Medical Team Lady daVinci’s Diagnosis (2016)สามารถรับชมได้ทาง : https://www.viu.com/ott/th/th/vod/96309/Medical-Team-Lady-da-Vincis-Diagnosis ความดีงามของซีรี่ส์ญี่ปุ่นจากหลายเรื่องที่ผมเคยดูมา อย่างหนึ่งก็คือ มุมมองด้านบวกที่ซีรี่ส์นำเสนอ ไม่เพียงแค่ความบันเทิงที่ได้จากซีรี่ส์เท่านั้น แต่การให้บทสรุปเรื่องราวต่อปมประเด็นต่างๆ ก็มักสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ชม ซึ่งซีรี่ส์การแพทย์ Medical Team Lady daVinci’s Diagnosis (2016) เรื่องนี้ก็เป็นหนึ่งในนั้น ที่นอกจากจะมอบความบันเทิงและมุมมองที่ดีแล้ว ยังสามารถชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการวินิจฉัยอาการป่วย ว่าความสำคัญนั้นมีมากขนาดไหนซีรี่ส์การแพทย์ญี่ปุ่นเรื่องราวของ ชิโฮะ ทาจิบานะ (Yô Yoshida) ประสาทศัลยแพทย์มากฝีมือ ไม่ว่าผู้ป่วยจะอาการหนักแค่ไหน การผ่าตัดจะยากเพียงใด เธอก็สามารถผ่านมันมาได้เสมอ แต่แล้ววันหนึ่ง ชิโฮะ เกิดเห็นภาพหลอนขณะทำการผ่าตัดให้คนไข้ แม้การผ่าตัดครั้งนั้นจะผ่านมาได้ด้วยดี เธอก็รู้ตัวแล้วว่าคงไม่สามารถจับมีดผ่าตัดให้ใครได้อีก ชิโฮะ จึงตัดสินใจลาออกจากโรงพยาบาลที่ทำงานอยู่แต่ยังไม่ทันที่เธอจะก้าวเท้าออกจากโรงพยาบาล ชิโฮะ ก็ได้พบกับ มาซายูกิ คิทาบาตาเกะ (Katsunori Takahashi) อาจารย์หมอที่เคยสอนเธอสมัยยังเป็นนักศึกษาแพทย์ ตอนนี้เขาทำงานเป็นผู้อำนวยการของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยโตเกียว สาเหตุที่ มาซายูกิ เดินทางมาพบ ชิโฮะ ในครั้งนี้ ก็เพื่อชวนเธอมาทำงานในแผนกวินิจฉัยที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นมาใหม่ ชิโฮะ ที่ไม่สามารถปฏิเสธคำเชิญชวนครั้งนี้ได้ จึงยื่นข้อเสนอไปว่าเธอจะไม่ทำการผ่าตัดเป็นอันขาด ซึ่ง มาซายูกิ ก็ให้คำมั่นสัญญาตามนั้น ชิโฮะ เข้าร่วมเป็นสมาชิกคนใหม่ของทีมวินิจฉัยหมอหญิง การทำงานในโรงพยาบาลแห่งใหม่ เธอได้ร่วมมือกับหมอที่ต่างมีความสามารถเฉพาะทาง แต่อีกด้านหนึ่งพวกเธอต่างก็มีคิดเห็นเป็นตัวของตัวเอง การประสานงานของทีมหมอในการรักษาผู้ป่วยจึงไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อการวิเคราะห์วินิจฉัยโรคว่ายากแล้ว แต่การจัดการความคิดเห็นของหมอแต่ละคนนั้นยากยิ่งกว่าได้รับอนุญาตการใช้ภาพประกอบบทความจาก : VIU ซีรี่ส์การแพทย์จำนวน 10 ตอน ตอนละประมาณ 1 ชั่วโมง ที่บอกได้ว่าเป็นซีรี่ส์การแพทย์ที่ทำออกมาได้ดีงามอีกเรื่องหนึ่ง แม้ปมของตัวละครเอกอย่างหมอทาจิบานะ จะค่อนข้างดราม่าหนักหน่วงพอสมควร แต่ภาพรวมทิศทางเนื้อหาของซีรี่ส์อารมณ์ของตัวละครที่สื่อออกมา มันให้ความรู้สึกอิ่มอกอิ่มใจ มุมมองทางบวก แล้วก็แง่คิดที่ดีหลังจากได้บทสรุปในแต่ละตอนการตีความของซีรี่ส์การแพทย์เรื่องนี้ เน้นย้ำไปที่ความสำคัญของการวินิจฉัย การสืบต้นตออาการเจ็บป่วย การซักประวัติคนไข้และผู้ใกล้ชิด เพื่อวางแนวทางวิธีการรักษาให้ถูกต้อง โดยในแต่ละตอนของซีรี่ส์คนดูจะได้เห็นอาการเจ็บป่วยของคนไข้ ที่เข้ามาให้ทีมวินิจฉัยรักษาด้วยอาการแตกต่างกัน ซึ่งความเจ็บป่วยในคนไข้บางราย ไม่สามารถระบุได้จากอาการที่แสดงทางกายภาพ กระทั่งตรวจเลือดก็แล้ว ทำ MRI (Magnetic Resonance Imaging) ก็แล้ว แต่ยังไม่สามารถหาสาเหตุของอาการป่วยได้ ทางที่จะสามารถหาข้อมูลมาวิเคราะห์ได้ก็คือ การย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้น ซึ่งหมอทาจิบานะ เป็นคนที่นำวิธีนี้เข้ามาใช้กับทีม เธอมักจะหลอกใช้ (ขอใช้คำว่าหลอกใช้ ฮ่าฮ่า) หมออายากะ ทามารุ (Riho Yoshioka) หมอฝึกหัดน้องเล็กในทีม ให้สวมวิญญาณนักสืบจิ๋วโคนันออกไปหาข้อมูลตามสถานที่ต่างๆ ที่อาจมีเบาะแสเกี่ยวข้องกับอาการเจ็บป่วยของคนไข้ในบางตอนซีรี่ส์พยายามนำเสนอเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัด ถึงความสำคัญของการสืบประวัติคนไข้ เพื่อผลวินิจฉัยที่ถูกต้องในการวางแนวทางรักษา ยกตัวอย่างตอนที่เกี่ยวกับปมดราม่าของหมอยูกิโนะ นิตตะ (Saki Aibu) ศัลยะแพทย์ที่มีฝีมือใกล้เคียงกับหมอทาจิบานะ เธอทำการผ่าตัดให้คนไข้สำเร็จลุล่วง แต่อาการเจ็บป่วยของคนไข้กลับไม่ดีขึ้นได้รับอนุญาตการใช้ภาพประกอบบทความจาก : VIU จนเป็นสาเหตุให้เธอถูกกล่าวโทษ และโดนย้ายจากแผนกศัลยกรรมทรวงอก มาอยู่ในทีมวินิจฉัยหมอหญิงทีมนี้ หมอนิตตะ พยายามพิสูจน์ว่าการผ่าตัดของเธอไม่มีความผิดพลาด ซึ่งอันที่จริงการผ่าตัดของเธอก็ไม่มีอะไรผิดพลาด แต่ที่อาการป่วยของคนไข้ไม่ดีขึ้น ก็เพราะการวินิจฉัยที่ทำให้การผ่าตัดครั้งนั้น ไม่ส่งผลรักษาโดยตรงต่ออาการป่วยที่แท้จริงของคนไข้ ซีรี่ส์จึงมีภาพสะท้อนแนวความคิดที่ว่า ความสำคัญของการรักษาคือ สามารถวินิจฉัยโรคและวางแนวทางการรักษา ได้เหมาะสมกับคนไข้แต่ละคนเป็นลำดับแรกสิ่งที่ชอบอย่างหนึ่งในซีรี่ส์การแพทย์เรื่องนี้ คล้ายกับเรื่อง Radiation House (2019) คือ ความน่าเชื่อถือของตัวละคร แล้วก็การเกลี่ยบทบาท ความสำคัญของแต่ละตัวละครได้พอเหมาะพอดี แม้จะมีความแตกต่างในทัศนคติแนวความคิด แต่ทุกคนต่างมีความสามารถในด้านของตัวเอง อย่างตัวละครหมอโยโกะ อิวาคุระ (Ran Itô) หัวหน้าทีมวินิจฉัย ในทีแรกซีรี่ส์พยายามทดสอบความสามารถของเธอ จากการที่หมอโยโกะ พยายามจะขึ้นไปเป็นผู้อำนวยการแทน มาซายูกิ และสร้างชื่อให้ตัวเองด้วยการออกรายการทีวี ด้วยคาแรคเตอร์แบบนี้ตอนดูเราจึงแอบตั้งคำถามในใจว่า เธอจะมีความสามารถแค่ไหน เมื่อดูให้ความสำคัญกับงานอย่างอื่นมากกว่า คล้ายๆกับตัวละครหมอยาสุโตมิ คาบุรากิ (Kazuyuki Asano) ใน Radiation House (2019) ที่ในทีแรกก็แอบมีกังขาในความสามารถเหมือนกัน ก่อนที่ซีรี่ส์จะมีโอกาสให้ตัวละครได้แสดงความสามารถของตัวเองออกมาเป็นซีรี่ส์ที่ไม่มีพาทของเรื่องรักใคร่หรือความโรแมนติกเลย อาจจะมีโมเมนต์ชวนจิ้นได้บ้าง ระหว่างหมออิวาคุระกับ ผู้อำนวยการมาซายูกิ ที่มักจะโผล่มาจ๊ะเอ๋กับเธอในลิฟต์ทุกวัน อีกหนึ่งก็เป็นคู่ของหมอทามารุกับโคเฮย์ มิยาเบะ (Ken Shounozaki) หนุ่มเซลล์เวชภัณฑ์ที่ตามตื้อเธอแบบเกาะไม่ปล่อย แม้จะโดนหมอทามารุเชิดใส่มากแค่ไหนก็ตาม แล้วคาแรคเตอร์หมอทามารุ ดูจะเป็นคนที่สร้างสีสัน ความสนุก ให้กับซีรี่ส์มากได้ที่สุดละ แต่พอถึงบทต้องจริงจังกับการรักษาคนไข้ เธอก็สามารถทำดีได้เช่นกัน นอกจาก 4 ตัวละครกล่าวมาในทีมยังมีอีก 3 ตัวละครที่เป็นสมาชิกร่วมทีม ซึ่งบางตัวละครก็เป็นตัวหลักดำเนินเรื่องราวของตัวเองแต่ละตอนได้รับอนุญาตการใช้ภาพประกอบบทความจาก : VIU สรุปแล้ว Medical Team Lady daVinci’s Diagnosis (2016) เป็นซีรี่ส์การแพทย์งานดีอีกเรื่องหนึ่ง ให้น้ำหนักใจความสำคัญที่การวินิจฉัยและแนวทางการรักษา ความสนุกคล้ายๆกับหนังสืบสวนสักเรื่องหนึ่ง ที่ทีมหมอหญิงต้องร่วมกับค้นหาต้นตอของอาการป่วย เพื่อแข่งกับเวลาก่อนที่คนไข้จะอาการแย่งลงไปกว่าเดิมDirector: Kazunari Hoshino, Koji Onoขอบคุณรูปภาพประกอบบทความจากซีรี่ส์ : Medical Team Lady daVinci’s Diagnosis (2016)สามารถรับชมได้ทาง : https://www.viu.com/ott/th/th/vod/96309/Medical-Team-Lady-da-Vincis-Diagnosisเขียนโดยแอดมิน เพจ ปีนรั้วดูหนัง