ผลงานหนังสารคดีเรื่องแรกของ เต๋อ นวพล ธำรงค์รัตนฤทธิ์(ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ ,ฮาวทูทิ้ง) ที่อาจไม่ได้เป็นที่รู้จักสำหรับคนในวงกว้างนัก หากไม่ใช่คอหนังนอกกระแส หรือติดตามงานของผู้กำกับคนนี้จริง ๆ เพราะสารคดีเรื่องนี้ค่อนข้างมีหนังที่มีความเป็นส่วนตัวสูง แต่ถือว่าเป็นหนังอีกเรื่องที่จะตีแผ่วงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย โดยเฉพาะยุคเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วออกมาได้อย่างน่าสนใจหนังจะพูดถึงร้านวีดีโอเถื่อนร้านหนึ่งนาม "แว่นวีดีโอ" ที่ตั้งอยู่ในย่านจตุจักรเมื่อช่วงหลายสิบปีที่แล้ว ในยุคที่การดูหนังแบบโฮมเทียเตอร์ยังเป็นเครื่องเล่นวีดีโออยู่ ซึ่งความน่าสนใจของ "ร้านพี่แว่น" คือการที่ร้านนำหนังนอกกระแส ที่หายากนำมาจัดจำหน่าย ด้วยราคาที่เข้าถึงง่าย ภายใต้ในยุคสมัยที่ หนังนอกกระแสถือว่าเป็นอะไรที่หายาก และเป็นที่โหยหาแก่นักดูหนังทั้งหลาย จนท้ายที่สุดร้านวีดีโอเถื่อนอย่าง "ร้านพี่แว่น" ก็กลายเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้เหล่านักดูหนัง รวมถึงนักวิจารณ์ ผู้กำกับ ชื่อดังในยุคนี้ล้วนแต่เคยเป็นลูกค้าของร้านนี้ทั้งสิ้น โดย นวพล ก็ได้รวบรวมเหล่า ผู้กำกับ และนักวิจารณ์ชื่อดัง ไม่ว่าจะเป็น ประวิทย์ แต่งอักษร ,ก้อง ฤทธิดี ,ย้ง ทรงยศ สุขมากอนันต์ ,บรรจง ปิสัญธนะกูล ,เป็นเอก รัตนเรือง ที่ล้วนแต่เคยเป็นอดีตลูกค้าของ "ร้านพี่แว่น" มาให้สัมภาษณ์ในหนังความน่าสนใจของ The Master ไม่ใช่แค่การรวบรวมบรรดาผู้คนที่คร่ำหวอดในวงการหนังมาไว้ในหนังเรื่องเดียวเท่านั้น แต่หนังยังมาพร้อมประเด็นที่ชวนกระอักกระอ่วน ขมขื่น และตลกร้ายไม่น้อย ซึ่ง นวพล ก็เลือกที่จะถ่ายทอดออกมาให้หนังเรื่องนี้ไม่ดูเป็นหนังที่ดาร์ค หรือเครียดจนเกินไป ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคการสัมภาษณ์ ที่ทำให้คนถูกสัมภาษณ์ตอบอย่างเป็นกันเอง จนเรารู้สึกเหมือนว่ากำลังได้ดูการเสวนาภาษาหนังแบบที่เป็นกันเองหนังได้แบ่งช่วงการเล่าเรื่องเป็นสามองก์หลัก ๆ ได้แก่ องก์1 การพูดถึงหนังอินดี้ หรือหนังนอกกระแสในยุคนั้น ที่เป็นของหายาก และความลำบากในการจะหาดูหนังเหล่านั้น องก์2 เป็นการพูดถึงร้านวีดีโอ “พี่แว่น” ไม่ว่าจะเป็นคาแรคเตอร์ของพี่แว่นจากความทรงจำของแต่ละคน ยุคเพื่องฟูของร้านพี่แว่น องก์3 คือช่วงขาลงของร้านพี่แว่น ท่ามกลางยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ทั้งการเกิดขึ้นของโรงหนังสแตนด์อโลนอย่าง ลิโด้ และเฮ้าส์ ไปจนถึงการเข้ามามีบทบาทของอินเตอร์เน็ต จนทำให้ร้านพี่แว่นต้องปิดตัวลงความพิเศษของหนังคือการที่ นวพล สามารถนำเรื่องราวของบุคคลธรรมดาอย่าง “พี่แว่น” ที่ไม่ได้เป็นบุคคลที่โด่งดังในวงกว้าง หรือเป็นบุคคลสำคัญที่ได้รับการยอมรับในสังคมกว้าง ๆ ให้ออกมามีพลัง และทำให้เรารู้สึกถึงการมีตัวตนของ “พี่แว่น” ตลอดเวลาชั่วโมงกว่า ๆ ที่ได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ แม้ว่าทั้งเรื่องเราจะไม่ได้เห็นใบหน้าของบุคคลผู้นี้เลยก็ตามแต่ถึงแม้ว่าเราจะได้ดูหนังเรื่องนี้ในวันที่อินเตอร์เน็ตกลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในชีวิต และมีหนังหายากให้ดูบนสตรีมมิ่งมากมายก็ตาม แต่สิ่งที่หนังเรื่องนี้ต้องการจะสื่อก็ยังมีพลัง ไม่ว่าจะเป็นการทำให้เราได้เห็นบทบาท และความสำคัญของภาพยนตร์ ที่มากกว่าการเป็นแค่ความบันเทิง ไปจนถึงการที่หนังทำหน้าที่เรียกร้องให้คนที่อำนาจในอุตสาหกรรมภาพยนตร์หันมาให้ความสำคัญต่อหนังนอกกระแสมากขึ้นนอกจากนี้หนังยังแฝงไปด้วยความตลกร้ายของชีวิตคนทำหนังกับหนังละเมิดลิขสิทธิ์ ที่แม้ว่าหนังเหล่านี้จะเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่สุดท้ายทุกคนก็ต้องยอมรับว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่อยู่ควบคู่กับวงการศิลปะ ที่มันมีทั้งด้านดี และด้านลบ แต่ทั้งนี่ก็อยู่ที่จิตสำนึกของคนดูว่าจะมองเห็นคุณค่าของสิ่งเหล่านี้มากแค่ไหนThe Master ถือว่าเป็นหนังอีกหนึ่งหนังสารคดีไทย ที่เลือกประเด็นในการนำเสนอออกมาได้น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการสะท้อนประวัติศาสตร์วงการภาพยนตร์ในไทย การพูดถึงบทบาทของหนังนอกกระแสต่อการเรียนภาพยนตร์ เรียกได้ว่าเป็นหนังที่คนที่สนใจศาสตร์ภาพยนตร์ ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง สำหรับใครที่อยากชมภาพยนตร์เรื่อง The Master สามารถเข้าไปชมแบบถูกลิขสิทธิ์ได้ที่ https://movie.trueid.net/series/2ozJL6d3oGK ขอขอบคุณรูปภาพจาก https://movie.trueid.net/