ในบรรดาวรรณคดีไทยที่อ่านแล้วและยังอยู่ในความทรงจำ นอกจากวรรณคดีที่เป็นผลงานการประพันธ์ของสุนทรภู่ กวีเอกแห่งรัตนโกสินทร์ อีกหนึ่งบทประพันธ์ที่ผู้เขียนมองว่า มีความเป็นเลิศในแง่ของกวีศิลป์ก็คือ บทละคอนพูดคำฉันท์เรื่อง มัทนะพาธา (ตำนานแห่งดอกกุหลาบ) ผลงานพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แห่งราชวงศ์จักรีนี่เอง ด้วยความที่วรรณคดีเรื่องนี้ เป็นกวีนิพนธ์ประเภท "ฉันท์" ซึ่งมีทั้งความงามทางร้อยกรอง เนื่องจากฉันทลักษณ์ข้อบังคับของการแต่งฉันท์นั้น นอกจากเรื่องของสัมผัสระหว่างวรรคตอน ระหว่างบทแล้ว ยังบังคับเสียงหนัก - เบา ของคำที่เรียกว่า ครุ - ลหุ อีก จึงเป็นคำประพันธ์ที่แต่งยากกว่า กลอน 8 หรือกวีประเภทอื่น ๆ ดังนั้น ผู้เขียนจึงมองว่า ต้องด้วยพระปรีชาสามารถเชิงฉันท์ในระดับสูงเท่านั้น จึงพระราชนิพนธ์ "มัทนะพาธา" ได้ครบครันทั้งเรื่องราว งดงามด้านการใช้ภาษา หนังสือเล่มนี้จึงควรค่าแก่การหามาอ่านอย่างยิ่ง 1. ใน "พระราชนิพนธ์คำนำ" หรือถ้าเป็นหนังสือทั่วไปเรียกว่า "คำนำผู้เขียน" นั้น ทรงแจ้งรายละเอียดที่ไปที่มาของเรื่องนี้ว่า ทรงประพันธ์ขึ้นมาใหม่ทั้งเรื่อง ทรงดำริถึงโครงเรื่องว่าจะให้มีการสาปให้เป็นดอกไม้ มีการหารือและได้ข้อสรุปว่า นางเอกเรื่องนี้ควรถูกสาปให้เป็นดอกกุหลาบ แม้แต่ชื่อของนางเอก ก็มีการปรึกษาหารือผู้รู้ จนได้ชื่อนางเอกของเรื่องว่า มัทนา ซึ่งมาจากรากศัพท์ "มทน" ที่แปลว่า ความลุ่มหลงหรือความรักนับว่าเป็นงานกวีนิพนธ์ที่ทรงพิถีพิถันเป็นอย่างมาก พร้อมลายพระหัตถ์ที่บันทึกไว้ ณ วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ.2466 2. บทละคอน (เขียนแบบในหนังสือ) เป็นละคอนพูดคำฉันท์ ที่เรียกว่า ชุมนุมฉันท์ทุกรูปแบบมารวมกันไว้ในเล่ม เพราะมีถึง 21 ชนิด เท่านี้ก็นับว่ายากเหลือคณานับแล้ว (คนแต่งบทร้อยกรองคงรู้ดีว่า การแต่งฉันท์ยากแค่ไหน) แต่สำหรับเรื่องนี้ ยังไม่พอแค่นั้น ยังแถมคำประพันธ์ประเภทกาพย์มาอีก 3 ชนิด จึงไม่แปลกที่หนังสือเล่มนี้ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสร ว่าเป็นวรรณคดีคำฉันท์ประเภทบทละครพูดแต่งดี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2467 นับอายุแล้วก็ผ่านมาแล้วหย่อนเพียง 4 ปีเท่านั้น ก็จะครบ 100 ปีแล้ว3. นอกจากความวิจิตรของเชิงชั้นการประพันธ์ที่ว่ายากแต่ไพเราะแล้ว บทละคอนเรื่องนี้ ยังเป็นเรื่องราวของความรักที่ไม่สมหวัง จึงต้องจบด้วยโศกนาฏกรรม แต่เป็นสไตล์คลาสสิค คือ ไม่ได้ฆ่า แต่สาปให้เป็นดอกกุหลาบแทน และมีเรื่องราวให้ลุ้นต่อในภพชาติต่อไป ถ้าเปรียบวรรณคดีเรื่องนี้กับนวนิยายยุคใหม่ ก็เป็นนิยายรักแฟนตาซี บวกกับเรื่องข้ามภพข้ามชาตินั่นเอง วรรณคดีเรื่องนี้จึงมีหลายรส หลากอารมณ์ ให้ยิ้มและฟินแบบวรรณคดีไทย 4. เสพเรื่องราวแล้ว ต้องไม่พลาดที่จะดื่มด่ำกับ "รสถ้อย เชิงกวี" ลีลาของบทสนทนาที่ผ่านคำประพันธ์ประเภทฉันท์ ที่มีจังหวะเสียงสั้น เสียงยาว ซึ่งเป็นเสน่ห์เฉพาะตัวของฉันท์ ตัวอย่างเช่น บทเกี้ยวสาวของ พระเจ้าชัยเสน ที่มีต่อมัทนา ในหน้า 71 ซึ่งช่วงนี้แต่งเป็น "ภุชงคประยาตฉันท์ 12" อ่านดูแล้วจะรู้ว่า แม้ประพันธ์มาตั้งเกือบ 100 ปี แต่เนื้อหา ไม่เชยเลย ชัยเสน: คณานางสนมเปรียบ ประหนึ่งกาและถ่อยทีวธูยอดฤดีพี่ ประหนึ่งหงส์สุพรรณ์พรรณก็พี่นี้สิเคยชม วิหคหงสะเลอสรรค์จะกลับชมอิกานั้น บได้แล้วนะแก้วตา มัทนา : กระหม่อมฉันก็เคยทราบ สุภาษิตบุราณว่าบุรุษยามสิเนหา ก็พูดได้ละหลายลิ้น ลองหาอ่านดูนะคะ เหมาะมากที่จะอ่านในช่วงเก็บตัวลี้ภัย Covid-19 เพราะควรค่อย ๆ อ่านให้ดื่มด่ำในรสถ้อยที่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้อย่างวิจิตร **ภาพถ่ายโดยผู้เขียน**