In My Memories"5 หนัง สรพงษ์ ชาตรี ในความทรงจำ" บน TrueIDเนื่องเพราะผู้เขียนคือคนดูหนังที่โตมากับหนังขายยาและหนังล้อมผ้าที่เรียกกันว่าหนังกลางแปลง กับวิถีชีวิตที่เด็กรุ่นลูกๆของผู้เขียนไม่เคยสัมผัสการวิ่งตามรถหนังเร่ที่ประกาศโฆษณาตั้งแต่หัวบ้านยันท้ายบ้าน นั่งดูเขากางจอหนังจนเย็นย่ำแล้วก็ซ้อนจักรยานคันเก่าของบิดามาดูหนังที่ลานวัดยามค่ำคืน ซึ่งส่วนใหญ่หนังที่เอามาฉายมักจะเป็นหนังจีนยุคชอว์และหนังไทยยิงภูเขาเผากระท่อม กับพระเอกตลอดกาลที่ยุคที่ผู้เขียนยังเป็นเด็กเริ่มโตนั้นเรียกได้ว่ายุคของเขากับดาราคู่ขวัญคุณเนาวรัตน์ ยุกตะนันท์ จึงเหมือนดั่งได้เติบโตพ้นวัยเด็กมากับหนังของสุภาพบุรุษแห่งโลกมายา อาเอก สรพงษ์ ชาตรี และการเติบโตมากับหนังของอาเอกจึงไม่ต่างจากการถูกขัดเกลาและปลูกฝังการรักการดูหนังมาโดยเอกบุรุษนามสรพงษ์ ชาตรีสำหรับชายผู้มอบหลายอย่างให้กับผู้เขียนนอกจากความบันเทิงทั้งจอเงินและจอแก้ว ผลงานมากมายที่ได้ผ่านตามาผู้เขียนไม่เคยสงสัยในความสามารถหรือฝีมือการแสดงที่ยิ่งอายุมากยิ่งเห็นความเก๋า จนทำให้แม้ในช่วงหลังอาเอกจะรับบทสมทบไปมากแต่พลังดาราและบารมีที่ใช่ว่านักแสดงทุกคนจะมี ก็ทำให้อาสามารถขโมยซีนนักแสดงที่ร่วมจอได้อย่างหมดจด ทำให้ผลงานในยุคหลังถ้าโฟกัสที่ตัวอาเอกจะพบว่าอาให้การแสดงที่น่าจดจำในทุกบทบาท จะกระทั่งผู้เขียนแอบฝันว่าอยากเห็นหนังไทยที่มีนักแสดงสูงอายุอย่างอาเอกเป็นพระเอกแบกหนังอย่างที่เดนเซล วอชิงตันเป็นในหนัง The Equalizer หรือ The Book Of Eli แต่สุดท้ายก็ต้องตื่นมาพบความจริงเมื่อจากนี้ไปเราจะไม่ได้เห็นอาในหนังใหม่อีกแล้ว แต่หากจะให้เลือกหนังสัก 5 เรื่องที่ผู้เขียนประทับใจและต้องหาดูง่ายเพื่อพิสูจน์ได้ อาจจะต้องแนะนำใน TrueID ที่มีหนังของอาเอกให้ชมหลายเรื่อง และนี่คือ 5 เรื่องใน TrueID ที่ผู้เขียนยกไว้ว่าเป็นสุดยอดผลงานของอาเอกที่ยังหาชมได้ที่นี่1. ตำนานสมเด็จพระนเศวรมหาราช ภาค 1 องค์ประกันหงสา (2550)เมื่อครั้งการศึกพระเจ้าบุเรงนองกษัตริย์แห่งหงสาวดีได้ทรงยึดเมืองพระพิษณุโลกสองแควได้ สมเด็จพระมหาธรรมราชาเจ้าผู้ครองนครพิษณุโลกพระราชบิดาของสมเด็จพระนเรศวรหรือองค์ดำจึงยอมโอนอ่อนผ่อนตาม โดยส่งพระองค์ดำไปเป็นองค์ประกันที่กรุงหงสาวดีแต่พระนเรศกลับเป็นที่รักและเอ็นดูจากพระเจ้าชนะสิบทิศบุเรงนอง และทรงพยายามปลูกฝังให้พระนเรศมีจิตฝักใฝ่ทางหงสา จึงโปรดให้พระนเรศทรงผนวชเป็นสามเณรในสำนักของมหาเถรคันฉ่อง (สรพงษ์ ชาตรี) ผู้แตกฉานในตำราพิชัยยุทธ หากแต่ปณิธานอันมุ่งมั่นของพระนเรศนั้นมิได้เข้าทางหงสา แต่ยังทรงตั้งมันที่จะคืนความเป็นไทให้แผ่นดินเกิด จนในที่สุดก็ได้หวนคืนสู่แผ่นดินโดยแลกตัวกับสมเด็จพระสุพรรณกัลยา ก่อนที่จะมีการประกาศเอกราชในเวลาต่อมาสำหรับตัวหนังนับว่าเป็นหนังที่รวมนักแสดงระดับยอดฝีมือทั่วฟ้าเมืองไทย ผ่านงานด้านบทที่เล่าโดยละเอียด งานโปรดัคชั่นระดับสมจริงทุกประการ หนังจึงออกมาสนุกแม้จะมีความเป็นดราม่ามากกว่าความเป็นหนังสู้รบ แต่แม้จะเป็นหนังรวมดารา ทว่าแต่ละคนก็มีเวลาไม่มากมายนักในการปล่อยของ ปล่อยให้เป็นของนักแสดงชั้นครูอย่างสรพงษ์ ชาตรีที่ไม่มีทางปฏิเสธได้เลยว่าคือพลังในการพาเรื่องในส่วนของกรุงหงสาวดีให้มีพลัง และทำให้เรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ทางอโยธยากลายมาเป็นเรื่องพื้นฐานเป็นมิติที่รองรับเท่านั้น แน่นอนว่านักแสดงอย่างสรพงษ์ ชาตรีที่มีบารมีและพลังดาราจะสามารถดึงดูดสายตาผู้ชมได้ในทุกนาทีที่ขึ้นจอ ด้วยบุคลคิที่ทรงภูมิ สง่า และการแสดงที่เชื่อหมดใจว่านี่คือพระเถระที่น่านับถือ ทำให้ไม่ว่าใครก็ไม่สามารถโดเด่นไปกว่ามหาเถรคันฉ่องสรพงษ์ ชาตรีไปได้ เป็นงานที่ต้องดูหากว่าอยากเห็นการแสดงที่เล่นน้อยได้มากจากประสบการณ์ของนักแสดงชั้นครู 2. ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 2 ประกาศอิสรภาพ (2550)เมื่อครั้งพระมหาธรรมราชาพระบิดาของพระนเรศซึ่งขึ้นตรงกับพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ได้ถูกสถาปนาจากพระเจ้าชนะสิบทิศให้ขึ้นครองอโยธยาแทนพระมหินทราธิราช พระนเรศจึงได้ถูกสถาปนาขึ้นเป็นอุปราชครองหัวเมืองพระพิษณุโลกสองแคว จนเมื่อสมเด็จพระเจ้าบุเรงนองสวรรณคตอุปราชนันทบุเรงในขณะนั้นจึงขึ้นครองราชแทนเป็นพระเจ้านันทบุเรง แต่มีหัวเมืองหนึ่งที่ไม่ได้เข้ามาแสดงความสวามิภักดิ์นั่นคือเมืองคัง พระเจ้านันทบุเรงจึงบัญชาให้ทัพหงสาวดีนำโดยพระมหาอุปราชามังสามเกียด พร้อมโอรสแห่งพระเจ้าตองอูและพระนเรศเข้าตีเมืองคัง แต่แม้จะถูกกลั่นแกล้งให้เข้าตีหลังสุดแต่ทัพพระนเรศกลับมีชัย จนมาถึงศึกเมืองอังวะที่พระเจ้านันทบุเรงทรงบัญชาให้ทัพพระนเรศมาช่วย แต่พระมหาอุปราชามังสามเกียดกลับคิดลอบปลงพระชนม์พระนเรศ จึงเป็นเหตุให้พระนเรศทรงประกาศอิสรภาพและยกทัพกลับสยาม แต่ทัพหงสาก็ให้แม่ทัพสุระกำมากรีฑาทัพตามมา แต่ก็ถูกพระนเรศใช้พระแสงปืนยิงข้ามแม่น้ำสะโตงจนสุระกำมาตายคาคอช้างด้วยความที่หนังเล่าเรื่องต่อเนื่องกัน จึงเห็นชัดเจนว่าเรื่องมีพัฒนาการจากภาคแรกที่เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ถูกเหตุการณ์ของชีวิตพระนเรศในวัยเยาวที่ฝั่งหงสาผลักไปอยู่ข้างหลัง แต่พอมาภาคนี้บทหนังเริ่มมีพัฒนาการในการเล่าเรื่องของมิติความเป็นกษัตริย์ผู้กอบกู้แผ่นดิน โดยเริ่มจากการโอนอ่อนผ่อนตามก่อนที่จะเจอจุดแตกหัก ทั้งนี้ยังมีมิติที่มองเห็นเรื่องความสัมพันธ์ของพระนเรศกับบุเรงนองทำให้หนังออกมาสนุกยิ่งขึ้น เมื่อมีฉากรบที่อลังการน่าดูและมีอารมณ์ร่วมในเชิงปลุกเร้าความรักชาติ แต่หนังก็ยังคงเป็นเช่นเดียวกับภาคแรก เมื่อเป็นการรวมเอานักแสดงแถวหน้ามาแสดงกันคนละนิดหน่อย และเช่นเดิมที่ความโดดเด่นยังอยู่ที่บทมหาเถรคันฉ่อง (สรพงษ์ ชาตรี) ที่เป็นครูผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้กับพระนเรศ และภาคนี้ยังเห็นมิติของมหาเถรเองที่แม้จะเป็นที่นับถือในหงสา แต่ท่านก็ยังเป็นพระเถระชาวรามัญ เมื่อท่านมองเห็นทศพิศราชธรรมในตัวพระนเรศ ขรัวท่านจึงข้ามแม่น้ำสะโตงมาจำพรรษายังอโยธยา และเป็นที่ปรึกษาที่ดีให้กับสมเด็จพระนเรศวร ซึ่งการแสดงของสรพงษ์ ชาตรีในเรื่องนี้ยิ่งตอกย้ำเรื่องบารมีและพลังดารา เมื่อนักแสดงนำอ่อนประสบการณ์ และการวางตัวให้เข้ากับบทของสรพงษ์ ชาตรีก็ทำให้ภาพพระภิกษุหรือพระเถระผู้พรรษาแก่กล้าติดมากับตัวสรพงษ์ ชาตรีเอง และทำให้เมื่อใดที่เขารับบทพระภิกษุ ก็คือแสดงได้จนน่ากราบไหว้ได้อย่างหมดใจ 3. พันท้ายนรสิงห์ (2558)ยุคสมัยแห่งพระเทพราชาที่มีพระเจ้าเสือเป็นพระราชโอรถบุญธรรม และได้ทรงแต่งตั้งพระเจ้าเสือให้มีหน้าที่เก็บภาษีอากร แต่พระยาราชสงครามก็แอบอ้างชื่อพระเจ้าเสือในการรีดนาทาเร้นประชาชนอยู่เนืองๆ และเมื่อประชาชนเดือดร้อนพระยาพิชัย (สรพงษ์ ชาตรี) เจ้าเมืองวิเศษชัยชาญจึงตั้งกลุ่มกองโจรขึ้นนำโดยไอ้สิน เพื่อปล้นทรัพย์สินคืนจากทหาร เมื่อพระเจ้าเสือทราบเรื่องจึงทรงปลอมตัวมาปะปนกับชาวบ้าน และต้องใจนวลสาวชาวบ้านแต่นวลก็คือคนรักของไอ้สิน การต่อสู้เชิงมวยที่มีนางในดวงใจเป็นเดิมพันจึงเกิดขึ้น และได้ผูกพันน้ำใจระหว่างพระเจ้าเสือกับไอ้สิน จนตามไอ้สินไปรับราชการเป็นนายท้ายเรื่องพระที่นั่งอวยยศว่าพันท้ายนรสิงห์ กระทั่งเมื่อไอ้สินทราบข่าวว่าพระยาพิชัยมีแผนที่จะลอบปลงพระชนม์พระเจ้าเสือ ไอ้สินจึงคัดท้ายเรือเพื่อหนีจนหัวเรือพระที่นั่งชนกับต้นไม้หัก ซึ่งเป็นโทษถึงประหารแต่ไอ้สินกับพระเจ้าเสือเป็นดั่งพี่น้องร่วมสาบาน แม้พระเจ้าเสือจะไม่ยินยอมประหารไอ้สินแต่ไอ้สินก็ไม่ยินยอมให้พระเจ้าเสือละเว้นโทษ จึงกลายเป็นตำนานแห่งพันท้ายนรสิงห์ ถ้าว่ากันที่ตัวหนัง หนังออกจะกระท่อนกระแท่นบทและหลายอย่างไม่ค่อยเชื่อมโยงกันติด แต่อย่างน้อยเมื่อเล่าเรื่องของตำนานพันท้ายนรสิงห์ที่ผู้ชมส่วนมากก็รู้เรื่องราวของความซื่อสัตย์ในตำนานแล้ว เรื่องก็ยังเล่าไปได้ตามครรลองและการใส่ดราม่าเข้ามาก็ทำให้เรื่องยังมีพลังความน่าติดตาม แต่ที่ผู้เขียนมองว่าเป็นตัวชูโรงและพาหนังไปได้อย่าน่าติดตามนั้นอยู่ที่นักแสดงอาวุโสในเรื่องที่เล่นกันอย่างเนียนตา ส่วนนักแสดงตัวเอกนั่นคงไม่ขอเอ่ยถึงเพราะโดนขโมยซีนเรียบ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักแสดงอย่างสรพงษ์ ชาตรีที่แสดงเรื่องนี้เหมือนแต่งตัวออกจากบ้านมาเข้าฉากแล้วก็เดินกลับบ้าน ไม่มีริ้วรอยของการแสดง และยิ่งบทที่มีมิติจากรักเป็นเกลียดจนไม่ฟังเหตุผล เมื่อความภักดีกลายมาเป็นความเคียดแค้นต่อพระเจ้าเสือ สรพงษ์ ชาตรียังให้การแสดงที่เหมือนตัวละครนั้น แม้บางครั้งการทำหน้านิ่งๆก็ยังรู้สึกว่ามีอะไรอยู่ข้างใน ซึ่งกับเรื่องนี้แม้หนังจะดูสนุกบนความบกพร่องแบบไม่ต้องคิดอะไร แต่ถ้าจะมองหาการแสดงที่น่าจดจำของสรพงษ์ ชาตรี เรื่องนี้คือต้องดูเพราะนักแสดงอาวุโสพาเรื่องไปอย่างแท้จริง4. ชู้ (2547)ในวันที่เทพตัดสินใจกลับบ้านที่เกาะอันห่างไกลหลังจากเดินทางเรียนรู้ชีวิตเพียงลำพังมาจนถึงวัยฉกรรจ์ บ้านที่ปกติจะมีความรักรอโอบกอดอยู่จากคนที่รอคอยการหวนกลับของคนที่จากไปไกล แต่สำหรับเทพกลับมีเรื่องราวที่ค้างคามีปมในใจที่เหมือนเป็นม่านหมอกที่กั้นขวางระหว่างเขากับพ่อ (สรพงษ์ ชาตรี) และที่เกาะเล็กๆที่เป็นบ้านแห่งนี้ที่อาจไม่อบอุ่นอย่างที่ต้องการ เทพได้พบกับเรียมหญิงสาวที่มีเสน่ห์ที่รัดรึงและแน่นอนว่าเทพและเรียมตกหลุมรักกัน ซึ่งมันคงเป็นเรื่องความรักปกติของหนุ่มสาวถ้าไม่ใช่ว่าเรียมคือสตรีที่แต่งงานแล้ว และการมีความสัมพันธ์กับคนที่แต่งงานแล้วมันคือสิ่งผิดแล้วมันยิ่งผิดถ้าผู้หญิงคนนั้นคือแม่เลี้ยงของเทพเองเพราะเรียมคือเมียของพ่อ แต่กระนั้นการได้เห็นเรียมทุกข์ทรมานกับการรองรับอารมณ์ของพ่อก็ทำให้เทพจำต้องปกป้องเรียม แม้ว่ามันจะเป็นการทำร้ายพ่อและถูกตราหน้าว่าเป็นชู้กับเมีพ่อ และแน่นอนเทพได้ทิ้งโอกาสที่จะปลดเปลื้องพันธนาการทางใจกับพ่อไปเรียบร้อยนี่คือหนังที่มีเนื้อหาค่อนข้างหมิ่นเหม่ด้วยดราม่าจัดที่ขายความสัมพันธ์ของคนสามคนที่ไม่เยอะไม่ยุ่ง แต่เล่าเรื่องความสัมพันธ์ที่ไม่ซับซ้อนแต่เต็มไปด้วนรอยแผลที่กรีดลึก ซึ่งทำให้เรื่องออกมาน่าติดตามในเรื่องของความถูกต้องและความถูกใจ เป็นหนังไทยเพียงไม่กี่เรื่องที่ผู้เขียนมองเห็นการขีดเส้นแบ่งเชิงศีลธรรมกับความชอบธรรมของหัวใจ ซึ่งตัวบทหนังอาจไม่เนี้ยบออกจะดูโดดๆไปบ้างด้วยซ้ำ และการเล่นประเด็นปมในใจของพ่อกับลูกผู้ห่างเหินก็ดูห่างเหินจริง เพราะนักแสดงที่เป็นลูก (วัชระ ตังคะประเสริฐ) ไม่สามารถเป็นคนพาหนังไปได้ตามเจตนาของบท ปล่อยให้บทที่เป็นตัวแปรคือพ่อของสรพงษ์ ชาตรีเป็นคนแบกเรื่องไปพร้อมกับเสน่ห์ที่ดึงดูดใจของเฮเลน นิมา ทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สรพงษ์ ชาตรีใช้พลังดาราพาเรื่องให้น่าติดตามเพราะเมื่อต้องดราม่าอาเอกจัดการได้ ส่วนคนที่ต้องการเป็นจุดขายกลายเป็นจุดอ่อนหนังเลยไม่เนี้ยบอย่างที่ต้องการ แต่สิ่งที่ติดอยู่ในใจจนยากจะลืมคือการแสดงที่ดูลึกเชิงมิติของสรพงษ์ ชาตรีที่บางครั้งดูน่ากลัว บางคราวน่ารังเกียจ แต่บางอารมณ์ก็น่าสงสาร จึงเป็นอีกบทบาทที่น่าจดจำในหนังที่ถูกเวลากลืนหายไปอย่างน่าเสียดาย5. สุริโยไท (2544)เรื่องของวีกษัตรีที่เสียสละในการต่อสู้เพื่อปกป้องแผ่นดินและราชบัลลังก์จากอริราชศัตรู เรื่องของพระสุริโยไทตั้งแต่เมื่อครั้งยังเยาว์แล้วได้อภิเษกกับพระเยาวราชที่ต่อมาได้สถาปนาเป็นพระเทียนราชา และพระสุริโยไทก็ได้ผ่านการผลัดเปลี่ยนแผ่นดินทั้งที่มีความชอบธรรมและที่มีความทุรยศ ความภักดีต่อพระสวามีและราชบัลลังก์พระสุริโยทัยพร้อมกับองครักษ์ซึ่งหนึ่งในนั้นคือหมื่นราชเสน่หา (นอกราชการ) (สรพงษ์ ชาตรี) ก็ได้มีส่วนร่วมในการโค่นบัลลังก์ของกษัตริย์ขุนวรวงศาและแม่หยัวท้าวศรีสุดาจันทร์ จนสถาปนาพระสวามีพระเทียนราชาขึ้นครองราชแทน แต่เมื่อครั้นมีการผลัดแผ่นดินก็มักจะมีการศึกตามมา ทัพพม่านำโดยตะเบงชะเวตี้ก้ได้เข้ามารุกราน จึงเกิดการศึกยุทธหัตถีที่ทุ่งมะขามหย่อง และเมื่อพระเทียนราชาเพลี่ยงพล้ำพระสุริโยทัยจึงบังคับช้างเข้าขวางและต่อสู้กับตะเบงชะเวตี้อย่างกล้าหาญอันส่งผลให้พระสุริโยไทสิ้นพระชนม์บนคอช้างเป็นตำนานเล่าขานต่อมานี่คือต้นแบบของหนังอิงประวัติศาสตร์ฟอร์มยักษ์ในเวลาต่อมา นี่คือจุดเริ่มต้นของตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช หนังทำออกมาได้ลงตัวในทุกทางทั้งความสนุกและอารมณ์ แม้ว่าหนังจะเป็นหนังที่รวมเอานักแสดงแทบทั้งวงการบันเทิงไทยมาร่วมแสดงแบบที่มีบทคนละเล็กน้อย และด้วยความที่บทนำเป็นนักแสดงหน้าใหม่จึงยังมีริ้วรอยบ้าง แต่เมื่อมองในภาพรวมก็ไม่ได้ทำให้เรื่องออกมาเสียหาย กลับกันกลับทำให้รู้สึกว่าใช่ในคาแร็คเตอร์ ทำให้หนังเป็นงานคลาสสิคแห่งยุคสมัยที่หลายคนดูซ้ำแล้วซ้ำอีก และเป็นหนังในความทรงจำได้อีกเรื่อง แม้ว่าถ้าเอ่ยถึงสรพงษ์ ชาตรีเรื่องนี้อาจจะไม่ถึงกับโดดเด่นเกินหน้าออกมาดังเช่นสี่เรื่องก่อน แต่ด้วยความที่คาแร็คเตอรหมื่นราชเสน่หา (นอกราชการ) มันชัด แม้จะไม่มีเวลาเล่าเรื่องมิติอะไรมากกลายเป็นตัวละครสมทบขันดีไป แต่เมื่อหนังเป็นที่จดจำ บทบาทของสรพงษ์ ชาตรีก็เป็นที่น่าจดจำ เพราะแม้จะเป็นบทสมทบที่เล็กน้อย แต่สรพงษ์ก็คือสรพงษ์ที่ยังทำหน้าที่ได้อย่างไม่มีที่ติ"การเอ่ยถึงความสูญเสียไม่เคยเป็นเรื่องง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าความสูญเสียนั้นกระทบต่อจิตใจเราเอง"ซึ่งเมื่อเขียนมาถึงตรงนี้ความรู้สึกเหมือนกับชีวิตผู้เขียนมีชิ้นส่วนบางอย่างขาดหายไปจนเกิดความว่างเปล่า เพราะจากการที่ชีวิตเดินทางมาตั้งแต่เป็นเด็กดูหนังขายยามาจนวันนี้ก็ไม่ต่างจากมีสรพงษ์ ชาตรีคอยหล่อหลอม ขัดเกลา ให้กลายมาเป็นดูไปบ่นไป การสูญเสียครานี้จึงมิใช่การสูญเสียคนในวงการบันเทิงธรรมดาแต่มันคือการดับดาวอีกหนึ่งดวงในใจผู้เขียนที่ไม่ต่างจากการสูญเสียญาติผู้ใหญ่ที่คอยอบรมสั่งสอนเสมอมา เพราะอาเอก สรพงษ์ ชาตรี คือนักแสดงที่วางตัวดีเป็นที่น่าเคารพเสมอ และในช่วงท้ายของชีวิตอาเอกคือนักบุญผู้ชอบการสั่งสมบุญกับสิ่งที่อานับถือคือพระพุทธศาสนา จนอาจเรียกได้ว่าเป็นพุทมามกะที่ดีที่สุดร่วมกับคู่ชีวิตคนสุดท้ายในบั้นปลายชีวิตคุณดวงเดือน จิไธสงค์ที่เชื่อว่าได้ดูแลกันจนลมหายใจสุดท้ายสุดท้ายนี้แม้ผู้เขียนจะไม่ได้มีสิ่งยึดเหนี่ยวทางศาสนาเช่นเดียวกับอาเอกแต่ก็เชื่อว่าสิ่งที่อาทำมาตลอดชีวิตจะนำพาอาไปสู่ภพภูมิที่ดี และสำหรับชีวิตที่ผ่านมาจนเกือบถึงช่วงปลายของดูไปบ่นไปขอขอบพระคุณอาเอก สรพงษ์ ชาตรี ที่ได้หล่อหลอมความเป็นคนรักหนัง ได้เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้เขียนเสมอมาไม่ใช่แค่ความบันเทิง แม้ไม่ใช่ญาติก็เหมือนญาติเพราะบางแง่มุมก็เหมือนอาได้อบรมสั่งสอนในการใช้ชีวิตมา จนอาจเรียกได้ว่าถ้าไม่มีสรพงษ์ ชาตรีอาจไม่มีนามปากกาคนรักหนังแล้วกลายมาเป็น "ดูไปบ่นไป" ในวันนี้ขอให้อาไปสู่สุคติR.I.P. สรพงษ์ ชาตรี (กรีพงษ์ เทียมเศวต) 2493-2565ด้วยจิตคารวะและอาลัยอย่างสุดซึ้งดูไปบ่นไป ขอบคุณภาพประกอบภาพปก / ภาพที่ 6 จาก Facebook TrueVisions ภาพที่ 1 / ภาพที่ 2 / ภาพที่ 3 / ภาพที่ 4 / ภาพที่ 5 จาก Facebook TrueID อัปเดตข่าว เพลงใหม่ ดูหนัง ซีรีส์ใหม่สุดปัง โหลดเลยที่ App TrueID ,ฟรี