก่ง เล่นกีฬาดี มีความสามารถในการแข่งขันเป็นเลิศ และเมื่อพ่อของอิชานได้รับรายงานจากอาการประจำชั้นเรื่องผลการเรียนยอดแย่ พ่อจึงตัดสินใจส่งอิชานไปอยู่โรงเรียนประจำ ด้วยความคาดหวังว่าอิชานจะเก่งขึ้น และปฏิเสธภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ ภายหลังอิชานพบกับอาจารย์สอนศิลปะอย่าง Ram Shankar Nikumbh (แสดงโดย Aamir Khan) ที่เข้าใจภาวะดิสเล็กเซีย และช่วยพัฒนาการเรียนรู้ของอิชานได้อย่างดี รับชมได้ทาง : Netflix(เครดิตภาพจาก : https://m.timesofindia.com/entertainment/hindi/bollywood/photo-features/birthday-special-6-aamir-khan-films-that-were-game-changers/Taare-Zameen-Par-2007/photostory/57629388.cms ) จริงๆทุกคนน่าจะรู้จักอาเมียร์ ข่านแหละ ทั้งจากหนังอินเดียชื่อดังที่รู้จักในบ้านเราอย่าง PK , Dangal , 3idiot , Laagan (ซึ่งเราก็แนะนำให้ไปดูทุกเรื่องที่อาเมียร์ ข่านแสดงนั่นแหละ แล้วจะหลงรักผู้ชายคนนี้กับทุกบทบาทที่เขาแสดง) อาเมียร์ ข่านสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ให้กับเด็กที่เป็นโรคบกพร่องทางการเรียนรู้อย่าง Dyslexia - ปัญหาของโรคนี้คือลำบากในการสะกดคำ การอ่านซึ่งต้องใช้เวลาในการอ่านทีละนิด ไม่สามารถอ่านอย่างรวดเร็ว การเขียนคำ การออกเสียง เป็นต้น ซึ่งปัญหาดังกล่าวยังส่งผลให้บุคคลที่มีความบกพร่องด้านนี้เป็นโรคสมาธิสั้นสมาธิสั้น (ADHD) เกิดความผิดปกติของภาษา การพัฒนาและจดจำตัวเลขได้ยาก ยกตัวอย่างเช่น เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้อย่างดิสเล็กเซีย โดยทั่วไปจะใช้เวลาครึ่งปีในการอ่านจำนวน ตัวเลข หรือคำเดียวกันกับที่เด็กคนอื่นอ่าน เด็กปกติอ่านหนึ่งวัน แต่เด็กที่เป็นดิสเล็กเซียอาจจะต้องอ่านถึงครึ่งปี ดิสเล็กเซียอาจจะเป็นโรคที่รู้จักกันดีในตะวันโลก ท่วาในอินเดียที่มีประชากรหลายล้านคน และคนจำนวนมากยังอยู่เส้นต่ำกว่าความยากจน ขาดทั้งทรัพย์สินและความรู้ อาเมียร์จึงสร้างมันเพื่อส่งสารแก่ผู้ชมว่าเด็กเหล่านี้ต้องดำเนินชีวิตอย่างไร ต้องผ่านความยากลำบากอย่างไร แล้วเราสามารถช่วยเหลือพวกเขาอย่างไรได้บ้าง ดิสเล็กเซียไม่ใช่ความพิกรพิการ เราสามารถดูแลเด็กๆเหล่านี้ได้ โดยไม่จำเป็นต้องบังคับให้พวกเขาอ่านเขียนหนังสือ หรือบีบบังคับเพื่อให้เขาปิดบังความบกพร่องของตนเอง ซึ่ง Matthew H. Schneps ก็ได้เขียนบทความลงเว็บไซต์ที่ชื่อว่า Scientific American ในหัวข้อ "The Advantages of Dyslexia" เพื่อย้ำว่าดิสเล็กเซียไม่ใช่โรคร้าย ทว่าเราสามารถพัฒนาเด็กเหล่านี้ให้กลายเป็นอัจฉริยะ ซึ่งนักแสดงฮอลลีวูด และผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังก็มีภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้หลายคนก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า การบกพร่องทางการเรียนรู้ไม่ใช่อุปสรรคในการกีดขวางความสำเร็จ เช่น Steven Spielberg ผู้กำกับฉายาพ่อแม่แห่งฮอลลีวูด สปีลเบิร์กเล่าว่าเขาไม่ทราบว่าตัวเองมีภาวะดังกล่าวจนกระทั่งอายุได้ 60 ปีMuhammad Ali เป็นแชมป์มวยรุ่นเฮฟวี่เวทในตำนาน การต่อยของอาลีได้รับการขนานนามว่า “ลอยได้เหมือนผีเสื้อ” และ “ต่อยราวกับผึ้ง” อาลีเองอ่านหนังสือแทบไม่ออกเพราะดิสเล็กเซียRichard Branson อภิมหาเศรษฐีของอังกฤษผู้ก่อตั้ง Virgin Group และมีบริษัทในเครืออีก 400 แห่ง ทั้งสายการบิน ค่ายเพลงJay Leno พิธีกรตลกและอดีตพิธีกรรายการ The Tonight ShowKeira Knightley นักแสดงชาวอังกฤษ นางเอกภาพยนตร์คลาสสิคอย่าง Pride & Prejudice / ภาพยนตร์ Begin AgainJohn F. Kennedy ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาคนที่ 35 นอกจากภาวะดิสเล็กเซียแล้ว JFK ยังมีอาการปวดหลังเรื้อรังอีกด้วย ทว่าก็ยังสามารถเข้าเรียนที่ฮาร์วาร์ด เป็นทหารในกองทัพเรือช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง(WWII) ต่อมาเป็นสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ประธานาธิบดีคนที่ 35 ของสหรัฐอเมริกาในปี 1961 (เครดิตภาพจาก : https://gaana.com/album/taare-zameen-par ) สเน่ห์ของหนังไม่เพียงฉายภาพเด็กชายวัย 8 ขวบที่ต้องเผชิญกับความบกพร่องทางการเรียนรู้ การต่อสู้ในโรงเรียนและบริบทแวดล้อมรอบข้าง แต่ยังเสนอภาพของ "การแข่งขัน" ทางสังคมซึ่งมีอิทธิพลทั้งในอินเดียและแถบเอเชีย ราวกับเป็นลักษณะเฉพาะของคนเอเชียไปแล้วที่ผู้ปกครองกดดันให้ลูกเก่งในทุกด้านของชีวิต โดยเฉพาะการเรียน เด็กต้องตั้งใจเรียนให้เก่ง เป็นที่หนึ่งในทุกการแข่งขันเพื่อแสวงหาโอกาสที่มากกว่า เด็กหลายคนถูกปล้นความสุขในวัยเด็กโดยพ่อแม่ผู้ปกครองที่เชื่อว่าการเป็นที่หนึงคือทุกสิ่ง (แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกใบนี้มันช่างโหดร้ายนัก ที่คนเรียนเก่งมีโอกาสมากกว่าจริงๆ) ไม่ต้องพูดถึงการเห็นอกเห็นใจ แค่ความอดทนเล็กๆต่อคนเรียนช้าก็หาได้ยาก โดยภายหลังที่ภาพยนตร์ออกฉาย ทำให้เกิดการรับรู้ถึงปัญหาของดิสเล็กเซีย และกระตุ้นให้เกิดการสนทนากันอย่างเปิดเผยมากขึ้นในหมู่ผู้ปกครอง นักกิจกรรมทั้งนี้ผู้ก่อตั้ง Action Dyslexia Delhi เพื่อเด็กดิสเล็กเซียเล่าว่ามีผู้ปกครองโทรศัพท์และส่งจดหมายเพิ่มขึ้นเป็นสิบเท่าในช่วงหลายเดือนหลังจากที่ภาพยนตร์ออกฉาย เนื้อความในจดหมายและการรับโทรศัพท์ส่วนมากล้วนเป็นความเสียใจของผู้ปกครองที่พวกเขาเข้าใจผิด ละเลยและทำผิดต่อลูกของเขาซึ่งมีภาวะดิสเล็กเซีย นอกจากนี้ยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายของ Central Board of Secondary Education (CBSE) หรือคณะกรรมการกลางการศึกษามัธยมศึกษา ซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับชาติของการศึกษาในอินเดีย สำหรับโรงเรียนของรัฐและเอกชน มีมติให้เพิ่มเวลาให้กับเด็กพิเศษในการสอบ และจัดหลักสูตรสำหรับเด็กเหล่านี้อีกด้วย ภาพยนตร์เรื่องนี้ยาว 165 นาที ถือว่ายาวมากเพราะชั่วโมงแรก เล่าถึงเด็กชายตัวน้อยที่ต้องต่อสู้คนเดียว โดยที่ผู้ปกครองเองก็ไม่เข้าใจถึงความบกพร่อง ครูตัดสินว่าเด็กชายคิดผิดเพียงเพราะไม่ตอบคำถามตามหนังสือ .. พอถึงตรงนี้เราเห็นการเรียนแบบท่องจำ ระบบการศึกษาที่น่าอดสู ถ้าตอบไม่ตรงตามตำราเรียนเท่ากับผิดสถานเดียว ไม่ให้คิดนอกกรอบหรือแสดงความคิดเห็นไปมากกว่านี้💁🏻♀️ คะแนน 8.5/10หมายเหตุ : เนื้อหาบางส่วนนำมาจากบล็อกของผู้เขียนเอง