ขอขอบคุณภาพจาก http://www.majorcineplex.com/movie/hidden-figures HIDDEN FIGURES ทีมเงาอัจฉริยะ ภาพยนตร์ที่ดัดแปลงเรื่องของสามสาวผิวสีที่ทำงานในนาซ่าและมีตัวตนอยู่จริง ได้แก่ Katherine G. Johnson, Mary Jackson และ Dorothy Vaughan เรื่องราวอยู่ในช่วงยุคสงครามสำรวจอวกาศระหว่างโซเวียตกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งตัวละครหลักที่เป็นผู้หญิงผิวสีทั้งสามทำงานอยู่ในองค์กรระดับชาติอย่างนาซ่า เป็นสถานที่ของชาวผิวขาวที่เต็มไปด้วยทัศนคติและความคิดไม่ดีเกี่ยวกับชาวผิวสีหรือนิโกร พวกเธอต้องพยายามพิสูจน์ความสามารถของตัวเอง อีกทั้งยังต้องพยายามเอาชนะทัศนคติเรื่องการเหยียดสีผิวและเหยียดความสามารถของเพศหญิงของคนที่อยู่ภายในองค์กรดังกล่าวอีกด้วยตัวละครหลักในเรื่องมีดังนี้ ‘แคทเธอรีน’ Katherine G. Johnson นักอัจฉริยะทางคณิตศาสตร์ในองค์กรนาซาที่ถูกเรียกตัวไปช่วยคำนวณตำแหน่งพิกัดลงจอดของยานอวกาศในโครงการปล่อยนักบินขึ้นไปบนอวกาศ แต่เธอไม่ได้รับการยอมรับจากคนในทีม เพราะความเป็นเพศหญิงผิวสี ‘โดโรธี’ หัวหน้าทีมคณิตศาสตร์ของกลุ่มผู้หญิงผิวสีในนาซาที่ไม่ได้รับการเลื่อนขั้นและไม่ได้รับเงินเดือน เนื่องจากองค์กรไม่มีการให้ตำแหน่งแก่ชาวผิวสี และเธอกำลังจะถูกระบบคอมพิวเตอร์ IBM เข้ามาแทนที่ แต่เธอไม่ยอมแพ้จึงแอบฝึกการตั้งระบบคอมพิวเตอร์เพื่ออนาคตของตัวเอง ‘แมรี่’ Mary Jackson อยากเป็นวิศวกรของนาซ่า แต่ถูกกฎระเบียบนาซ่ากีดกันให้ต้องเรียนจบจากมหาวิทยาลัยของคนผิวขาวเท่านั้น แต่เธอไม่คิดยอมแพ้ แมรี่จึงเลือกที่จะต่อสู้กับการแบ่งแยกสีผิวในสถานศึกษาและแสดงให้เห็นถึงความสามารถของผู้หญิงที่ไม่น้อยไปกว่าผู้ชายประเด็นสำคัญที่ได้จากการชมเรื่อง HIDDEN FIGURES ทีมเงาอัจฉริยะ สามารถแบ่งสาระสำคัญออกเป็น 2 ประการ ดังนี้"เมื่อสีผิวถูกกำหนดให้เป็นกำแพง" ภาพยนตร์สะท้อนให้เห็นทัศนคติการเหยียดสีผิวของคนในสังคมอเมริกา โดยจะเรียกชาวผิวสีว่า“นิโกร” ซึ่งหมายถึงชาวผิวสี ปัจจุบันคำนี้ถือเป็นคำเรียกชาวผิวสีที่หยาบคายอย่างมาก ทัศนคติการเหยียดสีผิวเห็นได้จากการแบ่งแยกทั้งการใช้ชีวิต การทำงาน แม้กระทั่งแยกสังคมไม่ให้อยู่รวมกัน การแบ่งแยกจากปัจจัยด้านสีผิวสีที่ถูกสะท้อนออกมาจากภาพยนตร์ เช่น1) การทำงานในองค์กรต้องแบ่งแยกตึกและห้องทำงานของคนต่างสีออกจากกัน ให้คนผิวสีไปอยู่ตึกขนาดเล็กแออัดทางฝั่งตะวันออกที่ห่างจากสำนักงานใหญ่ที่มีแต่คนผิวขาวทำงานอยู่ และวางข้อห้าม ชาวผิวสีไม่ควรไปยังตึกสำนักงานใหญ่เนื่องจากมองว่าไม่เหมาะสม2) การแบ่งห้องน้ำและโรงอาหารในองค์กรออกเป็นของคนผิวขาวและของคนผิวสี3) การแบ่งแยกข้าวของเครื่องใช้ไม่ให้ใช้ร่วมกัน เช่น จาน ชาม แก้วกาแฟ กาต้มน้ำ จักรยานเป็นต้น4) การแบ่งแยกโอกาสทางการศึกษาให้มีโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยของคนผิวขาวและโรงเรียนคนผิวดำเท่านั้น ไม่สามารถเรียนร่วมกันได้หากไม่ได้รับการอนุญาตจากศาลตามกฎหมาย ขอขอบคุณภาพจาก https://pixabay.com/th/5) การแต่งงานคนผิวดำจะแต่งกับคนผิวดำเท่านั้น ไม่มีการแต่งงานข้ามสีผิว6) การแบ่งแยกการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิต เช่น กิจกรรมทางศาสนา กิจกรรมสังสรรค์7) ชาวผิวสีจะถูกเอาเปรียบในการเข้าถึงสาธารณูปโภคต่าง ๆ จากที่กล่าวมาข้างต้นเป็นลักษณะของการเลือกปฏิบัติที่เห็นได้ชัดเจน ซึ่งคนผิวขาวส่วนใหญ่มักคิดว่าเป็นเรื่องปกติที่จะแบ่งแยกการกระทำลักษณะนี้ และไม่คิดว่านั่นคือการเหยียดสีผิวแต่มันคือความแตกต่าง จากในเรื่องมีตัวละครหลักได้ได้พูดกับหัวหน้าชาวผิวขาวว่า “คุณมีความเหยียด แต่ไม่รู้ตัวว่าตัวเองเหยียด” นอกจากนี้ยังปิดกั้นโอกาสต่าง ๆ ของชาวผิวสีด้วยเหตุผลว่า มันไม่เคยมีคนผิวสีทำแบบนี้มาก่อน องค์กรไม่อนุญาต หรือไม่มีนโยบายรับคนผิวสี หรือแม้กระทั่งไม่อนุญาตให้ระบุชื่อในผลงาน จึงทำให้คนเหล่านี้กลายเป็นเพียงแค่เหงาที่อยู่เบื้องหลังองค์กรและสังคมใหญ่ที่มีชาวผิวขาวอยู่เบื้องหน้าเท่านั้น ขอขอบคุณภาพจาก https://pixabay.com/th/ ปัญหาที่ใหญ่กว่าการที่ถูกเหยียดสีผิวจากสังคม นั่นคือ การที่ชาวผิวสีเองก็มีทัศนคติที่ยอมรับว่าตนเองนั้นแตกต่างและเป็นเพียงชนกลุ่มน้อยที่ด้อยกว่า คนเหล่านั้นก็เลือกที่จะยอมรับการถูกแบ่งแยกและความเหลื่อมล้ำอย่างไม่เป็นธรรมจากสิทธิและเสรีภาพต่าง ๆ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องปกติของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ดังที่ตัวละครแมรี่พูดว่า “ฉันเป็นหญิงนิโกร จะไม่หวังอะไรที่เป็นไปไม่ได้” นอกจากนี้ยังมีประโยคที่สามีบอกกับภรรยาว่า “เราเป็นชาวนิโกร” เพื่อหยุดยั้งความคิดที่จะไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นสถาบันของคนผิวขาว จากคำพูดข้างต้นแสดงให้เห็นทัศนคติของชาวผิวสีที่ถูกหล่อหลอมมาจากสภาพสังคมให้ยอมรับความเป็นไปเช่นนั้น เหมือนยิ่งเป็นการตอกย้ำให้ตนเองยอมรับความต้อยต่ำและความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น ตัวละครหลักทั้งสามจึงเป็นเพียงส่วนน้อยที่คิดจะต่อสู้ดิ้นรนเรียกร้องเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิและความเท่าเทียมที่ตนเองควรค่าจะได้รับสังคมนั่นเอง ซึ่งมีคำพูดหนึ่งของตัวละครที่สะท้อนความพยายามและความมุ่งมั่นตั้งใจออกมาได้อย่างชัดเจน ดังนี้ “เราเปลี่ยนสีผิวตัวเองไม่ได้ ฉันจึงไม่มีทางเลือก นอกจากการเป็นคนแรก” นอกจากคำพูดดังกล่าวของตัวละครแมรี่จะเป็นการแสดงให้เห็นจุดยืนที่อยากจะก้าวข้ามความแตกต่างนี้ ยังเป็นการย้ำให้เห็นถึงธรรมชาติความแตกต่างที่เป็นเพียงแค่สีผิวที่มันไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เพื่อเตือนทัศนคติและความคิดของคนในสังคมให้กล้าที่จะเปิดโอกาสแก่คนแรก เช่นเดียวกับที่แมรี่พยายามดิ้นรนเพื่อให้เป็นคนแรก อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเกิดครั้งที่สองและต่อ ๆ ไปอีกไม่สิ้นสุด สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ต้องเปลี่ยนจึงไม่ใช่สีผิวแต่เป็นความคิดของคนในสังคม"โลกไม่ได้หมุนรอบผู้ชายเพียงอย่างเดียว" ความเหลื่อมล้ำทางเพศถือว่าเป็นปัญหาทางด้านทัศนคติที่มีอยู่แทบจะในทุกสภาพสังคมหรือแทบทุกประเทศ โดยมองว่าผู้หญิงเป็นเพศที่อ่อนแอ ไม่มีความสามารถพอในการที่จะกระทำงานใหญ่ให้สำเร็จ รวมถึงไม่มีคุณสมบัติของความเป็นผู้นำ ภาพยนตร์จึงนำเสนอความเหลื่อมล้ำและไม่เท่าเทียมระหว่างชายและหญิงที่ไม่ว่าจะเป็นชาวผิวชาวหรือชาวผิวสีล้วนมีทัศนคติเกี่ยวกับเรื่องนี้ทั้งสิ้น HIDDEN FIGURES มีแสดงให้เห็นถึงองค์กรนาซ่าซึ่งเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่เน้นรับผู้ชายเข้าทำงานเป็นหลัก เนื่องจากคิดว่าผู้ชายมีความรู้ความสามารถทางด้านวิศวกรรม คณิตศาสตร์ หรือการทำงานที่มีขั้นตอนซับซ้อนได้ดีกว่า ผู้หญิงจึงเป็นเพียงส่วนน้อยในองค์กรที่อยู่เพียงแค่ในตำแหน่งเลขา ฝ่ายงานเอกสาร ตำแหน่งหัวหน้างานเล็ก ๆ หรือเป็นกลุ่มนักคำนวณตัวเลขเท่านั้น ซึ่งตัวละครหลักทั้งสามเป็นผู้หญิงที่ต้องทำงานท่ามกลางทัศนคติเหยียดสีผิวแล้ว และยังต้องพิสูจน์ความสามารถของตนเอง อย่างที่แคทเธอรีนพยายามใช้ความรู้ความสามารถในการคำนวณผลทางคณิตศาสตร์ได้อย่างแม่นยำทั้งที่ผู้ชายทุกคนในนาซ่า ก็ทำไม่ได้ โดโรธีผลักดันตัวเองและทีมนักคณิตศาสตร์หญิงให้มีความสามารถจนกลายเป็นที่ยอมรับและก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้างานหญิงผิวสีคนแรกได้สำเร็จ และแมรี่ผู้ที่ต้องการเป็นวิศวกรจึงยอมทำทุกอย่างเพื่อเข้าเรียนในสาขาที่มีแต่ผู้ชายผิวขาวเท่านั้น และก็สามารถจบการศึกษากลายเป็นวิศวกรหญิงคนแรกในนาซ่า ทั้งสามคนกลายเป็นกำลังสำคัญ หากไม่มีบุคคลเหล่านี้ ภารกิจหรือโครงการหลายต่อหลายชิ้นในตอนนั้นของนาซ่าอาจไม่ประสบความสำเร็จ ขอขอบคุณภาพจาก https://www.mercatornet.com/mobile/view/hidden-figures การเป็นผู้หญิงไม่ได้หมายความว่าต้องอยู่ในตำแหน่งหรือยืนอยู่ในจุดที่ด้อยกว่าผู้ชายเสมอไป แต่ต้องพยายามขวนขวายมาเพื่อให้ได้ทำในสิ่งที่ตนเองรักอย่างที่ควรจะได้ทำ และเพื่อให้ได้มาซึ่งความสุขในการทำงาน ความสุขในชีวิต และก้าวข้ามอุปสรรคทางความคิดเหล่านั้นไป HIDDEN FIGURES ทีมเงาอัจฉริยะ ถือเป็นภาพยนตร์ที่ให้แง่คิดในการใช้ชีวิตและสร้างทัศนคติที่ดี ตลอดจนสร้างความตระหนักเรื่องความเท่าเทียมให้แก่ผู้ชมได้อย่างดีเยี่ยม ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะไม่มีการแบ่งแยกสีผิวและให้ความเท่าเทียมทางเพศ แต่ถึงกระนั้นความคิดของคนในสังคมก็ยังคงมี ดังที่ตัวละครพูดว่า “คุณมีความเหยียด แต่ไม่รู้ตัวว่าตัวเองเหยียด” ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงง่าย ๆ คือต้องเริ่มจากตนเอง เพื่อนำไปสู่การสร้างสรรค์สังคมให้น่าอยู่ เพื่อตนเอง เพื่อคนอื่น และเพื่อประเทศชาติ