รีเซต

เปรียบเทียบ "The Last of Us" กับ "Resident Evil" ความพลาดที่ควรจำของคนทำซีรีส์

เปรียบเทียบ "The Last of Us" กับ "Resident Evil" ความพลาดที่ควรจำของคนทำซีรีส์
แบไต๋
25 กุมภาพันธ์ 2566 ( 09:00 )
420

ผ่านมาเลยครึ่งทางเป็นที่เรียบร้อยกับซีรีส์เหลือเพียงเราสองอย่าง ‘The Last of Us’ ที่ฉายทาง ‘HBO’ ซึ่งทุกตอนที่ถูกฉายออกมาต่างก็ได้รับเสียงชื่นชมทั้งจากฝั่งคนดูที่ไม่รู้จักซีรีส์นี้เลย กับฝั่งคนเล่นเกมที่ต่างก็อุทานออกมาว่า “เอ็งช่วยทำตอนแย่ ๆ ออกมาให้ด่าบ้างซิ ทำดีทุกตอนแบบนี้จะเอาอะไรมาด่า” ที่แค่ครั้งแรกก็ทำออกมาได้ดีงามขนาดนี้แล้ว และเมื่อเราตัดมาทางฝั่งซีรีส์ผีชีวะ ‘Resident Evil’ ที่ถูกทำออกมาแล้วหลายต่อหลายครั้งทั้งภาพยนตร์ซีรีส์ แต่ทุกครั้งก็ไม่เคยทำออกมาได้ดีได้ถูกใจแฟน ๆ เลยแม้แต่ครั้งเดียว จนแฟนเกมนี้ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ช่วยทำออกมาดีตรงตามในเกมหรือดูสนุกบ้างจะได้ไหม ขอร้องกราบงาม ๆ สามที” อะไรแบบนั้นกันเลยทีเดียว และยิ่งมีซีรีส์ ‘The Last of Us’ ออกมาตอกย้ำเลยทำให้เรามีตัวเปรียบเทียบระหว่างซีรีส์จากเกมว่าเขาทำอย่างไรถึงออกมาดูดีได้รับเสียงชื่นชม กับซีรีส์ที่ทำออกมาเท่าไหร่ก็ไม่เคยถูกใจแฟน ๆ ว่าเขาทำยังไงถึงออกมาเป็นแบบนี้ เรามาเปรียบเทียบเชิงวิเคราะห์กันดีกว่าว่าซีรีส์ที่ดีเป็นอย่างไร และซีรีส์ที่เขาไม่ทำตามที่แฟน ๆ ต้องการมันเป็นแบบไหน เรามาคิดวิเคราะห์แยกแยะไปพร้อมกันเลย

คนเล่นเกมไม่ต้องการภาพยนตร์ซีรีส์ที่เหมือนเกม แต่ต้องการภาพยนตร์ซีรีส์ที่ถ่ายทอดความเป็นเกมออกมาเท่านั้น

เริ่มต้นเรื่องแรกเรามาพูดถึงสิ่งที่แฟนเกมหรือคนที่ดูซีรีส์เขาต้องการก่อน ว่าคนเหล่านี้เขาไม่ต้องการซีรีส์คนแสดงที่เหมือนในเกมแบบทุกอย่าง แต่คนเล่นเกมต้องการเพียงแค่การเอากลิ่นอายตัวละคร ลักษณะนิสัยฉากเนื้อหาหลักที่เป็นหัวใจของเกมมาขยายความ เพื่อสื่อความหมายให้ออกมาเป็นรูปแบบภาพยนตร์หรือซีรีส์ ยิ่งตัวซีรีส์ยิ่งได้เปรียบภาพยนตร์เพราะทางนั้นสามารถขยายเนื้อหาใส่สิ่งต่าง ๆ ได้มากกว่าภาพยนตร์ที่มีเวลาเล่าเรื่องจำกัด เมื่อเป็นอย่างนั้นสิ่งที่แฟน ๆ คาดหวังจึงเป็นแก่นของความเป็นเกมที่อยู่ในเรื่องที่ถูกเอามานำเสนอ  มากกว่าความเหมือนในเกมหรือแค่เอาตัวละครในเกมมาใส่ แล้วบอกว่านี่ไงเราสร้างซีรีส์จากเกมแล้ว แบบนั้นเขาเรียกหลงทางไปไกลมาก ๆ เลยทีเดียว

Resident Evil

สิ่งที่ ‘Resident Evil’ ซีรีส์ทำมันคือการยัดเยียดสิ่งที่ไม่มีในเกมให้คนที่เล่นเกมได้รู้ว่าตอนนี้เรากำลังนำเสนอสิ่งใหม่ ๆ ที่คุณไม่เคยเห็นในเกมนะ อย่างโลกที่ล่มสลายสังคมมนุษย์พังไปหมดแล้ว ตัดสลับกับเรื่องราวในอดีตที่บอกเล่าถึงสาเหตุของความหายนะนั้น รวมถึงตัวละครเก่าที่เปลี่ยนสีผิวไปจนถึงตัวละครใหม่ที่ไม่มีในเกม เพื่อความแปลกใหม่ให้คนที่เล่นเกมเดาทางไม่ออกและสนใจมาดู นั่นคือสิ่งที่ทีมเขียนบทสร้างซีรีส์คิด ซึ่งไอ้สิ่งแปลกใหม่ที่ว่านั้นมันคือความแปลกแยกไม่สมเหตุสมผล ที่ไม่ว่าจะดูมุมไหนมันก็ไม่เหมือนไม่เกี่ยวไม่ใช่และไม่เข้ากับแก่นของ ‘Resident Evil’ เลย เพราะถ้าใครเป็นแฟนเกม ‘Resident Evil’ จะทราบดีว่าตัวเกมจะไม่มีวันเอาเรื่องราวโลกล่มสลายมาใช้อย่างแน่นอน เพราะพื้นฐานของ ‘Resident Evil’ คือเรื่องราวที่ใกล้ตัวและเป็นปัจจุบัน รวมถึงการดิ้นรนเอาชีวิตรอดพร้อมกับค้นหาความจริงผ่านตัวเอกที่มีความสามารถในการต่อสู้ (เหนือมนุษย์) ซึ่งซีรีส์ ‘Resident Evil’ ไม่ได้หยิบตรงนี้มาใช้เลยแม้แต่อย่างเดียว แถมยังสร้างมันขึ้นมาให้แบบมั่ว ๆ งง ๆ ที่ถ้าไม่ใช้ชื่อ ‘Resident Evil’ แล้วบอกว่าคือซีรีส์ซอมบี้เรื่องใหม่คนก็เชื่อและน่าจะได้รับคำชมกว่ามาสร้างซีรีส์โดยการใช้ชื่อ ‘Resident Evil’ เสียอีก

The Last of Us

ตัดมาที่ ‘The Last of Us’ ที่ถ้าถามว่ามันเหมือนในเกมมากไหมก็ต้องบอกว่า 60% ของซีรีส์ที่คล้ายในเกม แต่ก็มีหลายส่วนที่ถูกแต่งถูกสร้างและแก้ไขให้มันกระชับขึ้น แต่สิ่งที่ทำให้ซีรีส์ ‘The Last of Us’ ได้รับคำชื่นชมไม่ใช่เพราะซีรีส์ทำเหมือนในเกม แต่เพราะเขาเข้าใจแก่นของมันว่าหัวใจของซีรีส์ ‘The Last of Us’ คือการเอาชีวิตรอดของคนสองคน (เป็นหลัก) ตัวซีรีส์เลยพยายามนำเสนอตัวละครเป็นคู่ที่เอาชีวิตรอดเสมอ (ไม่เชื่อไปย้อนดูตัวละครเกือบทั้งหมดจะมาเป็นคู่ตลอด) และสิ่งที่เกมนี้นำเสนอถ้าตัดระบบเกมที่เป็นแอ็กชันออกไป สิ่งที่ตัวเกมต้องการบอกเราคือเรื่องราวของความกลัวการสูญเสีย กับคนที่สูญเสียมาตลอดและต้องการความรักมาเจอกันในโลกที่ล่มสลาย ซึ่งไม่ใช่แค่คู่ตัวเอกอย่าง โจล (Joel) กับ เอลลี่ (Ellie) เท่านั้นแต่เป็นเกือบทุกคู่ในซีรีส์ก็ถูกนำเสนอแบบนี้ และทั้งคู่ต้องร่วมมือกันฝ่าฟันอันตรายพร้อมกับความอ้างว้างที่อยู่ในใจ ที่อีกคนขาดอีกคนต้องการที่เติมกันเท่าไหร่ก็ไม่เต็ม ที่เมื่อเราเล่นเกมหรือดูซีรีส์จะรู้สึกเหมือนขาดอะไรบางอย่างอยู่ในใจตลอดตอนดู ที่จนถึงตอนจบของเกมและซีรีส์ก็เชื่อว่าหลายคนก็ยังต้องรู้สึกแบบนั้นต่อไป (กล้าพูดเลยว่าทุกคนต้องรู้สึกแบบนี้เพราะคนเล่นเกมโดนมาแล้ว) ซึ่งนั่นคือแก่นที่เกมนำเสนอและซีรีส์ก็เอามาดัดแปลงแต่งเติมจนลงตัว ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ ‘The Last of Us’ มีแต่ ‘Resident Evil’ ไม่พยายามทำเลยแม้แต่ครั้งเดียว

การขยายเนื้อเรื่องดัดแปลงเนื้อหาไม่ใช่การบิดเบือน

อีกหนึ่งสิ่งที่ตัวซีรีส์ที่สร้างจากเกมควรทำ นั่นคือการขยายเนื้อเรื่องเพื่อการบอกเล่าเรื่องราวใหม่ที่ยังคงโครงสร้างเดิมของเกมเอาไว้ อย่างขยายเรื่องราวว่าก่อนหน้านี้ของตัวละครนี้ไปทำอะไรมาก่อนมาอยู่ตรงนี้ หรือตัวละครสมทบที่มีบทบาทในตอนนั้น ๆ เพื่อให้เรารู้จักตัวละครนั้นมากขึ้น หรือพูดภาษาบ้าน ๆ คือการสร้างความผูกพันให้คนดูรู้จักและรักตัวละครเหล่านี้มากกว่าผ่านคำพูดของตัวละคร แต่ฉายเป็นภาพให้เห็นจะทำให้คนดูรู้สึกได้มากกว่า อย่างที่ซีรีส์ ‘The Walking Dead’ ทำ นั่นคือการเพิ่มเรื่องราวของตัวละครนั้น ๆ เพื่อให้เรารู้จักตัวละครนั้นมากขึ้น ก่อนจะฆ่าเขาทิ้งเพื่อให้เราคนดูรู้สึกสงสารเห็นใจและเศร้าเมื่อตัวละครนั้นต้องจากไป หรือการเปลี่ยนเนื้อหาตัดส่วนที่ไม่จำเป็นของเกมออกไป เพื่อให้เรื่องราวในซีรีส์กระชับนั่นก็สมควรทำ ที่ต่างกับการบิดเบือนเอาทุกอย่างทิ้งแล้วสร้างขึ้นมาใหม่ที่เป็นคนละอย่างเลย

Resident Evil

ถ้าใครที่ได้ชมซีรีส์ ‘Resident Evil’ มาแล้วจะทราบดีว่าเรื่องราวในซีรีส์นั้นจะบอกเล่า 2 ช่วงเวลาคืออดีตกับปัจจุบัน ที่ทั้งหมดในซีรีส์นั้นมันไม่ใช่ไม่เฉียดหรือเข้าใกล้กับเนื้อเรื่องเกมเลย เพราะในเกมภาคหลัก ตัวพี่แว่นดำ อัลเบิร์ต เวสเกอร์ (Albert Wesker) นั้นก็มีลูกแต่เป็นผู้ชาย และการมีลูกนั้นก็เป็นความผิดพลาดที่ไม่ตั้งใจของพี่แก แถมบทของลูกเฮียเวสเกอร์ในเกมก็คือการไถ่บาปจากสิ่งที่พ่อแม่ทำไว้ (พ่อจะทำลายโลกลูกมาปกป้องโลก) นั่นคือแก่นของเกมภาคนั้นที่นำเสนอ ซึ่งแทนที่ตัวซีรีส์จะเอาตรงนี้มาทำแต่มันกลับกลายเป็นชีวิตวัยรุ่นเห่อ (ซอมบี้) ที่ทำอะไรโง่ ๆ ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ที่สิ่งนี้เรียกว่าการบิดเบือนที่ถ้าจะเอาจริง ๆ มันก็บิดเบือนตั้งแต่ตัวละครแล้ว ที่ถ้าในซีรีส์ใช้การเปลี่ยนตัวเวสเกอร์เป็นคนดำ แล้วบอกว่านั่นคือการย้ายจิตใส่ร่างคนอื่นแบบที่ ‘Resident Evil Revelations 2’ เอามาเล่นจะดูสมเหตุสมผลกว่าการเป็นร่างโคลนเสียอีก แบบนี้มันยิ่งแย่ที่ไปเปลี่ยนเนื้อเรื่องพอว่ายังบิดเบือนจนไม่เหลือชิ้นดีที่หนักเข้าไปอีก

The Last of Us

ตัดมาทางซีรีส์ ‘The Last of Us’ ที่ก็มีการขยายเนื้อเรื่องเพิ่มเนื้อหาเหมือนกับของ ‘Resident Evil’ ในเรื่องราวของ บิล (Bill) กับ แฟรงค์ (Frank) ที่ไม่ใช่แค่ขยายแต่มันคือมินิซีรีส์ที่บอกเล่าเรื่องราวของทั้งคู่ในหนึ่งตอนเต็ม ๆ ที่คนเล่นเกมเกือบทั้งหมดต่างขยี้ตาแรง ๆ ว่าคนทำซีรีส์เขาเอาจริงเอาจังกับตอนนี้มาก ๆ ซึ่งถ้าเราตัดเรื่องราวของชายรักชายที่ก็เป็นเรื่องปกติที่คนยุคนี้ยอมรับได้ออกไป แฟนเกมต่างไม่โอเคกับการเอาเรื่องราวของบิลกับแฟรงค์มาเล่าเยอะไป คือรู้ว่ามันยังคงตรงกับแก่นของเรื่องและมันดูสวยงามในแง่ของซีรีส์ แต่ในแง่ของซีรีส์ที่ทำจากเกมเราอยากเห็นซอมบี้แล้ว ที่ผ่านมามันยังไม่อิ่มเลยขอแบบเบิ้ม ๆ อีกรอบแต่สิ่งที่เราได้คือเรื่องราวดราม่าแทน ซึ่งส่วนนี้ของ ‘The Last of Us’ สอบตกกับการขยายเนื้อเรื่อง (เฉพาะตอน 3 ตอนเดียว) ที่เหมือนคนสร้างจะบอกว่าขอนิดนึงนะเดี๋ยวตอนต่อไปจะไม่มีแบบนี้แล้ว และก็เป็นแบบนั้นจริง ๆ เพราะเมื่อผ่านตอนนี้ออกมา ‘The Last of Us’ ที่คนเล่นเกมรู้จักก็กลับมาที่มันทดแทนกันได้ แถมเมื่อหันกลับไปมองตอนที่ 3 ที่ผ่านมาเรื่องราวนั้นก็สมานกันกับตอนที่ผ่านมาได้อย่างลงตัว แต่เมื่อเทียบกับของ ‘Resident Evil’ ที่ตั้งแต่เริ่มดูจนจบมันคืออะไรว่ะครับจนจบเรื่อง ซึ่งมันคือความทรมานปวดใจของแฟนเกมที่ต้องทนดูเรื่องราวที่มั่วแบบนี้ของ ‘Resident Evil’ แต่ของ ‘The Last of Us’ ตอนแรกก็ดูขัด ๆ แต่พอมาดูทีหลังมันก็ลงตัวพอดีเสียอย่างนั้น

ตัวละครที่มีลักษณะนิสัยอ้างอิงในเกมฉากที่คุ้นเคยชุดการแต่งกายที่ใช่นั่นคือสิ่งที่แฟนเกมต้องการ

อีกหนึ่งสิ่งที่ซีรีส์จากเกมควรมีเมื่อเราหยิบตัวละครจากเกมมาแล้ว นั่นคือการเอานิสัยบุคลิกของตัวละครนั้น ๆ มาด้วย เพราะลักษณะนิสัยของตัวละครในเกมมันคือตัวขับเคลื่อนเนื้อเรื่องที่จะส่งผลกับเนื้อหาในเกมและซีรีส์ อย่างตัวละครขี้ขลาดหนีก็จะส่งผลถึงชะตาของเขาที่จะตามมา หรือตัวเองที่สู้ตายเพราะต้องการปกป้องคนที่รักแต่เขามีปมเรื่องการสูญเสียในตอนแรกเลยไม่ค่อนสนใจจะช่วย นั่นคือแก่นของตัวละครที่สามารถเอามาใช้ได้ในซีรีส์ รวมถึงเครื่องแต่งกายที่ทั้ง ‘Resident Evil’ และ ‘The Last of Us’ ก็ไม่ได้ใช้เสื้อผ้าแฟนตาซีสวมเกราะอะไร แต่มันเสื้อผ้าธรรมดาที่หาได้ทั่วไปเพื่อให้ตัวละครนั้นดูเหมือนในเกมที่สุด ยกตัวอย่าง ‘Resident Evil Welcome to Raccoon City’ เอ็งแค่ตัดผมโกนหนวดตัวละครกับเอายางมัดผมให้ตัวละครเพื่อให้เหมือนในเกมหน่อยไม่ได้หรอ เหมือนคนสร้างจงใจกวนเท้าคนเล่นเกมมีใครคิดแบบนั้นบ้าง

Resident Evil

ในฝั่งของ ‘Resident Evil’ เราคงจะพูดถึงเรื่องนี้ไม่ได้เลย เพราะตัวละครที่ปรากฏตัวในเกมและมาอยู่มีในซีรีส์นั้นมีแค่คนเดียว นั่นคืออัลเบิร์ต เวสเกอร์และพี่แกก็มีบทแค่จิ๊ด (เสียงเล็กแหลม) ส่วนตัวร่างโคลนที่เป็นตัวหลักนั้นไม่นับเพราะไม่มีในเกม เราจึงไม่สามารถบอกอะไรได้เลยในหัวข้อนี้ (เจ็บจี๊ดที่ซีรีส์สร้างจากเกมแต่มีตัวละครในเกมปรากฏแค่คนเดียว) จึงขอหยิบ ‘Resident Evil Welcome to Raccoon City’ มาพูดแทน ซึ่งถ้าพูดถึงลักษณะนิสัยตัวละครในเรื่องนั้นบอกเลยว่าโอเคใช่เหมือนคล้ายตรงหมด ยกเว้นเฮีย ลีออน เอส เคนเนดี (Leon S. Kennedy) ที่พี่แกเปลี่ยนจากนายตำรวจที่จริงจังกับหน้าที่ มาเป็นใครก็ไม่รู้ที่ขนาดรถบรรทุกน้ำมันระเบิดเสียงดังพี่แกยังไม่ตื่น แต่เสียงยิงปืนที่เบากว่ายิงใกล้ตัวดันตื่น และความบ้งอีกหลายอย่าง ที่เปลี่ยนจากตัวละครที่คนเล่นเกมรู้จักและรักมาเป็นตัวละครวรนุชอะไรของคนเขียนบทก็ไม่รู้ ที่ถ้าใครได้ดูหรือทนดูจนจบคุณจะพบความบ้งของตัวละครนี้หลายอย่าง ที่ตามปกติตัวละครแบบนี้ในหนังซอมบี้คือไม่น่ารอดจนจบเรื่อง แต่พอดีเขาคือลีออนเลยไม่มีแม้แต่ริ้วรอย แถมยังมาขโมยซีนเท่ ๆ ตอนท้ายทั้งที่ก่อนหน้านี้พี่แกยังเอ๋อ ๆ โง่ ๆ ตลอดเรื่องอยู่เลย ส่วนเครื่องแต่งกายก็บ่นไปในหัวข้อก่อนแล้ว ซึ่งใครที่ยังไม่เคยดูก็บอกสั้น ๆ ว่า “หนีไปไอ้ทิด”

The Last of Us

ตัดมาที่ซีรีส์ ‘The Last of Us’ เต็ม 10 ไม่หักไม่มีอะไรจะบ่นเพราะเหมือนในเกมมันทุกอย่าง ตั้งแต่เสื้อผ้าฉากในเรื่องซอมบี้รวมถึง ‘Easter Egg’ ที่เชื่อมกับเกม อย่างน้องหมาที่ตรวจหาเชื้อซอมบี้ไปจนถึงม้าที่เอลลี่ลูบในตอนที่ 6 ซึ่งเอลลี่จะได้ขี่เป็นเพื่อนเดินทางในเกมภาค 2 เรียกว่าเอามาหมดครบทุกอย่าง ไปจนถึงชุดลักษณะนิสัยท่าทางความคิดของตัวละครในซีรีส์ ที่เรียกว่าเอามาจากในเกมแบบใช่เลยทีเดียว เรียกว่ากดคลิกขวาก๊อปปี้วางแบบนั้นได้เลยทีเดียว แต่กว่าที่ซีรีส์ ‘The Last of Us’ จะได้รับการยอมรับแบบนี้ในช่วงแรกก่อนที่ซีรีส์จะฉายก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากคนเล่นเกมหลาย ๆ คน (เกือบทุกคนบอกเลย) ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าน้องหนู เบลลา แรมซี่ย์ (Bella Ramsey) นั้นไม่เหมือนเอลลี่ในเกมเลย จนหลายคนบอกให้เอาน้องออกไปเปลี่ยนคนอื่นแบบนี้เลยทีเดียว แต่คนที่เคยเห็นการแสดงของน้องเบลลามาแล้วต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “น้องเขามีของ” ที่พอเราได้เห็นบทบาทของเบลลาในบทเอลลี่แค่ตอนแรกทุกคนก็อ้างปากค้างถอนคำพูดคนที่เคยด่าออกไปจนหมด เพราะแก่นความเป็นเอลลี่ที่น้องเบลลานำเสนอนั้นมาครบจัดเต็มจนเป็นเอลลี่ในแบบที่ทุกคนรู้จัก ส่วนตัวละครอื่น ๆ นั่นมันกดคลิกขวาก๊อปปี้มาชัด ๆ เหมือนกันโดยเฉพาะซอมบี้ที่น่ากลัวกว่าในเกมเสียอีกบอกเลย

เคารพคนดูที่ไม่เคยเล่นเกมและคนเล่นเกมที่รู้จักเรื่องราวทั้งหมด

ปิดท้ายกับสิ่งที่คนสร้างซีรีส์จากเกมควรเคารพนั่นคือฐานคนดู ที่หลัก ๆ ก็มาจากคนเล่นเกมที่ชื่นชอบหลงรักและรู้จักซีรีส์เกมนั้น ๆ ที่ตามมาดูเป็นหลัก เพราะเม็ดเงินเกินครึ่งจากคนดูซีรีส์ภาพยนตร์จากวิดีโอเกมก็ได้จากคนกลุ่มนี้ และถ้าคนสร้างซีรีส์ภาพยนตร์ไม่สนใจคนกลุ่มนี้ก็อย่าเอาชื่อเกมมาสร้างเลย เพราะอย่างที่เราได้อธิบายมาตั้งแต่ต้นว่าสิ่งที่แฟนเกมต้องการไม่ใช่สิ่งที่เหมือนในเกม แต่มันคือแก่นของเรื่องลักษณะนิสัยตัวละครฉากการแต่งตัวที่เหมือนในเกม ซึ่งสิ่งนี้เกม ‘The Last of Us’ มีครบจนเกิน และถ้าเราจะพูดว่าที่ซีรีส์ ‘The Last of Us’ ทำได้ก็เพราะเขามีผู้สร้างเกมมาควบคุมดูแล แต่ฝั่ง ‘Resident Evil’ ไม่มีเลยเป็นแบบนี้ไม่ได้ ถ้าอย่างนั้นเราก็ขอถามคืนว่า “แล้วทำไมไม่ไปเชิญผู้สร้างเขามาดูแลละเพ่” ถ้าทำผิดพลาดจนมั่วแล้วโทษว่าเพราะไม่มีผู้สร้างเกมมาดูแลซีรีส์มันฟังไม่ขึ้น และการเปลี่ยนแปลงไปจนไม่เหลือเค้าเดิม เพื่อเอาใจคนกลุ่มใหม่ที่ไม่รู้จักเกมให้มาดูถ้าทำอย่างนั้นก็เปลี่ยนชื่อเรื่องไปเลยจะดีกว่า อย่าเอาชื่อเกมมาทำให้เสื่อมเสียเลย นั่นคือสิ่งที่คนเล่นเกมต่างบ่นมาหลายปี จน ‘The Last of Us’ มาทำลายคำสาปนั้นในฐานะซีรีส์

Resident Evil

เมื่อดูจากสิ่งที่ซีรีส์ ‘Resident Evil’ ต้องการทำนั่นคือการสร้างฐานคนดูที่ไม่รู้จักและไม่เคยเล่นเกม ‘Resident Evil’ รวมถึงคนที่ชอบดูหนังซอมบี้สัตว์ประหลาดให้มาดู ส่วนแฟนเกม ‘Resident Evil’ คงไม่ต้องไปเรียกมากเพราะถึงยังไงคนกลุ่มนี้ก็ดูอยู่แล้ว ที่ถ้าทำดีก็เสมอตัวทำไม่ดีก็แค่โดนด่า นั่นคงจะเป็นสิ่งที่คนสร้างซีรีส์ ‘Resident Evil’ คิดเลยทำมันออกมาโดยเอาใจคนไม่เคยรู้จักเกมเป็นหลัก ที่ตัวซีรีส์ต้องการนำเสนอมุมมองความรักของครอบครัวพี่น้องที่ไม่ลงรอยกัน การเอาตัวรอดในโลกที่ล่มสลายผ่านตัวละครใหม่เรื่องราวใหม่ รวมถึงชีวิตวัยรุ่นในรั้วโรงเรียนเพื่อให้คนเล่นเกมร้องว้าวสุดยอดไปเลย เพราะมันไม่มีในเกม และเป็นการนำเสนอมุมมองใหม่ที่ซ้ำกับ ‘Resident Evil’ ภาพยนตร์ที่สร้างและโดนด่าจนเละมาแล้วเลย ว้าวแปลกใหม่มาก ๆ (ประชดแหละดูออก) แต่ก็ยังหน้าด้านเอามาใช้ซ้ำ เพราะคิดว่ามันจะเป็นมุมมองใหม่ แทนที่จะนำเสนอการเอาชีวิตรอดของกลุ่มคนจากซอมบี้ กลับไปนำเสนอตัวปัญหาที่สร้างแต่เรื่องที่ไม่มีประโยชน์ที่ต้องตามดูหรือเอาใจช่วย ที่แม้แต่คนที่ไม่รู้จักเกม ‘Resident Evil’ ยังบ่นว่า “อิหยังวะ” ออกมาเหมือนกัน ส่วนคนเล่นเกมก็เป็นอย่างที่เห็น จนเราสามารถรวบรวมข้อมูลมาเขียนเป็นบทความใหม่ เพื่อด่าซีรีส์เรื่องนี้ได้เลยทีเดียว

The Last of Us

มาที่ ‘The Last of Us’ กันบ้างที่ถ้าคุณได้ชมซีรีส์ทุกตอนมาแล้วและเป็นคนเล่นเกม ก็คงจะบอกว่านี่ละคือสิ่งที่คนเล่นเกมต้องการจากซีรีส์และภาพยนตร์ จนหลายคนตะโกนไปยังคนที่จะเอาเกมมาสร้างเป็นภาพยนตร์กับซีรีส์ว่า “ขอแบบ ‘The Last of Us’ เถอะนะขอร้อง” ซึ่ง ‘Resident Evil’ ไม่เคยทำได้เลย (ย้ำว่าไม่เคยได้เลยแม้แต่ครั้งเดียว) แม้แต่ฉบับภาพยนตร์ ‘CG’ ที่ทาง ‘Capcom’ ผู้ให้กำเนิดเกมนี้เอามาสร้างเองยังเละ เพราะไม่ได้ทีมพัฒนาเกมมามีส่วนร่วมในการแต่งเนื้อเรื่อง เพราะทีมงานทำเกมอย่างเดียวก็จะตายอยู่แล้ว แต่เห็นว่า ‘The Last of Us’ ดีงามพระรามแปดแบบนี้ ก็ยังไม่แคล้วโดนแฟน ๆ กับนักวิจารณ์บางส่วนติงว่ามันเหมือนในเกมไป ซึ่งนั่นก็ไม่ผิดที่เขาจะคิดแบบนั้นเพราะคนเราต่างชอบไม่ชอบไม่เหมือนกัน และก็มีคนที่ชอบ ‘Resident Evil’ ที่เป็นแบบนั้นอยู่ด้วย แค่คนส่วนมากไม่ชอบแบบนั้นและชอบแบบนี้ เราจึงต้องขอฟังเสียงส่วนมากเป็นตัวตัดสินว่ามันดีไม่ดี และซีรีส์ ‘The Last of Us’ ก็สร้างมาตรฐานให้ภาพยนตร์ซีรีส์ที่สร้างมาจากเกม ที่คนเล่นเกมต่างก็หวังว่าคนสร้าง ‘Resident Evil’ เรื่องต่อ ๆ ไปเก็บมาคิดและทำตาม โดยล่าสุดก็จะมี ‘Resident Evil Dead Island’ ที่ทาง ‘Capcom’ ทำออกมากู้ชื่อเสียงตัวเอง คงต้องมาดูว่าคราวนี้จะล้างคำสาป ‘Resident Evil’ ได้ไหมมารอดูกัน เพราะตัวภาพยนตร์ ‘CG’ ของ ‘Resident Evil’ เองก็ใช่ย่อยในความเละไม่ต่างจากบทคนแสดงจนคนเล่นเกมไม่อยากหวัง นี่มันหัวข้อของ ‘The Last of Us’ แต่เราพูดถึง ‘Resident Evil’ ได้ไง (คนเขียนเพิ่งรู้ตัวและคนอ่านก็คงจะคิดแบบเดียวกัน) แถมภาพประกอบข้างล่างยังเป็น ‘Resident Evil’ อีก (แต่พอเห็นรูปแล้วก็ให้อภัยได้)

เป็นอย่างไรกันบ้างกับการเปรียบเทียบเชิงวิเคราะห์ระหว่างสองซีรีส์ ที่ทั้งสองเรื่องนั้นถูกสร้างมาในเวลาไล่เลี่ยกัน และตัวเกมทั้งสองก็เป็นตำนานของวงการเกมทั้งคู่ แต่ทั้งสองเรื่องกลับสร้างออกมาได้ต่างกันคนละขั้ว อย่างซีรีส์ผีชีวะที่ทำมากี่ครั้งก็ไม่เคยสมใจคนดู ที่เหมือนนัดดูตัวผู้ชายใน ‘Tinder’ แล้วตัวจริงไม่ตรงปก กับซีรีส์เหลือเพียงเราสองที่เห็นรูปใน ‘Tinder’ แล้วไม่ค่อยโอเค แต่พอเจอตัวจริงแล้วพูดคุยเข้ากันได้ดีเสียอย่างนั้น โดยเราพยายามแยกทั้งสองซีรีส์ออกจากกันเพื่อให้คุณเห็นภาพของสิ่งที่เกิดขึ้น หวังว่าจะถูกใจการเปรียบเทียบครั้งนี้ และถ้าคุณชื่นชอบเนื้อหาแนวคิดวิเคราะห์แยกแยะแบบนี้อีกก็ไปอ่านบทความย้อนหลังข้างล่างได้เลย เพราะเรายังมีบทความในเชิงแบบนี้อีกมากมายรอคุณอยู่มาอ่านกันตอนนี้ได้เลย เพราะที่แบไต๋มีครบจบทุกความบันเทิงเพื่อคุณ