รีเซต

[รีวิวซีรีส์] The Last of Us เธอกับเขาและเรื่องราวของ “เรา” สู่การเป็นซีรีส์ซอมบี้อันดับ 1 ของโลก

[รีวิวซีรีส์] The Last of Us เธอกับเขาและเรื่องราวของ “เรา” สู่การเป็นซีรีส์ซอมบี้อันดับ 1 ของโลก
แบไต๋
14 มีนาคม 2566 ( 09:30 )
256

เรื่องย่อ: 20 ปีหลังจากอารยธรรมสมัยใหม่ถูกทำลายด้วยโรคระบาดจากเชื้อรา โจล ผู้รอดชีวิตได้รับการว่าจ้างให้พาตัวเอลลี เด็กหญิงอายุ 14 ปี ออกจากเขตกักกัน ภารกิจเล็ก ๆ กลับกลายเป็นการเดินทางที่โหดร้ายและน่าสลดในไม่ช้า เมื่อทั้งคู่ต้องเดินทางข้ามสหรัฐอเมริกาและช่วยเหลือกันเพื่อความอยู่รอด

ในวงการเกมนั้น ‘The Last of Us’ เป็นเกมแอ็กชันที่มีการดำเนินเรื่องอันยอดเยี่ยมอย่างไม่มีที่ต้องสงสัย ผลงานของค่าย Naughty Dog เกมนี้ได้พิสูจน์ตัวเองด้วยรางวัลอย่างล้นหลาม โดยเฉพาะความยอดเยี่ยมของบทที่ส่งให้ผู้กำกับและคนเขียนบทของเกมอย่าง นีล ดรักแมนน์ (Neil Druckmann) กลายเป็นนักเล่าเรื่องที่ทุกคนต้องจับตามอง ไม่เฉพาะแค่วงการเกมแต่รวมถึงวงการภาพยนตร์เช่นกันเพราะสิ่งที่เขาสร้างในตัวเกมนั้น คือภาพยนตร์ชั้นดีเพียงแค่ผู้ชมเปลี่ยนจากผู้นั่งดูห่าง ๆ มาเป็นผู้ที่ต้องสวมบทบาทอย่างใกล้ชิดกับสถานการณ์

ซึ่งสิ่งที่ว่ามาคือความได้เปรียบในฐานะเกมที่มอบประสบการณ์ร่วมได้อย่างยิ่งยวด ผู้เล่นร่วมทุกข์ร่วมสุข มีผิดพลาด มีสำเร็จ ตายไปกับตัวละครและเริ่มต้นใหม่ด้วยกันนับครั้งไม่ถ้วน จนเสมือนเป็นเพื่อนเป็นตัวตนเดียวกันกับตัวละคร เมื่อมันถูกนำเสนอในรูปแบบซีรีส์ จึงไม่แปลกที่แฟนเกมจะรู้สึกเป็นห่วง เพราะที่ผ่านมาหนังหรือซีรีส์ที่ดัดแปลงจากเกม หากไม่ทำเป๊ะจนขาดศิลปะแบบภาพยนตร์ ก็หลบเลี่ยงมากไปจนกลายเป็นขาดความเคารพในต้นฉบับ การจะสร้างดุลยภาพระหว่างศิลปะคนละแขนงให้ออกมาดี จึงเป็นความท้าทายที่ยากเสมอมา

แต่ ‘The Last of Us’ ก็มีจุดแข็งที่ไม่เหมือนใครอยู่ เพราะดรักแมนน์ได้มาทำซีรีส์นี้ด้วยตนเอง แถมเขามีวิสัยทัศน์ของนักเล่าเรื่องที่ไม่ได้เชี่ยวชาญเฉพาะแขนง ฉากคัตซีนในเกมพิสูจน์ตัวเองหลายครั้งว่าคุณภาพยอดเยี่ยมทั้งมุมกล้องและความพอดีในการเล่า เมื่อมาจับคู่ควบคุมการผลิตกับ เคร็ก เมซิน (Craig Mazin) จากซีรีส์ ‘Chernobyl’ (2019) ที่พิสูจน์ตัวเองในสายดรามาธริลเลอร์มาแล้วเช่นกัน เหมือนว่ามันคือดุลยภาพระหว่างผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์คนละแขนงที่ต่างมองเห็นสิ่งเดียวกัน

และการเลือก เพโดร พาสคาล (Pedro Pascal) มารับบท โจเอล ในฉบับเกมหรือ โจล ในฉบับซีรีส์ กับ เบลลา แรมซีย์ (Bella Ramsey) มารับบท เอลลี ก็อาจเป็นความถูกต้องแรกที่ซีรีส์นี้ได้ขึ้นทรงของตนเอง พาสคาลเป็นนักแสดงที่มีความอบอุ่นและสายตาที่สะท้อนอดีตที่แหลกสลาย รวมถึงในยามที่ต้องดุดันสายตาเขาก็ช่างน่ากลัว มันคือโจลชายที่สูญเสียครอบครัวที่รักไปและต้องใช้ชีวิตต่อโดยไม่เชื่อในความหวังอะไรในโลกนี้อีกแล้วอย่างไร้ที่ติติง

ส่วนที่น่ากังวลในทีแรกอย่างน้องแรมซีย์ ที่แม้เราจะเห็นฝีไม้ลายมือจากบท ลีอานนา มอร์มอนต์ แห่งเกาะหมีในซีรีส์ ‘Game of Thrones’ ตั้งแต่ซีซัน 5 เป็นต้นมา แต่สำหรับเอลลีต้องยอมรับว่าน้องแรมซีย์เสียเปรียบจากรูกลักษณ์ที่ห่างไกลจากต้นฉบับค่อนข้างมาก ซึ่งจริงแล้วจะไม่ต้องเหมือนกันเป๊ะก็ได้ แต่ตัวเลือกที่เล่นได้ดีและหน้าตาคล้ายกับเกมมันก็ไม่ใช่จะไม่มี ที่คิดได้อย่างเดียวเลยคือเธออาจมีแต้มต่อในฐานะดาราลูกหม้อของ HBO แต่เมื่อเราได้จมไปกับซีรีส์มากขึ้นทีละตอน แรมซีย์ก็พิสูจน์ตัวเองชัดขึ้นว่าเธอเป็นเอลลีที่สื่อสารความหวั่นไหวภายใต้ความแข็งกร้าว ทำหัวแข็งกร้านโลกแต่ภายในนั้นไร้เดียงสาและมีจิตใจที่ดีงามได้อย่างน่าชื่นชม จะดูแคลนว่าเธอได้บทมาเพราะเป็นลูกรักของค่ายนั้นไม่ถูกต้องเลย

หนังสร้างความกลัวร่วมให้กับผู้ชมด้วยวิธีการเปิดเรื่องที่ต่างไปจากฉบับเกมที่เราแทบไม่รู้อะไรเลย ตอนนี้เราได้เห็นนักวิทยาศาสตร์มานั่งพูดว่าไม่ใช่ไวรัสที่จะล้างโลกหรอกแต่เป็นเชื้อราต่างหาก เป็นฉากสั้น ๆ ที่คิดใหม่แต่ได้ผลทำเอาขนลุก ดูแล้วรู้สึกเกิดได้จริงอย่างไม่น่าเชื่อ

และในส่วนของการทำให้เราอินไปกับตัวละครอย่างโจลแทนการได้ควบคุมในเกม ดรักแมนน์ใช้ศิลปะการเล่าเรื่องแบบดรามาเข้าช่วยด้วยการขยายภาพชีวิตของโจลกับลูกสาวในช่วงที่โลกยังปกติให้เราผูกพันไปด้วย เราได้สัมผัสความเป็นมนุษย์ที่อบอุ่นของโจลและได้เห็นความแหลกสลายของเขาจนเกิดความเห็นใจ และอะไรแบบนี้คือสิ่งที่ดรักแมนน์กับเมซินออกแบบมาให้ซีรีส์ได้อย่างไร้ที่ติ ไม่เพียงแค่ตอนแรก มันยังทำได้ดีโดยเฉพาะในตอนที่ 3 ที่ชื่อ ‘Long, Long Time’ ที่อาจพูดได้ว่ามองเป็นหนังที่ดีอีกเรื่องหนึ่งได้เลย

การเพิ่มเติม ขยายหรือจะเรียกว่าขยี้ของเดิมให้ดีขึ้นจะเป็นเรื่องที่ยอดเยี่ยม ด้วยการลดฉากแอ็กชันแล้วเน้นทางอารมณ์ให้หนักเป็นจุด ๆ แบบกระทุ้งทีให้คนดูขนลุกด้วยความเร้าใจและร้าวรานใจ ทั้งเรื่องความรุนแรงอย่างฉากที่เอลลีถูกจับในหมู่บ้านของเจ้าลัทธิ ความน่ากลัวอย่างฉากที่ผู้ติดเชื้อร่างยักษ์ปรากฏตัวกลางฝูงซอมบี้หลากชนิด ความซาบซึ้งอย่างเรื่องราวของบิลกับแฟรงก์ที่พิสูจน์ว่าความรักเอาชนะกำแพงทุกอย่างได้ หรือความสะเทือนใจอย่างในเรื่องราวของพี่น้องเฮนรีและแซม

แต่มันก็นำมาซึ่งข้อขัดแย้งในหมู่ผู้ชม ทั้งประเด็นที่ว่าบางจุดไม่ตรงกับต้นฉบับ ความกระอักกระอ่วนในเรื่องความหลากหลายทางเพศของชายผิวขาวขวาจัด รวมถึงฉากแอ็กชันที่น้อยเกินไปเมื่อเทียบกับเกมที่มีให้ลุ้นตลอดโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเผชิญหน้ากับพวกผู้ติดเชื้อนั้นมีน้อยมาก ๆ และความแผ่วฮวบฮาบของตอนที่ 7 ที่ชื่อ ‘Left Behind’ ที่ตัดย้อนอดีตไปจนได้คะแนนน้อยสุดในซีซันนี้ แต่ก็ต้องบอกว่าพอพินิจดี ๆ มันอาจเป็นเรื่องของรสนิยมมากกว่า

เพราะหากพิจารณาที่เนื้องาน นี่คือวิธีการเล่าที่ถูกคิดมาอย่างดี การเรียงร้อยแต่ละตอนแต่ละแนวคิดที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงจิตใจของตัวละคร มันคือบันไดพัฒนาการตัวละครที่ยอดเยี่ยมและไม่มีอะไรที่ไม่จำเป็นเลย แม้แต่ตอนที่ 7 ที่มันต้องมาคั่นในจังหวะนี้จริง ๆ คือต้องยอมให้แผ่วเพื่อพัฒนาต่อ และการสร้างข้อถกเถียงในหมู่ผู้ชมนั้น จึงอาจเล็งเห็นได้ว่าคือความจงใจของผู้สร้างเช่นกัน

เพราะเมื่อมาถึงคำถามสุดท้ายในตอนที่ 9 ของซีซันนี้ มันจึงมีความขัดแย้งในหัวผู้ชมมากมาย เราเข้าใจสมองส่วนเหตุผลและหัวใจส่วนความรักของโจลได้อย่างดี อาจไม่เห็นด้วยกับเขาแต่ก็ไม่อาจกล่าวตำหนิเขาได้เลย และในขณะที่มันอาจกลายเป็นความรุนแรงที่จำเป็นและผู้ชมยอมรับมันได้ ผู้สร้างก็ไม่ได้ทำให้มันดูโรแมนติกและน่ายกย่องแต่อย่างใด แต่มันถูกนำเสนออย่างเย็นชาเลือดเย็นราวกับเราได้ดูมือปืนกราดยิงชาติชั่วในข่าวต่าง ๆ ซึ่งยากมากที่เราจะยอมรับเห็นด้วยไปกับสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งคงไปออกดอกออกผลอย่างมหาศาลในซีซันต่อไปหากเดินตามท้องเรื่องเดิมของเกมภาคต่อ และฉากนี้ยังตอกย้ำอีกครั้งว่านี่คือซีรีส์ที่ละเอียดลออในทุกระดับ ทุกบทสนทนา ทุกสถานการณ์ และทุกวิธีการนำเสนอ

เหนืออื่นใดซีรีส์นี้คือคู่มือทางปัญญาให้เราจำลองคิดว่าในสภาวะที่ลำบากอย่างยิ่งยวด กฎและกรอบความเชื่อสามัญสำนึกเดิมพังทลาย เราจะรักษาความดีงามในจิตใจไว้ด้วยสภาพไหน บาปและการไถ่บาปถูกควบเข้าเป็นสิ่งเดียวกัน เหตุผลและคุณค่าอื่นถูกช่างน้ำหนักวัดค่าอยู่เสมอ ซีรีส์นำเสนอสิ่งเหล่านี้และไม่ได้ตัดสินเพียงบอกว่าตัวละคร “เรา” คือ “เธอ” และ “เขา” เลือกเช่นนี้เพราะมีเหตุผลในแบบหนึ่งที่อาจเห็นด้วยหรือไม่ก็ได้ สำคัญว่ามันหันมาถามเราอยู่ตลอดเช่นกัน ว่าแล้วถ้าเกิดกับเรา เราจะเป็น “เรา” แบบไหนกัน คำว่า “เรา” นั้นหมายถึงใครบ้างผู้ชมก็ต้องตอบกันเอาเอง อาจหมายถึงมนุษยชาติหรือแค่ครอบครัวของเราก็ได้เช่นกัน

แม้หนทางในการพิสูจน์ตัวเองว่าเป็นซีรีส์แนวซอมบี้อันดับ 1 ของโลกนั้นอาจจะยังต้องดูยาวไปจนซีซันสุดท้าย ทว่าเทียบกันที่ซีซันแรกแบบหมัดต่อหมัด ต้องยอมรับว่า ‘The Last of Us’ เป็นที่ 1 ของโลกไปเรียบร้อยแล้วอย่างไม่ต้องสงสัย