มอร์แกน สเปอร์ล็อก ผู้กำกับสารคดีท้ากินฟาสต์ฟูด 30 วัน ‘Super Size Me’ เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง
แม้ว่าในแวดวงภาพยนตร์สารคดีจะถือเป็นวงการเล็ก ๆ ที่มีกลุ่มคนที่ชื่นชอบและสนใจหนังแนวนี้อยู่ในระดับหนึ่ง แต่มีหนังสารคดีไม่กี่เรื่องที่โด่งดังในระดับที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง 1 ในนั้นก็คือ ‘Super Size Me’ (2004) หนังสารคดีจากผลงานการกำกับและเล่าเรื่องโดย มอร์แกน สเปอร์ล็อก (Morgan Spurlock) ที่กระตุ้นเตือนให้ผู้ชมเห็นรูปธรรมของการบริโภคอาหารฟาสต์ฟูดที่มีผลร้ายต่อสุขภาพในระยะยาว รวมทั้งการตีแผ่ให้ผู้คนตระหนักถึงการมุ่งทำกำไรของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่จูงใจผู้บริโภคด้วยโปรโมชันสุดคุ้ม จนทำให้เกิดการรับประทานอาหารอย่างผิดหลักโภชนาการและเกินความพอดี
ล่าสุดมีข่าวร้ายรายงานว่า สเปอร์ล็อก ผู้กำกับนักทำสารคดี ผู้เข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาสารคดียอดเยี่ยมจาก ‘Super Size Me’ เสียชีวิตแล้วเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา ณ ที่พักส่วนตัวทางตอนเหนือของนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เนื่องด้วยอาการแทรกซ้อนจากโรคมะเร็งในวัย 53 ปี
ครอบครัวของสเปอร์ล็อก ที่ประกอบไปด้วยลูกชาย 2 คน ลาเคน (Laken) และ คัลเลน (Kallen) เบน สเปอร์ล็อก (Ben Spurlock) และ ฟิลลิส สเปอร์ล็อก (Phyllis Spurlock) ผู้เป็นพ่อและแม่, เครก (Craig Spurlock) แบร์รี (Barry) หลานสาว หลานชาย อดีตภรรยาคนที่ 2 อเล็กซานดรา เจมีสัน (Alexandra Jamieson) และ ซารา เบิร์นสไตน์ (Sara Bernstein) อดีตภรรยาผู้เป็นแม่ของลูก ๆ ได้ยืนยันการเสียชีวิตของมอร์แกนผู้เป็นที่รัก
เครก น้องชายผู้ทำงานร่วมกับมอร์แกนในหลายโปรเจ็กต์ กล่าวในแถลงการณ์ว่า “มันเป็นวันที่ช่างน่าเศร้า ในขณะที่เราต้องบอกลาพี่ชายของผม มอร์แกนได้ให้อะไรไว้มากมายผ่านทางงานศิลปะ ความคิด และความอาทรเอื้อเฟื้อของเขา ณ เวลานี้โลกได้สูญเสียบุคคลที่แสนวิเศษ และอัจฉริยะด้านการสร้างสรรค์ที่แท้จริง ผมรู้สึกภูมิใจเป็นอย่างมากที่ได้ร่วมงานกับเขา”
มอร์แกน วาเลนไทน์ สเปอร์ล็อก (Morgan Valentine Spurlock) เกิดเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ปี 1970 ที่เมืองพาร์เกอร์สเบิร์ก (Parkersburg) รัฐเวสต์เวอร์จิเนีย (West Virginia) เขาทำอาชีพเป็นนักเขียนบทละคร และโปรดิวเซอร์รายการโทรทัศน์ ก่อนจะเป็นที่รู้จักในฐานะผู้กำกับและแสดงในหนังสารคดี ‘Super Size Me’ ที่เขาได้แรงบันดาลใจมาจากข่าวที่มีเด็กสาววัยรุ่น 2 คน ฟ้องร้องร้านอาหารฟาสต์ฟูดชื่อดัง McDonald’s ที่กล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้พวกเธอเป็นโรคอ้วน
สเปอร์ล็อกได้นำเอาเหตุการณ์นี้มาเป็นแรงบันดาลใจในการทดลองด้วยการกิน McDonald’s ทุกมื้อตลอดระยะเวลา 30 วัน โดยไม่รับประทานอาหารอย่างอื่นเลย และตั้งเงื่อนไขว่า เขาจะไม่ปฏิเสธหากพนักงาน Upsell ให้เพิ่มเป็นขนาดพิเศษ และหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายด้วย ก่อนทดลอง สเปอร์ล็อกมีความสูง 188 เซนติเมตร น้ำหนักตัว 84 กิโลกรัม สุขภาพแข็งแรง ระบบการทำงานของร่างกายทุกส่วนเป็นปกติ
สิ่งที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลาในการทดลองคือ แม้ตอนแรกนักโภชนาการจะคาดเดาว่า การบริโภคฟาสต์ฟูดทุกวันไม่น่าจะส่งผลต่อร่างกายที่แข็งแรงของสเปอร์ล็อก แต่ในการทดลองวันแรก ๆ เขาก็กลับมีปัญหาด้านร่างกายให้เห็นแทบจะทันที เช่น ปวดท้อง เหงื่อออก เวียนหัว หน้ามืด มีระดับคอเลสเตอรอลและปริมาณไขมันพอกตับเพิ่มขึ้น ตับและไตทำงานแย่ลง ลงพุง รวมทั้งยังส่งผลไปถึงขั้นอารมณ์แปรปรวน และสมรรถภาพทางเพศลดลง
ตลอดทั้ง 30 วัน น้ำหนักของเขาเพิ่มขึ้นมาอีก 11 กิโลกรัม หรือเฉลี่ยแล้วเขาได้รับพลังงานมากถึง 5,000 กิโลแคลอรีต่อวัน หรือคิดเป็น 2 เท่าของแคลอรีที่ผู้ชายปกติควรได้รับต่อวัน
‘Super Size Me’ เป็นสารคดีเรื่องแรก ๆ ในยุคนั้นที่ถ่ายทำและนำเสนอด้วยเทคนิคแบบเรียลลิตี้ ซึ่งเป็นสไตล์คล้ายกับนักทำสารคดีชื่อดังอีกคนอย่าง ไมเคิล มัวร์ (Michael Moore) ที่มีความดูง่ายและฉีกภาพเดิม ๆ ของสารคดีเครียด ๆ ในเวลานั้น ตัวหนังได้รับคำชื่นชมอย่างล้นหลาม และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม รวมทั้งยังสามารถทำรายได้จากการเข้าฉายทั่วโลกสูงถึง 22 ล้านเหรียญ จากทุนสร้างเพียง 65,000 เหรียญ
นอกจากนี้ สารคดี ‘Super Size Me’ ยังส่งผลการเปลี่ยนแปลงต่ออุตสาหกรรมอาหารฟาสต์ฟูดไม่น้อย ทั้งตัวของ McDonald’s ที่ตัดสินใจยกเลิกการขายอาหารขนาดพิเศษ (Super Size) และออกเมนูที่เน้นอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น ในแง่แรงบันดาลใจ ยังส่งผลให้มีหนังสารคดีที่ตีแผ่วงการอุตสาหกรรมอาหาร และอาหารที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมออกมาหลายเรื่อง อาทิ ‘Food, Inc.’ (2008) ‘Cowspiracy: The Sustainability Secret’ (2014) และ ‘Hungry for Change’ (2012)
รวมทั้ง ‘Super High Me’ (2007) หนังสารคดี DVD ล้อเลียนที่ ดั๊ก เบนสัน (Doug Benson) นักแสดงตลกและผู้สนับสนุนเสรีกัญชา ที่บันทึกการทดลองงดสูบกัญชา 30 วัน และกลับไปสูบกัญชาทุกวันต่อเนื่องอีก 30 วันเพื่อทดสอบผลด้านสุขภาพที่มีผลกระทบจากกัญชา