แค่อ่าน Plot ย่อผมก็รับประกันได้ถึงความกาว ความเพี้ยนประสาทกินโดยไม่ต้องคิดให้นานอะไร ก่อนหน้านี้ผมเคยดูหนังเรื่องหนึ่งที่มีลักษณะเหมือนกันคือเรื่อง In Fabric (2018) ที่นำเสนอ Concept เจ้าตัวเสื้อราตรีสีแดงที่มีอิทธิฤทธิ์พอ ๆ กับเจ้ากางเกงยีนส์ตัวนี้ ถ้ามา Crossover ร่วมกันนี้รับรองปาร์ตี้บันเทิงแน่นอน ถ้าให้ผมเปรียบเทียบระหว่าง 2 เรื่องนี้ ผมว่า In Fabric เน้นตีความนัยยะเชิงนามธรรมไปกับบรรยากาศที่ชวนหลอนเป็นใจให้เกิดความหวาดกลัวมากกว่า เรียกง่าย ๆ ว่าอินดี้ นั่นแหล่ะ ส่วนเรื่องนี้เน้นโจมตีไปที่คนดูตรง ๆ ขาย Concept ตรง ๆ ว่าฉันจะทำแบบนี้ จะเอาแบบนั้น ไม่ต้องอ้อมค้อมให้เสียเวลาแถมผสมผสานความเป็น Black Comedy กับ Slasher Horror ได้บ้าคลั่งวายป่วงสุด ๆ ซึ่งหลังจากดูจบแล้วสิ่งที่คิดไว้ไม่มีผิดเลยว่ามันสามารถนำเสนอไอเดียต่อยอดจากเดิมที่วางไว้จนไปสุดทางเกินกว่าที่คาดคิดไว้มาก แม้จังหวะมุกตลกจะน่ารำคาญไปหน่อย แต่ที่ประหลาดใจยิ่งกว่าคือ มันดันมี Details นัยยะสำคัญซ่อนไว้อย่างร้ายกาจนั่นสิทั้งการจิกกัดทุกสรรพสิ่งที่นึกขึ้นได้บนโลกนี้ตั้งแต่การเสพติดสิ่งอุปโภคเพื่อการบริโภค , กระแสวัฒนธรรม Fast Fashion ผ่านตัวเสื้อผ้าอาภรณ์ , การสะท้อนสังคมการทำงานในแต่ละตำแหน่งผ่านตัวเจ้านายกับลูกน้องไม่พอลามไปถึงความแตกต่างของชาติพันธุ์ในเรื่องการค้ามนุษย์อีกด้วย ซึ่งสิ่งที่พรรณนามาล้วนเป็นปัญหาที่เกิดจากกลไกการทำงานของระบบทุนนิยมทั้งสิ้น ชนิดที่ว่าเสียดสีได้เจ็บแสบทะลุไปถึงไส้ติ่งเลยทีเดียวระยะเวลา 1 ชั่วโมง 13 นาที ถือว่าพอดี ไม่ติดขัดอะไร เพราะ ระยะเวลาที่มีอยู่ก็สามารถสรุปต้นสายปลายเหตุให้เคลียร์กระจ่างชัดเจนดีแล้ว แม้บางอย่างจะเต็มไปด้วยมุกตลกที่ขยันปล่อยออกมา ขำบ้าง แป๊กบ้างไปกับตรรกะแต่ละคนก็ซื่อบื้อตามสูตรของหนังประเภทนี้ที่รู้ ๆ กันอยู่ อย่างไรก็ตามไม่อาจบั่นทอนขีดเส้นความสยองที่มาในรูปแบบไล่ฆ่าวิ่งหนีในที่ปิดตายที่จัดหนักจัดเต็มไม่มีกั๊ก ถ้าอยากให้เพิ่มเวลาต่ออีกสักนิดก็อยากให้ขยาย Details ในส่วนต้นเหตุของเรื่องมากกว่านี้หน่อยก็ได้ที่เปิดเรื่องมาปูพื้นเท้าความจุดนี้ได้น่าสนใจอยู่แล้ว ก่อนที่ภาพจะตัดไปที่ร้านขายเสื้อผ้าเจ้าปัญหาอย่างรวดเร็ว หลังจากนั้นหนังจะดำเนินเรื่องไปที่ร้านแห่งนี้ทั้งเรื่องโดยมีกลุ่มพนักงานที่อยู่ในนั้น ไม่ว่าจะเป็น ลิบบี้ นางเอกของเรื่องที่เป็นพนักงานใหม่ รับบทโดย Romane Denis จาก Slut in a Good Way (2018) , ชรูตี พนักงานสาวชาวอินเดีย และ เป็นเพื่อนที่แนะนำให้ลิบบี้เข้ามาทำงาน รับบทโดย Sehar Bhojani จาก The Handmaid’s Tale series (2018) , เกร็ก ผู้จัดการหนุ่มของร้าน รับบทโดย Brett Donahue จาก Radius (2017) , ลอร์ด พนักงานขายเชื้อสายเอเชีย รับบทโดย Kenny Wong จาก Good Sam (2019) รวมถึง เพย์ตัน จูลส์ อินฟลูเรเซอร์สาวชื่อดัง รับบทโดย Erica Anderson จาก Little Death (2017) มาร่วมสร้างสีสันร่วมวงชะตากรรมด้วยกัน ตรงจุดนี้แอบน่าเบื่อไปนิดเนื่องจากหนังใช้เวลาแนะนำตัวว่าใครเป็นใครกันก็ปาเข้าไปครึ่งชั่วโมงแล้วจนกระทั่งการปรากฎตัวของกางเกงยีนส์เจ้าปัญหาขึ้นมาหนังเริ่มเข้าสู่โหมดที่ต้องการอยากดูขึ้นมาทันที ขณะเดียวกันมุกตลกก็ขยันแทรกมาเรื่อย ๆ ถามว่าขำมั้ย ขำเป็นบางมุก บางมุกก็งง ๆ ไม่เข้าใจว่าจะสื่อถึงอะไร เพราะส่วนใหญ่มุกเสียดสีชนชั้นวรรณะโดยเฉพาะสังคมอเมริกันกับสังคมอินเดียมันมีความเป็นเฉพาะกลุ่มอยู่ ถ้ามีความรู้ความเข้าใจพวกนี้จะเข้าใจถึงแก่นแท้ของ Keywords ของเรื่องได้อย่างรวดเร็วพอเข้าสู่โหมดสยองขวัญก็ดันติดลมจนมันมือไปหน่อย เหมือนตัวผู้กำกับ Elza Kephart จาก Go in the Wilderness (2013) เจ๊แกใส่สไตล์ความอินดี้ของแกเต็มที่จนเพิ่งนึกขึ้นได้ว่าทิ้งปมไว้ก่อนหน้านี้แล้วลืมคลี่คลายออก ดังนั้นช่วงประมาณ 30 นาทีสุดท้ายเราจะเห็นว่าหนังได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อีกครั้งพร้อมกับเฉลยอะไรต่าง ๆ ให้หมดด้วยความเร่งรีบ บางอย่างก็พอจะเดาทางได้อยู่ว่าหนังจะเล่นอธิบายและแถผสมรวมกันจนหาทางได้สะดวกโยธินลงแบบนี้กันง่าย ๆ พอเอาเข้าจริงดันทำเอาผมสตั๊นไปชั่วครู่นึง ไม่คิดว่าจะจบแบบนี้ คิดดูอีกทีอย่างน้อยมันก็มีเหตุผลที่พอจะสมเหตุสมผลหลงเหลืออยู่บ้างแม้ว่าบางอย่างก็โอเวอร์ Actionเกินเหตุ แต่ยอมรับว่าแต่ละฉากที่ฆ่ากันโหดได้ใจแถมติดตาไม่หายจริงสรุป ภาพรวมจัดว่าสนุก บ้าบอเกินเบอร์มาก ภายนอกเหมือนหนังเกรด B บ้าบอ ไร้สาระ แต่ที่ไหนได้กลับมีทีเด็ดซ่อนอยู่นี่หว่า อารมณ์เหมือนกัดลูกอมเข้าไปปรากฎว่าข้างในเป็นไส้มะเขือพวงซะยังงั้น ถ้าตัดมุกตลก ไม่เต็มบาททั้งหลายออกไปมันก็คือหนังที่ตีแผ่ประเด็นโครงสร้างของกลไกการทำงานของระบบทุนนิยมในยุคปัจจุบันได้เจ็บแสบและแยบยลผ่านกิเลส ตัณหาความอยากได้อยากเป็นของมนุษย์ที่เห่อของใหม่อยู่ตลอดโดยไม่แคร์ว่าคนอีกกลุ่มหนึ่งจะเป็นยังไงจะได้รับผลกระทบมากน้อยอย่างไร นอกจากมองว่าเป็นเครื่องมือในการสร้างผลผลิตให้ตนเองได้ฉกฉวยจากประโยชน์ตรงนี้มาเป็นของตนเองโดยไม่ต้องออกแรงให้เหนื่อยเปล่าให้มากที่สุด เรียกง่าย ๆ ว่าทำนาบนหลังคนเพื่อเคลมหน้าเอาแสงแก่ตนเองนั่นแหล่ะ ตราบใดที่มนุษย์ยังเสพติดวัตถุ ยึดติดกับอัตลักษณ์มากเท่าไหร่ สังคมก็ต้องแข่งขันขับเคลื่อนไปตามพลวัตไม่รู้จบมากขึ้นเท่านั้น ไม่ว่าเราจะเต็มใจหรือไม่ยินดีก็ตาม มันคือความจริงที่มิอาจปฎิเสธได้บนโลกใบนี้ ขอขอบคุณผู้อ่านทุกท่านครับ เมื่อได้อ่านแล้ว สามารถกด Like กด Share บทความของผม EMCONCEPT เพื่อเป็นกำลังใจในการรีวิวครั้งต่อไป ขอบคุณครับขอขอบคุณภาพประกอบโดย :Facebook / SlaxxMovie = ภาพประกอบหน้าปก 1 / ภาพประกอบหน้าปกที่ตัวอักษร 2 Pixabay / lo444562783 = ภาพประกอบหน้าปก 3 Facebook / SlaxxMovie = ภาพประกอบที่ 1 / ภาพประกอบที่ 2 / ภาพประกอบที่ 3 / ภาพประกอบที่ 4 / ภาพประกอบที่ 5 / ภาพประกอบที่ 6คอมมูนิตี้ “โลกคนรักหนัง” ห้องหวีดซีรีส์ดังออกใหม่มาแรง ป้ายยาหนังดีหนังโดน