In My MemoriesVodka Martini Shaken, Not Stirred And 007 In my memories วอดก้ามาร์ตินี่ เขย่าแต่ไม่คน และ 007 ในความทรงจำFrom Dr. No (1962) - No Time To Die (2021) ถ้าไม่นับหนังไตรภาค The Godfather และไตรภาค The Dark Knight แล้ว ในหัวใจของผู้เขียน ที่เป็นมนุษย์ผู้ขายวิญญาณให้กับภาพเคลื่อนไหวบนจอ นับว่ามีหนังชุดหนึ่งที่อยู่ในดวงใจเสมอ และเมื่อมีเวลาว่างพอก็มักจะหยิบมาเปิดดู นั่นคือหนังสายลับเจ้าสำอางค์จาก MI6 ของทางอังกฤษที่ดูกี่รอบก็ไม่เคยเบื่อ ชื่อนั้นคือ เจมส์ บอนด์ 007 ซึ่ง เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาเราได้พบว่า ทางแพล็ตฟอร์ม TrueID+ ที่ผู้เขียนเป็นลูกค้าอยู่เพื่อดูอเมริกันฟุตบอล ได้นำเอาหนัง เจมส์ บอนด์ 007 มาลงสตรีมครบทุกภาค (จนถึง Spectre 2015) ทำให้หัวใจคนรักหนังสูงวัยชุ่มฉ่ำเหลือเกินและแล้วก็เริ่มดูไปวันละหนึ่งเรื่อง ไอ้ครั้นจะมาเขียนบทความทีละเรื่องก็เยอะเหลือเดิน อย่ากระนั้นเลย ผู้เขียนเองก็มีบทความที่เคยเผยแพร่ไว้ และเราได้เอามาเรียบเรียงใหม่เพื่อที่ท่านผู้อ่านที่ขี้เกียจค้นหาได้อ่านกัน เพราะเชื่อเหลือเกินว่า มีท่านผู้อ่านจำนวนไม่น้อยที่เป็นแฟนบอนด์ หรืออย่างน้อยก็ได้สัมผัสหนังบอนด์ ในฐานะหนังแอ็คชั่นสายลับมันส์ๆมาบ้าง ซึ่งยอมรับสารภาพตามตรงว่า หลังจากได้ดูหนัง 007 ตอนใหม่ No Time To Die แล้ว เกิดอารมณ์เลือดลมพุ่งพล่าน อะดรีนาลีนพลันสูบฉีด เพราะหนังออกมาได้อย่างสมใจสาวกที่สุด จากองค์ประกอบที่จัดว่ามาเกือบครบ ขาดเพียงความเจ้าชู้กรุ้มกริ่มในแบบของบอนด์ แต่กลายมาเป็นความรักแท้ ที่เคยมีให้เห็นมาแล้วใน On Hermajesty's Secret Service กระนั้นในห้วงคำนึงในกมลก็เลยพาดผ่านไปคิดถึง เจมส์ บอนด์ ที่ผ่านมา เนื่องเพราะแม้จะไม่ใช่แฟนพันธ์แท้ชนิดรู้ข้อมูลแน่นเป๊ะไปทุกอย่าง แต่อย่างน้อยในความทรงจำก็มีหนังชุดนี้อยู่ในดวงใจ ผ่านการสะสมมาแทบทุกรูปแบบ ดูทุกตอน เมื่อมีเวลาว่างนานๆมักจะหยิบมาดูไล่เรียงตั้งแต่ตอนแรกจนสุดท้าย (แม้ว่าหลังๆไม่ค่อยได้ทำ) แต่นั่นก็นับว่าอย่างน้อยๆต้องมีหกถึงเจ็ดรอบเป็นขั้นต่ำ และในความเป็นมนุษย์ที่หลงใหลในภาพยนตร์จึงด้นสด (ไม่มีฉบับร่างสำหรับบทความนี้) และเขียนด้วยความทรงจำล้วนๆถึงหนังชุดที่กลายมาเป็นตำนานอย่าง เจมส์ บอนด์ 007 ในห้วงคำนึงหาสารภาพตามจริงแล้วหนัง 007 เรื่องแรกที่ได้ดูในโรงแบบเต็มตา (ไม่นับหนังกลางแปลง) จริงๆ และดูด้วยตัวเองจริงๆคือ GoldenEye (รหัสลับทลายโลก : 1995) ที่โรงหนังแสงตะวันที่เชียงใหม่ในวัยหนุ่มฟ้อหล่อเฟี้ยว มั้งนะ แรกเลยคือความตื่นตาตื่นใจกับความมันส์ ความสนุกที่ต้องดูซ้ำแล้วซ้ำอีก ในช่วงเวลานั้นที่ค่าตั๋ว 20-25-30 บาท ด้วยความประทับใจจึงต้องขวนขวายหาเช่าวีดีโอมาดู เริ่มตั้งแต่ Dr.No (พยัคฆ์ร้าย 007 : 1962) เรื่อยมาจนถึง Licence To Kill (รหัสสังหาร : 1989) ได้ดูได้สัมผัสบอนด์ทุกคน ดูทุกตอนไม่เว้นบอนด์นอกไส้อย่าง Never Say Never Again (พยัคฆ์เหนือพยัคฆ์ : 1983) ที่น่าลืมๆไปซะ ได้เห็นบอนด์ผ่านยุคสมัยมาจนกระทั่งยุคปัจจุบัน ที่เน้นความสมจริง ถึก และมันส์ กับบอนด์คนล่าสุด แต่ทว่าในความคิดส่วนตัวล้วนๆแล้ว มันเหมือนขาดอะไรบางอย่างกระทั่งการมาถึงของ Skyfall (พลิกรหัสพิฆาตพยัคฆ์ร้าย : 2012) ที่เรียกว่ากลับมาสู่รูปและรอยที่เป็นเจมส์ บอนด์อีกครั้งว่ากันถึงตัวเรื่องไม่นับว่ามีอะไรแตกต่างกันมากมาย เพราะเส้นเรื่องแบบเดิมๆ ที่ว่าด้วยเรื่องแผนการร้ายครองโลกของผู้ร้ายตัวเอ้ และภารกิจกอบกู้โลกของสายลับเจ้าเสน่ห์และขี้เหล้าอย่างบอนด์ แต่สิ่งที่เป็นเสน่ห์เสมอมา คือความสนุกในแบบของหนังบอนด์ เครื่องมือไฮเทคที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย อารมณ์แบบหมาหยอกไก่ของบอนด์กับมิสมันนี่เพนนี ความสัมพันธ์แบบพ่อกับลูกและการจิกกัดกันของบอนด์กับคิว บอนด์เกิร์ลที่เปี่ยมเสน่ห์ รถของบอนด์ที่ต้องติดอาวุธล้ำยุค และแน่นอนอย่างยิ่งคือสูตรน้ำเมาประจำตัว วอดก้ามาร์ตินี่ เขย่า แต่ไม่คน แถมด้วยบอนด์และนางเอกต้องถูกจับและได้รับการต้อนรับจากผู้ร้ายชวนไปดินเนอร์บ่อยๆ แต่ผู้เขียนก็เคยอดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมไม่จัดการสังหารซะให้สิ้นเรื่องสิ้นราว แต่กลับมานั่งคุยกัน แล้วเปิดโอกาสให้บอนด์เอาตัวรอด จนไปทำลายแผนการร้ายของตัวผู้ร้ายเองทุกทีสิน่า แต่ทว่า สิ่งเหล่านั้นมันกลับกลายเป็นเสน่ห์ที่ขาดไม่ได้ จนบอนด์คนล่าสุดที่ถูกจับแล้วเอาเชือกฟาดไข่เข้าไปนั่นแหละ จึงเหมือนเปลี่ยนไปบ้างส่วนต่อมาคงต้องมาว่ากันที่บอนด์ในดวงใจ ที่เกือบหกทศวรรษที่ผ่านมา มีนักแสดงมารับบทสายลับเจ้าเสน่ห์สิงห์สำอางมาแล้วหกคน กับยี่สิบห้าตอนในซีรีส์ (และคงจะไม่จบลงง่ายๆ) ซึ่ง แต่ละคนมีเสน่ห์ส่วนตัวต่างกันไป แต่ที่ผู้เขียนชอบมากที่สุดเป็นการส่วนตัวคงจะต้องยกให้บอนด์ เพียร์ซ บรอสแนน เนื่องเพราะเป็นบอนด์ที่ผู้เขียนได้ดูอย่างเป็นจริงเป็นจัง ทำให้อดีตคนบ้าหนังจีนได้เห็นความเป็นหนังบอนด์ กับเหตุการณ์ที่ร่วมสมัยในยุคสมัยของตัวเองในวัยทำงาน และมีอิสระทางความคิดเต็มที่ ด้วยความเป็นหนังบอนด์ที่เป็นหนังแอ็คชั่นมันส์ๆชั้นดีได้ และสำหรับ บอนด์บรอสแนน นั้น เขาคือบอนด์ทรงเสน่ห์ เจ้าชู้กรุ้มกริ่ม เขาเองรับบทบอนด์สี่ตอน และตอนที่ผู้เขียนคิดว่าดีที่สุด และชอบที่สุดของ คงต้องยกให้ Tomorrow Never Dies (พยัคฆ์ร้ายไม่มีวันตาย : 1997) ที่จัดว่าลงตัวอย่างที่สุด อะไรที่เคยบกพร่องไปจาก GoldenEye ก็กลับมา และเรื่องมาถ่ายทำที่ประเทศไทย ได้เห็นโลเคชั่นที่คุ้นตา (ความจริงมีหนังบอนด์หลายเรื่องที่มาถ่ายทำในประเทศไทย) เป็นความสนุกที่ดูลงตัว และบอนด์เกิร์ลลีลากังฟู ซือ มิเชลล์ โหยว ถัดมาคงต้องยกให้ต้นฉบับบอนด์ของปู่ ฌอน คอนเนอรี่ ผู้ล่วงลับ กับการรับบทบอนด์หกตอนในสองวาระ ที่นับว่าเป็นต้นแบบของหนังบอนด์ในเวลาต่อมา ความเป็นบอนด์ของ ปู่ฌอน คือ ดุๆ ดิบๆ กรุ่มกริ่มและเปี่ยมเสน่ห์ จนเชื่อได้ว่านี่คือสายลับเจ้าสำราญขนานแท้ และตอนที่ผู้เขียนชอบสุด และคิดว่าคลาสสิคที่สุดของ ปู่ฌอน คงมอบใจให้ From Russia With Love (เพชฌฆาต 007 : 1963) ที่อาจไม่ระเบิดตูมตาม แต่มีความลุ้นระทึกในแบบหนังทริลเลอร์สายลับเข้มๆ และนางเอก ดาเนียล่า เบียงคี่ ที่สวยจริงตามแบบหญิงสาวสมัยนั้นที่ยากจะลืมลงลงส่วนบอนด์คนต่อมาที่ประทับใจต้องยกให้ท่านเซอร์ โรเจอร์ มัวร์ ผู้ล่วงลับไปอีกราย ที่เป็นผู้รับบทบอนด์เยอะที่สุดในจำนวนนักแสดงทุกคน โรเจอร์ มัวร์ ให้ความต่างกับ ฌอน คอนเนอรี่ โดยที่เป็นบอนด์ในแบบอบอุ่นละมุนละไม นัยน์ตาหวานซึ้งและลุ่มลึก ที่มอบตอนสุดประทับใจและคลาสิคไปในตัวอย่าง The Spy Who Loved Me (พยัคฆ์ร้ายสุดที่รัก : 1977) ที่อลังการงานสร้างในยุคนั้น และที่ต้องไม่ลืมคือการแสดงที่เคมีลงตัวที่สุดของ โเจอร์ มัวร์ กับ บาร์บาร่า บาคถัดมาขอมอบให้บอนด์ที่ถึกและตูดงาม แดเนียล เคร็ก บอนด์คนล่าสุด ที่หันไปสู่จุดเริ่มต้นการได้รหัส 00 นำหน้า การเปิดเผยโฉมมาในตอนแรกคือ Casino Royalle ในปี 2006 กลายเป็นสร้างความขัดเคืองหัวใจสาวกหนังบอนด์ ด้วยการทิ้งเอกลักษณ์ความเป็นบอนด์ไปแทบหมดสิ้น (โดยเฉพาะบอนด์ดวดเบียร์) ทำให้กลายเป็นแค่หนังแอ็คชั่นที่มันส์แต่มันกลับเหมือนไม่ใช่หนังบอนด์ แถมยังคลับคล้ายคลับคลาไปทางหนังตะกูล เจสัน บอร์น เข้าไปอีก จนกระทั่งในที่สุดก็มาลงตัวที่เต็มที่ใน Skyfall (พลิกรหัสพิฆาตพยัคฆ์ร้าย : 2012) และกลายเป็นตอนที่น่าจดจำในดวงใจผู้เขียน ของบอนด์ตูดงอน แดเนี่ยล เคร็ก เพราะอะไรที่เคยขาดหาย หลงลืม หรือบกพร้อมไปจากจุดเริ่มต้นมาจนถึงตอนนี้ ก็ครบถ้วนในความเป็นหนังบอนด์ ทั้งนี้รวมไปถึงอารมณ์ ที่เหมือนกับย้อนไปหาหนังบอนด์ยุคคลาสสิค ก่อนที่จะมาทลายกำแพงในความยอดเยี่ยมในตอนล่าสุด No Time To Die (พยัคฆ์ร้ายฝ่าเวลามรณะ : 2021) ที่เป็นตอนสุดท้ายของ แดเนียล เคร็ก ที่สารภาพตามความสัจจริงคือ ผู้เขียนนึกไม่ออกเลยว่า ใครจะมาสวมบทบอนด์ ที่เขาก่อร่างสร้างมาได้สมบูรณ์แบบได้อีก ทั้งที่เมื่อแรกเริ่มยังดูขัดหูขัดตาอยู่ส่วนบอนด์อีกสองคนคือหนึ่ง ธิโมธี ดาลตัน ที่ส่วนตัวแล้ว ขออนุญาตบอกตามตรงว่าดูไม่ค่อยเหมาะจะเป็นบอนด์ คือแม้จะมีความหล่อเหลาเอาการอยู่ แต่ก็หล่อแบบบ้านๆ ดูไม่หรูหรา ไม่กรุ้มกริ่ม การมีหนังออกมาสองตอนกลายเป็นหนังแอ็คชั่นยุค 80 ที่แสนธรรมดาไปซะงั้น คือหนังดูสนุก ขายความมันส์ได้ แต่ก็ไม่เป็นที่จดจำ และกลายเป็นบอนด์ที่ถูกลืม ส่วนอีกคนคือ จอร์จ ลาเซนบี้ ที่ยอมรับโดยดีว่าไม่ค่อยถูกจริตกับบอนด์ท่านนี้ที่สุด อาจเพราะยังติดตาภาพ บอนด์คอนเนอรี่ ก็อาจมีส่วน (ด้วยความที่ไล่ดูหนังเรียงตามลำดับ) บอนด์ลาเซนบี้ เลยดูเหมือนแปลกไปทุกอย่าง สูงโย่ง ไม่เท่ห์ ไม่กรุ้มกริ่มขี้เล่น ไร้เสน่ห์ ส่วนที่น่าจดจำที่สุดในตอนของเขา กลับกลายเป็นการที่เขาคือเขาคือบอนด์คนเดียวที่ใส่กระโปรงสก๊อตต์และสูบไปป์ แม้ตัวหนังจะทำได้ดี มีมิติ ที่ทำให้ได้เห็นว่า บอนด์ก็มีหัวใจใน On Her Majesty's Secret Service (ยอดพยัคฆราชินี 007 : 1969) และสิ่งประดามีเหล่านี้ ก็อาจเป็นเหตุผลหลัก ที่ทำให้เขาได้เป็นบอนด์แค่ตอนเดียว จนทำให้ ปู่ฌอน ต้องลากสังขารมาอีกครั้งใน Diamond Are Forever (เพชรพยัคฆราช 007 : 1971) ที่มองเห็นความโรยราอย่างชัดเจน ส่วนเมื่อถึงตอนสุดท้ายของ แดเนี่ยล เคร็ก ใน No Time To Die ก็คงจะมี บอนด์ คนใหม่มาสานต่อ เพราะเชื่อขน,กินได้เลยว่ายังไงก็ต้องมี เพราะ 007 ยังไงก็ขายได้ ซึ่งก็คงต้องมาดูว่า จะเป็นใครที่จะมารับหน้าที่สายลับเจ้าสำอางค์คนต่อไป ตลอดทุกตอนที่ผ่านมาหนังบอนด์ นับได้ว่ามีอิทธิพลต่อวงการภาพยนตร์อย่างใหญ่หลวง ทั้งคาแรคเตอร์ โครงเรื่อง แนวทาง อาวุธ อะไรต่อมิอะไรอีกมากมายที่ยืนหยัดผ่านกาลเวลามาเนิ่นนาน แต่กระนั้น หนังบอนด์ก็ยังคงไปต่อได้และคงไปได้อีกเรื่อยๆ และมีแฟนๆทั้งรุ่นเก่า รุ่นกลาง และรุ่นใหม่คอยติดตาม เพื่อรอพิสูจน์เรื่องราวภารกิจของบอนด์ และเป็นแนวทางนั้นมาเนิ่นนาน จนกระทั่งการมาของ เจสัน บอร์น เมื่อต้นยุค 2000 ที่นับว่าเปลี่ยนโฉมหน้าของหนังสายลับไปอย่างสิ้นเชิง ด้วยความสมจริง ดุ เดือด ดิบ กระทั่งทำให้ฉากต่อสู้ประชิดตัวในแบบของ เจสัน บอร์น แพร่หลายมานานมาก จนถึงการมาของ John Wick ฉากแอ็คชั่นต่อสุ้จึงเปลี่ยนไปอีกครั้ง จนถึงขนาดว่า มีบ้างบางคนค่อนขอดเล็กๆว่า เจมส์ บอนด์ คือสายลับเด็กขี้โม้ และนั่นอาจมีส่วนทำให้สายลับรุ่นพี่ต้องปรับตัว และหวนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นใน Casino Royale (พยัคฆ์ร้ายเดิมพันระห่ำโลก : 2006) ที่มาในแบบถึก เถื่อน ดิบ แต่มันกลับกลายเป็นขาดเสน่ห์ความเป็นบอนด์ ไม่มีคิว ไม่มีมันนี่เพนนี ไม่มีวอดก้ามาร์ตินี่ ไม่มีรถไฮเทค ไม่มีอุปกรณ์ล้ำสมัย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่ามันคือหนังแอ็คชั่นที่มันส์สุดขีดเรื่องหนึ่งแห่งดลกภาพยนตร์ ชนิดที่ดูกี่ครั้งก็ยังมันส์ แต่นั่นมันกลับกลายคล้ายกับไม่ใช่หนัง เจมส์ บอนด์ เพราะเหมือนการแต่งตัวให้ดูดีตามสมัยนิยม หากแต่ขาดวิญญาณและเอกลักษณ์ของเอกบุรุษไป แต่ถึงกระนั้นบอนด์ของ เคร็ก ก็ได้เดินทางผ่านเวลาและพิสูจน์ตัวเอง ผ่านเรื่องราวต่างๆมาจนลงตัวที่สุดใน Skyfall และสามารถมีที่ทาง มีทางเดินของตัวเองใน Spectre (องค์กรลับดับพยัคฆ์ร้าย : 2015) ที่เปิดเผยตัวร้ายคลาสสิคอย่าง โบลเฟลด์ ที่มาแบบน่าเกรงขาม มากกว่าจะดูตลกอย่างเมื่อก่อน และเมื่อความเป็นหนังบอนด์ของ แดเนียล เคร็ก กำลังลงตัวและมีพลัง No Time To Die กลับกลายเป็นบทสุดท้าย ที่เป็นเป็นการบอกลาบทบอนด์ของเขาไป แต่ทว่า นั่นก็คือสัจธรรม และมันอาจจะดีก็ได้เพราะที่ผ่านมาทั้ง คอนเนอรี่ มัวร์ และบรอสแนน เมื่อถึงตอนท้ายๆ กลายเป็นบอนด์ที่แก่หงำเหงือก โดยเฉพาะสองคนแรกที่เหี่ยวย่น ยักแย่ยักยัน จนเชื่อลำบากว่าจะบู๊ไหว และทำให้การเข้าฉากกุ๊กกิ๊กเลิฟซีนกับบอนด์เกิร์ล กลายเป็นดูตะขิดตะขวงใจ นึกว่าพ่อกับลูกไปซะอย่างนั้นซึ่ง ในชีวิตผู้เขียนเองนั้น ได้ดูหนังบอนด์มาทุกตอน ตอนละหลายรอบจนขี้เกียจนับ (นี่ก็กำลังไล่ดูอีกรอบ) ได้เห็นว่ามีทั้งดีทั้งแย่ต่างกันไป แต่อย่างน้อยไม่เคยเห็นหนังบอนด์ออกมาห่วยจนดูไม่จบ บอนด์อาจเปลี่ยนคนเล่นแต่สิ่งที่ เจมส์ บอนด์ 007 ทำได้ดีเสมอมาคือรักษาหัวใจแฟนๆไว้ไม่มีเปลี่ยนแปลง บางเรื่องบางตอนอาจดูขัดใจไปบ้าง แต่ผู้เขียนก็ยังดูด้วยหน้าที่ความเป็นแฟนหนังบอนด์ ยังรักที่จะดูบอนด์กุ๊กกิ๊กกับ มันนี่เพนนี จิกกัดกับคิว อุปกรณ์เจ๋งๆ รถเท่ห์ๆ ผู้ หญิงสวยๆ แอ็คชั่นมันส์ๆ แม้ว่าในโลกแห่งความเป็นจริง บอนด์ควรจะแก่หง่อม หรือไปคุยกับรากมะม่วงแล้ว หรือกระทั่งเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง แต่เวลาไม่เคยทำให้มนต์ขลังของความเป็นหนังบอนด์เสื่อมคลายลง เพราะถ้าสร้างมาอีกก็คงจะดูอีก และ ไม่แน่ว่าผู้เขียนอาจจะตายก่อนบอนด์ก็เป็นได้ด้วยความระลึกถึง เซอร์ ฌอน คอนเนอรี่ (1930-2020)เซอร์ โรเจอร์ มัวร์ (1937-2017) เดสมอนด์ ลีเวลิน (คิว) (1914-1999)ด้วยจิตควารวะ#ดูไปบ่นไป ขอบคุณภาพประกอบ ภาพปก / ภาพที่ 1 / ภาพที่ 2 / ภาพที่ 3 / ภาพที่ 4 / ภาพที่ 5 / ภาพที่ 6 / ภาพที่ 7 / ภาพที่ 8 / ภาพที่ 9 / ภาพที่ 10 / ภาพที่ 11 จาก Facebook James Bond 007จะฟังเพลงหรือดูหนัง ซีรีส์ใหม่สุดปัง โหลดเลยที่ App TrueID โหลดฟรี !