รีเซต

[รีวิวซีรีส์] "Wednesday" ฮอกวอตส์สไตล์มืดหม่นฉบับ ทิม เบอร์ตัน ที่สนุกมาก

[รีวิวซีรีส์] "Wednesday" ฮอกวอตส์สไตล์มืดหม่นฉบับ ทิม เบอร์ตัน ที่สนุกมาก
แบไต๋
27 พฤศจิกายน 2565 ( 11:00 )
860

เรื่องย่อ: เวนส์เดย์ ลูกสาวผู้มืดหม่นหน้าตายในครอบครัวแอดดัมส์สุดประหลาด ถึงวัยต่อต้านพ่อแม่และถูกส่งเข้าโรงเรียนรวมตัวประหลาดที่พ่อกับแม่เคยเป็นศิษย์เก่า และเธอก็ต้องรับมือมากกว่าปัญหาวัยรุ่นทั่วไปที่ปวดหัวกับเรื่องความสัมพันธ์และหนุ่มหล่อมากมาย เพราะเวนส์เดย์ต้องไปพัวพันกับความลับและการฆาตกรรมในละแวกชุมชนโบราณนี้ด้วย

‘The Addams Family’ อาจเริ่มต้นด้วยการเป็นการ์ตูนแก๊กในปี 1938 โดยใช้แรงบันดาลใจจากชีวิตคู่ที่ไม่สู้ดีนักของนักเขียน ชาร์ลส์ แอดดัมส์ (Charles Addams) มาตีความอย่างตลกร้าย เต็มไปด้วยตัวละครสุดหลอนที่เหมือนหลุดมาจากวันฮาโลวีนและดูไม่เข้ากันสักเท่าไรกับโลกภายนอกแต่ก็มารวมกันเป็นครอบครัวได้ ความแตกต่างนี้กลายเป็นเสน่ห์ที่ชวนติดตามยิ่งเมื่อรวมกับตลกแบบผู้ใหญ่ที่เอาการมองโลกแง่ร้ายมาเป็นความขบขันได้

ที่น่าสนใจคือดีไซน์แบบโกธิกสุดประหลาดของตัวละครต่าง ๆ ที่ปะปนอยู่กับสังคมปกติ มันช่างเป็นโลกแฟนตาซีที่แปลกตา ถึงจะไม่สนใจก็ต้องหยุดดูอยู่ดี ไม่แปลกใจว่างานวิชวลที่เด่นขนาดนี้เมื่อเอามาทำเป็นหนังหรือซีรีส์ย่อมจะน่าสนใจเอามาก ๆ

และฉบับล่าสุดของเน็ตฟลิกซ์ที่เลือกเอาผู้กำกับรุ่นใหญ่อย่าง ทิม เบอร์ตัน (Tim Burton) ซึ่งเคยมีผลงานวิสัยทัศน์แฟนตาซีในแบบมืดหม่นมานักต่อนัก เช่น ‘Sleepy Hollow’ (1999) ‘Corpse Bride’ (2005) หรือ ‘Frankenweenie’ (2012) ที่ถือว่าถูกฝาถูกตัวมาก ๆ มากจนน่าฉงนไม่น้อยที่แฟรนไชส์แอดดัมส์ไม่เคยมาอยู่ในมือเขาเลยได้ไงมาตั้งหลายสิบปี

สำหรับ ‘Wednesday’ ต้องยอมรับว่าผู้อำนวยการสร้างของซีรีส์ที่ควบตำแหน่งเขียนบทอย่างคู่หู อัลเฟรด กอจห์ (Alfred Gough) และ ไมล์ส มิลลาร์ (Miles Millar) ซึ่งเคยวางแนวทางเนื้อหาใน ‘Spider-Man 2’ (2004) ฉบับของ แซม เรมี (Sam Raimi) ที่ถือเป็นหนังซูเปอร์ฮีโรภาคต่อที่น่าจดจำที่สุดเรื่องหนึ่ง

ทั้งคู่สามารถหาแนวทางให้ครอบครัวแอดดัมส์โลดแล่นในยุคใหม่ได้น่าสนใจสุด ๆ ด้วยการจับตัวละครลูกสาววัยรุ่นอย่าง เวนส์เดย์ ที่กำลังค้นหาตัวเองและปฏิเสธคนรอบตัวจนดูแปลกไร้เพื่อนฝูง มาเข้าเรียนในโรงเรียนรวมเด็กที่นอกคอกแปลกแยก และที่สำคัญหลากหลายเผ่าพันธุ์มีตั้งแต่แวมไพร์ มนุษย์หมาป่า ไซเรน และอมนุษย์อีกมาก แค่พลอตที่แต่งใหม่นี้ก็นับว่าน่าติดตามไม่น้อยและน่าจะเปิดพื้นที่จินตนาการให้ทิม บอร์ตันแสดงฝีมือได้เต็มที่ด้วย ต่างจากตอนที่แกต้องทำแฟนตาซีโรงเรียนคนเหนือมนุษย์ใน ‘Miss Peregrine’s Home for Peculiar Children’ (2016) ที่ยังไงก็ติดกรอบของเนื้อหาในหนังสืออยู่

ด้วยความใกล้เคียงของพลอตที่เป็นเรื่องราวเด็กที่มีพลังพิเศษและมีปมปัญหาต่าง ๆ ก็ชวนให้คิดถึงหนังในประเภทเดียวกันอย่างแฟรนไชส์ ‘Twilight’ หรือหนัง ‘The New Mutants’ (2020) แต่ด้วยรสที่ดูบันเทิงกว่าซีเรียสน้อยกว่า ตลกร้ายมากกว่า รวมถึงองค์ประกอบหลายอย่างที่คล้ายคลึงเช่นครูที่ลึกลับ ปริศนาเรื่องเล่าในโรงเรียน แม้แต่การแข่งขันชิงธงประจำปีที่เรียกว่า โพคัพ ของเผ่าพันธุ์ต่าง ๆ ก็ชวนให้นึกถึงตอนได้ดูแฟรนไชส์ ‘Harry Potter’ ที่มีปมปริศนามากมาย โลกและตัวละครแปลกใหม่น่าตื่นตาตื่นใจไม่ต่างกัน ต่างแค่มันเป็นแบบโกธิกดาร์กแฟนตาซีสไตล์ ทิม เบอร์ตัน และบุคลิกตัวละครนำที่ไม่คุ้นเคย แต่ความรู้สึกตาเป็นประกายและอิ่มเอมกับโลกทัศน์ใหม่นั้นแทบไม่ต่างกัน

ซีรีส์เล่าเรื่องการก้าวพ้นวัยของเด็กนอกคอกเด็กแปลกได้อย่างน่าสนใจ มีความขัดแย้งเกิดขึ้นมากมายในแง่ความสัมพันธ์ที่สร้างพัฒนาการตัวละครทั้งความรู้สึกภายในใจของเวนส์เดย์ที่อยากเป็นตัวเองและปฏิเสธการกลายเป็นลูกไม้หล่นใกล้ต้นใต้เงาอาจโดดเด่นของผู้เป็นแม่ที่รับบทโดย แคทเธอรีน เซตา โจนส์ (Catherine Zeta-Jones) ความรู้สึกไม่อยากเสียใจอย่างตอนที่สูญเสียสัตว์เลี้ยงตัวแรกในวัยเด็กจนกลายเป็นความรู้สึกไม่อยากสนิทสนมหรือผูกมัดกับใครเลยในตอนโต ซึ่งพอเหมาะว่าเวนส์เดย์อยู่ในวัยที่ต้องพัวพันเรื่องเพื่อน คนรัก รักสามเส้าพอดีอีก และความรู้สึกอยู่วงนอกถูกว่าเป็นพวกประหลาดนอกคอกแม้แต่ในสังคมของพวกเด็กแปลกด้วยกัน มันทำให้เราเหมือนโตไปพร้อมเวนส์เดย์ กลุ้มใจ ว้าวุ่นใจ และเอาใจช่วยให้เธอผ่านพ้นไปได้ด้วยดี

ในขณะเดียวกันความขัดแย้งภายนอกตัวละครที่เป็นส่วนขับดันเรื่องราวก็ไม่ได้น่าเบื่อหรือเยิ่นเย้อเลย เป็นการใส่ปมปริศนาที่น่าติดตามมาตั้งแต่ต้น ทั้งการลอบทำร้ายเวนส์เดย์จากบุคคลลึกลับ ปริศนาสมาคมลับโบราณที่แฝงตัวในโรงเรียน ปีศาจร้ายในป่าที่ออกสังหารผู้คนจนสุมไฟลงกองน้ำมันแห่งความชิงชังแต่ดั้งเดิมระหว่างชาวเมืองที่เป็นคนธรรมดา (ที่ในเรื่องเรียกว่าพวกนอร์มมี) กับพวกคนนอกคอกที่มีพลังพิเศษในโรงเรียน (ที่เรียกตัวเองว่าเอาต์คาสต์) กลายเป็นประเด็นใหญ่จนเหมือนเวนส์เดย์ต้องทำหน้าที่ซูเปอร์ฮีโร่ผสมนักสืบไปไม่รู้ตัว

ทั้งปัญหาพัฒนาการตัวละครเหมือนหนังรักวัยรุ่น และปัญหาพิพาทในสังคมที่ตึงเครียดผูกปริศนามากมาย ทำให้ซีรีส์มีความตื่นเต้น หลากรส และกลมกล่อมน่าติดตามเอาสุด ๆ ที่สำคัญมากคือ 8 ตอนของซีรีส์มันพอดีไม่มากไม่น้อยกับเนื้อหาด้วย เป็นซีรีส์ที่ดูรวดเดียวจบได้ไม่ติดอะไรเลย

นอกจากนี้การเลือกเวนส์เดย์มาเล่าเรื่องนำ ก็ต้องยอมรับว่าเป็นการต่อยอดความโด่งดังและสำเร็จของ คริสตินา ริชชี (Christina Ricci) ที่เคยรับบทดังกล่าวในหนังดัง ‘The Addams Family’ (1991) จนกลายเป็นแคแรกเตอร์ภาพจำของแฟรนไชส์ไปแล้ว ทำให้โจทย์สำคัญเลยคือแล้วใครจะมารับบทนี้ในปี 2022

และหวยก็มาออกที่ เจนนา ออร์เทกา (Jenna Ortega) นักแสดงที่มีผลงานนำทางช่องดิสนีย์มาตั้งแต่เด็ก และมีบทรองทางเน็ตฟลิกซ์ในช่วงหลัง และในวัย 20 ปีที่ต้องมารับบทเด็กนักเรียนก็น่าเป็นห่วงหลายอย่างในตอนแรกว่าจะแบกซีรีส์ไหวหรือไม่ แต่พอได้ดูซีรีส์จริงก็ต้องยอมรับเลยว่าที่เบอร์ตันบอกว่านี่คือเวนส์เดย์ที่สมบูรณ์แบบนั้นไม่ใช่เรื่องเกินเลย

ออร์เทกานั้นดูสวยสะกดตามากแม้ในภาพของเวนส์เดย์ที่ต้องดูแปลกแยกไม่น่าคบเท่าไหร่ ท่าทางมองจ้องนิ่ง ๆ เข้าบทบาทแต่ก็ยังรู้สึกถึงความน่ารักและความอ่อนโยนที่อยู่ข้างในใต้สีหน้าหลอน ๆ และคำพูดขวานผ่าซากทั้งหลาย ออร์เทกาคนเดียวก็แบกซีรีส์นี้ได้แล้วจริง ๆ ในฐานะตัวละครเอก

แต่ไม่ใช่ว่าตัวละครอื่นไม่ดีหรือเด่นเท่า ว่ากันตามตรงคู่หูรูมเมตของเวนส์เดย์อย่าง อีนิด ที่รับบทโดย เอ็มมา ไมเยอร์ส (Emma Myers) นั้นก็ดึงดูดสายตาในฐานะขั้วตรงข้ามกับเวนส์เดย์อย่างลงตัวมาก ทั้งความน่ารักมีพลังงานและการเซ้าซี้ที่กำลังพอดีไม่ออกทางน่ารำคาญ เรียกว่าแจ้งเกิดได้พร้อมกับออร์เทกาเลยทีเดียว และที่ควรชมอีกเรื่องคือเทียบกันระหว่างเสียงดั้งเดิมกับเสียงพากย์ไทย รอบนี้เสียงพากย์ไทยดูจะเข้าบุคลิกตัวละครได้ดีกว่าเสียงนักแสดงจริงเสียอีก และโดยรวมทั้งซีรีส์ก็แนะนำว่ารอบนี้ดูพากย์ไทยจะแปลตรงกว่าของฝั่งซับไทยที่พยายามดิ้นใช้คำใหม่ ๆ ด้วย

ยังไม่นับว่าตัวละครรองหรือสมทบตัวอื่นก็ต่างไม่มีใครถูกทอดทิ้งและมีพื้นที่ให้จดจำเด่น ๆ ทั้งนั้น ทั้งบทของครูใหญ่ที่ดูน่าสงสัยที่ได้ เกวนดูลีน คริสตี (Gwendoline Christie) จาก ‘Game of Thrones’ และ ‘The Sandman’ มารับบททรงพลังดุดันและน่ากังขาได้ไม่ต่างจากบทบาทของสเนปในแฮรี่ฯ หรือครูพฤกษศาสตร์และครูประจำหอพักที่โก๊ะเนิร์ดแต่ดูรู้มากซึ่งได้ ริชชี ที่เคยรับบทเวนส์เดย์มาร่วมแจม ต่างเป็นตัวเลือกนักแสดงรุ่นใหญ่ที่ดีเอามาก ๆ

ฝั่งเด็ก ๆ ก็ยังมีทั้ง บิยังกา ราชินีของโรงเรียนที่เลือกเอาเด็กผิวดำอย่าง จอย ซันเดย์ (Joy Sunday) มารับบทได้แบบไม่ค่อยรู้สึกฝืนแบบที่เน็ตฟลิกซ์ชอบใช้คนผิวดำแบบผิดที่ผิดทาง ในขณะที่พระเอกหลักแสนดีและพระรองที่ดูหยิ่งแต่แอบเป็นห่วงนางเอกอย่าง ฮันเตอร์ ดูฮาน (Hunter Doohan) และ เพอร์ซี ไฮน์ส ไวต์ (Percy Hynes White) ก็มาสร้างรักสามเส้าให้คนดูแบ่งฝั่งเชียร์ได้อย่างสนุก

และที่เหนือความคาดคิดมากที่สุดคงเป็นการนำเสนอ ธิง เจ้ามือสุดกวนในฐานะมาสคอตสุดน่ารักที่คอยติดตามนางเอกไปทุกแห่งแถมยังมีเล่นทั้งบทตลกและบทดราม่าได้ด้วยโดยไม่ต้องพูดเลย คือเจ๋งมาก ต้องคารวะไอเดียคนคิดแนวทางการนำเสนอรวมถึงการแสดงเป็นมือของ วิกเตอร์ โดโรบานตู (Victor Dorobantu) ด้วยเช่นกัน

ข้อติงเพียงไม่กี่อย่างที่พอจะรู้สึก หรืออาจคิดไปเองนั่นก็คือหลังจากเปลี่ยนผู้กำกับจาก ทิม เบอร์ตันที่ทำ 4 ตอนแรกไปเป็น แกนด์จา มอนเทียโร (Gandja Monteiro) และ เจมส์ มาร์แชล (James Marshall) นั้น รู้สึกพลังความสดใหม่ของซีรีส์ที่เคยมีก็ลดมนต์เสน่ห์ลงไป ซึ่งก็พูดยากว่าเป็นเพราะการเปลี่ยนผู้กำกับ เป็นเพราะเริ่มคุ้นชินกับโลกทัศน์นี้จนไม่แปลกตา หรือเพราะเนื้อหาของซีรีส์มันเปลี่ยนไปเล่าแบบหนังสมัยนิยมก็ไม่ทราบได้

แต่ถ้ามองในแง่หลังก็ต้องยอมรับว่าผู้อำนวยการสร้างซีรีส์นี้อาจเลือกคนได้ถูกกับงานแล้ว ทิม เบอร์ตันมาเปิดโลกทัศน์ให้แฟนตาซีและมีเสน่ห์ ส่วนมอนเทียโรที่เป็นผู้กำกับสาวก็มาใส่รสของความสัมพันธ์ว้าวุ่นระหว่างเพื่อนผู้หญิงและความรักวัยรุ่น แล้วมาร์แชลก็มาใส่ความดุดันเข้มข้นในบทสรุป ก็เป็นไปได้ แต่ก็เสียดายเวทมนตร์ของเบอร์ตันที่ลดลงไปแค่นั้นเอง