รีวิวหนังสือชุดความรู้ไทย ชุดประติมากรรมไทย ของ องค์การค้าของคุรุสภา จากบทความก่อนที่รีวิวชุดสถาปัตยกรรมไทย หลายคนสนใจในศิลปะไทยจึงอยากมารีวิวหนังสือที่ปัจจุบันไม่ได้ผลิตแล้ว เล่มที่หน้าปก 12.- เท่านั้น ซึ่งในปัจจุบันสามารถหาซื้อได้ตามร้านค้าศึกษาภัณฑ์บางสาขาและเล่มนี้ก็เป็นแหล่งความรู้ชั้นดีของเด็ก ๆ รุ่นใหม่มากเลยเพราะนักเขียนคือ อาจารย์วิบูลย์ ลี้สุวรรณ ศิลปินสาขาจิตรกรรม ศาสตราจารย์สาขาทัศนศิลป์ ภาควิชาทัศนศิลป์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร นับได้ว่ามีคุณประโยชน์มาก ๆ ทั้งในด้านเนื้อหาและรูปภาพที่อยู่ในเล่มการดำเนินเรื่องในเล่ม ก่อนที่จะเข้าเนื้อเรื่องและรูปภาพ ในเล่มต้องขอบอกก่อนว่าเล่มนี้พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2528 ภาพในเล่มจะเป็นงานประติมากรรมในอดีตที่มีความงดงามมาก และมีคุณค่าต่อศิลปะไทยทั้งคุณค่าความงาม และสุนทรีนิยม ซึ่งงานประติมากรรมไทยเป็นศิลปกรรมประเภทหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย ในเล่มจะมีหัวข้อที่เรียงไปตามความหมายของประติมากรรม เช่น ประติมากรรมคืออะไร ความสำคัญของประติมากรรมคืออะไร และความเป็นมาของประติมากรรมไทย ซึ่งสอดแทรกเกร็ดความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ ลงไปด้วยเสมอ มีรูปภาพประกอบ หลายภาพที่ผู้อ่านยังไม่เคยเห็นมาก่อน มีภาพงานประติมากรรมของศิลปินไทยหลาย ๆท่านที่หาชมได้ยากในปัจจุบัน เกร็ดความรู้ในเล่มที่ได้รับ1. การสร้างประติมากรรมที่มาจากความเชื่อ ขนบประเพณีของไทย ซึ่งมีอยู่ทุกยุคทุกสมัยมาจนปัจจุบัน สังเกตว่าประติมากรรมไทยส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา เป็นรูปปั้น ปฏิมากรรมพระพุทธรูป นอกจากนี้ก็มีรูปปั้นแปลก ๆ ที่เห็นได้ในเล่มซึ่งแสดงถึง ความเชื่อแต่ละท้องถิ่นที่สืบทอดต่อกันมา เช่น ตุ๊กตาเสียกะบาน ตุ๊กตาตามศาลเจ้า ศาลพระพูมิ ซึ่งเป็นตุ๊กตาเล็ก ๆ เป็นการจำลองสิ่งที่จะอุทิศถวาย ถ้าจะให้เปรียบให้เห็นภาพก็เช่นตุ๊กตายีราฟ ตุ๊กตาเสือ ตุ๊กตานางรำ ส่วนมากจะเป็นตุ๊กตาดินเหนียวเผาไฟ หรือปั้นด้วยดินเหนียวแล้วตากแดดให้แห้งแล้วระบายสีซึ่งค้นพบว่าคนไทยได้สร้างตุ๊กตาเหล่านี้มาตั้งแต่ในสมัยสุโขทัย2. ประติมากรรมแกะสลักตามความเชื่อ ซึ่งจะเป็นไปตามขนบประเพณีของแต่ละท้องถิ่นเช่น การแกะสลักหินสี กระดูก งา เขาสัตว์ เพื่อใช้ในการทำของรางของขลังรวมไปถึงการบูชาเซ่นไหว้3.ประติมากรรมที่มาจากขนบประเพณีการละเล่น อย่างเช่น การทำหัวหุ่น การแกะหน้ากาก การทำหัวโขน ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นขนบธรรมเนียมประเพณีของไทยมาตั้งแต่อดีต4. ประติมากรรมที่มาจากความเชื่อความศรัทธา เช่นการปั้นพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ที่ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศอินเดีย บ่งบอกถึงความเป็นมาของพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนไทย5. เมื่อประติมากรรมที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนาลดลง คนไทยก็จะมักสร้างเป็นประติมากรรมรูปเคารพ คนเหมือน และมีการสร้างอนุสาวรีย์ต่าง ๆ มากขึ้นเหมือนที่เราเห็นในปัจจุบัน เรียกได้ว่าประติมากรรมเหล่านี้คือประติมากรรมร่วมสมัย เป็นประติมากรรมที่เกิดจากประติมากรในยุคปัจจุบันโดยที่ประติมากรรมแบ่งออกเป็น 3 ประเภทได้แก่1. ประติมากรรมลอยตัว เป็นประติมากรรมที่ปั้น หล่อหรือแกะสลัก จะมองเห็นได้รอบด้าน2. ประติมากรรมประเภทนูนสูง เป็นประติมากรรมที่ไม่ลอยตัว มีพื้นหลังตัวประติมากรรมจะยื่นออกมาจากพื้นหลังค่อนข้างสูงจนมองเห็นด้านข้างได้ แต่ไม่สามารถมองได้รอบแบบประติมากรรมลอยตัวนิยมสร้างขึ้นเพื่อประดับตกแต่งอาคาร3. ประติมากรรมประเภทนูนต่ำ เป็นงานประติมากรรมที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับประติมากรรมประเภทนูนสูง แต่จะแบนหรือบางกว่า ยกตัวอย่างได้อย่างเช่นเหรียญต่าง ๆซึ่งในเล่มยังกล่าวถึงประติมากรรมในยุคช่วงสมัยต่าง ๆ ของไทยตั้งแต่สมัย แรกเริ่มของยุคสมัยศิลปะไทยจนมาสมัยปัจจุบัน1. ยุคสมัยทวาราวดี ที่มักสร้างงานประติมากรรมด้วยการแกะสลักหินสีเขียวเป็นพระพุทธรูป2. ยุคสมัยศรีวิชัย ที่ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย มักจะสร้างประติมากรรมประดับประตู ตกแต่งท่อระบายน้ำ หรือที่เรียกว่า มกระ เป็นรูปแบบที่แพร่หลายมากในศรีวิชัย3. ยุคสมัยประติมากรรมสมัยลพบุรี ทีไ่ด้รับอิทธิพลมาจากขอม หรือเขมร ส่วนใหญ่เป็นศิลาหรือสำริด4. ยุคสมัยประติมากรรมเชียงแสน เริ่มสร้างพระพุทธรูป นั่งขัดสมาธิราบ มีเปลวรัศมีที่พระเศียร5. ยุคสมัยประติมากรรมอู่ทอง มักทำเลียนแบบลพบุรี จึงำด้รับอิทธิพลมาจากเขมร6. ยุคสมัยประติมากรรมสุโขทัยที่เชื่อว่า เป็นยุคที่รุ่งเรืองที่สุดของประติมากรรมพระพุทธรูปไทย เพราะมีอิริยาบถ "นั่ง นอน ยืน เดิน" มีวรกายที่อ่อนช้อยงดงามมาก7.ยุคสมัยประติมากรรมอยุธยา มีการนำวิทยาการมาจากต่างชาติมาสร้างพระพุทธรูป สร้างงานประติมากรรมของตนเอง เช่น พระพุทธรูปทรงเครื่องแบบราชาธิราช หรือที่เราเรียกกันว่า แต่งกายแบบกษัตริย์ไทย ก็เริ่มมีมาจากสมัยนี้8. ยุคสมัยประติมากรรมรัตนโกสินทร์ ที่มีการสร้างประติมากรรมแบบร่วมสมัยมากขึ้น มีการสร้างงานประติมากรรมที่เกี่ยวกับการแกะสลักประตู การปั้นรูปปั้นคน และหลาย ๆ อย่างทันสมัยมากขึ้นจากอิทธิพลของชาวตะวันตก อย่างเช่น การแกะสลักบานประตู สร้างในรัชกาลที่ 2 กล่าวกันว่าบานประตูพระวิหารของวัดสุทัศน์เป็นฝีพระหัตถ์รัชกาลที่ 2 (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) นอกจากนี้ในสมัย รัชกาลที่ 5 ก็เริ่มหันเหความสนใจไปตามแบบยุโรปมากขึ้น มีการปั้นรูปเหมือน อนุสาวรีย์ การตั้งสถาบันเกี่ยวกับงานประติมากรรมอย่างศิลปากรในสมัย รัชกาลที่ 6 ซึ่งจากยุคสมัยต่าง ๆ เราจะเห็นได้ถึงความเจริญงอกงามของงานประติมากรรมไทยร่วมสมัยมาจนถึงปัจจุบันนี้ สรุป อย่างไรก็ตามประติมากรรมแบบร่วมสมัยที่มีอยู่ปัจจุบันไม่ใช่น้อย นับว่างานประติมากรรมไทยได้พัฒนามาเป็นลำดับและได้ก้าวหน้าไปทัดเทียมกับนานาอารยะประเทศ*ภาพถ่ายทั้งหมดโดยผู้เขียน