รีเซต

รู้จักกับ Metkayina ชนเผ่าแห่งสายน้ำ จากภาพยนตร์ ‘Avatar: The Way of Water’

รู้จักกับ Metkayina ชนเผ่าแห่งสายน้ำ จากภาพยนตร์ ‘Avatar: The Way of Water’
แบไต๋
19 ธันวาคม 2565 ( 18:00 )
26.7K

ความน่าสนใจของบทและเนื้อเรื่องของภาพยนตร์ ‘Avatar: The Way of Water’ ที่กำลังฉายอยู่ในเวลานี้ ไม่ใช่เพียงเรื่องราวของการผจญภัยและการต่อสู้ของ เจค ซัลลี (Sam Worthington) เนย์ทีรี (Zoe Saldana) และบรรดาลูก ๆ ของพวกเขา เพื่อปกป้องครอบครัวอันเป็นที่รัก และระบบนิเวศแห่งดาวแพนดอรา (Pandora) จากภยันตรายจากการรุกรานจากน้ำมือของคนจากฟากฟ้า หรือที่รู้จักกันในชื่อของหน่วย RDA แต่เพียงเท่านั้น

แต่อีกสีสันที่น่าตื่นตาที่เกิดขึ้นในภาคนี้นั่นก็คือ การที่เจคและครอบครัวได้อพยพย้ายถิ่นฐาน จาก โอมาติกายา (Omatikaya) ชนเผ่าแห่งป่าฝนอันเป็นมาตุภูมิของพวกเขา สู่ดินแดนแห่งท้องทะเล ซึ่งเป็นที่ตั้งของชนเผ่า เม็ตคายีนา (Metkayina) ที่แม้ว่าพวกเขาจะเป็นชาวนาวี และยังคงมีความนับถือต่อเอวา (Eywa) ผู้นำแห่งจิตวิญญาณของชาวนาวีด้วยเช่นกัน

แต่ด้วยวิถีชีวิตและสายสัมพันธ์ตามวิถีแห่งน้ำ อันเกิดจากการอาศัยอยู่ตามริมชายหาดของแพนดอรา ก็ทำให้พวกเขามีความแตกต่างออกไป ซึ่งเราจะได้เห็นพวกเขาในฐานะของชนเผ่าที่สองที่ปรากฏตัวในแฟรนไชส์ ‘Avatar’ นั่นเอง พวกเขามีอะไรที่พิเศษแตกต่างจากชาวนาวีที่เรารู้จักบ้าง และพวกเขาจะมีความสำคัญอย่างไรต่อทั้งครอบครัวของซัลลี และเนื้อเรื่องใน ‘The Way of Water’ บ้าง นี่คือไกด์บุ๊กแบบย่นย่อที่จะขอพาทุกท่านไปรู้จักกับชนเผ่าแห่งทะเลเผ่านี้


รู้จักกับชนเผ่าเม็ตคายีนาเบื้องต้น

เม็ตคายีนา (Metkayina) เป็นชนเผ่าของชาวนาวี (Na’vi) ที่ตั้งรกรากอาศัยอยู่ตามแนวปะการัง และกระจัดกระจายอยู่ตามแนวชายฝั่งของมหาสมุทรบนดาวแพนดอรา คาดว่าน่าจะตั้งรกรากมายาวนานนับหมื่นปีแล้ว พวกเขามักอาศัยอยู่แบบสงบ สันติ แต่ก็มีการฝึกสมาชิกของเผ่าให้แข็งแกร่งสำหรับการรบและการล่า

ชนเผ่าเผ่าเม็ตคายีนาจะมีลักษณะพิเศษคือ จะมีความผูกพันอย่างลึกซึ้งกับระบบนิเวศทางทะเล ทั้งบรรดาพืชพันธ์ุ และสัตว์ใต้ทะเล ทุกช่วงชีวิตของชนเผ่าตั้งแต่เกิด เติบโต และตาย ล้วนแล้วแต่มีความเกี่ยวพันกับน้ำ อันเป็นที่มาของสิ่งที่เรียกว่า วิถีแห่งสายน้ำ (The Way of Water)

สภาพร่างกายของชาวเผ่าเม็ตคายีนา จะมีความต่างกับชาวนาวีที่อาศัยอยู่บนบก ทั้งรูปร่างโดยเฉพาะส่วนอกที่มีขนาดใหญ่กว่าชาวนาวีที่อาศัยอยู่บนบก มีผิวสีเขียวอมฟ้า มีรอยสักตามร่างกาย มีลักษณะร่างกายที่วิวัฒนาการเพื่อใช้สำหรับการดำน้ำโดยเฉพาะ พวกเขามีทักษะในการดำน้ำด้วยตัวเปล่าได้เป็นเวลานานกว่าชาวนาวีโดยทั่วไป

ชาวเผ่าเม็ตคายีนา จะมีความเชื่อมโยงใกล้ชิดกับสัตว์น้ำหลายชนิด ทั้งการใช้ตัวอิลู (Ilu) และ ซูนัก (Tsurak) เป็นพาหนะ รวมทั้งชนเผ่าทุก ๆ คนจะมีความผูกพันทางจิตวิญญาณกับ ทุลคุน (Tulkun) สัตว์ทะเลขนาดยักษ์ที่พวกเขานับถือศรัทธาเหมือนดั่งญาติพี่น้อง


ลักษณะทางชีววิทยาของชนเผ่าเม็ตคายีนา

ลักษณะทางชีววิทยาของชาวเผ่าเม็ตคายีนา มักเป็นการวิวัฒนาการเพื่อใช้สำหรับการดำน้ำ และอาศัยอยู่ร่วมกับน้ำโดยเฉพาะ โดยเฉพาะหน้าอกและร่างกายส่วนบนที่มีขนาดใหญ่กว่าชาวนาวีที่อยู่บนบกตามปกติ มีผิวสีเขียวอมฟ้า หรือสีเทอร์ควอยซ์ (Turquoise) ต่างจากชาวนาวีบนบกที่มักมีผิวสีน้ำเงิน ดวงตาที่มีขนาดใหญ่และมีสีฟ้า ต่างจากชาวนาวีบนบกที่มีสีเหลือง แต่จะมีจุดสีที่อ่อนกว่าบริเวณใต้ท้องและใบหน้า

ชาวเผ่าเม็ตคายีนามักจะมีเส้นผมหยิก และมักจัดทรงผมให้ลู่ไปทางด้านหลัง เพื่อช่วยสำหรับการว่ายน้ำได้อย่างสะดวก นอกจากนี้ ยังมีความสามารถในการดำน้ำได้เป็นระยะเวลานานโดยไม่ต้องใช้เครื่องมือใด ๆ และในระหว่างที่ขี่ตัวอิลู ชาวเผ่าจะมีเยื่อบาง ๆ เพื่อปกป้องดวงตาจากการปะทะกับน้ำทะเลด้วยความเร็วสูง

ท่อนแขนและน่องของพวกเขาจะมีลักษณะกว้าง เป็นเหมือนกับใบพาย รวมทั้งหางของพวกเขาจะมีลักษณะที่แบนกว้าง และไม่มีจุกที่ปลายหาง คล้ายกับครีบปลา เพื่อช่วยให้สามารถว่ายน้ำได้อย่างคล่องแคล่ว


ภูมิประเทศ

ระเบียงน้ำ (Seawall Terraces)

ภูมิประเทศทางทะเลของหมู่เกาะที่เป็นที่อยู่อาศัยของชนเผ่าเม็ตคายีนา มีลักษณะคล้ายกับภูมิประเทศบริเวณเขตร้อนของโลกมนุษย์ มีลักษณะเป็นเกาะที่มีน้ำล้อมรอบ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์และพืชพันธุ์ต่าง ๆ เช่น โดราโดเวอร์เด (Dorado verde) สัตว์คล้ายไดโนเสาร์ตัวเล็กบินได้ ปลาพินเซอร์ (Pincer Fish) ปลาขนาดเล็กที่มีก้ามคล้ายปู มักอาศัยอยู่ตามแหล่งที่ชนเผ่าอาศัยอยู่ และต้นตั๊กแตนตำข้าว (Papa Mantis Tree) ต้นไม้เขตร้อนที่มีลักษณะใบและลำต้นคล้ายตั๊กแตน

ปลาพินเซอร์ (Pincer Fish)

ในบริเวณเกาะที่ชนเผ่าเม็ตคายีนาอาศัยอยู่ จะมีภูเขาสูง 3 ลูกที่เรียงตัวกัน เรียกว่า ภูเขาสามพี่น้อง (The Three Brothers) ตั้งอยู่กลางผืนน้ำทะเลที่มีความลึกเฉลี่ยประมาณ 100 ฟุต

ภูเขาสามพี่น้อง (The Three Brothers)

เพื่อป้องกันการโดนคลื่นเข้าถล่มหมู่บ้านที่มักอาศัยอยู่ริมทะเล พวกเขามักใช้ปราการธรรมชาติในการลดความแรงคลื่น ทั้งการอาศัยอยู่ตามแนวปะการัง และใกล้ ๆ อาณาเขตของพวกเขาก็จะมีระเบียงน้ำ (Seawall Terraces) ที่เกิดจากการตกตะกอนของแร่ธาตุตามธรรมชาติจนมีลักษณะเป็นแอ่งน้ำรูปคลื่น ทำหน้าที่เป็นเหมือนกำแพงตามธรรมชาติที่ช่วยป้องกันคลื่นได้เป็นอย่างดี และยังเป็นแหล่งหาปลาของชนเผ่า นอกจากนี้ยังสามารถเรืองแสงได้ในเวลาค่ำคืนอีกด้วย

นอกจากนี้ยังมี อ่าวของบรรพบุรุษ (Cove of the Ancestors) ที่มีลักษณะเป็นพื้นที่อ่าวที่มีภูเขาหินปูนโอบล้อมผืนน้ำอยู่ภายใน จุดเด่นของอ่าวนี้คือ ภูเขาหินปูนที่มีลักษณะเป็นรูปโค้งที่ตั้งตระหง่านอยู่ภายในอ่าว เป็นสถานที่ทางจิตวิญญาณ และเชื่อมโยงกับเอวาของชนเผ่า


ที่อยู่อาศัยของชนเผ่าเม็ตคายีนา

มารุย (Marui)

ชนเผ่าเม็ตคายีนา เป็นชาวนาวีที่แยกตัวออกมาจากป่าบนบก อาศัยอยู่ในหมู่บ้านที่เรียกกันว่า อะวาอัตลู (Awa’atlu) ที่ตั้งอยู่ตามแนวปะการัง โดยพวกเขาจะสร้างบ้านลอยน้ำที่มีลักษณะเหมือนเป็นโพรงกลม ๆ ที่เรียกว่ามารุย (Marui) มารุยถูกสานถักทอขึ้นด้วยไม้ และตั้งรวมกลุ่มเชื่อมโยงมารุยของแต่ละครอบครัวโยงใยกันเสมือนแพ แขวนอยู่บนต้นไม้ที่มีลักษณะคล้ายต้นโกงกางยักษ์ และจะมีปากทางเข้าออกที่กว้างเพื่อใช้สำหรับเดินทางออกสู่ทะเลด้วยการกระโจนลงน้ำได้อย่างง่ายดาย

อะวาอัตลูบางแห่งมีมานานนับพันปี เมื่อมารุยชำรุด พวกเขาก็จะทำการซ่อมแซมไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีการเปลี่ยนรูปแบบ นอกจากนี้ อะวาอัตลูมักจะมีพื้นที่ส่วนกลางที่เป็นศูนย์รวมของชุมชน ซึ่งชนเผ่ามักจะเลี้ยงตัวอิลู ร่วมสังสรรค์ เล่านิทาน และร้องเพลงร่วมกัน


ความเชื่อของชนเผ่าเม็ตคายีนา

อ่าวของบรรพบุรุษ (Cove of the Ancestors)

ชนเผ่าเม็ตคายีนา จะมีพื้นที่ที่เรียกว่า อ่าวของบรรพบุรุษ (Cove of the Ancestors) เป็นสถานที่ศักดิ๋สิทธิ์ของชนเผ่าเม็ตคายีนา ซึ่งพวกเขาจะใช้บริเวณนี้เป็นสถานที่ศูนย์กลางของความเชื่อเกี่ยวกับเอวา คล้ายกับ เทือกเขาฮัลเลลูยาห์ (Hallelujah Mountains) ของชนเผ่าโอมาติกายา

ต้นไม้แห่งจิตวิญญาณ (Spirit Tree)

ใต้ผืนน้ำในบริเวณอ่าวจะมีต้นไม้แห่งจิตวิญญาณ (Spirit Tree) ซึ่งเป็นพันธ์ุไม้น้ำที่ชาวเม็ตคายีนาใช้สำหรับเชื่อมโยงกับเอวา คล้ายกับต้นไม้แห่งจิตวิญญาณ (Tree of Souls) และต้นไม้แห่งสรรพเสียง (Tree of Voices) ของชนเผ่าโอมาติกายา ชาวเม็ตคายีนาจะทำการเชื่อมต่อตนเองกับต้นไม้แห่งจิตวิญญาณเพื่อส่งต่อความทรงจำ และช่วยให้ชาวเผ่าสามารถดำน้ำได้นานยิ่งกว่าเดิม รวมทั้งการทำพิธีมอบวิญญาณกลับคืนสู่เอวา ในกรณีที่มีสมาชิกเผ่าเสียชีวิต

ชาวเผ่าเม็ตคายีนาทุกคนจะมีรอยสักเป็นของตัวเอง โดยรอยสักที่ปรากฏบนผิวหนังนั้นจะมีความแตกต่างกัน รอยสักแต่ละรอยจะบันทึกเรื่องราวชีวิตของพวกเขาเอง และตำแหน่งของรอยสักก็จะมีความหมายที่แตกต่างกันไป เช่น รอยสักบนหัวใจและหน้าอก สื่อถึงอ้อมกอดอันปลอดภัยแห่งมาตุภูมิ รอยสักที่แขนหมายถึงเกราะป้องกันแห่งกำแพงท้องทะเล นักรบของเผ่าจะมีรอยสักที่แขนหนาแน่นกว่าที่หน้าอกเพื่อแสดงถึงความแข็งแกร่ง และ โอโลเอทาน (Olo’eyktan) หรือผู้นำสูงสุดของเผ่าจะมีรอยสักตามร่างกายมากที่สุด

รอยสักเหล่านี้ชนเผ่าถือว่าเป็นของขวัญจากเอวา พวกเขาจะนำหมึกที่ได้จากสัตว์ใต้ทะเลชนิดหนึ่งมาสักบนร่างกาย และพวกเขาจะได้รอยสักแรกก็ต่อเมื่อได้ผ่านพิธีกรรมอิกนิมายา (Iknimaya) หรือพิธีกรรมบรรลุนิติภาวะของเผ่าเม็ตคายีนาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะทำให้พวกเขากลายเป็นผู้ใหญ่ และมีศักดิ์เป็นนักรบประจำเผ่าโดยสมบูรณ์

นอกจากนี้ พวกเขาจะได้รับเครื่องแต่งกายพิเศษที่ทำขึ้นจากชิ้นส่วนของพืชและสัตว์ทะเลมาถักทอตกแต่งเข้าด้วยกัน และสร้อยประจำตัวที่เรียกว่า ซองคอร์ด (Songcord) ที่ใช้สำหรับบันทึกข้อมูลหรือเรื่องราวในชีวิตของตนเองตั้งแต่แรกเริ่มไปจนตลอดชีวิต


สัตว์น้ำที่เกี่ยวข้องกับชนเผ่าเม็ตคายีนา

อิลู (Ilu)

ชนเผ่าเม็ตคายีนามักจะมีสัตว์น้ำประจำตัวนั่นก็คือ อิลู (Ilu) อิลูเปรียบเสมือนกับอิกราน (Ikran) หรือมังกรบินของชาวป่าฝน กล่าวคือ ชนเผ่าเม็ตคายีนา มักจะใช้ตัวอิลูเป็นพาหนะในการเดินทาง เนื่องจากมันสามารถพบได้ทั่วไปในพื้นที่ที่เผ่าเม็ตคายีนาตั้งรกราก มีความฉลาด เชื่อง สร้างความผูกพันกับผู้เป็นเจ้าของได้ง่าย

ซูนัก (Tsurak)

ในพิธีกรรมอิกนิมายา สมาชิกชนเผ่าที่กำลังจะก้าวขึ้นเป็นผู้ใหญ่จะต้องผ่านพิธีกรรมด้วยการผูกพันทางจิตวิญญาณกับ ซูนัก (Tsurak) สัตว์ทะเลในน้ำที่มีลักษณะคล้ายปลาบินได้ มีขนาดใหญ่ สามารถบินโฉบในน้ำและโผขึ้นบนอากาศได้อย่างคล่องแคล่ว แต่มีนิสัยที่ค่อนข้างดุร้าย ต้องใช้เวลานานในการสร้างสายสัมพันธ์กับผู้ฝึก จึงมีแต่เฉพาะชาวเผ่าเม็ตคายีนาที่เป็นนักรบเท่านั้นที่จะขี่ได้

นอกจากนี้ ผู้ที่ถือว่าก้าวเข้าสู่ผู้ใหญ่ อาจเลือกที่จะสร้างความผูกพันทางจิตวิญญาณกับสัตว์ทะเลลึกขนาดใหญ่ที่เรียกว่า ทุลคุน (Tulkun) ก็ได้ ทุลคุลเป็นสัตว์ทะเลคล้ายวาฬที่มีความเฉลียวฉลาด สมาชิกเผ่าทุกคนจะมีทุลคุนประจำตัวเป็นของตัวเอง และจะนับถือทุลคุนของตัวเองเหมือนดั่งญาติพี่น้อง เสมือนเป็นพี่และน้องทางจิตวิญญาณ ทุลคุนสามารถสื่อสารทางภาษากับชนเผ่าได้ เนื่องจากมีความฉลาด และมีอารมณ์ความรู้สึกที่ซับซ้อนกว่าสัตว์ทั่ว ๆ ไป

ทุลคุน (Tulkun)

สมาชิกสำคัญของชนเผ่าเม็ตคายีนา

โตโนวารี (Tonowari)

โตโนวารี (Tonowari)

โอโลเอทาน (Olo’eyktan) หรือผู้นำแห่งเผ่าเม็ตคายีนา เป็นสามีของโรนัล และเป็นพ่อของลูก ๆ 3 คนคือ ศิเรยา อาวนุง และลูกน้อยที่อยู่ในครรภ์ของโรนัล เขาเป็นหัวหน้าของเผ่าที่ได้รับความเคารพนับถือจากชนเผ่า เป็นผู้นำที่กล้าหาญ เข้มแข็ง พูดเก่ง เป็นนักรบที่ดุร้าย แต่เขาก็ยังทำหน้าที่ดูแลความเป็นอยู่ของชนเผ่า ทั้งการล่าสัตว์ สร้างและซ่อมแซมมารุย รวมทั้งการตัดสินชี้ขาดของสมาชิกเผ่า แต่ถึงกระนั้น เขาก็มักจะขอคำปรึกษาจากโรนัลในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ อยู่เสมอ

โรนัล (Ronal)

โรนัล (Ronal)

ภรรยาของโตโนวารี แม่ของศิเรยา อาวนุง และลูกน้อยในครรภ์ นอกจากนี้เธอยังเป็น ซาฮิก (Tsahhik) หรือผู้นำทางจิตวิญญาณ (หมอผี) เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมทั้งมวลของชาวเผ่าเม็ตคายีนา เหมือนกับ โมอัต (Mo’at) ผู้นำทางจิตวิญญาณของเผ่าโอมาติกายา (และแม่ของเนย์ทีรี) นอกจากนี้ เธอยังเป็นนักล่านักรบที่มีความเก่งกาจ และยังคงเข้าร่วมต่อสู้ร่วมกับสามีแม้ว่าจะอยู่ในระหว่างตั้งครรภ์

ศิเรยา (Tsireya)

ศิเรยา (Tsireya)

บุตรสาวของโตโนวารีและโรนัล มีศักดิ์เป็นน้องสาวของอาวนุง ศิเรยาได้รับมอบหมายจากโตโนวารีให้ช่วยเหลือเหล่าลูก ๆ ของเจค ซัลลี และเนย์ทีรี ในการช่วยสอนให้พวกเขารู้จักขนบธรรมเนียมและวิถีชีวิตตามวิถีแห่งน้ำ มีความสามารถในการดำน้ำด้วยตัวเปล่าโดยไม่ใช้เครื่องมือได้เป็นเวลานาน มีนิสัยกล้าหาญ สง่างาม แข็งแกร่ง และจิตใจดี เป็นผู้สอนให้ชาวนาวีรู้จักการฝีกลมหายใจ เพื่อใช้สำหรับควบคุมลมหายใจในขณะดำน้ำได้นานยิ่งขึ้น และการควบคุมตนเองเพื่อส่งต่อตำแหน่งซาฮิกต่อจากแม่ของเธอ

อาวนุง (Aonung)

อาวนุง (Aonung)

บุตรชายคนโตของโตโนวารีและโรนัล พี่ชายของศิเรยา มีความสามารถในการล่าสัตว์ทะเลและดำน้ำด้วยตัวเปล่า เขามักอยู่รวมกลุ่มกับชาวเผ่าวัยหนุ่ม เขาได้รับคำสั่งให้ช่วยครอบครัวของซัลลีในการปรับตัวเข้ากับวิถีแห่งน้ำอย่างไม่เต็มใจนัก

ร็อตโซ (Rotxo)

ชาวเผ่าเม็ตคายีนาวัยหนุ่ม อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับอาวนุง มีความสามารถในการดำน้ำด้วยตัวเปล่า


แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ชาวเผ่าเม็ตคายีนา

ผู้กำกับ เจมส์ คาเมรอน (James Cameron) ได้แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ชนเผ่าเม็ตคายีนาจากชนเผ่าเมารี (Māori) ที่อาศัยอยู่ในประเทศนิวซีแลนด์ และยังหยิบเอาองค์ประกอบต่าง ๆ ในวัฒนธรรมพื้นเมืองของชาวเมารี และวัฒนธรรมร่วมของภูมิภาคโพลินีเซีย (Polynesia) ตั้งแต่รอยสักที่มีความใกล้เคียงกับรอยสักของชาวเมารี ถิ่นที่อยู่อาศัย รวมทั้งการเต้นเพื่อปลุกใจของนักรบชาวเมารีที่เรียกว่า ฮากา (Haka)

โดยได้ความร่วมมือจาก คลิฟฟ์ เคอร์ติส (Cliff Curtis) นักแสดงผู้รับบทเป็นโตโนวารี (Tonowari) ซึ่งเป็นชาวเมารีแท้ ๆ ในการร่วมให้คำปรึกษาแก่คาเมรอนเกี่ยวกับวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวเมารี และการดัดแปลงเอาวัฒนธรรมมาปรับใช้ในหนัง นอกจากนี้ ยังได้นักแสดงเชื้อสายเมารีส่วนหนึ่ง มาร่วมแสดงเป็นชาวเผ่าเม็ตคายีนาอีกด้วย


ที่มา: Avatar.com, Avatar Wiki, Colider, Teao Maori