“มอบความสุขทุกครั้งด้วยหนังสือ” ประโยคแปะปกหลังหนังสือเล่มนี้ อ่านแล้วเหมือนให้ความหวังว่า ถ้าหนังสือเล่มนี้ออกจากมือใครและไปหามือใคร นั่นคือกำลังส่งและรับความสุขร่วมกันนั่นเองผมหยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่านอีกครั้ง หลังเคยอ่านมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่การหยิบมาครั้งนี้ไม่ใช่อ่านเพื่อเอาไปใช้เอง แต่อ่านเพื่อแบ่งปัน อย่างน้อยคนที่มีลูกน้อยตอนนี้ อาจจะได้เคล็ดลับและเทคนิคดี ๆ ไปใช้ในการเลี้ยงลูกด้วยหนังสือต่อไป เพราะการเลี้ยงดูเด็กเล็ก ๆ มีความสำคัญมาก เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่จิตใต้สำนึกเปิดรับข้อมูลอย่างเต็มที่ และจะมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมความเชื่อและความคิดของบุคคลนั้นไปตลอดชีวิตเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้น่าสนใจ เพราะว่าเป็นหนังสือที่มีเนื้อหาเฉพาะเจาะจงในเรื่องของการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย การเรียนรู้ของจิตใต้สำนึกและอายตนะสัมผัส ซึ่งจะช่วยพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก เป็นหนังสือที่มีภาพหนังสือสร้างสรรค์ รวมถึงใช้หนังสือภาพได้เหมาะสมกับเด็กและที่สำคัญก็คือ มีวิธีการการสื่อสารในระดับจิตใต้สำนึกเพื่อป้องกันพฤติกรรมเด็กเสี่ยงเกี่ยวกับสิ่งเสพติด ช่วงสุดท้ายของเล่มนี้ เป็นข้อเสนอแนะของทีมนักเขียนที่แนะนำเกี่ยวกับการทำหนังสือเด็กเพื่อที่จะปลูกฝังนิสัยและพฤติกรรมที่ป้องกันความเสี่ยงเรื่องยาเสพติดโดยส่วนตัวผมมองว่า หนังสือเล่มนี้ เหมาะกับพ่อแม่รุ่นใหม่และคนที่ต้องอยู่ดูแลเด็ก สามารถที่จะใช้หนังสือเล่มนี้เป็นคู่มือในการพัฒนาเด็กได้ โดยเฉพาะการสร้างภูมิคุ้มกันให้มีการสื่อสารอย่างเป็นธรรมชาติระดับจิตใต้สำนึกโดยตรงเพื่อให้เด็กมีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงบุหรี่ เหล้าและสิ่งเสพติด เวลาโตขึ้นมากกว่านี้ประเด็นสำคัญที่อยากจะแนะนำก็คือ เรื่องของกระบวนการจิตใต้สำนึก โดยผู้เขียนได้บอกว่า เวลาสื่อสารกับเด็ก ๆ ให้ระวังเนื้อหาแล้วก็กลไกเชื่อมโยงระหว่างใต้สำนึกที่ไม่สามารถวิเคราะห์แยกแยะได้ ดังนั้นจงระวังอย่าแสดงท่าทีมากเกินไปในสิ่งที่เราไม่ชอบ อีกประเด็นหนึ่งผู้เขียนได้แนะนำก็คือ เด็กมีความเป็นอัจฉริยะในตัวเองแล้ว อาจจะมีด้านใดด้านหนึ่งสุดยอดหรือด้านหนึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เช่น เรื่องการสื่อสารและภาษา ตรรกะและคณิตศาสตร์ มิติและการจินตภาพ การเคลื่อนไหวร่างกาย ดนตรี มนุษยสัมพันธ์และการเข้าใจผู้อื่น การเข้าใจตนเองและธรรมชาติ แล้วก็มีเทคนิคสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ ในการเลือกหนังสือให้เด็กอ่าน ตัวหนังสือควรเป็นตัวหนังสือที่มีหัวกลม ถ้าไม่มีความชัดเจนจุดเริ่มต้นอักษรว่าเริ่มต้นจากจุดไหนเขาจะสับสน ตัวหนังสือที่พิมพ์เองเพื่อไม่ให้เด็กเพ่งเกินไป ควรมีความใหญ่อยู่ที่ 22 Pt. สิ่งเหล่านี้ เป็นตัวอย่างโดยสรุปเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้นะครับบทสุดท้าย คณะผู้เขียนหนังสือก็แนะนำว่า หนังสือที่เหมาะสำหรับการอ่านในเด็กปฐมวัย คือหนังสือที่ทำให้เด็กมีความภาคภูมิใจในตนเอง มีทักษะรู้จักปฏิเสธ ตระหนักในภัยของไฟ อำนาจมืด ปีศาจ แม่มด เป็นหนังสือที่ช่วยให้เด็กดูแลร่างกายตนเองได้ เด็กได้ตัดสินใจด้วยตนเอง คิดวิเคราะห์แล้วตอบด้วยตัวเองและหนังสือเล่มนั้นต้องมีความหลากหลายในการสื่ออารมณ์ นี่เป็นเพียงบางส่วนจากทั้งหมดมี 18 ข้อครับผมอ่านจบอีกรอบ ดู ๆ แล้วหนังสือเล่มนี้เดินเรื่องแบบการเขียนงานเชิงวิชาการ แต่การวาดรูปประกอบ การใช้ชนิดของตัวหนังสือและเทคนิคการเล่าเรื่อง ก็ทำให้อ่านง่ายมากขึ้น มีเนื้อหาที่พ่อแม่สามารถเรียนรู้ได้ง่าย พร้อมกับย่อยเอาไปใช้กับเด็กได้ไม่ยาก นอกจากนั้นพวกตัวการ์ตูนอยู่ในหนังสือเล่มนี้ พ่อแม่ก็สามารถวาดเลียนแบบแล้วก็ไปสอนเด็กได้ ผมว่า หนังสือเล่มนี้นอกจากจะให้ความรู้แล้วก็ยังให้แนวทางในการวาดรูปที่เหมาะกับเด็กด้วย ผมว่าพ่อแม่ที่มีลูกน้อย ควรมีไว้สักเล่มนะครับ รับรองว่าคุ้มแน่นอนครับ หนังสือ พลังจิตใต้สำนึกสร้างหนูน้อยพลังใจเข้มแข็งคู่มือครู พ่อแม่ และผู้ทำงานพัฒนาเด็กพิมพ์ครั้งที่ 1 กรกฎาคม 2562 จำนวนพิมพ์ 1,000 เล่ม จำนวน 122 หน้าเขียนและเรียบเรียงโดย รศ.ดร.สายฤดี วรกิจโคคา ดร.อมรา ตันสมบุญ อาจารย์อัจฉรา ประดิษฐ์ ภก.ดร.หญิงพัชราภรณ์ ปัญญวุฒิไกรจัดพิมพ์โดย แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน มูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านดาวน์โหลดอ่านฟรี ที่เว็บไซต์ happyreading.in.thภาพประกอบโดยผู้เขียน