รีเซต

ส่องเบื้องหลังหนังแอนิเมชัน “Inside Out 2 มหัศจรรย์อารมณ์อลเวง 2” เปิดตัวสูงสุดในไทยปีนี้

ส่องเบื้องหลังหนังแอนิเมชัน “Inside Out 2 มหัศจรรย์อารมณ์อลเวง 2” เปิดตัวสูงสุดในไทยปีนี้
Jeaneration
14 มิถุนายน 2567 ( 20:00 )
4.7K

เผยความน่ารักให้ชมกันไปแล้ว สำหรับ “Disney and Pixar’s Inside Out 2 มหัศจรรย์อารมณ์อลเวง 2” ที่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายนที่ผ่านมา พร้อมกับสร้างปรากฏการณ์ เป็นภาพยนตร์แอนิเมชันที่ทำรายได้เปิดตัวสูงสุดของปีในไทย โดยภาคนี้ยกทีมตัวละครอารมณ์มาสร้างความปั่นป่วนอลเวงถึง อารมณ์ นำทีมโดย ลั้ลลา (Joy), ฉุนเฉียว (Anger), เศร้าซึม (Sadness), กลั๊วกลัว (Fear) และหยะแหยง (Disgust) จากภาคก่อน เสริมทัพด้วยอารมณ์ใหม่อย่าง ว้าวุ่น (Anxiety), อิจฉา (Envy), เขิ้นเขินอ๊ายอาย (Embarrassment) และอองวีหรือเฉยชิล (Ennui) ซึ่งหากใครได้ชมแล้วจะต้องตกหลุมรักและประทับใจกับอารมณ์ทั้ง อย่างแน่นอน เพราะพวกเขาไม่เพียงแสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ ได้ดีเท่านั้น แต่ยังมีภาพลักษณ์และบุคลิกภาพเป็นของตัวเองอย่างชัดเจนด้วย

วัยรุ่นที่มาพร้อมกับความว้าวุ่นและหลากหลายอารมณ์

ใน “Disney and Pixar’s Inside Out 2 มหัศจรรย์อารมณ์อลเวง 2” ไรลีย์ แอนเดอสัน โตขึ้นเป็นวัยรุ่นเต็มตัวแล้ว ซึ่งไม่ใช่แค่ภายนอกเท่านั้นที่เปลี่ยนไป ภายในสมองและจิตใจของเธอก็มีการเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน ภารกิจที่เคยท้าทายเหล่าอารมณ์ทั้ง ในการควบคุมศูนย์บัญชาการทางอารมณ์ของไรลีย์ให้อยู่ในโซนบวกอยู่เสมอเมื่อครั้งที่เธอยังเป็นเด็กหญิงตัวน้อยกลายเป็นเรื่องเล็กไปเลย เมื่อเทียบภารกิจใหม่ที่พวกเขากำลังจะเผชิญในภาคนี้ รวมถึงการมาถึงของชุดอารมณ์ใหม่ๆ ที่ซับซ้อนขึ้น จนเกิดเป็นความบันเทิงครั้งใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิมและปั่นป่วนยิ่งขึ้น

Pete Docter ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์หรือ Creative Director ของ Pixar เปิดเผยว่า “เมื่อครั้งที่ทำวิจัยเพื่อสร้าง Inside Out ภาคก่อน เรารู้อยู่แล้วว่าเด็กเล็ก ๆ นั้นมีมากกว่า อารมณ์ เพราะแน่นอนว่าถึงจะเป็นเด็กก็รู้สึกอายและอิจฉาได้ แต่เพื่อลดความซับซ้อนของเรื่องราวและทำให้เข้าใจง่าย จึงลดทอนลงมาเหลือเพียง อารมณ์อย่างที่เห็น พอมาถึง Inside Out 2 เราคิดว่าระดับความรุนแรงของอารมณ์เขินอายหรืออิจฉาในวัยรุ่นนับว่าอยู่ในช่วงกำลังดี จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ได้นำเสนอบางอารมณ์ที่ไม่ได้ใช้ในภาคแรก เพื่อให้เห็นพัฒนาการที่น่าสนใจของตัวละคร และนั่นคือหนึ่งในเหตุผลหลักที่เราตัดสินใจสร้าง Inside Out 2 ขึ้นมา” ด้าน Mark Nielsen ผู้อำนวยการสร้างเสริมว่า “แน่นอนว่าการก้าวสู่วัยรุ่นมาพร้อมอารมณ์ที่ซับซ้อนมากขึ้น รวมถึงความว้าวุ่นซึ่งจริง  แล้วว้าวุ่นหรือ Anxiety เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวมาตั้งแต่แรก แต่ช่วงวัยรุ่นดูเหมือนจะเป็นช่วงเวลาที่ใช่ที่สุดที่จะพูดถึงเรื่องนี้” นั่นคือที่มาของเหล่าอารมณ์ใหม่ที่บุกเข้ามาสร้างความปั่นป่วนให้กับศูนย์บัญชาการอารมณ์ใน “Disney and Pixar’s Inside Out 2 มหัศจรรย์อารมณ์อลเวง 2”

เปลี่ยนอารมณ์นามธรรมให้เป็นคาแรกเตอร์ที่โดดเด่น

เพื่อให้ผู้ชมอินไปกับตัวละคร และเข้าถึงเรื่องราวที่ต้องการนำเสนอมากที่สุด ทีมผู้สร้างจึงพยายามออกแบบและสร้างสรรค์ทุกคาแรกเตอร์ให้สื่อถึงแต่ละอารมณ์อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม ซึ่งกว่าจะออกมาเป็นคาแรกเตอร์อารมณ์อันโดดเด่นแบบนี้ได้ ทีมงานได้ศึกษาหาข้อมูลจากการอ่านหนังสือมามากมาย รวมถึงปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ และพูดคุยกับนักจิตวิทยาหลายท่านเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับสมองของวัยรุ่น ซึ่งเป็นช่วงวัยที่ความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์เรากำลังขยายกว้างขึ้น และซับซ้อนขึ้นด้วย

สำหรับการออกแบบและสร้างสรรค์ตัวละครใน “Disney and Pixar’s Inside Out 2 มหัศจรรย์อารมณ์อลเวง 2” Ana Gabriela Lacaze ในฐานะ Character Supervisor เล่าว่า ไอเดียในการแปลงนามธรรมอย่างอารมณ์ให้ออกมาเป็นรูปธรรมนั้นทางทีมสร้างสรรค์ตัวละครไม่ได้ออกแบบให้เป็นตัวละครที่มีความเป็นเนื้อเป็นหนังเหมือนคนทั่วไปเสียทีเดียว แต่ตีความให้ทุกคาแรกเตอร์มีส่วนประกอบที่เป็นลักษณะกึ่งโปร่งใส ซึ่งแต่ละตัวละครก็มีความโปร่งใสแตกต่างกันไป “เราแปลงอารมณ์ให้เป็นรูปธรรมโดยออกแบบให้มี พื้นผิว (surfaces) มิติรูปร่างหรือปริมาตร (volumes) และอนุภาค (particles) ที่เป็นลักษณะพิเศษ ซึ่งอนุภาคในบางอารมณ์ เช่น เศร้าซึม (Sadness), เขิ้นเขินอ๊ายอาย (Embarrassment) หรือ อิจฉา (Envy) จะมีความนุ่มนวล โปร่งใสมากกว่า และหลอมรวมเข้ากับมิติรูปทรงของตัวละครนั้น ๆ อย่างกลมกลืน ในขณะที่บางอารมณ์ เช่น ฉุนเฉียว (Anger), ว้าวุ่น (Anxiety) และเฉยชิล (Ennui) อนุภาคของพวกเขาจะทึบแสงกว่าและเกือบจะเป็นเหมือนผลึกน้ำตาล ซึ่งหากสังเกตจะเห็นว่าว่าตรงขอบ ๆ จะเห็นไม่ค่อยชัดเท่าไร และจุดที่มองเห็นได้ชัดเจนบนตัวละครก็จะมีสีแตกต่างกันไปตามทิศทางของแสง อีกอย่างคือดวงตาของตัวละครอารมณ์จะมีประกายระยิบระยับ ยกเว้นแค่เศร้าซึม (Sadness) ตัวเดียว" Character Supervisor อธิบาย

ตัวละครอารมณ์ที่ช่วยฉายภาพสิ่งที่ Ana Gabriela Lacaze เล่ามาทั้งหมดได้ดีที่สุดคือ ลั้ลลา (Joy) ซึ่งส่องแสงเจิดจ้าตลอดเวลา เธอมีปริมาตรนุ่มนวลสีน้ำเงินขนาดใหญ่โอบล้อมรอบตัวเสมอ และยังเป็นตัวละครเพียงหนึ่งเดียวที่มีอนุภาคเล็ก ๆ ลอยตามหลัง ซึ่งอนุภาคเหล่านั้นจะร่วงหล่นลงและค่อย ๆ สลายไปเมื่อเธอเคลื่อนไหว นอกจากนี้สิ่งที่พิเศษอีกอย่างคือผมของลั้ลลาและทุกอารมณ์ถูกสร้างขึ้นมาอย่างน่าสนใจ “ถ้ามองจากระยะไกล เส้นผมของตัวละครอารมณ์จะมีลักษณะเหมือนเส้นผมจริงในแง่การเปล่งประกาย แต่ถ้าสังเกตอย่างละเอียดจะเห็นว่าเส้นผมนั้นประกอบด้วยจุดเล็ก ๆ จุดเหล่านั้นมีประกายวาวและมีลักษณะคล้ายวงแสงออร่า ซึ่งดูเหมือนเป็นสิ่งเหนือธรรมชาติ" เธอกล่าว

สีสันและลักษณะพิเศษของตัวละครอารมณ์ทั้ง 9

ด้านสีสันและรูปร่าง ตัวละครอารมณ์ต่างๆ ถูกออกแบบให้มีสีและรูปทรงที่เฉพาะเจาะจง พร้อมคาแรกเตอร์ที่สื่อถึงอารมณ์ต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน เริ่มจาก “ลั้ลลา” หรือ Joy ที่มีสีเหลืองและรูปร่างเหมือนดาว ซึ่งนอกจากความร่าเริงและมองโลกในแง่ดี ลั้ลลายังมีลักษณะเฉพาะตัวที่แสดงให้เห็นถึงบทบาทพิเศษของเธอในจิตใจของไรลีย์ คือ “เธอส่องแสง หรือเรียกได้ว่าแผ่รังสี” Charu Clark หนึ่งใน Lighting Supervisor กล่าว นั่นทำให้เห็นว่าบทบาทหน้าที่ของลั้ลลาไม่ธรรมดาเลย

มาที่ “ฉุนเฉียว” หรือ Anger เขามีรูปร่างเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีแดง ตัวเตี้ย ป้อม และค่อนข้างหนา ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องท้าทายของทีมสร้างสรรค์ตัวละครมากทีเดียว ในการทำให้ฉุนเฉียวขยับตัวได้โดยไม่ทับซ้อนกับตัวมันเองจนดูไม่ลงตัว ส่วนบุคลิกนั้นแทบไม่ต้องอธิบาย เพราะฉุนเฉียวมักจะโมโหจนระเบิดขึ้นมาบ่อย ๆ เป็นปกติ แตกต่างจาก “เศร้าซึม” หรือ Sadness ที่ตัวสีฟ้าสื่อถึงความเศร้าและรูปร่างเหมือนหยดน้ำตา บุคลิกของเธอถูกออกแบบให้เป็นตัวละครที่เรียบง่าย ด้วยความที่เธอหดหู่อยู่ตลอดจึงแทบจะไม่มีการเคลื่อนไหวที่ซับซ้อน ส่วนใหญ่จะเป็นการเคลื่อนไหวเท่าที่ร่างกายของเธอจะอำนวยเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่การล้มลงกับพื้นจะเป็นการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ที่สุดที่เราจะได้เห็นจากเศร้าซึม

หยะแหยง” หรือ Disgust เป็นสาวเปรี้ยวสีเขียวที่ทั้งเฉี่ยวและเฉียบแหลม เอกลักษณ์พิเศษของเธอที่ทำให้คนจดจำ คือขนตายาวอันงอนงามที่ราวกับเป็นอณูหนึ่งในโลกของจิตใจ ซึ่งสามารถทะลุผ่านเส้นผมและสิ่งอื่น ๆ ได้ ที่สำคัญคือเธอมีรอยยิ้มมุมปากแบบเฉพาะตัวอันโดดเด่นไม่เหมือนใครด้วย ส่วน “กลั๊วกลัว” หรือ Fear มีรูปร่างเหมือนเส้นประสาทโค้งสีม่วง เขาตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา สังเกตได้จากลูกตาที่เบิกกว้างมองหาอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ และพร้อมจะตอบสนองต่อทุกสิ่งในทันทีหากมีเหตุที่เขาคิดว่าร้ายแรงเกิดขึ้น

ด้านตัวละครใหม่อย่าง “ว้าวุ่น” หรือ Anxiety มีสีส้มจี๊ดและรูปร่างหน้าตาอันโดดเด่น ทั้งปากใหญ่ที่แทบจะกินพื้นที่ไปครึ่งหน้า แขนกลมบางราวกับท่อ ตาเบิกโพรงม่านตาหดจนแทบจะเห็นแต่ตาขาว และผมที่เหมือนขนนกซึ่งแสดงความรู้สึกได้ด้วย หากเศร้าผมของเธอก็จะดูห่อเหี่ยว และถ้าตื่นเต้นผมของเธอจะตื่นตัวมีชีวิตชีวา นั่นคือภาพของว้าวุ่นซึ่งเมื่อรวมกับบุคลิกคล่องแคล่ว แต่หลุกหลิก ลนลาน พูดเร็ว กรอกตารัว ๆ และคิดไปก่อนล่วงหน้าเสมอ ก็ทำให้เห็นถึงความกังวลว้าวุ่นได้ดีสุด ๆ

เขิ้นเขินอ๊ายอาย หรือ Embarrassment ตัวกลมใหญ่ สีชมพูเหมือนสีบลัชออน เขาเป็นอารมณ์ที่ตัวใหญ่ที่สุด เมื่ออยู่ร่วมกับอารมณ์อื่นจะเห็นได้เลยว่าเขิ้นเขินอ๊ายอายตัวใหญ่มาก สะท้อนถึงขนาดที่ใหญ่โตของความรู้สึกอายในตัวไรลีย์ โดยเวลาปกติเขาจะนิ่งเงียบและมักซ่อนตัวอยู่ในฮูดดี้ แต่โชคไม่ดีที่แม้อยากจะแอบจนสุดใจ ก็ยังกลายเป็นที่สนใจอยู่ดี

สำหรับ “อิจฉา” หรือ Envy นั้น Keiko Murayama ตำแหน่ง Character Art Director เล่าว่า เป็นตัวละครที่ออกแบบค่อนข้างยากทีเดียว เพราะคาแรกเตอร์ที่ดีไซน์ออกมาในช่วงแรก ๆ ดูไม่น่าจะรักได้ลงเอาเสียเลย “เราคุยกันอยู่นานหลายเดือน กระทั่งวันหนึ่งผู้กำกับ Kelsey Mann ได้ให้ภาพร่างของอิจฉามา แล้วฉันก็ลองค้นดูรูปลูกหมาตัวเล็ก ๆ จนไปเจอเข้ากับรูปน้องหมาพันธุ์ค็อกเกอร์ สแปเนียล (Cocker Spaniel) ที่เปียกปอนและดูเศร้าสร้อย ทุกคนก็ลงความเห็นตรงกันว่า นี่แหละ! ใช่เลย!” ภาพของอิจฉาจึงออกมาเป็นน้องน้อยตัวเล็กจิ๋ว รูปร่างคล้ายเห็ดกำลังบาน และมีสีเขียวคราม พร้อมแววตาเป็นประกายอย่างที่เห็น

สุดท้าย อีกหนึ่งตัวละครที่ท้าทายอย่างมากสำหรับทีมสร้างสรรค์คาแรกเตอร์คือ “เฉยชิล” หรือ Ennui เพื่อสะท้อนถึงความรู้สึกเฉื่อยชาและขาดพละกำลังจริง ๆ ทางทีมจึงออกแบบให้เฉยชิลมีรูปร่างและท่าทางเหมือนก๋วยเตี๋ยวเส้นแบน รวมถึงมีผมที่ยาวจนเคลื่อนไหวไม่สะดวก เรามักจะเห็นเธอนอนบนโซฟาหรือเอนหัวไปทางข้างใดข้างหนึ่งตลอด และด้วยความที่เป็นคาแรกเตอร์ซึ่งเต็มไปด้วยความเบื่อหน่าย ไม่สนโลก การเลือกสีให้เข้ากับบุคลิกดังกล่าวจึงเป็นเรื่องยาก “เฉยชิลเป็นอารมณ์สุดท้ายที่ได้รับสีประจำตัว เพราะไม่มีสีใดเหมาะกับเขาเลย ท้ายที่สุดเราจึงเลือกใช้เฉดสีเทาน้ำเงินเข้มที่มีความอิ่มตัวต่ำ ซึ่งถ้าให้บอกว่าเป็นสีอะไร เรียกว่าเป็นสีที่ ‘ไร้ชีวิตชีวา’ น่าจะเหมาะที่สุด” Jason Deamer ผู้รับหน้าที่ Production Designer กล่าว

เทคโนโลยีล่าสุดของ Disney และ Pixar มอบความสมจริงให้กับเหล่าตัวละคร

นอกจากรายละเอียดในการออกแบบตัวละคร งานสร้างสรรค์ภาพก็มีความพิเศษเช่นกัน โดย “Disney and Pixar’s Inside Out 2 มหัศจรรย์อารมณ์อลเวง 2” ใช้ระบบ Hexport ในการสร้างสรรค์ ระบบนี้ “เป็นการรวมกันของสายการผลิตที่รู้วิธีการเคลื่อนย้ายข้อมูล รวมถึงเป็นอินเทอร์เฟซที่เชื่อมการทำงานกับ Houdini ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์จากบริษัทอื่นที่เราใช้งานอยู่” Patrick Coleman ในฐานะ Global Technology Supervisor ของ Pixar เล่าถึงระบบที่ใช้สร้างสรรค์ตัวละครให้มีชีวิตขึ้นมา ซึ่งเขาบอกว่าระบบดังกล่าวทำให้ศิลปินสามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ทั้งการสร้างตัวละครอารมณ์ใหม่ๆ และการปรับปรุงตัวละครเดิมที่ถูกออกแบบไว้เมื่อ 9 ปีก่อนหน้านี้ให้ดียิ่งขึ้น  

ความยากอย่างหนึ่งของงานภาพคือตัวละครอารมณ์ต่าง ๆ ประกอบขึ้นด้วยพื้นผิว (surfaces) มิติรูปร่างหรือปริมาตร (volumes) และอนุภาค (particles) อย่างที่กล่าวไป ซึ่งอาจมีความซับซ้อนในการเคลื่อนไหว ดังนั้น Pixar จึงนำซอฟต์แวร์ที่เรียกว่า Presto เข้ามาช่วย “เมื่อแอนิเมเตอร์ออกแบบท่าทางให้กับตัวละคร พวกเขาจะไม่สามารถเห็นได้อย่างชัดแจ้งว่าตัวละครกำลังทำท่าทางนั้น ๆ อย่างไร เราจึงนำตัวอย่างคร่าว ๆ ของตัวละครและท่าทางต่าง ๆ ไปไว้ใน Presto ซอฟต์แวร์แอนิเมชันของเรา เพื่อให้แอนิเมเตอร์ทดลองทำท่านั้นท่านี้ให้เห็นภาพว่าเมื่ออยู่ในท่าทางนั้น ๆ ตัวละครจะดูเป็นอย่างไร” Patrick Coleman แจกแจง ซึ่งนี่เป็นอีกหนึ่งกระบวนการสำคัญที่ทำให้เหล่าคาแรกเตอร์อารมณ์ใน “Disney and Pixar’s Inside Out 2 มหัศจรรย์อารมณ์อลเวง 2” ดูมีมิติที่สมจริงมากขึ้น

ด้านการถ่ายทำ Adam Habib ตำแหน่ง Director of Photography หรือ Layout ให้ข้อมูลว่า ทีมผู้สร้างใช้เทคนิคกล้องที่หลากหลายเพื่อให้เหมาะสมและเข้ากับแต่ละสถานการณ์ที่สุด ตัวอย่างเช่น การเจาะจงไปที่ว้าวุ่น  ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในประสบการณ์ของไรลีย์ ทีมผู้สร้างจึงต้องการหาวิธีระบุว่าเมื่อใดที่อารมณ์กำลังเป็นใหญ่ “ในขณะที่ผู้ชมอยู่กับไรลีย์ในโลกความเป็นจริง และว้าวุ่นกังวลเป็นตัวนำในความรู้สึกของเธอ กล้องจะมีการเคลื่อนไหวมากขึ้นและถือแบบแฮนด์เฮลด์ เพื่อให้ผู้ชมรู้สึกคลาดเคลื่อน ไม่สมดุล อีกทั้งยังเรายังใช้เลนส์มุมกว้างเพื่อบิดมุมมองให้ผิดเพี้ยนไปบ้าง เพราะเมื่ออยู่ในสภาวะวิตกกังวล บางครั้งเรื่องเล็กๆ ก็อาจทำให้รู้สึกว่าเป็นปัญหาใหญ่โตได้ ดังนั้นเราจึงแสดงให้เห็นด้วยมุมมองที่บิดเบี้ยวและกว้างเกินจริง” Habib อธิบาย

นอกจากนี้เรื่องแสงก็สำคัญ Rona Liu ในฐานะ Lighting Art Director กล่าวว่า การจัดแสงของเรื่องนี้ต้องคำนึงถึงรูปแบบสีที่หลากหลายซึ่งอาจส่งผลต่อพลังของตัวละครในโลกของจิตใจได้ “ใน Inside Out 2 มีตัวละครค่อนข้างเยอะ แต่ละตัวก็มีสีจำเพาะของตัวเอง ดังนั้นแสงจึงต้องเป็นแบบกระจายและนุ่มนวล เพื่อให้สีของแต่ละตัวละครส่องประกายออกมาได้” เขาเล่าถึงการทำงาน ซึ่งปัญหาที่ทำให้ทีมงานด้านแสงต้องทำงานหนักขึ้นคือการที่หน้าจอควบคุมอารมณ์ในศูนย์บัญชาการอัพเดตให้เปลี่ยนแสงสีตามอารมณ์ที่ควบคุมอยู่ “เราต้องระมัดระวังในการใช้แสงว่าแสงสีนั้น ๆ จะส่งผลกระทบต่อตัวละครอื่น ๆ มากน้อยแค่ไหน เช่น ถ้าแสงสีเขียวตกกระทบบนตัวละครสีแดงมากเกินไปก็จะไม่ดูน่ามอง เลยต้องลดระดับแสงสีนั้นลง อาจจะประมาณสัก 50% เพื่อหาผลลัพธ์ที่น่าพอใจที่สุด” Rona Liu กล่าว

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าความกลมกล่อมลงตัวทั้งเรื่องของการออกแบบตัวละคร เทคนิคการสร้างสรรค์ ตลอดจนด้านมุมกล้อง และการจัดแสงสีต่าง ๆ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ “Disney and Pixar’s Inside Out 2 มหัศจรรย์อารมณ์อลเวง 2” และเหล่าตัวละครอารมณ์ทั้ง 9 ลั้ลลา (Joy), ฉุนเฉียว (Anger), เศร้าซึม (Sadness), กลั๊วกลัว (Fear), หยะแหยง (Disgust), ว้าวุ่น (Anxiety), อิจฉา (Envy), เขิ้นเขินอ๊ายอาย (Embarrassment) และอองวีหรือเฉยชิล (Ennui) เข้าไปยึดครองหัวใจผู้ชมทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว เพราะไม่ว่าใครที่ได้เห็นศูนย์บัญชาการใหญ่เต็มไปด้วยความปั่นป่วนอลเวงยิ่งกว่าเดิม เพิ่มเติมความสมจริงของตัวละครสุดน่ารัก ต่างก็ตกหลุมรักจนบอกต่อแบบปากต่อปากว่า ต้องไปดูในโรงภาพยนตร์เท่านั้น เพื่อความอินและประทับใจขั้นสุด

“Disney and Pixar’s Inside Out 2 มหัศจรรย์อารมณ์อลเวง 2” ภาพยนตร์ภาคต่อของแอนิเมชันเรื่องเยี่ยม Inside Out เจ้าของรางวัลรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยมประจำปี 2015 เข้าฉายแล้ววันนี้ ไปลุ้นกับปฏิบัติการของเหล่าอารมณ์ในสมองของวัยรุ่นป้ายแดงอย่างไรลีย์กันได้ ในโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศ

-------------------------------------

>> ดูหนังออนไลน์ได้ที่ Movie.TrueID <<

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับทรูไอดีสามารถเข้าไปได้ที่ TrueID Help Center เป็นช่องทางใหม่ที่ให้ข้อมูลและการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นเกี่ยวกับทรูไอดี คลิกเลย >> https://bit.ly/3xEgdAa