รีเซต

9 เกร็ดน่าสนใจ หนังโจรทรงเสน่ห์ในตำนาน กับแผนปล้นสับขาหลอกใน "Entrapment"

9 เกร็ดน่าสนใจ หนังโจรทรงเสน่ห์ในตำนาน กับแผนปล้นสับขาหลอกใน "Entrapment"
แบไต๋
15 มกราคม 2566 ( 07:00 )
883

หลังเกษียณจากบทเจมส์บอนด์ ฌอน คอนเนอรี (Sean Connery) นับเป็นนักแสดงอาวุโสไม่กี่คนที่ยังคงรับบทนำในหนังบล็อกบัสเตอร์ได้อยู่ และในปี 1999 เขาก็ได้นำแสดงใน ‘Entrapment’ ร่วมกับ แคทเธอรีน ซีตา โจนส์ (Catherine Zeta-Jones) นางเอกสุดฮอตที่มารับบทเจ้าหน้าที่ประกันภัยสาวที่กะซ้อนแผนปล้นจอมโจรงานศิลปะขั้นเทพเพื่อหวังจับเขาให้ได้คาหนังคาเขา โดย Beartai Buzz มีเกร็ดหนังที่น่าสนใจดังนี้

1.ตัดฉากแอ็กชันออกเพียบเพื่อลดงบประมาณ

บทร่างแรกของโรนัลด์ เบสส์ (Ronald Bass) เต็มไปด้วยฉากแอ็กชันสุดระทึก ซึ่งหนึ่งในนั้นคือฉากแอ็กชันปล้นบนรถไฟที่กำลังเคลื่อนขบวนอยู่ด้วยความเร็วสูง โดยฉากนี้ฉากเดียวต้องใช้งบประมาณถึง 50 ล้านเหรียญทำให้มันถูกตัดออกในบทภาพยนตร์ฉบับสมบูรณ์

2.นิโคล คิดแมน และ แองเจลา บาสเส็ตต์ เคยมาออดิชันบทของ แคเธอรีน ซีต้า โจนส์

นอกจากบท แม็ก จอมโจรขั้นเทพที่ถูกล็อกมงไว้ให้ ฌอน คอนเนอรี แล้ว บท จิน ของ แคเธอรีน ซีต้า โจนส์ กลับเป็นบทที่เคยถูกวางไว้ให้ นิโคล คิดแมน (Nicole Kidman) ซูเปอร์สตาร์ชาวออสเตรเลียมารับบทดังกล่าว และยังมีแองเจลา บาสเซตต์ ที่มาออดิชันด้วย

3.พระ-นาง อายุห่างกัน 39 ปี

ในหนังเรื่องอื่นพระเอกนางเอกคงอายุห่างกันไม่มากหรือจะกล่าวว่าส่วนใหญ่อายุใกล้เคียงกันก็ว่าได้ แต่สำหรับ ‘Entrapment’ อายุของนักแสดงนำทั้งคู่กลับห่างกันร่วม 4 ทศวรรษ เพราะตอนถ่ายทำ คอนเนอรีอายุปาไป 69 ปีแล้ว ส่วนโจนส์เพิ่งจะอายุ 30 ปีเท่านั้นแต่นั่นไม่ได้ทำให้เสน่ห์ความโรแมนติกระหว่างแม็กและจินที่ดันตกหลุมรักกันท่ามกลางภารกิจฉกงานศิลปะล้ำค่าลดความร้อนแรงลงเลยแม้แต่น้อย

4.ประหยัดงบเพราะความขี้เหนียวของ ฌอน คอนเนอรี

รอนด้า ทอลเลฟสัน (Rhonda Tollefson) โค-โปรดิวเซอร์ของหนังบอกว่าการที่คอนเนอรีเดินทางด้วยเครื่องบินพาณิชย์ แทนการใช้เครื่องบินเจ็ตส่วนตัวแบบซูเปอร์สตาร์ฮอลลีวูดทำให้งบประมาณของ ‘Entrapment’ ลดลง 2 ล้านเหรียญเลยทีเดียว

5. แคเธอรีน ซีต้า โจนส์ ลงทุนแสดงฉากสตันท์เอง

แหล่งข่าวรายงานว่า โจนส์ที่รับบท จิน เจ้าหน้าที่บริษัทประกันที่ดันมาอาสารับบทนาตาชา (สายลับ) ในภารกิจปล้นครั้งนี้เลือกที่จะแสดงฉากสตันท์เองแทนการจ้างสตันท์ดับเบิลที่รูปร่างคล้ายเธอ โดยเฉพาะฉากที่ต้องปีนป่ายและใช้ทักษะยิมนาสติกในซีนขโมยภาพแรมแบรนดท์ (Rembrandt)

6.อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซียไม่ปลื้มหนังเท่าไหร่

นายมหาเธร์ โมฮัมหมัด ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีประเทศมาเลเซีย ช่วงปี 1999 วิพากษ์วิจารณ์ว่า ‘Entrapment’ บิดเบือนความจริงด้วยการถ่ายภาพตึกปีโตรนาส (Petronas Towers) ซึ่งเคยติดอันดับตึกสูงที่สุดในโลกควบคู่กับภาพสลัมในรัฐมะละกา ซึ่งความจริงสถานที่ทั้งสองห่างกันมาก ซึ่งในมุมมองของอดีตนายกรัฐมนตรีมันทำให้ภาพของประเทศมาเลเซียดูแย่ไปเลย

ในระหว่างถ่ายทำรัฐบาลมาเลเซียได้ให้บริการกองถ่ายเพื่อแลกกับการโปรโมตสถานที่ท่องเที่ยวโดยมีทั้งการรักษาความปลอดภัย นโยบายลดหย่อนภาษีและบริการด้านโทรคมนาคม ทำให้ ‘Entrapment’ นอกจากจะมีภาพตึกปีโตรนาสแล้วยังมีภาพสถานีรถไฟบูกิต จาลิล แอลอาร์ที (Bukit Jalil LRT station) อยู่ในหนัง นอกจากนี้ยังมีสินค้าเบียร์ไทยอยู่ในหนังด้วยซึ่งตอนมันออกฉายเจ้าของแบรนด์ถึงกับจ้างให้ผู้จัดจำหน่ายใส่ชื่อแบรนด์ในบทบรรยายภาษาไทยแทนคำว่าเบียร์อีกด้วย

7.ทำเงินถล่มทลายแม้ถูกนักวิจารณ์ฟาดไม่เลี้ยง

ตอนหนังออกฉายในปี 1999 หนังถูกเอาไปเปรียบเทียบกับหนังชุดเจมส์ บอนด์เพราะมีคอนเนอรีในบทนำว่า ฉากแอ็กชันขาดความตื่นตาตื่นใจ และยังวิจารณ์เรื่องการจับคู่ระหว่างคอนเนอรีกับโจนส์ในบทพระนางอีกด้วย แต่ปรากฎว่าคำวิจารณ์ไม่ได้มีผลกับหนังเลย ผู้ชมหลั่งไหลไปอุดหนุนจนหนังทำเงินทั่วโลกไป 212,404,396 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

8.ฉากเลิฟซีนถูกโหวตให้ติดอันดับเลิฟซีนยอดแย่อันดับที่ 2

นิตยสารฟิล์ม แม็กกาซีน (Film Magazine) ได้เปิดให้ผู้อ่านโหวตฉากเลิฟซีนยอดแย่ ผลปรากฎว่า ‘Entrapment’ ได้รับการโหวตให้ติดอันดับที่ 2 เป็นรองแค่ฉากเลิฟซีนระหว่าง ชารอน สโตน (Sharon Stone) กับ โจ เปสซี (Joe Pesci) ใน ‘Casino’

9.แผนการสร้างหนังภาคต่อถูกพับไปแล้ว

เป็นธรรมดาเมื่อหนังประสบความสำเร็จ ผู้สร้างก็ย่อมเล็งถึงโอกาสในสร้างหนังภาคต่อโดยเดิมทีพลอตหนังจะเล่าเรื่องของจิน ที่เดินหน้าทำภารกิจปล้นครั้งใหม่หลังแม็กเสียชีวิตไปแล้วซึ่งพลอตนี้เกิดขึ้นหลังจากคอนเนอรีตัดสินใจเกษียณตัวเองจากงานแสดงในปี 2003 แต่แล้วโครงการสร้างหนังภาคต่อก็ยุบไป

ที่มา 80sKids