รีเซต

ความสุข3ยอดกุมาร ‘กาย-ฮารุ’เน้นให้เรียนรู้เอง

ความสุข3ยอดกุมาร ‘กาย-ฮารุ’เน้นให้เรียนรู้เอง
ข่าวสด
5 กรกฎาคม 2564 ( 13:23 )
872

ความสุข3ยอดกุมาร ‘กาย-ฮารุ’เน้นให้เรียนรู้เอง - ฝันของเด็กๆ “3 ยอดกุมาร” น้อง คิริน ไนร่า และ เอเดน ลูกชายลูกสาวของนักแสดงหนุ่ม ‘กาย’ รัชชานนท์ สุประกอบ กับภรรยาสาว ‘ฮารุ สุประกอบ’ ใกล้เป็นจริงแล้ว กับบ้านหรูเหมือนโรงแรมที่ลูกๆ อยากได้

วันนี้มาฟังสองสามีภรรยา ‘กาย-ฮารุ’ พูดคุยถึงการสร้างบ้าน และการเลี้ยง 3 ลูกน้อย “3 ยอดกุมาร” กัน

บ้านสร้างคืบหน้าถึงไหนแล้ว?

กาย - “ใกล้เสร็จแล้วครับ ทำมานาน ประมาณจะปีครึ่ง”

ฮารุ - “เหมือนพอทำแล้วต้องเพิ่มนู่นทำนี่ไปเรื่อยๆ เลยไม่เสร็จสักที มันเลยจากที่กำหนดหลายรอบ (หัวเราะ) เลยแล้วเลยอีก”

กาย - “แต่ก็ไม่ได้เลยแบบเยอะแยะ น่าเกลียด นิดๆ หน่อยๆ ซึ่งเข้าใจได้ ด้วยสถานการณ์โควิดด้วยอะไรด้วย แล้วเราก็สกรีนช่างที่มาทำที่บ้านด้วย”

แล้วเรื่องงบประมาณคุมได้ไหม?

ฮารุ - “เชื่อว่าคนทำบ้านไม่มีทางคุมงบได้ เพราะมันอยากเพิ่มโน่นเพิ่มนี่ แต่ก็จะพยายามให้อยู่ไม่เกินที่เรากำหนด อะไรที่มากเกินไปก็ตัดใจไม่เอา แต่มันมากกว่าที่เราคิดไว้อยู่แล้ว”

กาย - “ก็ไม่ได้เกินมาก เราใช้บริษัทออกแบบ มีคนมาคุม”

ฮารุ - “จะเกินตรงซื้อเฟอร์นิเจอร์ที่นอกเหนือจากของเขา คือเราดันไปชอบอันที่แพงกว่า”

เด็กๆ มีส่วนร่วมอะไรไหม?

ฮารุ - “ก็บอกแค่ว่าอยากได้สระว่ายน้ำ แต่ที่มีส่วนร่วมได้น่าจะเป็นห้องนอน เพราะเด็กๆ จะมีห้องนอนคนละห้องอยู่แล้ว แต่ละคนชอบอะไร สีแบบไหน เราจะให้อิสระในการเลือกสีเลือกฉากของเขาเอง”

กาย - “อาจจะมีช่วงแรกในเรื่องการตกแต่งออกแบบบ้าน เขาแค่บอกว่าอยากได้บ้านแบบโรงแรม สวยๆ ออกแนวหรูหราแต่อบอุ่น แต่เด็กๆ คงพูดไม่ได้ พูดว่าอยากได้แบบโรงแรม”

ฮารุ - “เราไปเที่ยวบ่อย เขาคงเห็นว่าโรงแรมสวย มีสระว่ายน้ำ คือเขาอธิบายเป็นภาพรวมใหญ่ๆ ว่าอยากได้เป็นโรงแรม ฮารุก็ตีความว่าคงอยากได้บ้านสวยๆ”

ก็หรูหราสมใจ ทั้งหมดราคาเท่าไหร่?

ฮารุ - “ถ้ารวมๆ ก็เยอะสำหรับพวกเรา”

กาย - “ผมว่าแต่ละคนคำว่าเยอะไม่เหมือนกัน แต่สำหรับเรามันเป็นการลงทุนสำหรับที่อยู่อาศัยที่ค่อนข้างเยอะ เบ็ดเสร็จ รวมเฟอร์นิเจอร์ ตกแต่ง รวมบ้านด้วย ก็ประมาณ 40-50 ล้านครับ”

ฮารุ - “คือทำงานทุกอย่าง นอกจากเงินที่เราเก็บไว้ให้ลูกเรียนแล้ว ก็จะเป็นเงินที่เอาไปถมทำบ้าน เพราะพวกเราเป็นคนที่ถ้ามี เวลาว่างก็ชอบอยู่บ้าน”

กาย - “เลยเอามาลงกับบ้านเยอะ”

เห็นเด็กๆ ก็ไปช่วยทำบ้านคนละไม้คนละมือ?

ฮารุ - “เด็กอ่ะเนาะ มองเป็นเรื่องสนุก ขุดดินก็มาช่วย แต่ก็ทำได้แป๊บเดียว แล้วก็ไปวิ่งเล่น ไปปั่นจักรยาน เบื่อแล้วก็กลับมาขุด”

กาย - “บางทีผมขุดออก เขาขุดกลับเข้ามาใหม่ สนุกๆ”

เขางอแงไหม ดูสนุกสนานกันตลอดเวลาเลย?

ฮารุ - “เขาคือเด็กทั่วไป มีทุกอารมณ์ ทั้งแสบทั้งซน มีโกรธ มีโมโห มีความสุข”

กาย - “แต่เวลาเราถ่ายคลิปเราก็ไม่ได้หยิบโทรศัพท์มาตอนที่เขาโมโห เพราะเราก็มัวแต่ไปสอนเขา ทำให้เขารู้สึกดี ในช่วงความสุข ในช่วงจังหวะที่เขามีความสุขเราก็ถ่ายคลิป”

ฮารุ - “แต่พื้นฐานที่บ้านเราเป็นบ้านที่บันเทิงสนุกสนาน”

กาย - “ส่วนมากจะมีแต่ความสุข มันก็เลยจะออกแนวนั้น”

ฮารุ- “แต่ทะเลาะกันปกติค่ะ เด็กๆ ร้องไห้ไม่พอใจโกรธเหมือนเด็กทั่วไป มุมไม่น่ารักมันก็มี”

พัฒนาการเด็กๆ เป็นยังไงบ้าง?

ฮารุ - “เขาคือเด็กสมวัย บวกเลขได้บ้าง ผิดบ้างถูกบ้าง พูดลืมบ้าง วันนี้ท่องก.ไก่ได้ พรุ่งนี้ไม่ได้ อ่านหลายๆ วันก็ลืม ส่วนเรื่องสุขภาพร่างกายแข็งแรง”

กาย - “พูดถึงเรื่องการเรียน อาจจะมาตรฐานหรืออาจจะต่ำกว่ามาตรฐานเล็กน้อย แต่พูดถึงประสบการณ์ชีวิตอาจจะสูง แต่ถ้าพูดถึงภูมิต้านทาน ผมคิดว่าโคตรสูงเลย ไม่รู้เป็นอะไร 3 กุมารไม่ค่อยป่วย ไม่เป็นอะไรกันมากมาย แต่ผมก็ไม่อยากให้ป่วยนะ เขาค่อนข้างแข็งแรงกันมาก ตากแดด ตากลม ตากฝน พวกเราไม่เคยห้ามเลย”

ฮารุ- “ถ้าเทียบเป็นรถ ลูกก็คือรถถัง ไม่ใช่ซูเปอร์คาร์ ไม่ใช่อะไรที่จะพังง่ายๆ หมายถึงลูกไม่ได้ต้องการการดูแลแบบสูงๆ หรือ ขัดเงา ลูกเราคือเป็นรถอีแต๋นเลย ถึกทน”

กิจกรรมต่างๆ คือพร้อมซัพพอร์ตลูกทุกอย่าง?

กาย - “ครับ อย่างที่เห็นใน YouTube ช่อง Guy Haru Family ของพวกเรา ทำกิจกรรมตลอด บางทีก็ไม่รู้แล้วว่าจะพาไปทำกิจกรรมอะไรอีก ก็เริ่มฟังเด็กๆ บ้างว่าช่วงนี้อยากทำอะไร”

เขากลัวบ้างไหม เพราะอย่างบางคลิป เห็นไปจับงู จับตัวนั่นนี่?

กาย - “ก็มีกลัว แต่อาจจะกลัวน้อยกว่า คนอื่น”

ฮารุ - “ฮารุว่าโชคดีที่พี่กายเป็นคนกล้า เลยเป็นตัวอย่างให้ลูกได้ว่าไม่เป็นอะไรครับ จับได้ เขาลอง ลูกก็เลยเห็นว่า อ๋อ พ่อก็ทำ พ่อไม่เห็นเป็นอะไรเลย เขาก็เลยทำตาม เลยได้ลองอะไรหลายๆ อย่าง”

กาย - “เขาก็จะลืมไปเลยว่าแม่ไม่กล้าทำ เพราะเขาเห็นว่าเราทำ เขาก็จะไปโฟกัส ไอ้ตอนที่เราทำ จะไม่ได้โฟกัสว่าทำไมแม่ ไม่ทำ”

ฮารุ - “อย่างฮารุไม่ชอบสัตว์เลื้อยคลาน บางอย่างเราไม่กิน แต่พอเราไม่กินก็ไม่ใช่ว่าลูกจะต้องไม่กิน อย่างพ่อเขากิน เราก็บอกลูก กินสิ ด๊ายังกินเลย หม่ามี้ไม่กินแต่ไม่เป็นไร หม่ามี้อยากให้ลูกลอง แล้วก็ต้องบอกเขาว่าหม่ามี้ลองแล้วมันไม่ชอบ แต่ถ้าลูกลองแล้วลูกชอบ ลูกกิน ถ้าลูกลองแล้วไม่ชอบไม่เป็นไร ก็พยายามผลักเขาให้ถึงลิมิต พิสูจน์ให้เขารู้เองว่าเขาชอบ หรือไม่ชอบ”

กาย – “พยายามให้เขาได้ประสบการณ์จากตัวเอง ไม่ว่าจะอะไรก็แล้วแต่ เราจะพยายามไม่บอกว่าดีหรือไม่ดี ได้หรือไม่ได้ อร่อยหรือไม่อร่อย ให้เขาเป็นคนมาบอกเราเองว่าเขาอยากจะทำอีกหรือไม่อยากจะทำอีก ให้เขามีส่วนร่วมในการคิดทุกอย่างครับ”

อชริญา บุญชู