“CRABS OF SATUN”ผู้เขียน: กฤตานนท์ ทศกูล (Krittanon Thotsagool) // ผู้วาดภาพประกอบ: ฮันเซน แยป (Hanzhen Yap)ผมเหลือบไปมองบนชั้นหนังสือของตัวเอง ไม่มีหนังสือเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมหรือสัตว์โลกเลยสักเล่ม ไม่ใช่ว่าผมไม่สนใจเรื่องพวกนี้ ก็มีสนใจบ้าง แต่แค่ไม่ได้ใฝ่รู้ที่จะศึกษาจนถึงขั้นหาหนังสือมาอ่านก็เท่านั้นเองแล้วอะไรคือเหตุผลให้เสียสตางค์สามศูนย์ศูนย์ ซื้อหนังสือเกี่ยวกับปูในสตูลมาหนึ่งเล่มหละเรื่องมันเริ่มมาจากเมื่อสักสามสี่ปีที่แล้ว ผมมีโอกาสได้ช่วยตัดต่อหนังสารคดีเรื่องหนึ่ง โดยผู้กำกับภาพและซับเจกต์ของหนังคือ กั้ม (กฤตานนท์ ทศกูล) กับ ฮันเซน แยป ตามลำดับ ขณะผมไล่ดูฟุตเทจที่กั้มถ่ายมา ก็ทำให้ได้รู้จักฮันเซน-เด็กออทิสติกชาวมาเลเซียที่เป็นศิลปินนักวาดภาพ ในหลากหลายแง่มุม จนเมื่อจบโปรเจกต์นี้แล้วผมต้องการติดตามผลงานของทั้งคู่ต่อไป จึงพบว่าโปรเจกต์ปูในสตูลชุดนี้ เป็นคำตอบที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะทั้งคู่ได้จับมือร่วมกันเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ขึ้นมานั่นเองหนังสือมาส่งหลังจากผมสั่งไปแล้วหนึ่งสัปดาห์พอดี เมื่อแกะห่อกระดาษสีน้ำตาลออกมา ไม่มีพลาสติกใสห่อหนังสืออยู่ ไม่รู้ผมคิดไปเองหรือเปล่า แต่นี่น่าจะเป็นความประทับใจแรกต่อผู้ผลิตหนังสือเล่มนี้ ในความเป็นคนรักธรรมชาติ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม จนผมอยากขนานนามเขาว่า “Forest กั้ม” ...ชื่อที่ชวนให้นึกถึงใบหน้าของนักแสดงอย่างทอม แฮงก์ กับผลงานการแสดงของเขาในหนังอันยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาล(กั้มบอก “เปล่าพี่... ผมดึงพลาสติกออกไปก่อนห่อด้วยกระดาษสีน้ำตาล สร้างภาพกันหน่อย” ไม่ใช่ละ! ผมแซวเล่นนะ เขาไม่เคยพูดแบบนั้น)ช่างผิดกับผม-คนใจบาปที่เพียงเห็นปกในแวบแรก ก็ต้องขอสารภาพว่า อ่านคำว่า SATUN เป็น “สถุน” เสียแล้ว… หนังสือตีพิมพ์ 2 ภาษาในเล่มเดียว ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ แถมยังมีฟังก์ชั่นแบบ “2 in 1” คือเป็นได้ทั้งวิกิพีเดีย ให้สาระความรู้เกี่ยวกับปู 30 กว่าชนิด (ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน ที่อยู่อาศัย พฤติกรรม ระดับความหายาก และข้อมูลอื่นที่น่าสนใจ) และมีภาพวาดของปูแต่ละชนิด ที่ถือเป็นผลงานศิลปะของ ฮันเซน แยป ด้วยผ่านไปหน้าแล้วหน้าเล่า เมื่อผมเห็นรูปปูย้ำๆ ซ้ำๆ ก็เริ่มอยากกินปู (...ที่ไม่ใช่ขนมปูไทย) นึกในใจเล่นๆ ว่าเดี๋ยวมันต้องมีปูที่คนเอาไปใช้ใส่ส้มตำไทยแน่ๆ จนมาถึงหน้า 28 ก็สมดังใจหวัง… เมื่อหน้านี้เป็นพื้นที่ของ “ปูแสมก้ามม่วง” ซึ่งถูกบรรยายไว้ในส่วนข้อมูลอื่นๆ ที่น่าสนใจว่า “...ถูกนำไปใช้ประโยชน์เป็นปูเค็ม ส่วนใหญ่จะเป็นที่รู้จักกันดีในเมนูส้มตำไทย”หนังสือชื่อ “อัศจรรย์ปูแห่งสตูล” แต่ในบรรดาปูที่นำเสนอในเล่ม มี “แมงดาจาน” หลงมาด้วย (ในหนังสือเล่มนี้ให้ข้อมูลว่า “แมงดาจานไม่จัดว่าเป็นปู แต่เป็นสัตว์ทะเลในกลุ่มเดียวกับแมงมุมและแมงป่อง”) ซึ่งผมได้ส่งข้อความไปสอบถามจากผู้เขียนแล้ว ได้ความว่าเป็นความบกพร่องของผู้เขียนเอง ต้องขออภัยผู้อ่านมา ณ ที่นี้ด้วย กับในหน้า 84 ที่เขียนว่า “...หลายพันภาพถ่ายที่ได้คัดเลือกมาเหลือเพียง 37 ภาพ (ของปู 37 ชนิด)” นั้นก็ผิดพลาดเช่นกัน เพราะแท้จริงในเล่มมีเพียง 35 ชนิด แถมหากตัดแมงดาจานออกไป ก็จะเหลือปูเพียง 34 ชนิดเท่านั้น (ผมได้ทักเรื่องนี้ไปบอกผู้เขียนเรียบร้อยแล้ว)นอกจากนี้ ผมยังชอบ 2 มุกที่อยู่ท้ายเล่ม ซึ่งก็ไม่เชิงเป็นมุกหรอก ออกแนวจิกกัด-เสียดสีสังคมมากกว่า หรือจะเรียกว่าตลกร้ายอันน่าเศร้า ก็ไม่ผิดนักเมื่ออ่านจนจบเล่มแล้ว มีสิ่งที่ผมอยากติเพียงนิดเดียว ในเรื่องเชิงเทคนิคอย่าง การเว้นวรรคคำ/ประโยค และตำแหน่งในการจัดวางตัวหนังสือบนหน้ากระดาษ ซึ่งบ่อยครั้งทำให้หนังสืออ่านยาก อ่านได้ไม่ต่อเนื่อง ต้องอ่านๆ หยุดๆอ้อ เกือบลืมบอก... โปรเจกต์ Crabs of Satun นี้ ไม่ได้มีเพียงหนังสืออย่างเดียว แต่ยังมาเป็นแพ็คคู่กับดีวีดีภาพยนตร์สารคดีด้วยโดยตลอดกว่า 30 นาทีของเรื่อง หนังก็ใช้วิธีการเล่าเรื่องแบบสารคดีสัตว์โลกทั่วไปนั่นแหละ คือการถ่ายทำปูที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติ ประกอบกับเสียงบรรยายเล่าเรื่องปูไปเรื่อยๆ ซึ่งสำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้สนใจเรื่องปูหรือสัตว์โลก ก็อาจจะเบื่อหรือไม่ถูกใจสิ่งนี้ แต่ผมก็อยากให้ลองเปิดใจรับชมกัน แล้วคุณจะพบสิ่งสวยงามตามธรรมชาติที่คุณอาจเคยมองข้ามไปก็ได้***โปรเจกต์หนังสือกับดีวีดีชุดนี้ ผลิตออกมาแบบจำนวนจำกัด และไม่มีจำหน่ายตามร้านหนังสือทั่วไปผู้ใดสนใจสามารถ inbox ไปสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือสั่งซื้อได้ที่ facebook: Gump Krittanon