บทเพลงอมตะ จะนานเท่าใดคนไม่เคยลืมเลือนเราเคยสังเกตกันไหมครับ ว่าไทยเรามีเพลงออกใหม่เกือบทุกวัน ให้คนไทยเลือกฟังอยู่ตลอดเวลา แต่น้อยนักที่บทเพลงนั้นจะเป็นบทเพลงอมตะ ติดตราตรึงใจคนไทยไม่เคยลืม แม้จะผ่านเวลามานานเท่าใดก็ตาม การดำรงอยู่ของบทเพลงเหล่านี้ ล้วนเป็นเครื่องการันตีคุณภาพของ “ผลงาน” มากกว่าสิ่งใด แม้ว่าเจ้าของผลงานไม่ได้มีชีวิตอยู่แล้ว แต่บทเพลงของเขายังมีชีวิต โลดแล่นในสังคมอย่างสวยงาม หนึ่งในนั้นคงปฏิเสธไม่ได้ว่า “น้ำตาแสงไต้” เป็นอีกหนึ่งบทเพลงอมตะของสังคมไทย ที่น่านำมาพินิจพิจารณาลึกซึ้งในเชิงศิลปะการประพันธ์ มนต์เสน่ห์ของเนื้อหา ถ้อยคำ และดนตรีที่สร้างสรรค์เป็นบทเพลงที่จรรโลงสังคมภาพถ่ายโดย ภาณุพงศ์ ธงศรี“น้ำตาแสงไต้” เป็นฝีมือการประพันธ์ทำนองโดยครูสง่า อารัมภีร ส่วนการกลั่นกรองถ้อยคำให้กลายเป็นคำร้องเป็นผลงานของครูมารุต เนรมิต เผยแพร่ครั้งแรกในการร้องประกอบละครเรื่อง "พันท้ายนรสิงห์" โดยคณะศิวารมณ์ โดยเพลงนี้เป็นผลงานที่สร้างสรรค์จากแรงบันดาลของเพลงไทยเดิมอมตะ “เขมรไทรโยค” พระนิพนธ์โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ โดยแรงบันดาลใจจากการเดินทางเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินประพาสน้ำตกไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี และ “ลาวครวญ” พระนิพนธ์คำร้องโดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ส่งให้อารมณ์ความรู้สึกของน้ำตาแสงไต้เต็มไปด้วยความเป็นไทย และความเป็นสากลที่สอดรับกันอย่างลงตัวนวลเจ้าพี่เอย คำน้องเอ่ยล้ำคร่ำครวญถ้อยคำเหมือนจะชวน ใจพี่หวนครวญคร่ำอาลัยน้ำตาอาบแก้ม เพียงแซมเพชรไสวแวววับจับหัวใจ เคล้าแสงไต้ งามจับตา “นวลเจ้าพี่เอย” ขึ้นคำแรกของเนื้อเพลงก็กินใจ กินความสุดเหลือประมาณ จากคำว่า “แก้มนวลของเจ้าเป็นของพี่” ความนวลไม่ได้หมายถึงแก้ม แต่กินความไปถึงนิสัย ใจคอ ผิวของร่างกาย ที่ฝ่ายชายพรรณาถึงหญิงคนรักที่มีเสน่ห์งามเกินประมาณ “ใจพี่หวนครวญคร่ำอาลัย” ในเวลาที่คิดถึงน้องคราใดก็ล้วนมีแต่ความโศกเศร้าที่ต้องห่างไกลจากคนรัก คราวคิดถึงนางที่มีน้ำตาเสมือนกับ “เพชร” ที่งามจับใจของชายที่ได้เห็นเมื่อเคล้ากับแสงไต้ ยิ่งงามจับตา ถ้อยคำที่พรรณนี้ให้ภาพเหตุการณ์ของคนรักสองคนที่มีแววสายตาของความรักมอบให้แก่กันเสมอมา หลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจคำว่า “ไต้” หรือ “แสงไต้” ผมขออธิบายว่าในสมัยโบราณไทยเรายังไม่มีไฟฟ้า จำเป็นต้องทำเครื่องให้แสงไฟที่สว่าง โดยจะเอาน้ำมันยางนา ที่เผาจากต้น มาผสมกับไม้ที่ผุ (ขี้ขอนดอก) ใช้จุดไฟตอนกลางคืน เรียกว่า ไต้ และเป็นจุดกำเนิดของคำสำคัญในเพลงนี้เพราะคนรักกันในสมัยโบราณต้องจุดไต้เพื่อคุย บอกรัก และสั่งลากัน นวลแสงเพชร เกล็ดแก้วอันล้ำค่าคราเมื่อแสงไฟส่องมา แวววาวชวนชื่นชม“นวลแสงเพชร” ชี้ไปถึงแก้มนวลของน้องที่เปื้อนน้ำตาประกายเหมือนแสงเพชร เป็นแก้วที่ล้ำค่าในหัวใจของพี่ การลาจากครั้งนี้นัยน์ตาของน้องบอกถึงความชื่มชมของพี่ ก่อนจากลาทำให้เห็นว่าอารมณ์ความอาลัยอาวรณ์ของทั้งสองคนนั้นเกินที่จะประมาณได้ภาพถ่ายโดย Clker-Free-Vector-Imagesน้ำตาแสงไต้ ดื่มใจพี่ร้าวระบมไม่อยากพรากขวัญภิรมย์ จำใจข่มใจไปจากนวลน้ำตาที่มีแสงไต้บอกว่าทั้งสองคนกำลังโศกเศร้า “ดื่มใจ” หมายถึง การกัดกิน การกลืนความเจ็บช้ำจนกระทั่งระบมไปทั้งใจ สาเหตุเพราะไม่อยาก “พรากขวัญภิรมย์” เป็นถ้อยคำที่กินความเชื่อมโยงเรื่องของแถน สายแนนและเนื้อคู่ตามคติของวัฒนธรรมลาว - ไท ขวัญนี้ไม่ธรรมดาเพราะสร้างความภิรมย์ (รื่นเริงใจ สนุกสนาน ดีใจ) แต่ต้องข่มใจด้วยความเจ็บเพื่อลาจากนาง เป็นฉากที่แสนสุดซึ้ง และสร้างอารมณ์สะเทือนใจมาก ๆ ในละครเรื่อง "พันท้ายนรสิงห์" กระทั่งปัจจุบันฟังคราใดก็ยังให้ความรู้สึกที่มีความรักเต็มเปี่ยมหัวใจจากที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นเหตุผลว่าทำไม “น้ำตาแสงไต้” เป็นอีกหนึ่งเพลงที่มีเสน่ห์ และเป็นบทเพลงที่เป็นอมตะไม่เคยเลือนหายจากสังคม เพราะเนื้อเพลงที่ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกที่เต็มไปด้วยอารมณ์รัก และความปรารถนาจากห้วงหัวใจของคนรักที่มีต่อกันภาพถ่ายหน้าปกโดย ภาณุพงศ์ ธงศรี