รีเซต

7 หนังเรื่องเยี่ยมดำดิ่งปมความเท่าเทียม Black Lives Matter เพราะทุกคนก็คือมนุษย์

7 หนังเรื่องเยี่ยมดำดิ่งปมความเท่าเทียม Black Lives Matter เพราะทุกคนก็คือมนุษย์
Jeaneration
31 พฤษภาคม 2563 ( 19:00 )
1.1K
2

ข่าวสารวงการหนัง Black Lives Matter

ประกายไฟลุกโชนจากกระแส Black Lives Matter ในสหรัฐอเมริกา กำลังดุเดือดลุกลามไปในหลายจุดทั่วประเทศ แม้ว่าจะยังมีความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของ Covid-19 ในพื้นที่อยู่ แต่ปัญหาความเหลือมล้ำและไม่เท่าเทียมกันในสังคม กลายเป็นเชื้อไฟที่ลุกขึ้นมากลายเป็นการแสดงจุดยืนในการชุมนุมประท้วงไปทั่วประเทศไทย ทำให้กลายเป็นประเด็นรณรงค์ต่อต้านพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่เกินกว่าเหตุที่ควรจะพึงทำ

Black Lives Matter มีจุดเริ่มต้นมาจากกรณีเหตุการควบคุมตัวของ "จอร์จ ฟลอยด์" ชาวผิวสีในเมืองมินนีแอโพลิส รัฐมินนิโซตา ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ไปควบคุมตัวเขา หลังร้านค้าแจ้งว่าเขามีพฤติกรรมเสี่ยงจะโจรกรรมร้าน แต่เขายังไม่ก่อเหตุหรือทำอะไรผิด ด้วยความที่เขาเคยมีคดีติดด้วยมาก่อนในอดีต ประกอบกับรูปร่างใหญ่สูงกว่า 2 เมตร ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติรุนแรงกับเขา ด้วยการจับร่างล็อกกับพื้นถนน และใส่เข่ากดที่บริเวณลำคอ ทำให้เขาหายใจไม่ออก

พยานชี้ชัดว่าเขาไม่มีท่าทีขัดขืนการจับกุม ซ้ำยังขอร้องให้ตำรวจหยุดใช้เข่าล็อกคอ เนื่องจากหายใจไม่ออก เขาร้องวิงวอนอยู่นานกว่า 8 นาที ใบหน้าเริ่มซีดลง กระทั่งในที่สุดเขาก็หมดสติลงไป และเสียชีวิตลงก่อนจะถึงโรงพยาบาล เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความโกรธแค้นให้กับชาวเมืองเป็นอย่างมาก กลายเป็นการจุดไฟประท้วงกลางเมือง บุกไปรังครวญเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 4 นายในเหตุการณ์นี้ และนี่กลายเป็นจุดเดือดดาลที่สั่งสมมานานเกี่ยวกับประเด็นการเหยียดและแบ่งแยกสีผิวและเชื้อชาติในสหรัฐอเมริกา

ถึงแม้ว่าชาติที่ได้ชื่อว่าเป็นดินแดนเสรีภาพจะได้ประกาศเลิกทาสมานานเป็นร้อยปีแล้ว แต่ดูเหมือนว่าในสังคมก็ยังมีการเลือกปฏิบัติที่แตกต่างกันระหว่างสีผิว ทั้งที่ในความเป็นจริงทุกคนล้วนเป็นมนุษย์เหมือนกัน ในขณะที่วงการหนังก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่มักจะถ่ายทอดแนวทางปฏิบัตินั้นๆ ออกมาในรูปแบบภาพยนตร์ สื่อให้เห็นถึงสภาพสังคมที่เหมือนจะก้าวไปข้างหน้า แต่แนวคิดดั้งเดิมก็ยังคงติดอยู่ที่เดิม Movie.TrueID จึงได้คัดหนังคุณภาพชูจุดเด่นเรื่องความเท่าเทียมในสีผิวมาแบบเน้นๆ เป็นหนังที่ขยี้ประเด็นออกมาได้กัดกินใจและยังประทับใจได้ไม่รู้ลืม ...เพราะเราทุกคนต่างก็เป็นคนเหมือนกัน

Green Book (2018)
นี่คือหนังยอดเยี่ยมเจ้าของรางวัลออสการ์...ได้มาแบบพลิกล็อกสุดๆ แต่ถึงกระนั้นก็ยังเป็นรางวัลที่เหมาะจะได้ไปครองอยู่ หนังเล่าเรื่องย้อนกลับไปในยุค 60 ที่แน่นอนว่า ประเด็นการเหยียดสีผิวในสังคมอเมริกัน ยังชุกชุมและแสดงออกยิ่งกว่านี้มากนัก เรื่องราวของนักดนตรีชาวผิวสีที่มั่งคั่งร่ำรวย แต่ต้องมาเดินทางออกทัวร์ไปตามสถานที่ต่างๆ กับคนขับรถผิวขาว ที่หัวสมองเต็มไปด้วยความคิดเหยียดผิวมากมาย ความสัมพันธ์ของทั้งคู่กลายเป็นการปรับจูนเข้าใจซึ่งกันและกันตลอดการเดินทาง ความคิดที่ถูกปลูกฝังให้กลายเป็นทัศนคติได้ปรับเปลี่ยนไป หนังทำหน้าที่ได้ดีในการสำรวจความเปลี่ยนแปลงทางความคิด ด้วยการมีปฏิสัมพันธ์มากกว่าแค่ยืนพิจารณามองดูคนจากภายนอก นี่คือหนังที่ออกไปแนวฟีลกู้ดหน่อยๆ แม้ประเด็นจะไม่ได้กู้ดด้วยเท่าไหร่ก็ตาม

Hidden Figures (2016)
คนเก่ง...ไม่จำเป็นต้องอยู่ที่สีผิว นี่คือหนึ่งในหนังอันทรงพลังในการแสดงพลังของคนผิวสีเลยทีเดียว เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงกับ 3 นักวิทยาศาสตร์หญิงผิวสี ที่มีโอกาสได้เข้าทำงานกับองค์การนาซา ในช่วงยุค 60 ที่แน่นอนว่ายังมีการแบ่งแยกสีผิวกันอย่างชัดเจน ในภาวะสังคมที่คนผิวขาวยังเป็นใหญ่ จะทำอะไรก็ต้องหลบหลีกให้คนผิวขาวก่อนเสมอ เป็นยุคที่ก่อนให้เกิดความอึดอัดคับใจให้กับคนผิวสี จุดดังกล่าวหนังเรื่องนี้ได้ทำสะท้อนออกมาได้ดีมากๆ นอกจากจะชูประเด็นสีผิวแล้ว ยังรวมถึงความเท่าเทียมทางเพศด้วย เพราะเราจะได้เห็นการเก่งกาจสามารถของคนผิวสี ทุกคนต่างมีความถนัดและช่ำชองเป็นของตัวเอง เพียงแต่ว่าจะมีโอกาสและจุดยืนให้ได้โชว์ศักยภาพเหล่านั้นออกไปหรือไม่ ล้วนแต่ขึ้นอยู่กับสังคมเพียงอย่างเดียว

The Help (2011)
เป็นหนึ่งในนั้นที่ว่าด้วยประเด็นสีผิวที่ยังประทับใจไม่รู้ลืมจริงๆ ดัดแปลงมาจากนิยายชื่อดังที่มีชื่อเดียวกัน ก็ยังคงเล่าเรื่องสังคมอเมริกันในยุค 60 อีกนั่นแหละ (ยุคนี้เป็นช่วงพีคและเปลี่ยนของคนผิวสี) ในขณะที่บรรดาคุณหญิงคุณนายคนผิวขาวต่างพากันสุขสำราญเพลินใจกับช่วงสมัยสังคมเรืองรอง แต่ในขณะที่โอกาสของคนผิวสีแทบไม่มี เป็นได้แค่แม่บ้านในบ้านของคนผิวขาว ที่ต้องทนยอมให้เหยียดทั้งคำพูดและสายตาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แต่ชีวิตของคนผิวสีเหล่านี้กลับเป็นที่สนใจของคุณนายบ้านหนึ่ง เธออยากจะตามติดชีวิตของแม่บ้านผิวสีอย่างเป็นมิตร เพื่อเรียนรู้ว่าสังคมของพวกเธอเป็นอย่างไร ก่อนจะถ่ายทอดออกมาเป็นหนังสือที่เขียนถึงคนผิวสี ท่ามกลางยุคที่สังคมยังแบ่งแย่งสีผิวกันอยู่เลย

The Hate U Give (2018)
เรื่องนี้คนไทยอาจจะไม่ค่อยคุ้นกันเท่าไหร่ แต่ก็ถือว่าเป็นหนังดีที่ถูกมองข้ามไป สร้างมาจากนิยายเรื่องดังที่มีชื่อเดียวกัน หากลองพิจารณาชื่อหนังดีๆ นี่ก็คือคำย่อของ THUG LIFE โค้ดเนมที่วัยรุ่นในปัจจุบันนิยมนำไปใช้กันนี่เอง เหมือนได้ทราบความหมายของคำนี้ที่คือ "ความเกลียดชังที่คุณให้มา" แล้ว ก็เข้าประเด็นได้เลย นี่คือหนังที่สะท้อนถึงปัญหาสังคมระหว่างคนผิวสีกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างตรงไปตรงมา เด็กสาวคนหนึ่งต้องเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ที่เพื่อนชายของเธอถูกตำรวจหนุ่มลั่นไกยิงใส่ต่อหน้าต่อตา ทั้งที่เขาไม่ได้ขัดขืนและป้องร้ายเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด กลายเป็นปมที่ติดอยู่ในใจของเธอ และเรื่องราวที่เปล่งออกมาจากเสียงเธอได้กลายจุดประกายกลายเป็นเชื้อไฟในสังคม

12 Years a Slave (2013)
อีกหนึ่งนั้นที่เป็นเจ้าของรางวัลใหญ่จากเวทีออสการ์ สร้างมาจากสมุดบันทึกทาสเล่มดัง ที่ต้องบอกว่านำมาซึ่้งประเด็นที่แสนรันทดและดำดิ่งอยู่ในความทุกข์ในการกระทำของมนุษย์เลยทีเดียว เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอเมริกาช่วงที่ยังมีการใช้แรงงานทาสอยู่ แน่นอนว่าทาสส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นคนผิวสีที่อพยพมาจากแดนไกล พวกเขาไม่มีทางเลือกที่จะต้องเดินทางสายนี้เพื่อความอยู่รอด ท่ามกลางสังคมท้องถิ่นที่ไม่ให้การยอมรับในสีผิวและเชื้อชาติ "โซโลมอน นอร์ธุป" ที่ชีวิตต้องพลิกผัน จากหนุ่มชาวนิวยอร์ก กลายมาเป็นทาสที่ถูกขายให้กับไร่ฝ้าย เขาจดบันทึกอันแสนหดหู่ใจตลอด 12 ปี ในการเป็นทาสรับใช้คนผิวขาว ทุกอย่างไม่ต่างอะไรกับนรกบนดิน ที่ตายไปเสียจะดีกว่าต้องอยู่แบบตายทั้งเป็นเช่นนี้

Fruitvale Station (2013)
หนังเรื่องนี้อาจจะใช้เคียงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นปัจจุบันในอเมริกามากที่สุด เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ถูกหยิบยกมาพูดอีกครั้งใน Black Lives Matter กับเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในวันสุดท้ายของปี 2008 ที่สถานีรถไฟ Fruitvale บันทึกช่วงเวลาสุดท้ายของหนุ่มผิวสี วัย 22 ปี "ออสการ์ แกรนท์" ที่เขาก็เหมือนหนุ่มทั่วๆ ไปที่กำลังจะออกไปสังสรรค์ต้อนรับปีใหม่กับเพื่อนๆ แต่ทุกอย่างกลับพลิกผัน เมื่อกลายเป็นโศกนาฏกรรมขึ้นบนสถานีรถไฟ เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าระงับเหตุทะเลาะวิวาท และเป็นเหตุทำให้เขาต้องจบชีวิตลงที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ การเสียชีวิตของเขาก็เป็นเชื้อไฟที่ทำให้เกิดการประท้วงและคำถามต่างๆ มากมายเกี่ยวกับการทำงานของตำรวจในครั้งนี้ เฉกเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับ จอร์จ ฟลอยด์ ในกรณีที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

To Kill a Mockingbird (1962)
ขอปิดท้ายด้วยการหยิบเอาหนึ่งในวรรณกรรมและหนังเรื่องเยี่ยมที่สุดในประวัติศาสตร์ ที่ถือว่าเป็นการสะท้อนปัญหาการเหยียดสีผิวออกมาได้เป็นอย่างดี แม้ว่าผลงานเรื่องนี้จะออกฉายในช่วงที่สภาพสังคมโดยทั่วไปยังคงเหยียดผิวกันอยู่เลย ดัดแปลงมาจากนิยายของ ฮาร์เปอร์ ลี ที่คนไทยน่าจะคุ้นชื้อที่ว่า "ผู้บริสุทธิ์" เป็นการเล่าเรื่องราวของครอบครัวทนายความที่ต้องมาว่าความให้กับผู้ต้องหาชายผิวสี ในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นข่มขืนกระทำชำเรา แต่การว่าความให้ชายผิวสีครั้งนี้ กลับส่งผลกระทบครั้งใหญ่ต่อชีวิตทนายและครอบครัว นี่เป็นวรรณกรรมและหนังที่เกิดมาชาติสมควรต้องสัมผัส เพราะเนื้อหาที่เหมือนจะล้าสมัย แต่กลับยังเข้าสมัยอยู่ในทุกวันนี่้อยู่ ผลงานนี้ได้รับการยกย่องว่ายอดเยี่ยมในด้านการสำรวจมนุษย์ถึงแก่นแท้ รวมทั้งประเด็นการตัดสินผู้อื่นจากภายนอก ทัศนคติสังคมที่เป็นเครื่องตัดสินคนอย่างไม่เป็นธรรม สมควรเป็นหนึ่งในผลงานขึ้นหึงไปตลอดกาลจริงๆ

----------------------------------------------------

>> ดูหนัง ดูซีรีส์ออนไลน์ได้ที่ Movie.TrueID <<